--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความจริงที่ต้องถูกเปิดเผยใครผิดต้องถูกลงโทษ!

ก่อนครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล เตรียมออกรายงานฉบับพิเศษเจาะลึกเหตุการณ์ความขัดแย้งวิกฤตการเมืองปี 2553 ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) การกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง การกระทำของคนชุดดำ และความคืบหน้ากระบวนการสืบสวนหาผู้กระทำความผิด ซึ่ง “นายสุนัย ผาสุก” ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฯ ได้เปิดใจกับ “ตวงพร อัศววิไล” ในรายการ Intelligence ทาง Voice TV ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องจับตามอง หลังจากการเก็บข้อมูลของฮิวแมนไรท์ฯเชิงประจักษ์โดยลงพื้นที่ไปพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น การสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม การเผาเซ็นทรัลเวิลด์ และการเผาสถานีโทรทัศน์และศาลากลางจังหวัด เป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าแต่ละฝ่ายไม่รับผิดชอบ ความปรองดองสมานฉันท์ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น
นอกจากนี้นายสุนัยยังเสนอให้คนเสื้อแดงยื่นเรื่องต่อคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสหประชาชาติอย่างน้อย 4 คณะ เช่น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน บุคคลสูญหาย และการปิดกั้นเสรีภาพ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและนำคนผิดมาลงโทษ

ถ้าเจาะดูเฉพาะปรากฏการณ์การเมือง ตรงนี้ต่างชาติคาดหวังขนาดไหน

ความคาดหวังต่อกระบวนการตรวจสอบโดยอาณัติของฝ่ายบริหารเพื่อจะนำมาสู่ความยุติธรรมนั้นไปโดย 2 ช่อง ช่องหนึ่งโดยกระบวนการยุติธรรมปรกติก็คือตำรวจ แล้วประเทศไทยก็มีอีกกลไกหนึ่งคือดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ตรวจสอบ ทำคดี ถ้ามีมูลอาญาก็ส่งฟ้องกันไป อีกทางหนึ่งคือเป็นดำริของฝ่ายการเมืองเพื่อหวังนัยเรื่องความสมานฉันท์ รัฐบาลเองก็มีเป้าในการจัดการเพื่อชี้ให้เห็นว่าภาระความรับผิดไม่ใช่ตกอยู่ที่รัฐอย่างเดียว เพราะธงของรัฐบาลชี้ให้เห็นตั้งแต่เกิดเรื่องแล้ว หลักๆคือตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายนที่แยกคอกวัว บอกว่ามีกองกำลังอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงครั้งนี้ การตรวจสอบที่รัฐบาลพยายามจะสร้างขึ้นมาก็คือชี้มูลให้เห็นมิติด้านนี้ ก็เป็นเป้าหมายที่ชอบกับเป้าหมายทางการเมือง มันผสมปนเปกันอยู่

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญคือประเทศไทยไม่เคยมีครั้งไหนที่จะตั้งกรรมการอย่างเปิดเผยขนาดนี้ แล้วก็มีนัยสำคัญคือถ้าพบข้อมูลอย่างไรแล้วจะดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมโดยไม่แยกฝักฝ่าย แล้วก็จัดให้มีนิรโทษกรรม อันนี้เป็นสาระสำคัญ ถัดมารายงานที่ทำออกมาแล้วจะเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่ปิดกั้น คงจำกันได้ว่าตอนพฤษภาทมิฬ 35 ทำออกมาแล้วไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน มีบางส่วนออกมาแต่ขีดฆ่าเป็นหมึกดำๆป้ายเต็มไปหมดเลย แล้วปัจจุบันรายงานฉบับเต็มชุดนั้นไปอยู่ที่ไหน หาไม่เจอ ไม่มีใครหารายงานฉบับเต็มได้ เข้าใจว่า คอป. ก็พยายามติดตามเพื่อที่จะเอามาเทียบเคียงกัน

สมัยคุณทักษิณ เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ มีการตั้งกรรมการอิสระขึ้นมา กรรมการอิสระทำงานได้ดีมาก ก็เป็นการสร้างบรรทัดฐาน ถึงจะเป็นกรรมการที่ตั้งโดยฝ่ายการเมือง แต่ถ้ากรรมการมีความเป็นกลางอย่างแท้จริงก็จะบันทึกข้อมูลได้อย่างเต็มที่ รายงานก็ออกมาดี สำหรับ คอป. ของอาจารย์คณิต (คณิต ณ นคร) ตั้งโดยฝ่ายการเมือง แต่ถ้ากรรมการแต่ละคนมีความเป็นกลางชัดเจน แล้วกรรมการสามารถเข้าถึงข้อมูลของทุกฝ่ายได้อย่างเต็มที่ งานก็น่าจะออกมาดีได้

