--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดร.นันทวัฒน์ ถึง ′รัฐบาล-เสื้อแดง-ประชาชน′ ...ทำอย่างไรถึงจะชนะ !!

การเจรจาของคู่ขัดแย้ง ยังห่างไกลจากความสำเร็จ ใครๆก็รู้ว่า "มาร์ค"ไม่ยุบสภาในเร็ววันนี้ แน่ๆ แล้วทางออกอยู่ที่ไหน ? ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้อยู่ใน 155 นักวิชาการ แต่เขามีข้อเสนอใหม่ สำหรับรัฐบาล-เสื้อแดง และประชาชน อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ ต่อไปนี้ อาจทีอาจเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ ...


การตั้งโต๊ะเจรจาระหว่าง คู่ขัดแย้ง 3 ชั่วโมง ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นั่งอยู่ฟากหนึ่ง อีกฟากหนึ่งคือ นายวีระ มุสิกพงษ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็น 3 ชั่วโมงที่มีการถ่ายทอดสด
แต่ที่สุดก็ตกลงอะไรกันไม่ได้ เมื่อ ฝ่ายเสื้อแดงเสนอให้ยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์
ขณะที่รัฐบาล ไม่รับเงื่อนไข...
วันนี้ ( 29 มี.ค.) เวลา 18.00 น. เวทีเจรจา เกิดขึ้นอีกครั้ง ณ สถาบันพระปกเกล้า แต่นายกฯ บินไปบรูไน ...คำตอบน่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก
ก่อนหน้านี้ 155 นักวิชาการลงชื่อจดหมาย เปิดผนึก จี้นายกฯ ยุติวิกฤตเสนอยุบสภาภายใน 3เดือน ทุกกลุ่มต้องรับผลเลือกตั้ง
ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้อยู่ใน 155 นักวิชาการ แต่เขามีข้อเสนอใหม่ สำหรับ รัฐบาล -เสื้อแดง และประชาชน
อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ ต่อไปนี้ อาจทีอาจเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ ...

@ ไม่อยากเสียความเป็นกลาง

ผมได้รับการสอบถามจากเพื่อนนักวิชาการ สื่อมวลชน และลูกศิษย์ว่าทำไมถึงไม่เขียนหรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณียึดทรัพย์ของคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผมก็ได้ชี้แจงไป 2 เหตุผลใหญ่ๆด้วยกัน เหตุผลแรก คือภายหลังที่มีคำพิพากษาและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลออกมา ก็มีข่าวว่าคุณทักษิณฯ จะอุทธรณ์ ผมก็เลยยังไม่อยากให้ความเห็นใดๆก่อนที่จะมี “คำตอบ” ของการอุทธรณ์ออกมาให้ชัดเจนว่า ศาลรับอุทธรณ์หรือไม่ หากรับผลของการอุทธรณ์เป็นอย่างไร
ส่วนเหตุผลที่สองก็เกี่ยวข้องกับเหตุผลแรก เพราะผมเกรงว่า หากให้ความเห็นไปก่อน และหากผมมีความเห็นที่ดี อาจมีผู้นำความเห็นของผมไปใช้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ผลที่ออกมาอาจทำให้ผมถูกจับไปอยู่เป็นพวกของฝ่ายใด
ฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งก็จะทำให้เสียความเป็นกลางไปในที่สุด เพราะฉะนั้น ผมจึงตัดสินใจที่จะไม่เขียนหรือให้สัมภาษณ์กรณียึดทรัพย์คุณทักษิณ ฯ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดจริงๆครับ

@ รับภาพ"รัฐบาลในอ้อมกอดทหารไม่ได้ "... เสมือนภาวะสงคราม

การชุมนุมครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สร้าง “สีสัน” ให้กับสังคมเมืองหลวงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งหลังจากว่างเว้นบรรยากาศแบบนั้นไปเสียนานครับ!!! ผมเองก็เช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ ทั่ว ๆ ไปที่เฝ้ามองดูการชุมนุมด้วยความวิตกกังวลว่า จะมีอะไร “เกินขอบเขต” ของการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ แต่จนกระทั่งปัจจุบัน( 29 มีนาคม) สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ยังพอที่จะ “รับได้” อยู่ครับ (ไม่นับเรื่อง “เลือด” นะครับ!!!)
แต่ที่ “รับไม่ได้” ก็คงเป็นเรื่องของมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดโดยภาครัฐเสียมากกว่า
วันนี้ สภาพของกรุงเทพมหานครของเราดูไม่ต่างไปจากประเทศที่มีสงครามเท่าไรนัก บทถนนสาธารณะ มีการนำเอาบังเกอร์คอนกรีตมาวาง มีแผงกั้นถนนอยู่จำนวนมาก รอบสถานที่ราชการบางแห่งก็มีการนำเอารั้วลวดหนามมาติดไว้ ไปไหนมาไหนเจอแต่ทหาร รถทหารก็เยอะ ด่านตรวจเต็มไปหมด ดูข่าวโทรทัศน์ นายกรัฐมนตรีไปไหนก็มีทหารจำนวนมากขนาบข้าง นายกรัฐมนตรีเดินทางก็ใช้เฮลิคอปเตอร์ เรียกได้ว่า สรรพกำลังทางทหารพร้อมยุทโธปกรณ์ต่างๆถูกนำมาใช้กันอย่างเต็มที่เพื่อ “ป้องกัน” รัฐบาลและบุคคลสำคัญจาก “คนเสื้อแดง” ทั้งๆที่สื่อของรัฐก็ได้ออกข่าวอยู่ตลอดเวลาว่ามีจำนวนไม่มากเหมือนกับที่ได้ “คุย” เอาไว้ !!!
รัฐบาลน่าจะลองทบทวนดูนะครับว่ามาตรการต่างๆที่กำหนดขึ้นมานี้ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และเหมาะสมหรือไม่ที่ใช้กำลังทหาร ตำรวจจำนวนมากเพื่อรักษาความปลอดภัย “ของตัวเอง” แต่ไปกระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่ตามปกติของประชาชนทั่วไปครับ !!!

@ เสื้อเหลืองโชคดีกว่าเสื้อแดง ...ฟันธงมาร์คไม่ยุบสภาแน่ !!!

กลับมาดูการชุมนุมของคนเสื้อแดงกันดีกว่า หากจะวิจารณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็คงตอบได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายว่า ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นและไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเรา (ไม่นับเรื่อง “เลือด” นะครับ!!!)
การต่อสู้ของคนเสื้อแดงยังคงเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีทิศทางและไม่มีจุดหมายที่ชัดเจนและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาครับ

ไม่ใช่เฉพาะเสื้อแดงเท่านั้นนะครับที่ชุมนุมโดยไม่มีทิศทางและไม่มีจุดหมายที่ชัดเจน หากยังจำกันได้ สมัยเสื้อเหลืองยึดถนน ยึดทำเนียบอยู่กว่า 2 เดือน ก็มีข้อเรียกร้องแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกวันจนไม่รู้ว่าจะเอาอะไรกันแน่เหมือนกัน
ผมเข้าใจว่าคงเป็นอาการปกติของการชุมนุมในประเทศไทยเพื่อ “โค่นล้ม” อีกฝ่ายหนึ่ง “ก่อน” เวลาอันสมควร คือ ยังไม่มี “ข้อหา” ที่ชัดเจน หยิบอะไรได้ จับอะไรได้ ก็เอามาใช้หมด พอข้อหาไม่ชัดเจน จะทำให้คนมาเพิ่มมากขึ้นก็ลำบาก จะเลิกก็ไม่ได้ เลยต้องอยู่ไปอย่างนั้น พยายามหาข้อหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน

สำหรับเสื้อเหลืองนั้นถือว่าโชคดีอย่างมากถึง 2 หน หนแรก ตอนอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิดฐานทำกับข้าวออกโทรทัศน์ หนที่สอง พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบ เสื้อเหลืองก็เลยมี “ทางลง” ที่สวยงามและไม่ “เสียเหลี่ยม” ครับ แต่ในวันนี้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ “ทางลง” ของเสื้อแดงว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ “เสียเหลี่ยม” เช่นกันครับ
ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่จะให้นายกรัฐมนตรียุบสภานั้นเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ถูกต้องด้วยทฤษฎีก็เพราะการยุบสภาจะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาของการทำงานในรัฐสภาจนทำให้สภาไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือไม่ก็รัฐสภาไม่ยอมออกกฎหมายให้ฝ่ายบริหาร ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้ จึงต้องถูก “ลงโทษ” ด้วยการยุบสภาครับ

ส่วนที่ว่าไม่ถูกต้องด้วยการปฏิบัติก็เพราะว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะให้มีการ “ทบทวน” บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ก็ยังไม่ควรยุบสภา เพราะหากยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นภายใต้กติกาเดิม ก็คงมีเสียงคัดค้านอีกว่า การเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตยครับ
ผมเลยมองไม่เห็น “ทางลง” ของคนเสื้อแดงว่าจะเป็นอย่างไร เพราะผมค่อนข้างแน่ใจว่า นายกรัฐมนตรีคงไม่ยุบสภาเป็นแน่ครับ!

@ ข้อแนะนำ สำหรับ"เสื้อแดง" ขาดหัวและข้อหา

สมมุติว่า หากคนเสื้อแดง “เบื่อ” ที่จะมานั่งตากแดดหรือวิ่งไปทั่วรอบกรุงเทพฯ แล้วเลิกชุมนุมไปเอง อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ผมคงตอบได้ว่า คงเกิดช่วงเวลา “พักรบ” ของทุกฝ่ายเพื่อที่จะได้กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น
ผมจึงอยากฝากข้อเสนอแนะสำหรับ “ทุกฝ่าย” เอาไว้ว่า หากต้องมีการ “เริ่มต้น” ชุมนุมครั้งใหญ่กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะชนะได้ครับ !!!
เริ่มจากคนเสื้อแดงก่อน ภายหลังเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้นสำหรับคนเสื้อแดง ถ้าจะให้วิเคราะห์ก็คงตอบได้ว่า เสื้อแดงขาดหัวและขาดข้อหาครับ
หัวเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้นำที่ดี มีความรู้ มีความสามารถมีกลยุทธ มียุทธวิธี เป็นสิ่งที่ทุกสังคมต้องการ รวมทั้งเสื้อแดงด้วย หากจะบอกว่าคุณทักษิณฯ คือ “หัว” ของเสื้อแดง ก็คงจะต้องบอกต่อไปว่า หัวที่ไม่ได้อยู่ติดตัวคงทำอะไรมากไม่ได้ หัวที่ดีต้องอยู่ร่วมกับตัวด้วย อยู่ร่วมกับมวลชน เดินด้วยกัน กินนอนด้วยกัน ยิ่งหัวมีภาวะผู้นำสูง คนก็จะมาร่วมมากขึ้น อยากมาพบ อยากมาเจอ อยากมาให้กำลังใจ แต่ถ้าหัวใช้วิธีพูดผ่านสื่อต่างๆ คนก็คงขาดอารมณ์และความรู้สึกร่วมไป คนมาร่วมน้อย การชุมนุมก็ไม่เกิดผลตามที่ตั้งใจ

@ เกย์ และ หนีทหาร ไม่ใช่ประเด็น

เสื้อแดงขาดหัวครับ ถ้าอยากชนะ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ หาหัวที่มีภาวะผู้นำและมีข้อหาที่ดีด้วยครับ ข้อหาที่เสื้อแดงใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ พูดซ้ำไปซ้ำมาในเรื่อง “เกย์” หรือไม่ก็เรื่อง “หนีทหาร” คนฟังก็สนุกมันส์ แต่หากจะถามว่าเป็นข้อหาที่ร้ายแรงหรือไม่ก็คงตอบได้เหมือนๆ กันเพราะในสังคมโลก การเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และไม่ใช้เป็นข้อหาร้ายแรงที่จะเอามาใช้ในการล้มรัฐบาล

เช่นเดียวกับข้อหาหนีทหารที่ทุกๆปี ก็มีการหนีทหารอยู่มากมาย จริงอยู่ที่การหนีทหารเป็นความผิด แต่มันก็ไม่ร้ายแรงถึงขนาดจะไปล้มรัฐบาลได้นะครับ ข้อหาที่จะล้มรัฐบาลได้มีเพียงข้อหาเดียวคือ การทุจริต ต่างหากครับ การทุจริตที่ได้ยินมาในเวลานี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ รวมไปถึงสิ่งที่คนเสื้อแดงกำลังแสดงอยู่คือ “สองมาตรฐาน” ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทุจริตของการใช้อำนาจหน้าที่ประเภทหนึ่งครับ

การทุจริตของนักการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เป็นข่าวใหญ่ๆก็มีอยู่หลายเรื่องที่ในวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ทุจริตจริงหรือไม่ และใครเป็นผู้ทุจริต ตัวอย่างเช่น เรื่องปลากระป๋องเน่าหรือเรื่องชุมชนพอเพียง เป็นต้น ในวงการทหารก็มีเหมือนกันนะครับ เครื่อง CT 200 เรือเหาะ งบภาคใต้ งบซื้ออาวุธ แต่ถ้าจะให้ไกลกว่านั้น คงมีเขายายเที่ยงเป็นกรณีที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างมาก แค่ย้ายบ้านหนีแล้วคืนที่ให้กับทางราชการจะทำให้พ้นผิดได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจนะครับ

@ ถ้า แดง อยากชนะ ต้อง...

