กรณีการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่น ทำให้ทั่วโลกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องทบทวนถึงมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตาม เพราะกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะถือเป็นบทเรียนและอุทธาหรณ์สำคัญว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้
สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าดีที่สุดหรือมั่นใจที่สุด ก็เป็นแค่ความเชื่อหรือความรู้ที่มีอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ หรือภาวะโลกร้อน อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอวสานของมนุษยชาติก็ได้ หากมนุษย์ยังทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือคิดว่าเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจะชนะธรรมชาติได้
กรณีโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะจึงอาจเป็นการสิ้นสุดยุคของพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่วปัจจุบันมี 32 เตาปฏิกรณ์ทั่วโลก เฉพาะที่สหรัฐมีถึง 23 เตาปฏิกรณ์ กระจายอยู่ในโรงไฟฟ้า 16 โรง
ขณะที่ประเทศไทยก็มีความพยายามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตลอดเวลา แต่ยังถูกประชาชนต่อต้าน เพราะไม่มีความมั่นใจว่ามีความปลอดภัยจริง ยิ่งเกิดการระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยก็ต้องชะลอออกไปโดยปริยาย แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันว่ายังไม่ได้เลิกล้มไปเลยก็ตาม
ที่สำคัญสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่อยู่ระหว่างการเข้าไปช่วยเหลือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นขณะนี้ ทาง IAEA ได้มีการหารือเบื้องต้นและแจ้งมาทางรัฐบาลไทยแล้วว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยยังต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นคือ 1.เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ 2.ข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องมีการเซ็นสัญญาร่วมกัน และ 3.การยอมรับของประชาชน
ขณะที่นักวิชาการด้านพลังงานระบุว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยยังสูงกว่าที่ใช้งานถึงร้อยละ 25 จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งแผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ศักยภาพของพลังงานทางเลือก และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ยังไม่ถูกนำมาส่งเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญโดยกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน
นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้หันมาพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่สะอาดได้อย่างก้าวกระโดด เช่น สหภาพยุโรปที่ลงทุนและพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนจนเชื่อว่าจะเติบโตเป็นฐานพลังงานได้ในอนาคต
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงไม่ใช่พลังงานทางเลือก แต่เป็นพลังงานที่ต้องหลีกเลี่ยง พลังงานทางเลือกในอนาคตต้องเป็นพลังงานที่สะอาด และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของมนุษย์
ที่มา. หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น