คอป. สัญญาว่าก้าวที่หนึ่งจะทำข้อมูลอย่างเป็นกลาง โปร่งใสเต็มที่ ก้าวที่สองบอกว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะ ก้าวที่สามจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก้าวที่สี่จะไม่มีการนิรโทษกรรมฝ่ายใดเลย ในสัญญามันครบทุกประเด็น ในแง่ความหวังก็ไม่ได้หวังว่ามาจากต่างชาติอย่างเดียว แต่ความคาดหวังคือคนไทยอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนที่ญาติพี่น้องบาดเจ็บล้มตายก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนที่ทรัพย์สินเสียหาย ธุรกิจถูกเผาทำลาย คำตอบอยู่ที่ไหน คำตอบที่รายงานของ คอป. ไง เพราะฉะนั้นการประเมินเลยเข้มข้นว่า คอป. เอาเข้าจริงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ผ่านมาจะครึ่งปีแล้ว คอป. พูดออกมาอย่างเปิดเผยหลายครั้งว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ที่สำคัญคือฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ให้ความร่วมมือเลย

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เจาะลงไปในแต่ละเหตุการณ์และหาข้อมูลจากไหนมาเรียบเรียงเป็นรายงาน

มีเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แล้วเจ้าหน้าที่แต่ละคนก็มีความชำนาญแตกต่างกันไป มีผู้ที่มีความชำนาญด้านการศึกษากรณีความขัดแย้งด้านกำลัง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธต่างๆ คือดูแล้วสามารถประเมินได้ว่าใช้อาวุธชนิดไหนต่อกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของบาดแผลต่างๆ แล้วก็มีการประเมิน คนเหล่านี้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ไม่ใช่ข้อมูลจากนักข่าวหรือจากสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่เป็นข้อมูลโดยตรงเลย อย่างกรณีความขัดแย้งด้านการเมืองเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของฮิวแมนไรท์วอทช์อยู่ในพื้นที่โดยตลอด อยู่สังเกตการณ์ภาคสนามระหว่างเกิดเหตุการณ์เลย อยู่ในพื้นที่ตอนชุมนุม ตอนที่ปะทะและสลายการชุมนุม

ฉะนั้นการเก็บข้อมูลจะเป็นข้อมูลเชิงกระจ่างและทางตรง แล้วหลังจากเหตุการณ์จนจบวันที่ 19, 20 เจ้าหน้าที่ก็เริ่มพูดคุยกับผู้บาดเจ็บ ทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ฝ่ายผู้ชุมนุม สื่อมวลชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ได้พูดคุยด้วย ก่อนที่ ศอฉ. จะไม่ให้เจ้าหน้าที่พูดกับคนอื่น หลังจากนั้นก็เป็นการพูดคุยระดับทางการ คือคุยกับโฆษก ศอฉ.

ข้อมูลไม่ใช่เป็นการเรียกหน่วยงานเหมือน คอป.

เราไม่เป็นลักษณะนั้น เราเข้าไปหาเขามากกว่า เข้าไปยังพื้นที่แล้วก็เข้าไปพบปะกับคนเหล่านั้น ข้อมูลที่ได้มาก็มีการประเมินจากเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญ อย่างการสังเกตลักษณะวิถีกระสุน กรณีของวัดปทุมฯเจ้าหน้าที่ก็สังเกตว่าลักษณะกระสุน รอยที่อยู่ที่นั่นที่นี่ยิงมาจากที่ไหน ภาพของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บเท่าที่ได้มา จะเป็นภาพจากโทรศัพท์มือถือก็ดี คลิปของนักข่าวก็ดี คนเหล่านั้นมีลักษณะถูกยิงบาดเจ็บขณะทำอะไรอยู่ ช่วงเวลาใกล้เคียงนั้นมีคนกลุ่มไหนบ้างที่มีอาวุธอยู่ในมือ

ช่วงเหตุการณ์ตั้งแต่การชุมนุมมีนาคม 2553 ข้อมูลที่ได้มีจุดพลิกผันก่อนจะมาถึงวันที่ 10 อย่างไร

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ไม่ใช่รายงานประจำปีเพียงอย่างเดียว แต่ก่อนหน้านั้นทั้งปี ปีที่แล้วนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาผมจำได้ว่าฮิวแมนไรท์วอทช์มีแถลงการณ์เกี่ยวกับประเทศไทยเยอะมาก แถลงการณ์ทุกครั้งพูดถึงการชุมนุมของ นปช. ในช่วงเดือนแรกดำเนินไปในลักษณะค่อนข้างปราศจากความรุนแรง แม้จะมีวาทกรรมที่อาจหนักหน่วงอยู่ แต่ความรุนแรงในเชิงกายภาพไม่ปรากฏ จะมีก็แต่เรื่องของการยิงเอ็ม 79 คงจำกันได้ที่วิภาวดี 51 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ

จุดพลิกผันที่ฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่าเป็นการยกระดับสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงเชิงกายภาพคือวันที่เริ่มเคลื่อนผู้ชุมนุมเข้าไปที่รัฐสภา อันนั้นเป็นจุดที่ใช้หลักปฏิบัติการสากลเข้ามาในเชิงกายภาพ แล้วรัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการยกระดับสถานการณ์ มาตรการรับมือกับผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นมาตรการที่มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ คือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันนี้ผมเรียนชี้แจงว่าในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การประกาศสภาวะฉุกเฉินสามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลชัดเจนว่ามีภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของรัฐ แล้วการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะต้องไม่เกินกว่าเหตุ ไม่เกินกว่าความจำเป็น

สิ่งที่ตามมาคือพอผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา รัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเกินกว่าเหตุไหม สิ่งที่ฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นห่วงมากก็คือสภาวะฉุกเฉินมีหลายมิติที่ดูแล้วน่าจะเกินกว่าเหตุ