ถ้าคนเสื้อแดงอยากชนะ สิ่งที่ควรทำคือ หาคณะทำงานฝีมือดีมากๆมาเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เมื่อพิสูจน์ได้ชัดว่ามีการทุจริตก็ต้องนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นระบบต่อสังคม ต่อรัฐสภา ต่อสื่อมวลชน เปิดเวทีอภิปรายสาธารณะ นำเสนอทุกวันอย่างต่อเนื่อง ไม่ชนะก็ให้มันรู้ไปครับ เช่นเดียวกับการทุจริตเชิงนโยบายโดยเฉพาะที่เรียกกันว่า “สองมาตรฐาน” หานักกฎหมายมือดีๆที่รู้จักระบบหรือกระบวนการยุติธรรมมาทำการ “เปรียบเทียบ” การดำเนินการต่างๆที่ว่าสองมาตรฐาน เพื่อชี้ให้สังคมได้เห็นภาพที่ชัดเจนในทุกๆเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกหมายจับ การพิจารณาคดีต่างๆ การยุบพรรคการเมือง ทำการเปรียบเทียบขั้นตอนและระยะเวลาเพื่อให้เห็นชัดเจนกันไปเลยว่ามีการกระทำที่สองมาตรฐานจริงหรือไม่ ถ้าเป็นคดีความที่อยู่ในศาลก็หาคดีประเภทเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต มาดูว่าช้าหรือเร็วกว่าปกติอย่างไร ทุกอย่างต้องทำอย่างชัดเจน เป็นระบบ และถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำได้อย่างนี้แล้วนำเสนอต่อประชาชนด้วยวิธีการง่ายๆ ยังไงก็ชนะครับ !!!

เพราะฉะนั้น หากเสื้อแดงต้องการชนะ สิ่งที่ต้องทำก็คือ จัดระบบใหม่ทั้งหมดด้วยการจัดหาหัวที่ดี มีความรู้ มีภาวะผู้นำ จากนั้นก็ต้องสร้างทีมงานที่ดี มีความรู้ มีความสามารถ ทำงานเป็นระบบ ติดตามเรื่องทุจริตคอรัปชั่นจนได้ความที่ชัดเจนแล้วนำมาเผยแพร่ในวงกว้าง ใช้ข้อมูลเหล่านั้นในทุกเวทีไม่ว่าจะเป็นในสภา ในสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ ทำได้อย่างนี้รับรองว่าเลือกตั้งหนหน้าชนะเด็ดขาดครับ !!!

@ มาร์ค อยากชนะ ให้ไปอ่าน “The Prince” ของ Machiavelli

ต่อมาก็คือรัฐบาล ทำอย่างไรรัฐบาลถึงจะชนะเป็นคำถามที่ไม่ยากแล้วก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเลยครับ
สิ่งแรกที่ต้องพึงสังวรณ์ไว้ก็คือ รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของประเทศไหนในโลกก็ตาม มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินและจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่ “ไล่ล่าผู้นำคนเก่า” นะครับ !!! เท่าที่ผ่านมา เราคงเห็นคล้ายๆกันว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการไล่ล่าคุณทักษิณฯเหลือเกิน หมกมุ่นอยู่กับการตอบโต้ การให้ข่าว การดำเนินการเพื่อที่จะ “จัดการ” กับคุณทักษิณฯ ทำให้รัฐบาลเสียเวลาไปมากโดยไม่ได้อะไรเลย งบประมาณก็หมดไปมากด้วยนะครับ

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็นอีกด้วย บางทีน่าจะลองไปหาหนังสือเรื่อง “The Prince” ของ Machiavelli มาลองอ่านดูบ้างนะครับ จะได้รู้ว่าในรัฐที่ไปตีเขามาได้ ผู้ปกครองต้องใช้วิธีสร้างความกลมกลืนกับชนพื้นเมือง การเป็นปฏิปักษ์กับชนพื้นเมืองทำให้มีศัตรูและยากที่จะปกครอง ยิ่งไล่ล่าคุณทักษิณฯ คนที่ชื่นชอบคุณทักษิณฯก็จะยิ่งเป็นศัตรูกับรัฐบาล วันหนึ่งถ้าคนที่เคยอยู่ตรงกลางตัดสินใจย้ายมาอยู่ข้างคุณทักษิณฯ รัฐบาลคงอยู่ไม่ได้นะครับ

@ สั่งให้ "ทีวีช่องหอยม่วง"หยุดโจมตี ฝ่ายตรงข้าม

เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลอยากชนะ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เลิกให้ความสนใจกับคุณทักษิณฯ เลิกให้ข่าว เลิกทุกอย่างให้หมด รวมทั้งสั่งให้สถานีโทรทัศน์ช่องหอยม่วงหยุดเสนอข่าวและหยุดจัดรายการเพื่อโจมตี “อีกฝ่ายหนึ่ง” เสียทีครับ
จากนั้นก็หันหน้ามาทำหน้าที่ตาม Job description ของตนเองให้ครบ จะเหมาะสมกว่า ส่วนสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ พยายามทำให้คนที่ชื่นชมคุณทักษิณฯและคนที่อยู่ตรงกลางเปลี่ยนใจมาสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งผมก็ว่าทำได้ไม่ยากเช่นกันครับ เลิกพูดมาก เลิกวิพากษ์วิจารณ์ เหน็บแนม เลิกเสียดสี และหันมาให้ความสนใจและทุ่มเทให้กับงานที่เป็นประโยชน์ของประชาชนและของประเทศชาติ ในวันนี้ หากผมเป็นรัฐบาลการจัดระบบสวัสดิการที่ถูกต้องให้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทยในระยะยาวนะครับ พยายามทำให้ดีมากขึ้นๆ ไม่นานก็ได้ประชาชนส่วนใหญ่มาเป็นพวก เลือกตั้งงวดหน้ายังไงๆก็เกิน 240 เสียงอยู่แล้วครับ !!!

@ ประชาชน แพ้ มาตั้งแต่แรก

ส่วนที่ว่าประชาชนจะชนะได้ด้วยวิธีใดนั้น ผมมองดูว่า ประชาชนแพ้มาตั้งแต่แรกแล้วนะครับ ทำงานหนัก จ่ายภาษีมาก มาให้ “ผู้มีอำนาจ” ทุจริต แค่นี้ก็แพ้อยู่แล้วในสภาวะปกติ เพราะเราไม่สามารถทำอะไรกับ “คนพวกนั้น” ได้เลย ประชาชนส่วนในสภาวะไม่ปกติ เช่นที่มีการชุมนุมนั้น ประชาชนก็แพ้อีก เดิมคนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาลแต่คนเมืองหลวงเป็นผู้ล้มรัฐบาล แต่วันนี้กลับกันเสียแล้ว ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์จะพัฒนาเป็นรูปใด ที่เป็นอยู่ ประชาชนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองของฝ่ายการเมือง ถูกลากไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอด ทำอย่างไรประชาชนจึงจะหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ เป็นตัวของตัวเอง ใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองได้อย่างอิสระ เลือกนักการเมืองโดยดูจากอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองเป็นหลัก หากทำได้ประชาชนก็คงเป็นผู้ชนะ เพราะจะได้คนที่ดีที่สุดมาทำหน้าที่ผู้แทนของตนมาเป็นรัฐบาลที่ดีที่จะปกครองประเทศต่อไป

ไม่รู้ว่าใครจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนะครับ ก็คงต้องลองดูหากอยากเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าทำตามแล้วไม่ชนะ จะมาโทษผมไม่ได้นะครับ

ที่มา. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
**************************************************

ทักษิณตั้งกองทุน 1 ล้านช่วยเสื้อแดงที่เสียชีวิต

นาย นาวิน บุญเศรษฐ์ ผู้ประสานงาน เสื้อแดง หรือ นปช. 17 ภาคเหนือ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กลุ่มเสื้อแดงซึ่งเป็นคนจังหวัดเชียงราย ที่มาร่วมชุมนุม กับกลุ่ม นปช. และเสื้อแดงส่วนกลางแล้วเดินทางกลับบ้านปรากฏว่า ได้เกิดอุบัติเหตุ ขับรถกระบะ ชนกับต้นไม้ที่ริมถนนสายแม่อ้อ - พาน ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ด้วยกัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เรื่องนี้พวกเรารู้สึกเสียใจมาก ที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้กับพี่น้องเสื้อแดง ทั้งนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้โฟนอินมา ว่าจะไม่ทอดทิ้ง ผู้เสียชีวิต ทั้ง 5 ราย และ สั่งให้มีการจัดตั้งกองทุน ช่วยผู้เสียชีวิตเป็นค่าทำศพ จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อเป็นการเยียวยา ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้นเราจะมีเงินไปช่วยเหลือส่วนหนึ่ง ซึ่งคงต้องมีการประชุมกันอีกครั้งโดยต้องรอ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนบุตรของผู้เสียชีวิตทั้ง 5 คน พ.ต.ท. ทักษิณ จะส่งให้เรียนจนจบปริญญาตรี

นอกจากนี้ ในวันที่ 2 เมษายน นี้ตนเองในฐานะเป็นผู้ประสานงานเสื้อแดง 17 ภาคเหนือ จะเดินทางไปที่จังหวัดเชียงราย เพื่อไปร่วมงานเป็นเจ้าสภาพสวดพระอภิธรรมศพผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนเสื้อแดง และจะอยู่ถึงวันที่ 3 เมษายน ซึ่งจะเป็นวันเผา แล้วจะกลับมาร่วมชุมนุมกดดันให้รัฐบาลยุบสภาต่อไป


ที่มา.เนชั่นทันข่าว
***************************************************

มติประชาชนเท่านั้นที่ทำลายอำมาตย์ได้

ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ผมเป็นผู้ใช้สิทธิคนหนึ่งในจำนวน10ล้านเศษที่ "ไม่เห็นชอบ" และเมื่อพรรคพลังประชาชนลงเลือกตั้งพร้อมทั้งเสนอสัญญษประชาคมว่า"ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ50 และจะนิรโทษกรรมการพรรคไทยรักไทย111 คน ผลการเลือกตั้งจึงได้ 233 คนมีนายสมัครเป็นนายก แถลงนโยบายยังไม่ทันได้ทำงาน กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็รวมกลุ่มคัดค้านการออกกฏหมายนิรโทษ การแก้รัฐธรรมนูญ

การตั้งข้อหาที่หาสาระไม่ได้แต่มีสาระในการต้องออกจากตำแหน่งของนายกสมัคร
ส่วนรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนโดนใบแดงทำให้คุณสมชายและกรรมการพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเป็นชุดที่สอง
ทีมAไทยรักไทย ทีมBพลังประชาชน และเพื่อไทยจึงเป็นเพียงทีมC ที่กลายเป็นฝ่ายค้าน แต่การกำจัดทักษิณที่ค้านความรู้สึก จนพัฒนามาถึงการต่อสู้ในปัจจุบันฉายให้เห็นขบวนการทำลายต่อเนื่องก่อนมีรัฐธรรมนูญและหลังมีรัฐธรรมนูญ นั้นทำลายแม้กระทั้งมติของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชาชนเพือป็นฝ่ายบริหาร

มติประชาชนต้องเป็นที่สิ้นสุด ตามหลักการและเมื่อมีการทำลายมติประชาชนจึงแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจที่เหนือกว่ามติของประชาชน สาเหตุมาจากกลไกต่างๆในรัฐธรรมนูญ2550 พร้อมทั้งการได้มติ"เห็นชอบ"ในขณะบางพื้นที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยยังประกาศใช้กฏอัยการศึก ซึ่งห้ามการชุมนุมเกินห้าคน ขัดขวางการวิภาควิจารณ์ข้อดีข้อเสียในรัฐธรรมนูญ มติที่ได้ภายใต้การข่มขู่ของคณะยึดอำนาจในขณะนั้น มิใช่ในบรรยากาศประชาธิปไตย

ความเห็นเกี่ยวกับมติรัฐธรรมนูญ 2550 ผมเป็นผู้ใช้สิทธิคนหนึ่งในจำนวน10ล้านเศษที่ "ไม่เห็นชอบ" และเมื่อพรรคพลังประชาชนลงเลือกตั้งพร้อมทั้งเสนอสัญญาประชาคมว่า"ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ50 และจะนิรโทษกรรมการพรรคไทยรักไทย111 คน ผลการเลือกตั้งจึงได้ 233 คนมีนายสมัครเป็นนายก แถลงนโยบายยังไม่ทันได้ทำงาน กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็รวมกลุ่มคัดค้านการออกกฏหมายนิรโทษ การแก้รัฐธรรมนูญ

การตั้งข้อหาที่หาสาระไม่ได้แต่มีสาระในการต้องออกจากตำแหน่งของนายกสมัคร
ส่วนรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนโดนใบแดงทำให้คุณสมชายและกรรมการพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเป็นชุดที่สอง

ทีมAไทยรักไทย
ทีมBพลังประชาชน
ทีมCเพื่อไทที่กลายเป็นฝ่ายค้าน

แต่การกำจัดทักษิณที่ค้านความรู้สึก จนพัฒนามาถึงการต่อสู้ในปัจจุบันฉายให้เห็นขบวนการทำลายต่อเนื่องก่อนมีและหลังมีรัฐธรรมนูญ นั้นทำลายแม้กระทั้งมติของประชาชนที่ถือว่าสูงสุดในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

เมื่อมติประชาชนไม่เป็นที่สิ้นสุด ตามหลักการและเมื่อมีการทำลายมติประชาชนจึงแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจที่เหนือกว่ามติของประชาชน ที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญ2550 และที่สำคัญการได้มติ"เห็นชอบ"ในขณะบางพื้นที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยยังประกาศใช้กฏอัยการศึก ซึ่งห้ามการชุมนุมเกินห้าคน ขัดขวางการวิภาควิจารณ์ข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญ มติที่ได้ภายใต้การข่มขู่ของคณะยึดอำนาจในขณะนั้น มิใช่ในบรรยากาศประชาธิปไตย

