โดย : สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี : สัมภาษณ์
นายหัสวฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด แจกแจงบทบาทของศาลปกครองสูงสุด บนสถานการณ์ความแตกแยกของสังคม จนศาลโดนโจมตีว่าไม่เป็นกลาง
เรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอดีตประธานศาลปกครองสูงสุดล้วงลูกสั่งคดีที่เกี่ยวกับรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดกำลังดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ถือเป็นการก้าวก่ายหน้าที่หรือว่าเป็นการแทรกแซงศาลได้หรือไม่
ไม่ ทุกฝ่ายก็ดำเนินการไปตามหน้าที่ของตนเอง สำหรับศาลปกครองนั้น เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เราจะประชุมเรื่องนี้กันในวันที่ 16 มีนาคมนี้
O ตามหลักกฎหมายศาลปกครอง องค์คณะตุลาการสามารถสละคดีได้หรือไม่ เพื่อให้องค์คณะชุดใหญ่พิจารณา
ก็เป็นไปตามกฎหมาย เพราะศาลปกครองมีกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีปกครองอยู่แล้วว่าทำอะไรได้ไม่ได้ นอกจากนั้น ตุลาการศาลปกครองท่านต้องรู้ ท่านไม่ทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ ส่วนในเรื่องจะจ่ายสำนวนให้ใครก็เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าชุดใหญ่หรือชุดเล็กในฐานะประธานศาลสูงสุด ท่านต้องดูความสำคัญของเรื่อง และถือเป็นเรื่องธรรมดาในศาลไหนๆ เรื่องสำคัญควรพิจารณาด้วยองค์คณะที่มากกว่าปกติ เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาไม่มีใครทำนอกเหนือกฎหมายที่ให้อำนาจ
O มีสื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอข่าวว่า ศาลปกครองไม่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.
เป็นการรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผมขอถามสื่อมวลชนว่ามีตรงไหนที่เป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กร มีที่ไหน เพราะวันนี้ (3 มี.ค.) สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือของ ป.ป.ช.กรณีที่ องค์คณะตุลาการ ชุดที่ 2 สละคดี เพราะคณะของท่านมีคดีอยู่จำนวนมาก ทำให้ประธานศาลปกครองสูงท่านก่อน ลงมาชี้ขาด และเมื่อประธานศาลปกครองสูงสุด เห็นความสำคัญของคดี ที่ฟ้องร้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีความสำคัญ ประธานศาลปกครองสูงสุดท่านก่อน ท่านเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่จึงให้องค์คณะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลปกครองสูงสุด และหัวหน้าองค์คณะตุลาการทุกคณะ เป็นผู้พิจารณา นั้น เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีปกครอง ไม่ใช่การล้วงลูก
และอีกประเด็นที่ ป.ป.ช. หารือมาก็คือกรณีที่ตุลาการ ร้องขอให้ประธานศาลปกครองสูงสุด ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่งกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุด ก็ได้ชี้แจงไปที่ ป.ป.ช.ว่า เป็นเรื่องที่ตุลาการศาลสามารถทำได้
O กรณีพื้นที่พิพาทไทย กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง
กรณีดังกล่าวมีตุลาการท่านอื่นท่านมองว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย แต่สำหรับผมมองว่า รัฐบาลเป็นผู้ดูแลเรื่องดินแดน และความมั่นคงของชาติ หากรัฐบาลทำประเทศเสียดินแดน ก็เสมือนผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ปล่อยให้มีผู้บุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น ในเรื่องนี้ต้องเป็นอำนาจของศาลปกครอง แต่ทั้งนี้ก็มีตุลาการบางส่วนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงเรื่องนโยบายของรัฐ
O สถานการณ์ความแตกแยกของสังคม เกิดกระแสตุลาการภิวัฒน์ ไม่ว่าศาลใดก็ถูกนินทาว่าร้าย หากมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนศาลถูกโจมตีว่าไม่เป็นกลาง ศาลปกครองเตรียมรับมือเรื่องนี้อย่างไร
ผมคิดว่าการเป็นตุลาการต้องมีหลักอยู่ 4 ประการ คือ 1.ต้องมีความรู้ความสามารถ 2.ต้องเป็นคนที่ความ ซื่อสัตย์ สุจริต 3.ต้องมีจุดยืนที่ถูกต้อง และ 4.ต้องมีความกล้าหาญ หากมีหลักทั้ง 4 ประการแล้ว คำตัดสินของเราจะไม่เบี่ยงเบนและไม่มีปัญหา ถ้าเราไม่มีหลัก ทั้ง 4 ประการก็เป็นสิ่งที่ยาก และเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้อื่นเขาไม่เชื่อมั่นว่าเราเป็นกลางและอำนวยความยุติธรรม ได้จริง
O พอใจการอำนวยการยุติธรรมของศาลเพียงใด
พอใจที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น แสดงว่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการตัดสินของศาลปกครองที่ผ่านมาได้รับการยอมรับ และปฏิบัติตามคำสั่ง โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ
O ลำบากใจกับการตัดสินคดีมาบตาพุดหรือไม่
ไม่ลำบากใจ แต่เห็นว่าปัญหาที่เกิดจากการออกกฎหมายต่างๆ ของภาครัฐ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัย ยอมรับว่าการที่ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็มีผู้มาต่อว่า ผมจึงได้บอกให้ลองพาครอบครัวไปอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด เพราะที่ผ่านมาเคยไปตรวจเยี่ยมศาลปกครองระยอง เมื่อฝนตก ทุกคนจะวิ่งหลบฝน เนื่องจากฝนที่ตกลงมามีสารปนเปื้อน ไม่มีใครอยากย้ายไปอยู่ศาลที่จังหวัดระยอง แม้ว่าจะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ผมจึงคิดว่าถ้านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดนปล่อยปละละเลย และสร้างมลพิษ คนในอนาคตควรได้รับการคุ้มครอง
O สถิติคดีตอนนี้เป็นอย่างไรนับตั้งแต่เปิดศาลมาและจะครบรอบ 10 ปีในวันที่ 9 มีนาคม นี้
จนถึงปัจจุบัน (31 ม.ค.2554) มีคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองจำนวนทั้งสิ้น 63,148 คดี โดยคดีที่รับเข้าในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2549-2553) มีปริมาณคดีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคดีในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกของการเปิดทำการศาลปกครอง (2544-2548) โดยมีคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณาสูงถึง 6,200-7,200 คดีต่อปี หรือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6,878 คดีต่อปี
มีคดีปกครองที่พิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จทั้งสิ้น 48,696 คดี คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา 14,098 คดี ศาลปกครองสูงสุดมีคดีรับเข้าทั้งสิ้น 16,333 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 10,670 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 5,576 คดี ศาลปกครองชั้นต้นมีคดีรับเข้าทั้งสิ้น 46,815 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 38,219 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 8,522 คดี ประเภทของเรื่องที่มีการฟ้องมากที่สุดของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด คือ เกี่ยวกับการบริหารบุคคลและวินัย 16,054 คดี คดีเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ละเมิด และความรับผิดชอบอื่น 12,012 คดี คดีเกี่ยวกับพัสดุและสัญญาทางปกครอง 9,111 คดี คดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8,899 คดี ทั้งนี้จะพยายามเร่งรัดการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น