ถัดมาคือกรณีไทยคม คือทั้ง 2 ฝ่ายชัดเจน ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่อันนี้น่าสนใจว่าเอากำลังอาวุธจริงไปแต่เลือกที่จะไม่ใช้ ใช้แค่กระสุนยาง ใช้แค่แก๊สน้ำตา แต่ในที่สุดก็เป็นฝ่ายถอย หลังจากเหตุการณ์ไทยคมก็เข้าสู่เหตุการณ์วันที่ 10 คือที่สี่แยกคอกวัว ตอนเช้าคือฝ่ายรัฐพร้อมจะสลายการชุมนุมว่าจะเอาที่ราชประสงค์หรือที่สี่แยกคอกวัว ก็กลายเป็นสี่แยกคอกวัว

เหตุการณ์วันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ฮิวแมนไรท์วอทช์เริ่มสังเกตว่ากฎการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ที่ ศอฉ. ประกาศออกมามีความน่ากังวลอยู่ในหลายจุด คือบอกว่าโล่ กระบอง ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา แต่จบลงด้วยกระสุนจริง การใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมขนาดใหญ่อย่างนี้มีความสุ่มเสี่ยงอยู่แล้วในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่แถวนั้นด้วย วันที่ 10 ตั้งแต่ช่วงบ่ายก็มีการตั้งแถวเจ้าหน้าที่แล้วยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า ซึ่งอันนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตามในโลก ในประเทศไทยเราก็เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจหลายครั้ง เช่น เด็กๆ น้องๆอยู่ในบ้านแล้วกระสุนตกใส่เสียชีวิต วันนั้นยิงขึ้นไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันนัด แล้วพื้นที่ตรงนั้นเป็นชุมชน กระสุนความเร็วขึ้นไปกับความเร็วลงมาไม่เท่ากัน จุดนั้นเป็นจุดที่กังวลแล้วว่าทำไมให้เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า คือถ้ายิงด้วยปืนจริงใช้กระสุนเปล่าก็ได้ ใช้ลูกแบลงค์ก็ได้

ปลอกกระสุนที่เราเจอเป็นปลอกกระสุนจริงทั้งสิ้น แล้วการทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่เคยพบเคยเห็นที่ไหนมาก่อน มันอันตรายในตัวเอง คือนอกจากทิ้งลงมาแล้วยังยั่วยุให้โกรธ ให้คุ้มคลั่งมากขึ้น ถ้าตกใส่ใครก็มีสิทธิบาดเจ็บล้มตายได้ ทิ้งมาจากที่สูงขนาดนั้น ช่วงนั้นก็เห็นแล้วว่าฝั่งเจ้าหน้าที่เริ่มกดดันใช้กำลัง แล้วมีปัญหา 1.ใช้กระสุนยิงขึ้นฟ้า 2.ทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ทางผู้ชุมนุมเป็นอย่างไร ในช่วงกลางวันเท่าที่สังเกตเห็นจะเป็นลักษณะการต่อสู้แบบตามมีตามเกิด ท่อนหิน ท่อนไม้ หนังสติ๊ก ขว้างปาขวดน้ำ แต่พอช่วงค่ำมีจุดพลิกผัน คือเหตุการณ์ทำท่าจะซาลงแล้ว อยู่ๆก็ทวีขึ้นมาใหม่ว่ามีกลุ่มติดอาวุธเข้ามาในพื้นที่ จุดนี้เป็นจุดที่ต้องตรวจสอบว่าใครเป็นคนเริ่มก่อน แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่ามีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาในพื้นที่แล้วมีอาวุธหนัก เป็นอาวุธสงคราม ขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งทหารเข้ามาก็มีจุดที่น่าห่วง คือมืดแล้ว ตกลงจะเป็นการปฏิบัติการในยามวิกาลหรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่

ประการที่ 2 คือเหตุการณ์ไม่ได้จำกัดอยู่ตรงแยกคอกวัวอย่างเดียว มีการแยกเคลื่อนกำลังมาจากเส้นปิ่นเกล้าด้วย แล้วพยายามจะข้ามสะพานไปปิ่นเกล้า มีทั้งรถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะติดปืนกลหนักอยู่ข้างบน แล้วมีเครื่องกระสุนอยู่ใกล้เคียง จะใช้หรือไม่ใช้ แต่การนำอาวุธหนักขนาดนั้นเข้ามาใช้ปฏิบัติการมีเจตนาอย่างไร