จึงเรียกร้องให้มีการแสดงประชามติ "เห็นชอบ" และ"ไม่เห็นชอบ" เพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ2550นี้อีกครั้ง วิธีการนี้จะเป็นทางออกของวิกฤตของชาติหรือไม่ แต่มิได้หวังว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพแต่คาดหวังให้แกนนำคนเสื้อแดงเป็นเจ้าภาพ จากมติที่"เห็นชอบ 14 ล้านเศษกับ"ไม่เห็นชอบ" 10 ล้านเศษ มติที่ได้ในบางพื้นที่ประกาศใช้กฏอัยการศึก กับมติใหม่ภายใต้บรรยาการประชาธิปไตยนั้นจะแตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะใช้มตินี้นี้เป็นสัญญาประชาคม ของประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึงอีกปีเศษ

เป็นอีกหนึ่งช่องทางหรือไม่ในการหาทางล้มรัฐธรรมนู2550ด้วย มติประชาชน ผมว่าไม่น่าจะยากเพราะจำนวนเสียงที่"เห็นชอบ"กับ "ไม่เห็นชอบ" ต่างกันไม่มาก และจะไม่เหมือนการเลือกพลังประชาชนแล้ว ต่างฝ่ายต่างเข้าใจเอาเองว่าเดี๋ยวประชาชนก็จะออกมาช่วยกันไม่ให้เสื้อเหลืองเป็นฝ่ายรุกอยู่ข้างเดียวถึงอย่างไรต้องคุ้มกันให้คนมาถือธง ส่วนประชาชนต่างรอและคิดว่าเลือกแล้วก็ยังไม่รู้จักป้องกันหม้อข้าวหม้อแกงของตนเอง เพราะต่างเข้าใจคนละวิธีกัน ทั้งๆที่ตอนนั้นที่สนามหลวงก็มีกลุ่มต่อต้านเผด็จการอยู่แล้วแต่จำนวนไม่มาก หากว่าเกิดการประสานกำลังในกรุงและกำลังต่างจังหวัด พธม.ก็จะหยุดอยู่แค่หอประชุมธรรมศาสตร์เท่านั้น

และการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนได้บทเรียนแล้ว ผู้แทนคือหอยที่ต้องการเปลือกคือประชาชนที่เลือกเขาคอยปกป้องคุ้มครอง

ที่มา .konthaiuk
************************************************

2 ผลโพลล์ชี้ต่างหลังเจรจา โพลล์หนึ่งชี้ยุบ อีกโพลล์ชี้ยุบไม่ใช่ทางออก อย่างไรดีประเทศไทย!

หลังมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. กรุงเทพโพลล์ และเอแบคโพลล์รีบเดินหน้าทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนทันที โดย กรุงเทพโพลล์เผย คนกรุง 45.6% เจรจาแล้วยังเหมือนเดิม ขณะที่ 42% เห็นด้วยยุบสภา เฉือนหวิว 41% ไม่เห็นด้วย ขณะที่เอแบคโพลล์ชี้ 47% ไม่มั่นใจว่ายุบสภาคือทางออก มั่นใจแค่ 35% แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและลงลึกในรายบุคคลที่ยากจะชี้ทิศทางการเมืองไทย

@กรุงเทพโพลล์เผย คนกรุง 45.6% เจรจาแล้วยังเหมือนเดิม ขณะที่ 42% เห็นด้วยยุบสภา เฉือนหวิว 41% ไม่เห็นด้วย
วันนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ทำการเปิดเผยผลสำรวจเรื่อง อนาคตการเมืองไทยหลังการเจรจา 2 ครั้งระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. โดยผลสำรวจระบุว่า คนกรุงเทพ ฯ ร้อยละ 45.6 คิดว่าสถานการณ์การเมืองไทยภายหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. มาแล้ว 2 ครั้ง จะยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 21.0 คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ร้อยละ 20.4 คิดว่าสถานการณ์จะแย่ลง และมีร้อยละ 13 ที่ไม่แสดงความคิดเห็น โดยให้คะแนนความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง 6.09 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10

ต่อประเด็นเรื่องการยุบสภานั้น ร้อยละ 42.0 เห็นด้วยกับการยุบสภา ร้อยละ 41.0 ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และมีร้อยละ 17.0 ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ต่อประเด็นหากจะมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ สิ่งที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขเพื่อสร้างรากฐานที่ดีให้กับระบบการเมืองไทยในอนาคตนั้น ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขในบางประเด็นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เช่น ประเด็นข้อกำหนดการยุบพรรคการเมือง ที่มาของ สว. และองค์กรอิสระ การแบ่งเขตเลือกตั้ง สส. ร้อยละ 30.6 ขณะที่อีกร้อยละ 11.2 เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้แทนฉบับปี 2550 นอกจากเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ร้อยละ 27.9 ยังมีการเสนอให้แก้ไขในเรื่องอื่นๆ เช่น กำหนดมาตรการป้องกันและเพิ่มโทษของการซื้อสิทธิขายเสียง สร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักการเมือง โดยมีร้อยละ 30.3 ที่เห็นว่าทุกอย่างดีอยู่แล้ว ไม่มีเรื่องใดต้องแก้ไข

โดยสิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากฝากบอกถึงรัฐบาล 5 อันดับแรก คือ เป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำงานต่อไปให้ดีที่สุด ร้อยละ 26.9 ให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อจะได้ยุติปัญหาโดยเร็ว ร้อยละ 16.3 ให้เสียสละ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ร้อยละ 13.8 ให้ประนีประนอม ไม่ให้ใช้ความรุนแรง ปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย ร้อยละ 7.0 ให้คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ร้อยละ 6.6

และสิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากฝากบอกถึงแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. (5 อันดับแรก) คือ ให้ยุติการชุมนุมโดยเร็ว ร้อยละ 32.7 ไม่ควรนึกถึงประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง ควรนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ร้อยละ 19.5 ชุมนุมได้แต่ควรชุมนุมอย่างสงบไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ร้อยละ 19.0 เป็นกำลังใจให้ชุมนุมต่อไป ร้อยละ 10.4 ให้เจรจาหาทางออก และถอยกันคนละก้าว ร้อยละ 5.1

@เอแบคโพลล์ชี้ 47% ไม่มั่นใจว่ายุบสภาคือทางออก มั่นใจแค่ 35%
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง โดยประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.4 ติดตามการถ่ายทอดสดการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 34.4 ไม่ได้ติดตามการถ่ายทอดสด แต่ติดตามจากสื่ออื่นๆ และร้อยละ 16.2 ไม่ได้ติดตามเลย

โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 สนับสนุนวิธีการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 47.8 ไม่มั่นใจว่า การยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ขณะที่ร้อยละ 35.9 มั่นใจ ที่เหลือไม่มีความเห็น และเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการตัดสินใจเรื่องการยุบสภา พบว่า ร้อยละ 42.2 ขอให้ทำงานต่อไปจนครบวาระ แต่ร้อยละ 27.2 เสนอให้ยุบสภาภายใน 15 วัน ร้อยละ 13.9 ให้ยุบสภาภายใน 6 เดือน ร้อยละ 13.8 ให้ยุบสภาภายในอีก 9 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงคะแนนความเป็นผู้นำโดยภาพรวมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังการเจรจา พบว่า ร้อยละ 35.5 ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.4 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 26.2 ระบุลดลง ที่เหลือไม่มีความเห็น และเมื่อถามถึงคะแนน ความเข้มแข็ง กล้าหาญของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ออกมาในหนทางประชาธิปไตย พบว่า ร้อยละ 35.9 ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.7 ระบุเหมือนเดิม แต่ร้อยละ 32.7 ระบุลดลง ที่เหลือไม่มีความเห็น
ที่น่าพิจารณาสำหรับทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ประชาชนส่วนใหญ่ระบุสิ่งที่อยากให้รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงใช้โอกาสนี้ช่วยกันทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคือ ร้อยละ 91.0 ระบุให้ช่วยกันแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ร้อยละ 89.2 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 87.2 ระบุปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ร้อยละ 87.0 ระบุปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 84.5 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 80.7 ระบุปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน และร้อยละ 79.2 ระบุปัญหาภัยแล้ง ตามลำดับ

โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,191 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 30 มีนาคม 2553


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
************************************************

เงื่อนไขเจรจา ที่ไม่ได้พูดหน้าทีวี!

"ผมไม่ผิดหวังกับการเจรจาที่ล้มเหลว เพราะผมไม่ได้คาดหวังตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าจะประสบความสำเร็จ
เหตุทั้งสองฝ่ายนั่งลงหารือไม่ได้มุ่งหวังผล เนื่องจากทราบดีว่าเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายยากที่จะรับได้ แต่ถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ที่ความขัดแย้งถูกยกขึ้นมาบนเวทีเจรจา แทนที่จะห้ำหั่นบนท้องถนน"

ฝ่ายรัฐบาลชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะไม่ยุบสภาในระยะสั้นอย่างแน่นอน ตราบใดที่งบประประมาณรายจ่ายปี 2554 ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะทุกรัฐบาลหวังอย่างยิ่ง ที่จะเป็นผู้จัดสรร "เม็ดเงิน" ผ่านงบประมาณด้วยตัวเอง

ตามปฏิทิน งบประมาณปี 2554 นั้น 27 เม.ย. คณะรัฐมนตรี จะพิจารณากรอบในรายละเอียด และช่วง 26-27 พ.ค. พิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร 6 ก.ย. จะพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา และคาดว่า 10 ก.ย. 2553 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะสามารถนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2554 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

นัยของรัฐบาล เงื่อนไขงบประมาณรายจ่ายปี 2554 หลังเดือนก.ย. ถึงยุบสภาได้...จึงไม่แปลกที่ยื่นข้อเสนอ จะยุบสภาได้สิ้นปี สอดรับกับมุมมองของ "บรรหาร ศิลปอาชา" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่า ยุบสภาได้ต้องรอ 6-7 เดือน

แต่สิ่งที่เป็นเงื่อนไข ยิ่งใหญ่กว่างบประมาณรายจ่าย คือ ขั้นตอนการโยกย้ายข้าราชการตำรวจและนายทหาร "โดยเฉพาะโผโยกย้ายนายทหารระดับสูง" ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็อยู่ช่วงเดือนส.ค.หรือเดือนก.ย.นั่นแหละ!

รัฐบาลและนายทหารที่กุมอำนาจในกองทัพ ปัจจุบันยอมไม่ได้ ที่จะให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นก่อนเดือนส.ค.หรือเดือนก.ย. นำไปสู่ "ความไม่แน่นอนในกองทัพ"

หากมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง คงไม่น่าวิตก แต่สถานการณ์วันนี้ "สุ่มเสี่ยง" แพ้หรือชนะ โอกาสเท่ากัน ยิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เตรียมคลอดนโยบายหาเสียง "พักหนี้ 5 ปี หนี้ไม่เกิน 5 แสน" น่าจะได้รับการตอบสนอง ความนิยมในวงกว้าง เพราะยากที่ประชาชนจะตระหนักว่านั่นคือภาษีของตัวเอง

กองทัพจึงไม่พิสมัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ก่อนเดือนก.ย. นี้ เพราะอาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนของบุคคล ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก คนใหม่ และในอีกหลายตำแหน่งที่สำคัญ

ขั้วอำนาจในปัจจุบันวางแถวไว้เรียบร้อยแล้ว !

นี้คือเหตุผลที่รัฐบาลไม่ได้ยกมาเจรจาหน้าทีวี

พ.ต.ท.ทักษิณ และ แกนนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เข้าร่วมเจรจา ก็ทราบเงื่อนไขเรื่องนี้ดี จึงยื่นข้อเสนอยุบสภา ภายใน 15 วัน หรืออาจจะยืดให้ถึง 3 เดือน ตามที่นักวิชาการเสนอ

เพราะเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งก่อนเดือนก.ย. 2553 พรรคเพื่อไทย "ชนะแน่"! ด้วยนโยบาย "ประชานิยมสุดขั้ว" พักหนี้ 5 ปี 5 แสนบาท เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านฯ และอีกมากมาย

ได้อำนาจทางการเมือง ก่อนเดือนก.ย. เพื่อเข้าไปจัดสรร ตำแหน่งคนของตัวเองเข้าไปในองค์กรหลักของประเทศ อย่างเช่นหลังเลือกตั้งปี 2544 เคยปฏิบัติมาแล้ว หรืออีกนัย เบรกไม่ให้รัฐบาล แต่งตั้งโผนายทหารได้สำเร็จ

สามแกนนำ นปช.จึงปฏิเสธข้อเสนอรัฐบาลที่จะยุบสภาภายใน 9 เดือน

เมื่อทั้งสองฝ่ายรู้เงื่อนไข "จริง" และมีคำตอบอยู่แล้ว ไยถึงมานั่งเจรจา ขายฝันให้คนทั้งประเทศมีความหวัง ?

เพราะได้ออกฟรีทีวีทุกช่อง..."เรียลลิตี้โชว์ทางการเมือง" เพื่อใช้สื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง !

เสื้อแดง...หวังสื่อรายงานสิ่งที่พูดบทเวทีผ่านฟ้า ผ่านสื่อกระแสหลัก ที่มีการถ่ายทอดสดตลอดเจรจา 2 ชั่วโมง...เนื้อหาในวันเจรจา จึงดูเป็นตั้งกระทู้...กล่าวหา...อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มากกว่า จะเป็นการ "เจรจา" อย่างแท้จริง (ยกเว้น วีระ มุสิกพงศ์)

รัฐบาล...ต้องการ "สื่อ" ไปยังทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะ "ฝ่ายตรงกลาง" ตอบโต้ทุกข้อกล่าวหา เพื่อให้เห็นความชอบธรรม ของการดำรงอยู่ แทนที่จะยุบสภาในระยะเวลาอันสั้น

เอาเข้าจริง...เงื่อนไข ยุบสภา 15 วัน หรือ 3 เดือน ที่ นปช.เสนอ หรือ 9 เดือนที่รัฐบาลเสนอ เกี่ยวข้องกับการรักษาอำนาจและแย่งชิงอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น

การดำรงอยู่และได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะจัดการบางอย่าง

เงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่ในการเจรจาหน้าทีวี จึงไม่แปลกที่ทั้งสองฝ่าย "ยอมกันไม่ได้" ทั้งๆ ที่น่าสงสัยว่าทำไม 9 เดือน ก็ไม่ได้นานเกินไปที่จะรอ และเสื้อแดงน่าจะ "ประกาศเป็นชัยชนะได้ว่า กดดันจนนายกรัฐมนตรียอมเจรจาและระบุช่วงวันยุบสภาชัดเจน"

หากมีการเจรจารอบสาม และหวังผลได้ข้อตกลงจากการหารือผ่านหน้าจอทีวี...ไม่มีประโยชน์อีกแล้วครับ !