อันนี้ตรวจสอบได้ไหมว่าอาวุธนำเข้ามาหลังมีชุดดำหรือว่าเป็นช่วงคาบเกี่ยวกัน

จุดนี้เป็นจุดที่เราพยายามขอให้ คอป. ตรวจสอบ น่าจะเข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่ารายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ คือพยายามชี้ประเด็นให้เห็นว่าเป็นจุดที่เราสงสัย เป็นจุดที่เรากังวล ตอบได้ไหม แต่พอหลังจากดึกขึ้นมาหน่อยก็เริ่มมีการยิงกัน ช่วงนี้เราได้คุยกับพยาน ได้คุยกับช่างภาพทั้งไทยและเทศที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็พูดชัดเจนตรงกันว่ามีกองกำลังชุดดำปรากฏขึ้นและใช้อาวุธยิงเข้าใส่แนวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคงทราบกันดีว่าเกิดการล้มตายเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ล่าถอย แต่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ล่าถอยก็มีลักษณะการยิงปืนเป็นแนวตรงใส่ อันนี้ก็ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์หลายครั้ง ทั้งในแถลงการณ์ประจำปีเราก็พูดเรื่องนี้ว่าระหว่างล่าถอยมีความแตกตื่นของเจ้าหน้าที่ก็ยิงปืนซึ่งเป็นปืนอัตโนมัติ จะเป็นเอ็ม 16 ก็ดี เป็นบราโวก็ดี ยิงออกไปเป็นแนวตรง แต่จุดใหญ่จริงๆของเหตุการณ์วันที่ 10 คือกองกำลังที่มีอาวุธที่เราเห็น อาก้าก็ดี เอ็ม 79 ก็ดี ระเบิดขว้างก็ดี อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งต้องเจาะให้เห็นว่ากองกำลังเหล่านี้คือใคร เพราะต้องรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตาย

แต่จับคนชุดดำไม่ได้สักคน ได้แต่โทษกันไปมา

เรื่องคนชุดดำเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมคิดเหมือนคุณตวงพรว่าตกลงเราจับคนชุดดำได้หรือเปล่า คงจำกันได้ว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงก็ดี ช่วงที่มีการชุมนุม 2-3 เดือนแล้วต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ดีเอสไอให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าจับคนชุดดำได้แล้ว แล้วคนชุดดำเหล่านั้นอยู่ที่ไหน มีการส่งฟ้องหรือไม่ หรือกันตัวเป็นพยาน เพราะเท่าที่สาธารณะรับรู้มีดาราท่านหนึ่งถูกควบคุมตัวไป เขาบอกว่าไม่ได้เป็นคนชุดดำ แต่เขารับรู้ ก็ถูกกันเป็นพยาน นอกจากนั้นก็มีคนที่อ้างว่าเป็นคนสนิทของนายทหารที่ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต อ้างว่าจับได้ที่โน่นที่นี่ ตอนนี้คนเหล่านี้อยู่ที่ไหน อันนี้ก็จะกลับมาประเด็นที่น่าเป็นห่วง

ก่อนที่จะพูดถึงการใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันเปิดทางให้นำคนไปไว้ที่เซฟเฮาส์ต่างๆได้ เอาคนไปคุมขังไว้ในค่ายทหารต่างๆได้โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา แล้วหลังจากนั้นอยู่ที่ไหน อันนี้เป็นข้อมูลที่ผู้แทนดีเอสไอ หัวหน้าดีเอสไอให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะหลายครั้ง ก็เหมือนกลับมาพันตัวเขาว่าคุณบอกว่าคุณจับคนเหล่านั้นได้ เอาตัวไปไว้เซฟเฮาส์ เอาตัวไปไว้เพื่อสอบสวน แล้วตอนนี้คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ฮิวแมนไรท์วอทช์ถามมาตลอดว่าเรารู้ว่ามีการควบคุมตัวตน แล้วหลังจากนั้นจะตั้งข้อหาเขา ซึ่งตอนหลังรัฐบาลก็บอกว่าทยอยให้ประกันตัวออกมาก่อน กลุ่มนี้เรารู้ว่าอยู่ที่ไหน สามารถระบุตัวได้ ตอนนี้มีสัก 120 กว่าคนอยู่ในเรือนจำและสถานพินิจฯก็สามารถเข้าเยี่ยมได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯก็สามารถเยี่ยมได้ แต่กลุ่มที่ดีเอสไอบอกว่าควบคุมตัวแล้วเอาไปไว้ที่โน่นที่นี่อยู่ที่ไหน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถคุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน

นั่นน่ะสิ พอครบ 30 วันแล้วทำอย่างไรกับคนเหล่านั้นต่อ...ไม่รู้ นี่เป็นกล่องดำกล่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในช่วงที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือกลุ่มคนที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นคนชุดดำ หรือเป็นการ์ดติดอาวุธของ นปช. ต้องแยกว่าคนชุดดำส่วนหนึ่งซึ่งตัวตนเขาเราไม่ชัดเจน แล้วพวกการ์ดนปช. ที่มีอาวุธ อันนี้ชัดว่าเขาเป็นการ์ด เขามีสัญลักษณ์ มีป้าย มีผ้าคลุม มีเสื้อ อันนี้ชัดเจน ตกลงมีการเอา 2 กลุ่มนี้มาโยงกันไหม แล้วปฏิบัติต่อเขาอย่างไร...ไม่รู้ แล้วเราก็ทวงถามรัฐบาลมาตลอด รัฐบาลก็ไม่เคยให้ข้อมูลนี้กับใคร คือไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลนี้ รัฐบาลให้ข้อมูลแต่คนที่อยู่ในเรือนจำ ในสถานพินิจฯ คอป. ก็ไม่ได้ข้อมูลตรงนี้ว่าตกลงคนที่ถูกควบคุมตัวแบบลึกลับไม่เคยตั้งข้อหาอยู่ที่ไหน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ไม่ได้ กรรมาธิการของรัฐสภาก็ไม่ได้ ตกลงว่ามีความลับเกิดขึ้น

ถ้าพูดถึงชุดดำ คอป. น่าจะหาคำตอบตรงนี้ได้ แล้วในส่วนดีเอสไอก็พยายามแบ่งเป็น 3 กรณีสำหรับการเสียชีวิต ก็ยังเป็นหลุมดำอยู่เหมือนกัน

ดีเอสไอจริงๆก็เป็นปัญหาต่อการทำงานของรัฐเอง ดีเอสไอเคยบอกว่าจับตัวคนเหล่านี้ได้แล้วแต่ไม่ออกมาระบุชัดเจนว่าคนเหล่านี้ชื่อเรียงเสียงใด สถานะในการดำเนินคดีไปถึงไหนแล้ว กันไว้เป็นพยานหรือว่าจะส่งฟ้องต่อไป ก็เลยมีข้อสงสัยจากฝั่งคนเสื้อแดงซึ่งพูดเรื่องนี้มาตลอด ตกลงชุดดำใครเป็นคนจัดมากันแน่ ทางนานาชาติที่ตรวจสอบก็พยายามชี้ประเด็นนี้ว่าตกลงชุดดำใครจัด ถ้าดีเอสไอทำงานอย่างโปร่งใสมากกว่านี้ มีการชี้แจงต่อสาธารณะมากกว่านี้ ข้อกังวลเรื่องเหล่านี้น่าจะหมดไป หรืออย่างน้อยถ้าไม่อยากพูดเองก็ให้ข้อมูลกับ คอป. แล้ว คอป. ก็จะออกมาแถลงหรือบรรจุอยู่ในรายงาน ความกังวล ความคลางแคลงใจน่าจะหมดไป เพราะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีการยิงเอ็ม 79 ที่โน่นที่นี่ มีการปาระเบิดเอ็ม 79 ใส่ที่โน่นที่นี่ แล้วก็มีการสูญเสียหนักๆคือที่แยกศาลาแดง ตรงสถานีรถไฟบีทีเอส ตรงนั้นใครเป็นคนทำ ถ้าสามารถระบุตัวคนชุดดำได้ก็จะเห็นชัดเจน คือการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมประท้วงมันชัด แต่มือที่สามหรือจริงๆอาจมีมือที่สี่ ที่ห้า ตกลงมีกี่ฝักกี่ฝ่ายกันแน่ อันนี้ต้องตอบให้ได้

หลังเกิดเหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว เกิดความสูญเสีย ทุกฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อหาทางลงสวยๆ ทำไมจึงล้มเหลว

จุดนี้เป็นจุดใหญ่ที่เราอยากเห็นคำตอบออกมาจากรายงานของ คอป. เพราะช่วงนั้นเหตุการณ์วันที่ 10 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ช็อกทั้งสังคมไทยและนานาชาติ มีคำถามว่าจะปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้หรือ แล้วก็มีความพยายามที่เป็นมาตรการทางการเมืองหรือไม่ เราก็เห็นความพยายามจากทางการเมือง แล้วมีสัญญาณจากทั้ง 2 ฝ่ายว่าน่าจะไปกันได้ดี มีการอะลุ้มอล่วยกัน เช่น ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าจะร่นอายุการอยู่ในอำนาจ จะยุบสภาแล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ตั้งเงื่อนไขว่าการชุมนุมซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยจะต้องยุติลง แกนนำบางส่วนซึ่งค่อนข้างเป็นสายกลางก็ส่งสัญญาณบวกมา แต่อยู่ๆการเจรจาก็ล่มลง เกิดอะไรขึ้น มีปัจจัยหรือมีบุคคลใดเข้ามาขัดขวางกระบวนการเจรจาที่จะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงคืนวันที่ 18 พฤษภาคมต่อเนื่องเช้าวันที่ 19 เห็นว่ามีการเจรจาของวุฒิสภาเกิดขึ้นโดย เสธ.อู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการกำหนดพื้นที่ว่าถ้าการชุมนุมยุติจะทยอยเอาคนเข้ามาไว้ในวัดปทุมฯ วัดปทุมฯจึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่อภัยทาน

แต่อยู่ๆกระบวนการก็ล่ม เกิดอะไร มีความพยายามที่จะเลื่อยกระบวนการสันติวิธีนี้ตลอด ถ้าสามารถเปิดโปงอันนี้ได้ กระบวนการหรือปัจจัยใดที่เลื่อยกระบวนการสันติวิธีก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบมากๆคนหนึ่งในฐานะที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย สูญเสียอย่างมากมายมหาศาลทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายรัฐ แล้วคนที่ไม่เกี่ยวข้องจะต้องถูกเปิดโปง เราก็หวังว่ารายงานของ คอป. น่าจะนำมาสู่การเปิดข้อมูลในส่วนนี้ด้วย

ย้อนกลับมาวันที่ 10 เมษายนนิดหนึ่งว่าวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจ เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนเสียใจ เราก็มองแล้วว่าเอ๊ะ เกิดอะไรขึ้น ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องหันไปใช้กำลัง ซึ่งเป็นกำลังแบบเต็มที่ นั่นคือใช้กำลังทหาร ทำไมรัฐถึงไม่ใช้ตำรวจ กระโดดข้ามขั้นไปใช้ทหาร แล้วพอเกิดเหตุขึ้นก็ยกระดับของความรุนแรง อันนี้เป็นอีกประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบ แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มมีการยกระดับความรุนแรงขึ้นมา