โดย.วีระศักดิ์ พงษ์อักษร
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
*************************************************

ชำแหละรากแห่งวิกฤตสังคมไทย "เอาเลือดหัวมาล้างตีน" ...ต้องไม่เกิดขึ้น!!!

รสนา โตสิตระกูล วิพากษ์ทางออกประเทศไทย แนะรัฐบาลใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เปิดเวทีรัฐบาลกับประชาชน ชำแหละรากแห่งปัญหา ความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ ย้ำยุบสภาไม่ช่วยแก้ปัญหา แค่เปลี่ยนหน้ารัฐบาลเท่านั้น "พงษ์เทพ เทพกาญจนา" หนุนยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ใช้รัฐบาลที่มาจากประชาชน แก้ปัญหาโครงสร้างเหลื่อมล้ำ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการจัดแถลงข่าวการจัดงานครคบรอบชาตกาล 110 ปีรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และได้มีการเสวนาเรื่อง "ก้าวข้ามวิกฤตด้วยอภิวัตน์สู่สันติ" ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร ชั้น 1 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากร คุณรสนา โตสิตระกูล คุณสุนีย์ ไชยรส คุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา และคุณวิภา ดาวมณี ให้เกียรติมาร่วมเสวนาครั้งนี้ โดยวงเสวนานี้ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ตัวแทนที่มีแนวคิดด้านต่างๆ ได้มาร่วมกันหาแสวงหาทางออกให้กับประเทศไทยผ่านแนวคิดเรื่อง "อภิวัฒน์สู่สันติ" ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยวางแนวทางไว้

@พงษ์เทพ เทพกาญจนา
นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกพรรคไทยรักรักไทย กล่าวว่า ปัญหาแท้จริงของสังคมไทยในเวลานี้คือ เรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การจัดสรรอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ความแตกต่างด้านการกระจายรายได้ ไม่มีสังคมใดอยู่ได้ ถ้ามีความแตกต่างมากมายขนาดนี้

การเมืองมีการใช้อำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง ตั้งแต่ก่อน 19 กันยายน 2549 องค์กรต่างๆ ถูกแทรกแซง ทั้งๆ ที่ต้องอยู่ตรงกลาง ผลของการช่วงชิงอำนาจเมื่อ 19 กันยายน ได้มีการทำให้เกิดการช่วงชิงอำนาจไปไว้ในกลุ่มคนไม่กี่คน องค์กรอิสระบ้าง ศาลบ้าง มีการเขียนกติกาให้เกิดปัญหา มีระบบตัวแทนมากมาย
ทุกวันนี้คนที่มีบทบาทจริงๆ ทางการเมือง ไม่ได้อยู่ข้างหน้าอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคนที่อยู่ข้างหลัง เพราะคนเหล่านี้เมื่อเกิดเรื่องขึ้น ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สิน กลายเป็นเสียอย่างนี้ไป
ทางออกของปัญหานี้ต้องย้อนกลับมาที่คนไทย 60 ล้านกว่าคน ต้องอยู่อย่างมีสติ อย่างมีเหตุผล และจะต้องมีการร่างโครงสร้างการอยู่ร่วมกันใหม่ ปัญหาโรคแทรกอย่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ต่างก็มีชนักติดหลัง มีคดีความ ต้องปลดชนักนี้ แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ เคารพกติกาใหม่
ถ้าการบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นแบบนี้ มันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นจะทำอะไร และใครเป็นคนทำ มันจึงขึ้นกับว่า ต้องเป็นสิ่งที่ต้องทำหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ ได้รับรัฐบาลใหม่มาแล้ว เพื่อมาจัดระเบียบใหม่

@รสนา โตสิตระกูล
รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงทางออกของปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ท่าน อ.ปรีดี เคยพูดเอาไว้ว่า คำ "อภิวัฒน์" ซึ่งต่างกับปฏิวัติตรงที่ปฏิวัติมีความหมายด้านลบอยู่ แต่อภิวัฒน์คือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
ในความหมายของ อ.ปรีดี การอภิวัฒน์ ในทางการเมืองนั้น คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาชนมีความป็นอิสราธิปไตย
ประชาธิปไตยภาคการเมืองจะดำรงอยู่ได้ ก็จะต้องวางรากอย่าง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางสังคมวัฒนธรรมก่อน จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นซึ่งทั้งหมดนั้นก็ต้องผ่านมาด้วยซึ่งความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไป ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จุดหมายอย่างหนึ่งซึ่ถูกมองข้ามไปในการเดินขบวนของประชาชนนั้น ใช่เป็นแค่ความต้องการโค่นล้มเผด็จการทหาร แต่เพราะไม่ต้องการนักการเมืองที่ทุจริต คือเรียกร้องธรรมมาภิบาลของนักการเมืองด้วย
ช่วงเวลาตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา ก่อนจะถึง 14 ตุลาคม 2516 นั้น เป็นช่วงบ่มเพาะภาคประชาชน เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องขอบคุณท่าน อ.ปรีดี ซึงพยายยามใช้การศึกษาเป็นตัวผลักดัน
ส่วนเรื่องธรรมภิบาลของนักการเมืองนั้น หากย้อนไปดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งงชาติ ฉบับ 1-10 นั้น ต้องยอมรับว่า ไม่มีความสมดุลย์ เน้นภาคอุตสาหกรรม เน้นคนเมือง เน้นคนมั่งมี ซึ่งช่วงเวลา ได้ถ่างให้ช่องว่างถ่างตัว ประชาชนส่วนมากก็ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง
จากยุค เปรม ที่เป็นโลกาภิวัตน์ มากขึ้น ชาติชายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่ทั้งหมดยังห่างไกล
จากช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจบอกได้ว่า ด้านหนึ่งเป็นพัฒนาการ อีกด้านหนึ่งเป็นกลับเป็นปัญหา ดังนั้นจึงพากันบอกว่า เมื่อมันไม่เป็นธรรม ก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แก้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีพื้นฐานมาจากรัฐประหาร ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์ของปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากระบบการเมืองของตัวแทนที่ประชาชนมีอำนาจแค่ 5 นาที เพื่อเข้าไปกากบาทนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนหน้ารัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา
ฉะนั้นเสื้อเหลือง เสื้อแดง จึงเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมา

เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ให้รากหญ้าได้พูดคุยกับรัฐบาล ให้มาพูดถึงปัญหาของเขา และแนวทางที่คุณจะเสนอให้พวกเขา และจะได้เป็นการบอกให้คนทั้งโลกรู้ไปเลยว่า ความไม่เป็นธรรมที่ว่านั้น มีลักษณะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และรัฐจะตอบปัญหา แก้ปัญหานั้นอย่างไร

ประชาธิปไตยทางการเมืองจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ถ้ามีส่วนนี้แล้วเชื่อว่า วัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่เหมือนจะเป็นอุปสรรคก็จะไม่เกิดขึ้นหรือลดหายไปในสังคมแล้วการบอกว่าเป็น สงครามระหว่างชนชั้น วาทกรรมไพร่กับอำมาตย์ ไม่ใช่สิ่งที่ อ.ปรีดี ต้องการพูด ทั้งยังเป็นสิ่งที่อ่อนแรงไปมากแล้วในปัจจุบัน เวลานี้ในทางสังคมเราเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ คนรวย คนจน สิ่งที่ อ.ปรีดีเสนอคือ เราควรจัดระบบการเกื้อกูลให้เกิดขึ้นในสังคม

เช่นนั้นแล้วในเวลานี้ เรากำลังสร้างวาทกรรมให้เกิดการแบ่งแยกซึ่งไม่ควรเกิด มันไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหา เวลานี้การบอก "เอาเลือดหัวมาล้างตีน" ต้องไม่มี

รามอน แมกไซไซ เคยพูดว่า "คนที่มีน้อย รัฐต้องให้มาก"
รัฐบาลต้องสร้างโอกาสใหม่จากวิกฤตตรงนี้ ให้เขามีอำนาจต่อรอง ควบคุมนักการเมืองทุจริต ไม่ใช่ไพร่ที่มาพร้อม "มูลนาย"

@วิภา ดาวมณี
วิภา ดาวมณี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น อย่าง อ. ปรีดี บอกว่า การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด แต่สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด ทางออกของปัญหานี้คงต้องย้อนกลับมาที่ประชาชน แต่ถ้ามองไม่ออกว่าศัตรูที่แท้จริงของประชาชนคือใคร ก็คงหาทางได้ยาก
เหตุการณ์เมื่อ 19 กันยายน 2549 ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นการปลุกชีพเผด็จการทหารขึ้นมาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เผด็จการทหารหรือเผด็จการทางทุนก็น่ากลัวพอกัน
การเมืองในเวลานี้นั้นคับแคบมาก ในทางปฏิบัติการมีทหารออกมาอยู่ในจุดต่างๆ นั่นคือความรุนแรง
สิ่งที่นักการเมืองทำในเวลานี้อย่าง ประชานิยม นั้นไม่พอ ต้องดำเนินไปสู่รัฐสวัสดิการให้ได้ เก็บภาษีที่ดิน มรดก เพื่อมาชดเชยคนจน ช่องว่างจะได้น้อยลง กฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองก็ควรได้รับการแก้ไข เพราะมันเอื้อกับนายทุน มากกว่าประชาชน
ศาลก็เป็นอีกเรื่องที่พูดกันมาก หากมีระบบลูกขุน ระบบศาลจะเปลี่ยนไป จะยึดโยงกับประชาชน

@ สุนีย์ ไชยรส
สุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้นมีความดุเดือดถึงจุดวิกฤต และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ทุกครั้งในสังคมเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เรียกได้ว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมโดยรวมไทย
ในเวลานี้ผู้คนในสังคมต่างมีความรู้สสึกต่าง ปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมืองที่ฝังรากลึก อย่างภาคใต้ในเวลานี้ ผู้คนต่างบอกว่า มองไม่เห็นทางออก เพราะเรายังมองว่ามันต่าง เราต้องไม่มองมันขาว มันดำ อย่าไปแยกมัน
หากถามถึงทางอออกในเวลานี้ ยุบสภาไม่ใช่ทางออก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องมองให้เรื่องนี้ให้ทะลุถึงปัญหาของประชาชน
ความรุนแรงจากที่ผ่านมานั้นสอนให้เราได้รู้จักบทเรียนมากมาย วันนี้เรายังไม่เห็นทหารออกมายิงเสื้อแดง
เห็นด้วยกับ สว.รสนา อย่างยิ่งว่า เปิดเวทีขึ้นมาเลย เอาปัญหาที่คนรากหญ้าบอกมาบอกกกล่าวกับประชาชนทั้งประเทศ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่พวกคุณได้รับนั้นคืออะไร ให้โอกาสพวกเขาได้พูด เพราะการเปลี่ยนโฉมหน้ารัฐบาลไม่ใช่การแก้ปัญหา
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับเรื่องความต่างๆ การเปิดเวทีจะช่วยให้คนเมืองที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจพวกเขามากขึ้น ได้รับรู้ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่ง เกิดการยอมรับ เพราะหากทุกอย่างยังเป็นไปเช่นวันนี้ การเผชิญหน้ากันดูจะรังแต่ทำให้แย่ลง เพราะเมื่อประชาชนไม่ได้พูด ไม่ได้รับการปฏิบัติ พวกเขาจะเกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เมื่อประชาชนไม่เอาด้วยแล้ว ก็คงไม่อาจยกระดับเชิงโครงสร้างได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
**************************************************

โม่งบีบมาร์ค ห้ามยุบนะหนู!!

ไม่ใช่เรื่องที่จะผิดความคาดหมาย สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐบาล กับ แกนนำ นปช.ที่ต้องเรียกว่า เป็นเรียลลิตี้ โชว์ ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองประเด็นของการยุบสภาตามข้อเรียกร้องกดดันของแกนนำ นปช.นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อึดอัดด้วยความไม่เป็นตัวของตัวเองมาโดยตลอด เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าขึ้นมาเป็นรัฐบาล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้เพราะใครในเมื่อบรรดาผู้อุปถัมภ์คํ้าชูทั้งหลาย ไม่ต้องการให้ยุบสภา ต่อให้อึดอัดและต้องทนสักเพียงใดก็ตามนายอภิสิทธิ์ ก็จะยุบสภาไม่ได้ทำได้แค่เพียงติ๊ดชึ่ง ออกลูกวน ตีกรรเชียงไปรอบๆเวที

รักษารูปมวยให้ดูหล่อ ดูมีคารมเป็นต่อเอาไว้เท่านั้นก็เพียงพอที่จะซื้อเวลาไปได้เรื่อยๆ แล้วเรื่องพูดเอาดีเข้าตัว ปัดโยนเรื่องชั่วๆ ให้คนอื่นเป็นสไตล์ถนัดของประชาธิปัตย์อยู่แล้ว นายอภิสิทธิ์ถูกหล่อหลอมมานาน ย่อมต้องเรียนรู้กระบวนแม่ไม้ต่างๆ มาไม่ใช่น้อยที่สำคัญด้วยความที่เป็นคนสมองดี การศึกษาระดับอ๊อกซฟอร์ด การที่จะใช้คารมหลีกเลี่ยงหรือพลิ้วหลบ แบบให้หลงทางมวยงงกันเป็นไก่ตาแตกนั้น ต้องถือเป็นลูกถนัดของนายอภิสิทธิ์... ตอบก็เหมือนไม่ได้ตอบ

หรือไม่เช่นนั้นก็แหกโค้งออกไปคนละเรื่องเดียวกันไปเลยยิ่งระหว่างเจรจา ได้ข้อความพี่เลี้ยงที่ BB มาให้โดยเฉพาะ แถมเป็นทีมงานที่คัดสรรมาโดยเฉพาะประเภทที่ “กูก็รู้ว่าของๆ เอ็ง แต่กูจะเอา” หรือประเภท “ก็รู้ว่าเอ็งไม่ผิด แต่ข้าก็ไม่ยอมบอกว่าเอ็งถูก”เจอแบบนี้ทั้ง นายวีระ มุสิกพงศ์ น.พ.เหวงโตจิราการ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งหวังว่าคุยกันเป็นวันที่ 2 แล้วอะไรๆ น่าจะดีขึ้น ก็เลยต้องยอมรับความเป็นจริงว่า นายอภิสิทธิ์ ไม่เป็นตัวของตัวเองจริงๆคาดคั้นอย่าง

ไร หากข้างหลังนายอภิสิทธิ์ไม่ไฟเขียวเสียอย่าง เรื่องจะยอมยุบสภาตามเงื่อนไขรายละเอียดของ นปช.เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว!!!ถึงได้บอกว่า เรื่องนี้สาธุชนคนเสื้อแดง และประชาชนทั่วประเทศไม่ได้ประหลาดใจ ที่นายอภิสิทธิ์พูดชัดว่า ข้อเสนอที่ระบุว่าให้ยุบสภาภายในเวลา 15วันนั้น ไม่มีทางยุบสภาแน่เหตุผลเดิมๆ ก็คือต้องดำเนินการ 3 ประเด็นคือ1.เรื่องเศรษฐกิจ 2.เรื่องกติกา และ 3.เรื่องบรรยากาศแม้นายวีระจะยืนยันว่า แต่ละเรื่องนั้นไม่น่าที่จะต้องใช้เวลามาก

แค่ 2-3 เดือนก็น่าจะเหลือเฟือแล้วแต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังคงยืนกรานว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทอดเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ ก็คงไม่น่าจะมีปัญหาถามว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ ต้องพยายามซื้อเวลาให้นานที่สุดก็ดูแค่เจรจาวันแรก ก็เห็นชัดเจนแล้วว่าคนที่ดาหน้าออกมาคัดค้านนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น “สาวก” หรือ “ทาสที่ปล่อยไม่ไป”ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 ทั้งสิ้น40 ส.ว. ออกโรงค้านหัวชนฝา ยังไงก็ไม่ให้ยุบ... ถามว่า 40 ส.ว.กลุ่มนี้มาจากไหน ใครตั้งเข้ามา ก็พอมองทะลุได้แล้วว่า

อะไรเป็นอะไร ใครเป็นคนกดปุ่มเช่นเดียวกับพรรคการเมืองใหม่ ที่เต้นผางทันที ทั้งๆ ที่ตามปกติการเมืองระบอบประชาธิปไตย พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ที่ยังไม่มี ส.ส.เลยในมือ ย่อมต้องการที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะได้มี ส.ส.มาเป็นอำนาจต่อรองไม่เชื่อไปถามพรรคพลังคนกีฬา ของ“บิ๊กหอย” หรือ นายวนัสธนา (ธวัชชัย)สัจจกุล หัวหน้าพรรคที่ต้องการให้พรรคได้เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาดูก็ได้ว่า อยากให้เลือกตั้งเพื่อจะได้มี ส.ส.หรือไม่… บิ๊กหอยต้องตอบ

ว่าอยากแน่นอนจะมีก็แต่พรรคการเมืองใหม่นี่แหละที่ กลับไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ไม่รีบร้อนที่จะมี ส.ส.ภายในพรรค ราวกับว่าตอนนี้ก็มีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองมากมายเหลือเฟืออยู่แล้วอย่างนั้นแหละรวมทั้งพรรคการเมืองที่ได้รับการ “จัดแถว” หน้าเดิน ซ้าย ขวา ซ้าย ให้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้กับนายอภิสิทธิ์ อย่างพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น ต่างก็รีบร้อนดาหน้าออกมาตีกันไว้ก่อนเลยว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาก็ขนาดนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่า

การกระทรวงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่ทำงานยากเพราะเจอสไตล์ ปชป.เป็นพิษ ถูกปัดแข้งปัดขาตลอด ชนิดถ้าเป็นเด็กๆ หรือนักบอลเจอขัดขาถี่ยิบแบบนี้คงล้มปากเปิกแตกยับถลอกไปหมดทั้งตัวแล้วแต่นางพรทิวา วันนี้ก็ยังจำต้องออกมาคัดค้านการยุบสภาเจอผู้อุปถัมภ์ ส่งสัญญาณผ่านกลไกรอบข้างให้ออกมาคัดค้านอย่างนี้แล้ว“Good Boy” อย่างนายอภิสิทธิ์ มีหรือจะอ่านไม่ออก ว่าต้องหาทางออกในการเจรจาอย่างไรขนาดอ้างหน้าตาเฉยว่ามั่นใจว่าหากไปถาม

ประชาชนว่าจะให้ยุบสภาหรือไม่นั้นเชื่อว่ามีคนเห็นด้วยกับการยุบสภาน้อยมากเป็นไงล่ะ ... กลุ่มคนเสื้อแดงมึนไปเลยสิเพราะแสดงพลังชุมนุมแบบสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ มากันเป็นแสนๆ คน ยังถูกมองว่าเป็นแค่เสียงส่วนน้อยเท่านั้นงานนี้จึงเป็นการสะท้อนที่ชัดเจนว่านายอภิสิทธิ์ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเลยระหว่างคำสั่งและการส่งสัญญาณของผู้อุปถัมภ์ กับคำขอร้องและการส่งสัญญาณครอบครัว ของ ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะภรรยาสุดที่รัก ก็ชัดเจนแล้วว่า

นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะเชื่อฟังฝ่ายใดฉะนั้นที่แสบสันต์จริงๆ ก็คือผู้อุปถัมภ์ที่ทำตัวเป็นอีแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังนั่นแหละ ที่ทำให้สุดท้ายแล้วนายอภิสิทธิ์จึงเจรจาแบบไม่คิดที่จะหาทางออกร่วมกันแต่เลือกที่จะกำหนดว่า หากจะให้ยุบสภาก็ต้องโน่นสิ้นปีไปเลย และหากถึงตอนนั้นซื้อเวลาต่ออีกนิดก็พอดีแหละเข้าเป้าว่าไปยุบสภาเอาในปี 2554 ก่อนครบวาระแค่ 3-4 เดือนก็หรูแล้วทำให้เมื่อเห็นสถานการณ์การเมืองของไทยเป็นแบบนี้แล้ว อดเปรียบเทียบไม่ได้ว่าบรรดา

ทหารใหญ่ของไทย ที่นิยมชักใยอยู่เบื้องหลังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาทหารใหญ่ของประเทศพม่าแล้วต้องบอกว่านายทหารใหญ่ของพม่าเปิดเผยกว่าเยอะไม่ต้องการให้นางออง ซาน ซูจี กลับเข้ามาทำงานการเมือง ก็เขียนกฎหมายกันชัดๆไปเลยว่า ไม่ให้นางออง ซาน มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง... ชัดเจน ไม่ต้องอ้อมค้อมหรือไม่ต้องทำตัวเป็นอีแอบใดๆ ทั้งสิ้นหรือกรณีที่ นายพลตาน ฉ่วย ผู้นำอาวุโสรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า วัย 77 ปีกล่าวสุนทรพจน์นาน 7 นาที

ต่อหน้าทหารหาญมากกว่า 13,000 นาย ระหว่างร่วมพิธีสวนสนามประจำปีของเหล่าทัพกลางกรุงเนปิตอว์ แล้วระบุชัดเจนว่าทหารต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองในพม่าทุกเวลาถ้าจำเป็นยืนยันว่าบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไม่ใช่แค่เพื่อปกป้องและป้องกันชาติเท่านั้นหากยังดำเนินการเพื่อประชาชนภายในชาติด้วยพร้อมกับเตือนพรรคการเมืองที่ต้องการมีส่วนร่วมการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ให้หาเสียงอย่างเหมาะสมด้วยใครจะมองว่ายุ่งอะไรด้วย หรือทหารไม่ควรเข้ามา

เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจจะมีต่างชาติจะแทรกแซงการเลือกตั้งของพม่าแต่นายทหารพม่าก็ไม่หวั่น มีการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนให้รู้กันไปเลยกล้าไม่กล้าล่ะที่ กฎหมายใหม่ว่าด้วยการเลือกตั้งของพม่า 5 ฉบับ มีเนื้อหาห้ามนางออง ซาน ซูจี ลงสนามเลือกตั้งผิดกับอดีตนายทหารใหญ่ของไทยที่ไม่เปิดเผย แต่ชอบเล่นบทแอบชักใยอยู่เบื้องหลังแทนก็แบบนี้แหละที่ทำให้กลายเป็นเชื้อปะทุจุดไฟต่อสู้ทางการเมืองให้คุโชนไม่รู้จบสิ้นตัณหาแห่งอำนาจตัวเดียวแท้ๆ 

ที่มา.บางกอกทูเดย์
**********************************************

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

"แม้ว"วิดีโอลิงก์ประกาศอยู่ในรัสเซีย ยันไม่ได้ถูกไล่จากสวีเดน กต.เผยใช้พาสปอร์ตปท.ที่3เดินทางเข้าออก

กต.เผย"แม้ว"ใช้พาสปอร์ตต่างประเทศบินเข้า"สวีเดน" 28มี.ค. ล่าสุดกลับออกมาแล้วแต่ยังไม่รู้จุดหมาย "นพดล"บอก"แม้ว"เดินทางออกจาก"สวีเดน" แต่ยังอยู่ในยุโรป

"แม้ว"ประกาศอยู่ในรัสเซีย ไปพบนักธุรกิจเตรียมชวนไปลงทุนในไทย

เมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 30 มีนาคม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วีดิโอลิงก์ มายังเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ แต่ปรากฏว่า เกิดการติดขัดเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้เชื่อมสัญญาณ ทำให้สัญญาณขาดหายไปหลายครั้ง โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง โดยพาดพิงถึงอำมาตย์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวหาว่า รัฐบาลและอำมาตย์ระแวง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะกลับมาเช็คบิลคืน

"มีการติดขัด ทางอินเตอร์เน็ต ที่ใช้วิดีโอลิงก์ แต่บอกว่ าเดี๋ยวจะส่งรูปประเทศที่ไปอยู่มาให้ดู ขอบอกว่ามีหลายประเทศที่อยากให้ไป แต่เขารำคาญที่ทางการไทย มักทำเรื่องไปกวน ... บอกให้ก็ได้ว่า อยู่รัสเซีย มาพบนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีเงินสดเหลือเยอะ และสนใจที่จะไปลงทุนแถบเอเชีย เลยไปทำไมตรีไว้ เมื่อกลับบ้านจะได้พากลับไปลงทุนในประเทศไทย ตนเดินทางมาจากประเทศสวีเดน ไม่ได้ถูกเขาไล่ออกมาเหมือนที่กระทรวงการต่างประเทศบอก ไม่หวั่นไหว ตนยังมีเสรีภาพ มีปัญญาดีอยู่ แต่อยากจะทำงานให้เป็นประโยชน์เพื่อจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ว่า ได้ทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังประะเทศสวีเดนเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้หนังสือเดินทางของประเทศที่สาม จึงได้ประสานกับทางการสวีเดน เพื่อขออย่าให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งทางการสวีเดนยืนยันว่าเขายึดมั่นในหลักการดังกล่าวอยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

อย่างไรก็ตามล่าสุดทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางออกจากสวีเดนแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะเดินทางต่อไปยังประเทศใด

"นพดล"บอก"แม้ว"เดินทางออกจาก"สวีเดน" แต่ยังอยู่ในยุโรป

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปยังประเทศสวีเดนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปต่างประเทศเป็นปกติเพื่อลงทุนทำธุรกิจและพบปะเพื่อนฝูง อย่างไรก็ตามขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางออกจากประเทศสวีเดนแล้วและพำนักที่ประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปซึ่งอีกไม่นานพ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรัเอมิเรตส์

"สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศทำก็เพื่อต้องการดิสเครดิตพ.ต.ท.ทักษิณ การเดินทางไปยุโรปครั้งนี้เป็นการไปตามปกติ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับดูไบ"นายนพดลกล่าว


ที่มา.มติชนออนไลน์
*************************************************

ขว้างเอ็ม67 ใส่"มูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม"ถูกหม้อแปลงระเบิดดังสนั่น อีกจุดเต็นท์พระที่สนามหลวง

ถึงคราวมูลนิธิรัฐบุรุษ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ถูกคนร้ายปาเอ็ม67 เข้าใส่อาคารถูกหม้อแปลงไฟฟ้าดังสนั่นหวั่นไหว อีกจุดเป็นเต็นท์พระสนาม หลวง ฝั่งมธ. ไร้ผู้ใดบาดเจ็บ "อนุพงศ์"ประชุม ศอ.รส.ย้ำทหาร-ตำรวจหยุดให้อยู่ สนั่นนำทีมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ"บรรหาร"

เมื่อเวลา 20.00 น.วันที่ 30 มีนาคม ได้มีคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ทราบยี่ห้อ สีและทะเบียน ผ่านหน้าอาคารมูลนิธิรัฐบุรุษพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เลขที่ 84 ถนนอู่ทองนอก เขตดุสิต กทม. จากนั้นคนร้ายได้ขว้างระเบิดชนิด เอ็ม 67 ผ่านรั้วเข้าไปในอาคารถูกหม้อแปลงเสาไฟฟ้าเกิดระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จากนั้นคนร้ายได้ขับรถหลบหนีไป