วาทกรรมคำพูดก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ เป็นการปลุกให้คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้นทั้งสิ้น เช่น เมื่อกระบวนการเจรจาล้มแล้วก็มีการกระชับพื้นที่ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็เริ่มมีวาทกรรมบอกว่าต้องต่อสู้ เรื่องการเอาชีวิตเข้าแลก อะไรเหล่านี้เริ่มผลักคนให้อยู่ในที่สุดโต่งกันทั้งคู่ ช่วงเวลานั้นคงจำกันได้ว่าจะมีการแถลงข่าวหลายครั้งว่าเอาล่ะ มีการปิดกระชับพื้นที่รอบราชประสงค์ไม่ให้คนเข้ามาเพิ่มได้ ออกได้อย่างเดียว ห้ามพกอาวุธ มีการตรวจสอบอาวุธแล้วจะนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยต่างๆมาปิดทางราชปรารภ ปิดล้อม 3 ด้าน 3 ทิศ แล้วมีการแถลงข่าวคืนหนึ่งจากทางราบ 11 ว่ากองกำลังเจ้าหน้าที่ถูกระดมยิงใส่ด้วยอาวุธอย่างหนัก ตรงนี้เอ็ม 79 ตรงนั้นเอาปืนอาก้า อะไรพวกนั้นเข้ามา แล้ว ศอฉ. ก็ประกาศเรื่องเขตพื้นที่การใช้กระสุนจริง ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ภายใน 24 ชั่วโมง กังวลพื้นที่การใช้กระสุนจริง เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะหลักกติกาของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีเครื่องกระสุน อาวุธจริงในการรักษากฎหมายจะต้องอยู่ในเหตุที่เหมาะสม และการใช้อาวุธปืนไปในทางที่มุ่งจะรักษาชีวิต ไม่ใช่ทำลายชีวิต แต่พื้นที่กระสุนจริง พอเอาเข้าจริงก็มีเรื่องของการใช้สไนเปอร์ ซึ่งสไนเปอร์เป็นประเด็นที่นานาชาติจับตามองมาตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายนแล้ว

พอเกิดนโยบายการใช้กระสุนจริง ประเด็นเรื่องสไนเปอร์ยิ่งชัดมากขึ้น ยิ่งมีภาพของผู้ที่เสียชีวิตซึ่งเป็นพลเรือน ตกลงคนที่เป็นเป้าพื้นที่กระสุนจริงไม่ได้จำกัดอยู่ที่กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายหรือที่เราเรียกว่าคนชุดดำแต่อย่างเดียว แต่มีทั้งผู้ชุมนุมประท้วงและคนที่ผ่านไปผ่านมา ที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครพยาบาลก็โดนไปด้วย จุดนี้น่าเป็นห่วง สื่อมวลชนก็โดนไปด้วย เรื่องของกองกำลังคนชุดดำนี่ผิดแน่ๆอยู่แล้วชัดเจน เพียงแต่ต้องเปิดตัวออกมาให้ได้ว่าเขาเป็นใคร แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้มาตรการที่ไม่เหมาะสม มาตรการที่มีความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แล้วหลังจากนั้นลักษณะอย่างที่เกิดขึ้นที่ราชปรารภก็ไปโผล่ที่บ่อนไก่ ไปโผล่ตามแนวรอบๆบ่อนไก่

ในรายงานสไนเปอร์มาจากไหน โดยเฉพาะผลการชันสูตร ญาติผู้เสียชีวิตบอกว่าถูกกระสุนปืนความเร็วสูง แต่ก็ไม่มีรายละเอียดฉบับเต็มของผลการชันสูตร

กระสุนความเร็วสูงใช้ด้วยกันทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและคนชุดดำ คือเป็นอาวุธสงครามกับปืนสไนเปอร์ พวกนี้เป็นกระสุนความเร็วสูงทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้ขนาดของกระสุนก็ตอบได้ยาก ต่อให้รู้ขนาดก็เป็นปืนที่ใช้ทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ขนาดกระสุนเอ็ม 16 ก็ใช้ด้วยกันทั้ง 2 ข้าง ถ้าสไนเปอร์อาจบอกขนาดได้ แล้วระบุยี่ห้อ ระบุรุ่นได้ แต่ต้องได้ข้อมูลที่ครบถ้วนจากรายงานชันสูตรศพ แต่ภาพของเหตุการณ์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่องกันมาตลอดว่าฝ่ายรัฐมีนโยบายที่น่ากังวลเรื่องความรุนแรงที่คุมไม่ได้ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็รู้สึกว่าจนตรอกแล้ว จะเอายังไงก็พร้อมจะต่อสู้ แต่ผู้ชุมนุมก็ต้องแยกแยะว่าส่วนหนึ่งใช้อาวุธที่ทำกันเอง บั้งไฟก็ดี หนังสติ๊กก็ดี ระเบิดเพลิงก็ดี ตรงนี้เป็นอาวุธ แต่ก็เป็นอาวุธที่ทำกันเอง กับกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธสงคราม อันนี้ต้องแยกแยะ มันต่างกัน เรื่องกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เรื่องคนชุดดำเป็นโจทย์ใหญ่มาก คือถ้าตอบปุ๊บสามารถชี้ความรับผิดได้อย่างชัดเจน แต่ปัญหาเวลาคนชุดดำปฏิบัติการเขาไปอยู่ตามแนวของผู้ชุมนุมประท้วงด้วย ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงถูกลากเหมาเข้าไป ซึ่งจริงๆ นปช. ก็เป็นภาระที่จะสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ก็ควรออกมาช่วยแยกแยะว่าคนชุดดำคือใคร