ต่อมาพล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รองผบก.น.1 พ.ต.อ.ชยุตร์ มารยาท ผกก.สน.สามเสน ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบกระเดื่องเอ็ม 67 ตกห่างจากรั้วริมฟุทบาธ 30 เซ็นติเมตร ส่วนตัวอาคารไม่ได้รับความเสียหายใดๆ โดยใช้เวลา 5 นาที หลังจากนั้นพล.ต.ท.สัณฐานเดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ เพียงแต่กำชับตำรวจพื้นที่ให้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริเวณภายในมูลนิธินั้นมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงตามปกติ ขณะที่ภายนอกไม่มีกำลังตำรวจหรือทหารอารักขาความปลอดภัยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกันเกิดเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นหลังเต็นท์พระภิกษุที่สนามหลวง ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เกิดกลุ่มควันแต่ไม่มีพระภิกษุรูปใดได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าอาจเป็นระเบิดปิงปอง เพื่อสร้างสถานการณ์ก่อกวน

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปเยือนราชอาณาจักรบาห์เรน ถึงการก่อเหตุป่วนเมือง ทั้งยิงและระเบิดสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ อย่างน้อยคดีหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ส่วนการเฝ้าระวัง ก็ต้องทำเต็มที่ แต่ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่เพราะว่าการป้องกันพื้นที่นั้นกว้างขวางมาก

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สรุปสถานการณ์ให้ ครม.รับทราบ พร้อมยืนยันว่า ยังอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลควบคุมได้ แต่ที่ห่วงคือ การข่าวแจ้งว่าแนวโน้มการก่อวินาศกรรมตามสถานที่ราชการ เพื่อหวังผลในเชิงสัญลักษณ์ ยังมีความพยายามต่อเนื่อง ซึ่งจากการประชุมร่วมกับฝ่ายความมั่นคงเห็นควรให้ปรับมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ล่อแหลมและจุดเสี่ยง โดยให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธประจำกายได้

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.รส. เป็นประธานประชุม ศอ.รส. ภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมการประชุม โดยไม่มีตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าร่วม เนื่องจากเวลาการประชุมตรงกับการประชุม ครม.

ข่าวแจ้งว่า พล.อ.อนุพงษ์ได้เร่งรัดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีมาตรการหาผู้ก่อเหตุระเบิดมาลงโทษให้ได้ พร้อมแสดงเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์การก่อวินาศกรรม โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมสถานการณ์ไว้ให้ได้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในงานวันกาชาด ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-7 เมษายน เนื่องจากสถานที่จัดงานใกล้เคียงกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า ขอเตือนกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ก่อเหตุป่วนเมือง ซึ่งล่าสุดก่อเหตุที่ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้ประทัดกระเทียมมัดรวมกันก่อนใช้หนังสติ๊กยิงเข้าไปในในจุดที่เจ้าหน้าที่ยืนอยู่ ซึ่ง ศอ.รส.สั่งให้ตำรวจดำเนินการอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีการจับภาพเอาไว้ได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตัว พร้อมแจ้งให้การ์ดคนเสื้อแดงช่วยกันหา หากเป็นคนเสื้อแดงก็ให้ประสานมา และเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา พบของกลางจำนวนหนึ่ง จึงให้ตำรวจประสานงานเพื่อรับภาพกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 1 แล้ว ส่วนจะเป็นกลุ่มใดขอให้จับตัวได้ก่อน

ส่วนพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 กล่าวถึงเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด .38 ยิงใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานขาว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้ส่งพยานที่เห็นหน้าคนร้ายไปทำการสเก๊ตช์ภาพที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร และพยานยืนยันว่ามีลักษณะคล้ายเหมือนคนร้าย 70% นอกจากนี้ยังได้ภาพจากกล้องวงจรปิดของธนาคารและของ กทม. ที่เห็นผู้ต้องสงสัยมีผ้าปิดคาดปากสีขาว ใส่เสื้อคลุมแจ๊คเก็ตเขียว กางเกงสแล็คส์สีดำ หมวกแก๊ปสีแดง เป็นชายไทยสูงประมาณ 165 เซนติเมตร ผิวสีดำแดง อายุประมาณ 30 ปี พร้อมตั้งรางวัล 2 แสนบาท ให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสจนสามารถจับกุมคนร้ายได้ โดยแจ้งได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ของตน 08-1443-2639

พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (รรท.ผบก.ป.) กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดป่วนเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อเหตุยิงถล่มธนาคารกรุงเทพหลายแห่งว่า ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ และ พ.ต.ท.อดินันท์ ชัยนันท์ รอง ผกก.1 บก.ป. จัดกำลังลงพื้นที่สืบสวนในเชิงลึก และดูว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง โดยจะสืบสวนคนละส่วนกับชุดสืบสวนของ บช.น. ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อมูลบางอย่างมาแล้วว่าเป็นกลุ่มไหน แต่ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า กลุ่มใดบ้างที่เป็นผู้ลงมือก่อเหตุป่วนดังกล่าว

ข่าวแจ้งว่า ชุดสืบสวนของ กก.1 บก.ป.ยังจัดชุดสืบสวนแกะรอยเส้นทางเงินของกลุ่มผู้ต้องสงสัย เพื่อดูว่ามีการเคลื่อนไหวผิดปกติหรือไม่

ส่วนกรณีคนร้ายขว้างระเบิดใส่บริเวณบ้านพักนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ กทม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมานั้น เมื่อเวลา 14.00 น. แกนนำ และ ส.ส.ชทพ. นำโดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษา ชทพ. นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้า ชทพ. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้า ชทพ. และอดีตแกนนำพรรคชาติไทย ทยอยเข้ามอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจนายบรรหาร ทั้งนี้ พล.ต.สนั่นกล่าวให้กำลังใจนายบรรหารว่า ทุกคนใน ชทพ.เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนายบรรหาร และขอยืนเคียงข้างนายบรรหาร เพราะทุกคนมั่นใจว่านายบรรหาร คิดดีทำดีต่อบ้านเมืองที่ทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้

ด้านนายบรรหารกล่าวตอบว่า ตกเป็นเป้าทางการเมืองตั้งแต่สมัยเสื้อเหลือง เคยถูกขู่เผาบ้าน แต่ไม่กลัว เพราะทำงานการเมืองมา 30 ปี อะไรที่คิดว่าเป็นทางออกให้บ้านเมืองก็จะช่วย และขอขอบคุณทุกคนที่เชื่อมั่น การมาให้กำลังใจทำให้มีกำลังใจ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต จึงขอให้ทุกคนช่วยกันประคับประคอง

ต่อมานายบรรหารให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ไม่รู้สึกเครียดกับเหตุที่เกิดขึ้น สบายๆ เมื่อถามย้ำว่า กลัวหรือไม่ที่จะถูกเหตุร้ายเข้าตัว นายบรรหารกล่าวว่า "ไม่กลัว คนเราเมื่อทำถูกต้องเสียอย่างจะกลัวอะไร พระต้องคุ้มครอง"

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรค ว่านายสุเทพได้ชี้แจงเรื่องการยิงระเบิดที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ว่า กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังมีหลายกลุ่ม และจ้างกันเป็นทอดๆ มีทั้งนายทหารเก่าและตำรวจเก่า ที่รู้ช่องทาง ทำให้ยากต่อการจับกุม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธทุกจุด โดยเฉพาะสายตรวจ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่ชุมนุม


ที่มา.มติชนออนไลน์
*************************************************

สดศรีจี้เร่งคดีเงินบริจาคปชป.258ล.ให้เสร็จ


ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ - นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทว่า ได้สอบถามจากคณะทำงานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาก็บอกว่ายังไม่แล้วเสร็จ เพราะ 2 บริษัทที่ทางคณะทำงานได้มีหนังสือให้มาชี้แจงยงไม่เข้าให้ปากคำ แต่ก่อนหน้านี้ประธานคณะทำงานฯก็ได้ระบุถึงความคืบหน้าของการแล้วเสร็จไปกว่า 80 % ดังนั้นตนคิดว่าควรจะเร่งรัดเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นมี.ค.นี้ ถึงแม้จะเหลืออีกเพียงวันเดียว และประธานคณะทำงานฯก็เคยบอกว่าจะทำให้เสร็จ

เมื่อถามว่ากกต.ยังไม่พิจารณาเรื่องนี้เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเมืองใช่หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า เราไม่ได้ดูมิติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถ้าเราทำถูกต้องอะไรจะเกิดแล้วเราไปหลีกเลี่ยง หรือหวั่นวิตกต่อสถานการณ์ ก็ไม่ต้องทำหน้าที่กัน อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเห็นว่าเรื่องที่มีการร้องนั้นแยกออกเป็น 2 ส่วน คือกรณีของเงินบริจาค 258 ล้านบาท และการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ ถ้าคณะทำงานพิจารณาเรื่องใดแล้วเสร็จก็น่าที่จะเสนอมาให้กกต.พิจารณาได้เลย

ส่วนเรื่องเงินบริจาคยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จก็ให้ตรวจสอบต่อไป แต่ที่พูดก็เป็นในฐานะกกต.ที่ไม่สามารถจะไปมีความเห็นชี้ขาดได้เลย เว้นแต่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก็ควรส่งเรื่องนี้ให้กับที่ประชุมกกต.พิจารณา เมื่อส่งมาก็คงจะได้พิจารณากัน เทาที่ทราบขณะนี้ประเด็นของการใช้เงินกองทุนนั้นคณะทำงานได้สอบสวนเสร็จแล้ว


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
************************************************

" พระนเรศวร " ตำนานนักต่อสู้ผู้ไม่มี(วัน)ตาย จาก"จักรพรรดิราช"สู่เบื้องหน้า"ม็อบแดง"สู้อำมาตย์???

การเคลื่อนม็อบแดง ยึดกรุง ทุกครั้ง จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. จะต้องอัญเชิญพระองค์ดำ หรือ พระนเรศวร นำทัพเสื้อแดง สู้อำมาตย์ เอาเข้าจริง ตำนานอันยิ่งใหญ่ของพระนเรศวร ถูกนำมารับใช้การเมืองตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา จากยุควีรกรรมของพระมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่ มาสู่ชาตินิยม จนมาล่าสุด พระนเรศวร ถูกอัญเชิญมาอยู่ เบื้องหน้าคนเสื้อแดง เหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น เรามีคำตอบ

...สมเด็จพระนเรศวรเปรียบเสมือนวีรบุรุษของราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราชสำนักในแต่ละยุค "สร้าง" สมเด็จพระนเรศวรให้สอดคล้องกับคติความเชื่อและความคิดทางการเมืองของตน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาพของสมเด็จพระนเรศวรเป็นไปในแนวทางจักรพรรดิราชและธรรมราชาภายใต้โลกทัศน์แบบศาสนา

เนื่องด้วยคติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงอยุธยา เรื่องของสมเด็จพระนเรศวรเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันความชอบธรรมในการปกครองและเป็นเสมือนตำราในการศึกษาเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีของพระราชวงศ์ในอดีต

งานเขียนเหล่านี้จึงมักเป็นพระราชพงศาวดารที่เสพกันเฉพาะชนชั้นในราชสำนักเท่านั้น
ทว่าเมื่อโลกทัศน์ของชนชั้นนำเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบทางโลกย์มากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ภายในคือความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนางและสถานการณ์ภายนอกคือลัทธิจักรวรรดินิยม ทำให้เกิดการปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5 เกิดสำนึกความเป็นชาติ
สำนึกถึงขอบเขตของดินแดนสมเด็จพระนเรศวรจึงกลายเป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ปกป้องประเทศ กู้เอกราชชาติภายใต้โครงเรื่องแบบ "ราชาชาตินิยม" วีรกรรมของพระองค์แพร่ลงมาสู่ประชาชนเพื่อปลูกฝังประวัติศาสตร์และความเป็นชาติ

ความคิดแนวนี้ถูกผลิตซ้ำโดยราชสำนัก ทั้งผ่านหนังสือ บทละคร และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในที่สุด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระราชประวัติของพระองค์ยังกลายเป็นบทเรียนและสัญญาณที่บ่งบอกถึงการต่อสู้ของคณะเจ้าต่อคณะราษฎร จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรยังทรงเป็นผู้ที่ราชสำนักไทยให้ความสำคัญและยังคงนึกถึงอยู่เสมอ

เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรยังคงถูกสร้างต่อ ๆ มาในหลายรูปแบบ แต่เปลี่ยนมือผู้สร้างจากราชสำนักมาเป็นสามัญชน กองทัพ เรื่องราวของพระองค์เป็นประโยชน์ในเรื่องการทหาร มีการสถาปนาวันกองทัพบกไทยขึ้นมาใน พ.ศ. 2495 ตรงกับวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา กองทัพใช้เรื่องสมเด็จพระนเรศวรอธิบายประวัติความเป็นมาของตนเองว่ามีความเป็นมายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในยุคสงครามเย็น พระองค์เป็นเสมือนสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับ "คอมมิวนิสต์" พระบรมราชานุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นมามากมาย รวมทั้งเกิดเพลงปลุกใจ "ทหารพระนเรศวร" และ "มาร์ชนเรศวร" เมื่อสถานการณ์ภัยแดงเริ่มคลี่คลาย อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรกลายเป็นสถานที่สักการะบูชาและบนบานของประชาชน เกิดการนำวีรกรรมของพระองค์ไปประกอบการแสดงแสงสีเสียง แต่งเป็นนวนิยายเรื่องต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตคือ ไม่ว่าผู้สร้างเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นชนชั้นใด พระองค์มักได้รับการนำเสนอแบบ "ด้านเดียว" มาตลอด คือความเป็นกษัตริย์นักรบ แม้จะมีความพยายามเสนอภาพอื่น ๆ บ้าง

เช่น นวนิยายหลายเรื่องที่เขียนให้พระองค์มีการกระทำและอารมณ์หลากหลาย ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น นำเสนอเรื่องความรักของพระองค์ซึ่งไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่ก็ไม่สามารถแทนภาพกษัตริย์นักรบที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนานได้เลย

เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ หลายสถานการณ์ โดยบุคคลหลายระดับ หลายกลุ่ม ทุกคนกลายเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยจำกัดวงอยู่ในราชสำนักเท่านั้น

แต่ละคนนำเอาประวัติศาสตร์ไปสร้างประโยชน์ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาบางอย่างให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
ความเป็นวีรบุรุษของสมเด็จพระนเรศวรจะคงอยู่ในสังคมไทยต่อไป แต่ในอนาคตจะถูกใช้อย่างไร เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือมากมายแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับเวลา สถานการณ์ในอนาคต และ "มนุษย์" ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงพลังที่สุดในการเขียนและสร้างประวัติศาสตร์มาทุกยุคทุกสมัย!!!

( หมายเหตุ จาก งานวิจัย ปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษาศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง ภาพลักษณ์สมเด็จพระนเรศวร ของราชสำนักไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ถึงทศวรรษ 2480 ของ วริศรา ตั้งค้าวานิช )

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
***********************************************

ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์ตบหน้ามาร์ค มติคนกรุง 66% ให้ออก+ยุบสภา

ธุรกิจบัณฑิตย์โพล โดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี โดยทำการสำรวจชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,479 คน กระจายตาม อาชีพ อายุ และการศึกษา ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2553 พบว่า

ชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 34.57 เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปอีกได้ไม่เกิน 9 เดือน ร้อยละ 26.95 เชื่อว่าจะดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 8.55 เท่านั้น ที่เชื่อว่าอยู่จนครบวาระ ใน สภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 46.37 อยากให้มีการยุบสภา ร้อยละ 33.09 อยากให้รัฐบาลอยู่แก้ปัญหาต่อไป และร้อยละ 19.46 อยากให้นายกรัฐมนตรีลาออก

สำหรับความคิดเห็นเรื่องการพิจารณายึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 26 ก.พ. พบว่า ชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 60.20 คิดว่าจะถูกยึดทรัพย์บางส่วน มีเพียงร้อยล 14.00 เท่านั้นที่คิดว่าจะไม่ถูกยึดทรัพย์เลย และเมื่อถามว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จะมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกหรือไม่ ชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.36 คิดว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อย และไม่มีโอกาสเลยถึงร้อยละ 35.12

บุคคลที่ชาวกรุงเทพฯ อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 43.85) รองลงมา คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ร้อยละ 29.91) และนายชวน หลีกภัย (ร้อยละ 8.81) ตามลำดับ

ในบรรดานายกรัฐมนตรีที่ประเทศไทยเคยมีมา ชาวกรุงเทพฯ ชอบพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด (ร้อยละ 34.89) รองลงมา คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 22.59) และนายชวน หลีกภัย (ร้อยละ 19.39) ตามลำดับ






ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ที่ปรึกษา
รศ.ดร.สรชัย พิศาลบุตร ผู้รับผิดชอบ
อาจารย์มนฤดี กีรติพรานนท์ ผู้รับผิดชอบ

ธุรกิจบัณฑิตย์โพล
*********************************************

เมื่อทัพเรือ ไม่พอใจทัพบก

ขณะนี้มีกำลังทหารบก จำนวน 3 กองร้อย
ได้เข้าประจำการที่พระราชวัง เดิม(กองบัญชาการกองทัพเรือ)
ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นพื้นที่ของทหารเรือ

และขณะนี้กองทัพเรือได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย ในการปฏิบัติหน้าที่ถวายอารักขา
ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งก็ติดกับพระราชวังเดิมนั่นเอง

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจ ให้กับทางกองทัพเรือเป็นอย่างมาก
ซึ่งได้มีการทัดทานและแย้งไปแล้วว่า นี่เป็นการก้าวก่ายหน้าที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายอารักขา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ทรงมีพระราชประสงค์เป็นการเฉพาะ ให้กองทัพเรือปฏิบัติหน้าที่ถวายอารักขา
ตลอดทั้งพื้นที่

แต่ กองทัพบกโดยทหารกลุ่มบูรพาพยัคฆ์
ได้สั่งให้กองกำลังดังกล่าวนั้นเข้า ประจำที่
ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของในพื้นที่เหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

แหล่งข่าวนายทหารเรือท่านนี้ได้ปรารภว่า (ซึ่งที่จริงเรียกว่าด่านั่นล่ะ)
นี่เป็นการก้าวก่ายหน้าที่กันอย่างน่า เกลียดและเป็นการขัดพระราชประสงค์
อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่าง ร้ายแรง
เรื่องนี้ทางกองทัพเรือโดย ผบ.ทร. กำลังหงุดหงิดไม่พอใจเป็นอย่างมาก

by ประจันบาล ประชาไท
************************************************

จุดอ่อนอันใหญ่ หลวงของนายอภิสิทธิ์ที่เขาไม่รู้ตัวคือ "คารมโวหาร" นี่แหละ

จุดอ่อนอันใหญ่ หลวงของนายอภิสิทธิ์ที่เขาไม่รู้ตัวคือ "คารมโวหาร" นี่แหละ เพราะมันขาด "ความน่าเชื่อถือ" โดยสิ้นเชิง
ทุกคนอาจคิดว่า จุดแข็งของนายอภิสิทธิ์คือ คารมโวหาร ที่ดูดีมีหลักการ หรือมีเหตุผลที่ดีเสมอ นั่นแหละ ซึ่งผมก็ไม่ปฎิเสธ ในช่วงแรกของชีวิตของนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบอะไร การพูดอะไร โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำนั้น การพูดดี โวหารดี สำหรับคนหนุ่มที่ัยังไม่มี "ความรับผิดชอบ" ไม่มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ" นั้น ดูเหมือนว่าเป็น จุดแข็ง

แต่เมื่อมีตำแหน่ง มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ สิ่งที่ต้องมาเป็นอันดับแรก คือ "การทำตามสิ่งที่เราพูดเอาไว้" เพื่อให้คำพูดของเรา "มีความน่าเชื่อถือ"

ไม่ใช่ หาโวหารมาอธิบายว่าทำไม "ไม่ทำตามสิ่งที่พูด" เมื่อทำแรกๆ คนอาจ งงๆ ยังไม่รู้ตัว แต่เมื่อทำเป็นนิสัย คนจะเริ่มไม่ฟัง "คารมโวหาร" ที่ดูดีมีหลักการ แต่มันคือ "การแก้ตัวว่าทำไมไม่ทำตามสิ่งที่เราได้พูดเอาไว้"

ในที่สุด คนก็จะตีตราว่า "คำพูดเราไม่มีความน่าเชื่อถือ" เชื่อถือไม่ได้โดยสิ้นเชิง ในเวลานี้ต่อให้ นายอภิสิทธิ์พูดดี มีหลักการ โวหารน่าฟังขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่มีใครฟังสิ่งที่เขาพูดเพราะมันเป็นแค่ "คำแก้ตัว" ว่า ทำไมทำตามสิ่งที่พูดไม่ได้

ในที่สุด "การรับรู้ของคนทั่วไปคือ "นายอภิสิทธิ์เป็นคนไม่มีความน่าเชื่อถือ "โดยสิ้นเชิง

คำพูดทุกคำเป็นเพียงโวหาร ที่ประดิษฐประดอยขึ้นมาเท่านั้น และไร้สาระที่จะไปฟัง

ผมไม่เคยฟังสิ่งที่นายอภิสิทธิ์พูดมานานแล้ว เพราะผมเบื่อที่จะฟังคำแก้ตัว คำพูดสวยหรู คำแก้ตัวสวยหรูนั้นใครก็ทำได้

ปัญหาของ "คนที่เป็นผู้ใหญ่" คือ รักษาคำพูด และทำตามสิ่งที่เราพูดเอาไว้ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ

เราต้องเป็นบุคคลที่ "น่าเชื่อถือ" ไม่ใช่คนพูดดี โวหารดี แต่ตลบตะแลง เชื่อถือไม่ได้

สำหรับนายอภิสิทธิ์ แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในสายตาผมคือ คนหน้าตาดี ตลบตะแลง ไม่รักษาคำพูด และแก้ตัวเก่ง เป็นลักษณะของ "ทุรชน" อย่างแท้จริง

คำพูดของเขาที่ติดปากคือ "ผมไม่อยากที่จะแก้ตัวเลย "แต่" แล้ว ก็ Bla bla aaaa แก้ตัวอีกสองชั่วโมง" ช่วงนีหากเราดูโทรทัศน์ ก็กดปิดคำพูด "แก้ตัวของเขาได้"

by ลูกชาวนาไทย ประชาไท
****************************************************

ระวังปาหี่..!!??

วันนี้คนเสื้อแดงจะนัดชุมนุมใหญ่ เคลื่อนพลทั่ว กทม. กดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ท่ามกลางกระแสข่าว ทหารหมดความอดทน รอไฟเขียวเข้ามาเป็นตาอยู่ ยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จอีกกระทอก อย่างที่เคยเกริ่นไว้แล้วว่า ช่องทางของ รัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลชั่วคราวสุดแล้วแต่จะเรียกขาน เป็นช่องทางออกสุดท้ายของปัญหาวิกฤติการเมืองไทย

ก็มีการวิจารณ์กันว่า บางคนในกองทัพ จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการยึดอำนาจ แต่ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว การยึดอำนาจในบ้านเรา ทุกครั้งจะต้อง มีเอกภาพและมีการรับรอง เพราะฉะนั้น รูปแบบของการปฏิวัติรัฐประหารเมืองไทยมีสูตรสำเร็จที่จะเห็นบรรดา ผบ.เหล่าทัพมานั่งหน้าสลอนแถลงข่าวถึงเหตุผลในการยึดอำนาจและมีโฆษกคณะปฏิวัติที่มานั่งแถลงข่าวโปรดฟังอีกครั้ง ทุกอย่างก็เรียบร้อยโรงเรียนทหาร

จะให้เป็นหน้าที่บางคนในกองทัพคนเดียวคงทำไม่ได้

เนื้อแท้ของการยึดอำนาจในประเทศไทยจบที่ เรื่องของผลประโยชน์ชั่วคราว คนที่เข้ามาร่างกฎหมาย เขียนประกาศคณะปฏิวัติ มาเป็นรัฐบาลชั่วคราว มาเป็นนายกฯ มาเป็นรัฐมนตรี หรือองค์กร ต่างๆในระบบการบริหารก็คนคุ้นเคยกันทั้งนั้น

ในฐานะตาอยู่ ผู้นำกองทัพไม่ได้หวังอะไรมากจากการยึดอำนาจแต่ละครั้ง โชคดีอาจจะมีตำแหน่งติดไม้ติดมือกลับบ้าน หรือมีโบนัสก้อนโต เอาไว้กินไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิตอย่างสุขสบาย ส่วนหน้าที่การตามล้างตามเช็ดต่อไปเป็นหน้าที่ของนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนที่จะตามน้ำกันต่อไปอย่างไร

การเมืองก็คือเรื่องของผลประโยชน์

จะบนผลประโยชน์ของชาติหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ที่ไม่สลับซับซ้อน การออกมารักษาความสงบของเจ้าหน้าที่ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ ระดับเด็กๆรับไปวันละ 400 บาท จ่ายสดซะด้วย ส่วนจะถึงมือลูกน้องเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

ผลพลอยได้จากการไล่รัฐบาลโดยเฉพาะแกนนำผู้ชุมนุมนั้น คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่แทงกั๊กกันอุตลุด ระหว่างแกนนำเสื้อแดง แกนนำพรรคฝ่ายค้าน บ้านเลขที่ 111

วันนี้ถ้าฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยรวมตัวกันเหนียวแน่นจริงๆ เสียสละเพื่อส่วนรวม กันจริงๆก็คงไม่มีสภาพเหมือนทุกวันนี้ ประเภท รักตัวกลัวตาย อาบน้ำแต่งตัวรอรับตำแหน่ง มีเยอะกว่านักสู้เพื่อประชาธิปไตย ใจไม่ถึงเหมือนลุงนวมทองหรือชาวบ้านที่ไปนั่งทนร้อนทนหนาวอยู่บนถนนราชดำเนิน

ว่ากันว่าจะคิด จะเจรจา จะดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างไร เป็น อำนาจของ สามเกลอ แม้แต่ นายใหญ่ ก็ยังพูดอะไรได้ไม่เต็มปาก ถ้าสู้กันแบบมีนอกมีในอย่างนี้ หนทางที่จะเอาชนะรัฐบาลที่เชี่ยวการเมืองเช่นพรรคประชาธิปัตย์ได้ยาก ยิ่งมีตัวช่วย ไม้ค้ำ เป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น การเรียกร้องมาตรฐานความเป็นธรรมและเสมอภาค ในสังคมไทยอาจจะเหนื่อยฟรีหรือไม่ต้องใช้เวลาอีกยาวนาน.