บุคคลหนึ่งที่ผูกติดและถูกเชื่อมโยงกับคนชุดดำมาตลอดก่อนที่จะเสียชีวิตคือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล รายงานฮิวแมนท์ไรท์วอทช์มีแค่ไหนเรื่องบทบาทของ พล.ต.ขัตติยะ

น่าเสียดายที่ท่านเสียชีวิตไป ท่านเป็นประเด็นที่ต้องถูกตรวจสอบด้วย เพราะเป็นการลอบสังหารด้วยสไปเปอร์กลางเมือง เป็นการลอบสังหารที่ตอบไม่ได้ว่าฝ่ายใดอยู่เบื้องหลัง เท่าที่ผ่านมาในประเทศไทยกรณีลอบสังหารทางการเมืองเป็นกรณีที่ไม่มีคำตอบ ผ่านมาหลายสิบปีหลายกรณีก็ยังไม่มีคำตอบ แต่เรื่องของ พล.ต.ขัตติยะเป็นเรื่องใหญ่ และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากคือก่อนที่ พล.ต.ขัตติยะจะถูกลอบสังหาร คนที่อยู่แวดล้อมท่านถูกจับกุมอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากดีเอสไอเปิดเผยรายงานการจับกุมหรืออนุญาตให้กรรมการที่สอบสวนเหตุการณ์ได้เข้าถึงบรรดาคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว จะให้ความกระจ่างได้ในระดับหนึ่งว่าท่านมีความเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร หรือมีกลุ่มอื่นเข้ามาอีก อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ พอขาดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล การสืบสวนสอบสวนทำให้ประเด็นอื่นติดขัดไปหมด การอธิบายเหตุการณ์ติดขัดไปหมด

ประเด็นการสังหารหมู่ในวัดปทุมฯ 6 ศพ

กรณีของวัดปทุมเป็นเรื่องใหญ่ในตัวของมันเอง ตั้งแต่พื้นที่วัดปทุมฯมีบุคคลใดเข้าไปอยู่ ถ้าเรายึดหลักตั้งแต่ที่วัดปทุมฯเป็นศาสนสถาน เป็นเขตที่แตะต้องไม่ได้ และเรามีเงื่อนไขการเมืองคือการเจรจาที่ตกลงทั้ง 2 ฝ่ายว่าเป็นเขตอภัยทาน ถ้าคนอยากจะยุติการชุมนุมให้เข้ามาอยู่ที่นี่เพื่อรอการมอบตัว เป็นพื้นที่แตะต้องไม่ได้ ประการที่ 2 คนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่แน่ๆคือผู้ชุมนุมประท้วง ถามว่าเป็นผู้ชุมนุมประท้วงทั้งหมดหรือเปล่า มีส่วนของผู้ติดอาวุธแฝงเข้ามาไหม ซึ่งใครจะตอบเรื่องนี้ได้ ประการที่ 3 คือแม้จะมีผู้ติดอาวุธปะปนอยู่บ้าง เมื่อมีการสลายการชุมนุมแล้วก็มีการเข้าค้นภายในวัดปทุมฯแล้วบอกว่าเจออาวุธ แต่ก็ต้องพิสูจน์ว่าอาวุธนั้นมาจากไหน ปรากฏอยู่ในเวลาใด เมื่อพบไม่ว่าอย่างไรก็ตามอาวุธเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่หรือไม่ ถ้าไม่ถูกนำมาใช้เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิใช้อาวุธรุนแรงยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ อันนี้เป็นคำถามที่ตามมาว่าเมื่อมีผู้เสียชีวิตแล้วใครเป็นคนยิง

ถ้าหากดูข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งก็เป็นผู้ชุมนุมด้วย เป็นผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศ แล้วดูแนววิถีกระสุน ก็สรุปได้ว่าการเสียชีวิตของคนในวัดปทุมฯเกิดจากการยิงเข้าใส่จากข้างนอก ซึ่งอันนี้เราก็พูดอยู่ในรายงานประจำปีว่าเป็นการเสียชีวิตจากการยิงข้างนอกคือแนวข้างบนของรถไฟฟ้า ซึ่งในที่สุดก็มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ราชการอยู่บนรางของรถไฟฟ้า อันนี้ก็ชัดเจน

ความพยายามของคนเสื้อแดงที่ยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

โอกาสที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับเข้ามาตรวจสอบกรณีทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยน้อยมากคือใกล้เคียงกับศูนย์ ประเด็นแรกคือไทยไม่ได้เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ แล้วถ้าหากวันใดวันหนึ่งรัฐบาลไทยให้สัตยาบันจะตรวจสอบย้อนหลังได้หรือไม่ เป็นความผิดย้อนหลังจะตรวจสอบได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกต แต่ถ้าหากช่องทางปัจจุบันทำได้เต็มที่ คือรวบรวมข้อมูลส่งต่ออัยการ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่ง นปช. ได้ส่งไปแล้ว และหลังจากนั้นถ้าอัยการส่งเรื่องต่อไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญพอ คณะมนตรีฯก็จะบอกว่าศาลอาญาระหว่างประเทศตรวจสอบประเด็นนี้ได้ ถึงแม้ไทยจะไม่ได้เป็นภาคีก็สามารถตรวจสอบได้ กรณีนี้มีโอกาสเป็นไปได้แต่ก็ไม่เยอะ

แต่การขับเคลื่อนของ นปช. มีผลต้อประเด็นการเมืองด้านกระแสมากกว่าด้านความยุติธรรม ถามว่าความยุติธรรมระหว่างประเทศจะเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไหม คำตอบคือไม่ใช่ ยังมีช่องทางอื่นที่น่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์และเห็นผลที่เป็นรูปธรรมได้มากกว่านี้ คือทางระหว่างประเทศเรามีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันคนไทยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคือ คุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว และตามวาระปีนี้เป็นปีที่ครบกำหนดประเทศไทยจะต้องถูกตรวจสอบตามพันธะด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมือง ก็สามารถทำข้อมูลที่คนเสื้อแดงเห็นว่าเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่งให้มีการประเมินสถานการณ์ในประเทศไทย

นอกจากนั้นเลขาธิการสหประชาชาติยังมีผู้ชำนาญการสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆทำงานอยู่ ถ้ามองประเทศไทยเราแยกประเด็น เช่น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวโดยพลการ การทำบุคคลให้สูญหาย การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ เอาแค่นี้ 4 ประเด็นเกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งสิ้นเมื่อปีที่แล้ว เราสามารถแยกส่งประเด็นเหล่านี้ให้กับผู้ชำนาญการโดยคณะทำงานเหล่านั้นได้ ซึ่งถ้าเขารับเรื่องก็จะทำหนังสือขออย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลไทยเข้ามาตรวจสอบ ถ้าหากไม่ให้เขามาตรวจสอบนั่นก็เป็นประเด็นว่ามีอะไรถึงไม่ให้เข้ามา ถ้าให้เข้ามาเขาก็จะทำหน้าที่ได้เต็มที่ หรือถ้าเขาไม่ขออย่างเป็นทางการก็อาจเข้ามาอย่างไม่เป็นทางการก่อน เพื่อดูข้อมูลเบื้องต้นหรือส่งเจ้าหน้าที่มาก่อนที่ตัวเองจะเข้ามา ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินสถานการณ์แค่นี้ก็ได้เคลื่อนแล้ว เพราะทันทีที่รายงานของคนเหล่านี้ออกมาจะเกิดแรงกดดัน ถ้าหากหวังผลจะทำให้มีการผลักดันเรื่องมิติอำนาจยุติธรรมระหว่างประเทศว่าหากคนไหนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงเดินทางไปยุโรปก็โดนจับแน่ ต้องเริ่มต้นจากข้อมูลเหล่านี้ อย่าไปหวังที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมันไม่เกิดผล ยังมีช่องทางอื่นที่ทำงานได้

4 ประเด็นหลักนี้มีประเทศไหนผ่านช่องทางนี้แล้วบ้าง

ใกล้ๆบ้านเราก็คือฟิลิปปินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสังหารนอกกฎหมาย นักข่าวฟิลิปปินส์ถูกฆ่าตายแยะมาก จนในที่สุดรัฐบาลฟิลิปปินส์ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องเปิดประเทศให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ มีการนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการ เมื่อกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศอาจไม่โปร่งใส ล่าช้า ผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่าเหตุการณ์เหล่านี้กระบวนการยุติธรรมในประเทศต้องขยับ คือแรงกดดันจากต่างประเทศทำให้ในประเทศต้องขยับ และนำไปสู่การเอาผิดเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และอีก 2-3 เดือนจะเฉพาะเจาะจงลงไป ต้องการจะสะท้อนภาพหรือชี้ประเด็นใด

หลักใหญ่ๆคือคนทำผิดต้องรับผิด คนที่ละเมิดสิทธิต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นี่คือหลักการสำคัญ ฮิวแมนไรท์วอทซ์ไม่เลือกฝ่าย เราไม่เหลือง ไม่แดง ไม่เขียว หรือน้ำเงิน ฝ่ายใดที่ละเมิดสิทธิ ฝ่ายใดที่ทำรุนแรง เราเปิดโปงคนเหล่านั้นทั้งสิ้น และเราก็กระทุ้งให้เกิดความยุติธรรมขึ้น โดยเป็นความยุติธรรมที่อยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย ไม่ใช่ศาลเตี้ย เอาคนเหล่านั้นมาดำเนินคดีตามช่องทางที่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมในประเทศ หรือกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ของประเทศไทยเป้าหลักอยู่ที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศมากกว่า เพราะกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศอาจแตะยากหน่อย ชี้ความผิดให้ชัดเจน และยึดสัญญาประชาคมที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้กับประชาชนเมื่อปีที่แล้วว่าถ้าพบว่าใครทำผิดจะไม่ละเว้นทั้งสิ้น เราเอาประโยคนี้เป็นประโยคสำคัญ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น