หมัดเหล็ก

ไทยรัฐออนไลน์
โดย หมัดเหล็ก

tags:
คาบลูกคาบดอก หมัดเหล็ก เสื้อแดง Share |

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

เปิดวิวาทะเดือด !! "อภิสิทธิ์-จตุพร" ชง6ประเด็นอัดนายกฯ "มาร์ค"แบะท่าขอเวลา9เดือนแก้รธน.-ยุบสภา

นายกฯเปิดโต๊ะเจรจาวันที่2 "จตุพร"ยิงคำถาม"มาร์ค"เคยบอก"สมัคร"ให้ยุบสภาแก้ปัญหา สื่อบันทึกภาพเพียบ

การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายระหว่าง รัฐบาล และ 3 แกนนำนปช. ในวันที่ 2 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.20 น. โดยใช้เวลา ประมาณ 2 ชั่วโมง โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ พยายามเสนอระยะเวลาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน และประชาชนลงประชามติ จากนั้นจึงยุบสภา โดยใช้เวลา 9 เดือน ซึ่งนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. ก็มีแนวโน้มจะรับไปพิจารณา โดยให้ทั้งฝ่ายไปจัดทำแผนรายละเอียดระยะเวลาร่วมกันของแต่ละฝ่าย และนำกลับมาหารืออีกครั้งในวันพฤหัสฯที่ 1 เมษายน แต่ในตอนท้าย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว โดยกล่าวสรุปว่า ข้อเสนอของนปช.ในวันนี้ให้นายกฯยุบสภาภายใน 15 วันไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนข้อเสนอใหม่ของรัฐบาลในวันนี้ ให้ยุบสภา ใน 9 เดือน ยังไม่ขอรับข้อเสนอ แต่ขอนำไปหารือกับผู้ชุมนุมก่อน จึงค่อยนัดหารือกันในรอบที่ 3 ส่วนฝ่ายรัฐบาลจะทำแผนไว้ตามเดิม คือนัดหารือรอบที่สาม ในวันที่ 1 เมษายน ส่วนนปช.จะร่วมหารืออีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่นปช.จะพิจารณาเอง โดยการหารือจบในเวลา 20.20 น.

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 29 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเจรจาเป็นวันที่ 2 กับนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยสถานีโทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

ปรากฏว่า มีบรรดาช่างภาพ สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ มาตั้งช่องเปิดทางถ่ายทอดสด และถ่ายภาพประวัติศาสตร์ นับร้อยคน ทำให้การเจรจาในวันที่สองต้องล่าช้าไปกว่า 20 นาที

นายวีระ มุสิกพงศ์ : ขอบคุณท่านนายกฯ ชาวบ้านรู้สึกสบายใจ ที่บ้านเมืองจะกลับสู่ปกติ มาถึงข้อเรียกร้อง ก่อนจากกันเมื่อวาน พวกผมได้ขอให้นายกฯ ยุบสภาภายใน 15 วัน ขอถามตรง นายกฯและคณะ มีความเห็นอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ขอตอบว่า คงต้องมีเงื่อนไขที่เราต้องช่วยกันทำ ถึงจะมั่นใจว่า เป็นทางออกที่ยอมรับของทุกฝ่าย ของฟันธงได้เลยว่า ยุบวันนี้ หรืออีก 15 วัน ไม่ตรงกัน ว่าจะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองกลับไปปกติสุขได้ จากการหารือกันว่า ประชาชน ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภาในตอนนี้ วาระของผมเหลือเวลาอีก 1 ปี กับ 9 เดือน ถ้าให้ผมจัดเลือกตั้งก่อนครบวาระคงไม่มีปัญหา โดยการจัดการปัญหาต่างๆ ให้แก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คงจะใช้ระยะเวลาไม่นาน พร้อมจะคุยในกรอบนี้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ยอมรับผมก็ขอบอกว่า ทำไม่ได้ แน่นอน แต่ถ้ายอมรับกรอบนี้ เราก็เจรจากันต่อได้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ : ตอนนายกฯเป็นฝ่ายค้าน เคยขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยุบสภาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : (โต้ขึ้นทันทีว่า) เหตุการณ์ตอนนั้น เป็นคนละกรณีกับตอนนี้ เพราะตอนนี้ มีการกดดันของผู้ชุมนุม แต่ตอนนั้น ผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้ยุบสภา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ : คนเสื้อแดง ติดใจเรื่อง 2 มาตรฐาน ทำให้มีคนมาชุมนุมกันจำนวนมาก เป็นบาดแผลร้าวลึกของคนไทย ประเด็นต่อไป ท่านเข้ามาเป็นนายกฯ เข้ามาสู่ในวาระ 1 ปี 4 เดือน ช่วงแรกถ้าจะให้ยุบสภามันเร็วเกินไป แต่ถือว่า เป็นนานกว่า 2 รัฐบาล สมัคร-สมชาย นอกจากนี้ ยังได้เป็นนายกฯโดยไม่ชอบ และล้มเหลวหลายอย่าง ทำให้คนไทยเป็นหนี้ทั้งประเทศ และการกู้เงินมาใช้จ่าย เป็นเงินกว่า 8 แสนล้าน ถือว่าใช้เงินมหาศาลมาใช้นอกงบประมาณแผ่นดิน ทำให้เหนืออำนาจการตรวจของของคณะกรรมาธิการสภา จนมีข่าวการทุจริตจำนวนมาก ถึงกับเรียกว่า กู้มาโกง เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง ไทยพอเพียง และการจัดซื้ออาวุธ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการลอกข้อสอบ ในกระทรวงมหาดไทย การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ

ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ตั้งแต่ท่านเป็นนายกฯ เคยรับปากพรรคร่วม แต่ก็ไม่ได้ทำตาม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหลายๆประเด็น แม้กระทั่งเรื่องการสำเร็จราชการแทน ประเด็นแก้ไขรธน.ไม่เชื่อว่า จะทำได ้และเห็นว่า มันสายไปแล้ว และหมดเวลาไปแล้ว นอกจากนี้ ที่นายกฯบอกว่า จะแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศให้ไปได้ จึงขอให้นายกฯประกาศยุบสภา และจัดเลือกตั้งภายใต้รธน.ปี 2550 ได้ ซึ่งถือว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับประโยชน์มากที่สุด

ที่ลำดับความมา ทั้งหมด เพื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นประชาธิปไตย จะทำให้นายกฯเป็นผู้ยิ่งใหญ่ หากปฏิบัติได้ ผมจึงสรุปว่า ที่พวกผมประเมิน พวกผมไม่ต้องมีข้อขัดแย้ง ที่มาเรียกร้องให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ที่ยุบสภาแล้ว จะทำให้บ้านเมืองกลับสู่ปกติได้อย่างไร ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ต้องการให้เกิดสงครามกลางเมืองหรือการเข่นฆ่าประชาชน จึงเรียนว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีประชาธิปไตย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด การอยู่ภายใต้รัฐทหารนั้น ไม่เหมาะสม การเสียสละของนายกฯจะนำประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ ถ้าเสียสละและได้รับเลือกตั้งอย่างยิ่งใหญ่ ถ้ายังเป็นนายกฯอยู่ต่อไป อาจจะจบด้วยกันเป็นทรราชได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ที่บอกว่า ได้มาเป็นนายกฯโดยมิชอบ ขอตอบประเด็นนี้ก่อน การเลือกนายกฯ ถือว่าเป็นพิเศษกว่าทุกครั้ง และอยู่ในกระบวนการรัฐสภาทั้งสิ้น ขอเรียนให้เข้าใจที่ทุกต้อง ถ้าท่านบอกรธน.โดยมิชอบ จะลงเลือกตั้งทำไม ประเด็นก็คือว่า เมื่อมีกติกา ก็ต้องเล่นตามกติกา กติกาเขาเล่นตามประสบการณ์ในอดีต ป้องกันทุจริต ได้มาโดยมิชอบ วันนี้ อยู่ดีๆ บอกว่า ทำไมในสภามา 2 ปี บอกว่ามันไม่ถูกต้องแต่ต้น มันก็แปลกอยู่

เรื่องรธน. ผมพูดว่า เคยรับปากว่าจะแก้ แต่เรื่องแก้รธน. อาจจะคิดกันคนละเรื่อง ผมรู้สึกว่า บางทีเราเลือกกันตามชอบ ไม่ชอบ เช่นเมื่อรัฐบาลได้มาจากรธน. ก็เป็น 2 มาตรฐานเหมือนกัน มาเรื่อง 2 มาตรฐาน มีการพูดตั้งแต่เมื่อปี 2544-45 สมัยคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เรื่องปิดบังทรัพย์สินของภรรยา และมีกรณีของคุณประยุทธ มหากิจศิริที่คล้ายคลึงกัน แต่กลับมีการลงโทษคุณประยุทธ ส่วนคุณทักษิณ ถูกตัดสินว่าไม่ผิด เรื่องนี้ละ 2 มาตรฐาน คดีซุกหุ้นทักษิณ ผมคิดว่าเป็น แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรายอมรับ เราต้องยอมรับกระบวนการของศาล ถ้าวันนี้ เลือกคดีโน้นคดีนี้ยอมรับบ้างไม่ยอมรับบ้าง มันก็ไม่มีข้อยุติ

เวลาพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน บางคดีไม่ดำเนินการ บางคดีเร่งรัด คดีไหนยากมันก็นาน คดีจักรภพ (จักรภพ เพ็ญแข) ก็นานแล้ว บางคดีไม่ซับซ้อนก็มีการออกหมายจับแล้ว บางคดีก็เสร็จไปแล้ว คุมขังไปแล้ว ทำในยุคผมทั้งนั้น คดีเดือนเมษายน ล้อมกรอบทุบรถผม ก็ว่ากันไปตามปกติ จะเป็นอย่างไรใช้เวลาเท่าไหร่ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย ให้รายงานแต่คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ที่หยิบคดีไหนขึ้นมาพูดนั่น มันเป็นเรื่องที่เกินเลยไป

ประเด็นที่ 4 น่าจะไปอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐสภา เช่น เรื่องอาฟต้า เป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้ว ถึงขณะนี้ ยังเป็นสินค้าที่สงวนอยู่ กู้เงิน การกู้เงินที่เรียกว่ากู้เงินพิเศษ นอกกรอบงบประมาณ 4 แสนล้าน เพราะรัฐบาลเห็นว่า เป็นเงินเร่งด่วน แต่น่าสนใจว่า มันอาจจะต้องกู้ 8 แสนล้าน จึงแบ่งออกเป็น พรก.4แสนล้าน เป็นพรบ. 4 แสนล้าน แต่สมัยทักษิณ กู้พรบ.ฉบับเดียว 7.5 แสนล้านถือว่ามากที่สุด แต่ขณะนี้ รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ต้องเอาความจริงมาพูดกัน ส่วนเรื่องการทุจริต ผมก็พูดมาตลอดว่า เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ผมเชื่อว่า สมัยผมเป็นนายกฯ ก็ต้องมีทุจริต ที่สำคัญ จะจัดการปัญหาดังกล่าวหรือไม่ ที่รมต.ลาออก ถือเป็นความรับผิดชอบแสดงสปริต แต่เรื่องคดีที่ศาลตัดสินแล้วทำไมไม่หยิบมาพูด ที่ศาลสั่งยึดทรัพย์

กรณีจีที-200 ซื้อครั้งแรก ในสมัยทักษิณ เรื่องนี้ ต้องพูดความจริง ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละเรื่องทุจริตหรือไม่ มีหลักฐานหรือไม่ แต่หลายเรื่องมีการตั้งกรรมการสอบแล้ว ประเด็นเหล่านี้ หยิบยกขึ้นมาแล้วบอกว่า โกงมากมายมันตรงกันข้าม

เรื่องแก้รธน. ผมบอกว่าแก้ได้ และแก้บางประเด็น ผมพูดมาตลอด อย่าไปแก้ประเด็นที่มีความละเอียด และเอาประโยชน์ให้ตัวเอง แก้แล้วไปล้างทุจริตให้คนที่ทำผิด แต่ประเด็นที่เสนอแก้ก็มุ่งไปแต่เรื่องนี้ เรื่องที่รับปากแก้ไขรธน. ว่าไม่เอานะ นิรโทษกรรม ล้างความผิดเพื่อช่วยตัวเอง แต่ก็เปิดช่องไว้บ้าง

เรื่องแก้ไขรธน.จะไปรู้ดีกว่าผมได้อย่างไร ว่าคุยอะไรกับพรรคร่วมบาง เรื่องนี้ก็เชิญวิปทุกฝ่ายมาคุยกันเพื่อเอาไปทำประชามติ ว่าประชาชนต้องการอะไร แต่ปรากฏว่า คนที่ล้มกระบวนการนี้ คือฝ่ายค้านที่ไม่ยอมร่วมดำเนินการด้วย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : เรื่องวาระในการยุบสภา ผมเหลือวาระ 1 ปี 9 เดือน ถามว่าผมอยากเห็นอะไรก่อนเลือกตั้ง มี 3 เรื่อง 1.เศรษฐกิจ 2.กติกา 3.บรรยากาศ เรื่องแรกเศรษฐกิจ อยู่ที่ปฏิทินของกระบวนการงบประมาณ เพราะถ้ายุบสภา ทำให้มีปัญหาในการบริหารประเทศ เรื่องสอง กติกา ถ้าดูจากการประกาศทำประชามติ เรื่องไหนที่จะแก้รธน. ให้สภาดำเนินการ พอทำเสร็จ ทำกฏหมายเป็นกรอบเวลาหนึ่ง เรื่องที่สาม เรื่องการทำบรรยากาศบ้านเมืองให้เป็นปกติ ให้มีการตรวจสอบได้ การชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่มีการปิดล้อมไม่มีการข่มขู่ เอา 3-4 ปัจจัยนี้ มาดูกัน น่าจะประมาณสิ้นปี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หรือถ้าจะบอกว่า แค่15วันเท่านั้น

นายวีระ มุสิกพงศ์ : เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องความเชื่อ ถ้าจะดีถ้าเชื่อว่าแก้เศรษฐกิจได้ ก็ให้ประชาชนพิสูจน์ด้วยการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องกติกา มีปัญหาแน่นอน สภาเป็นที่พึ่งไม่ได้แล้ว รอให้เลือกตั้ง แล้วค่อยมาแก้ไข ส่วนบรรยากาศทางการเมือง เชื่อว่า เราทำได้ เสื้อแดงทำได้

นายวีระ มุสิกพงศ์ : ถ้ากรอบที่นายกฯเสนอมา มันจะยาวไป แต่มีนักวิชาการเสนอมา 3 เดือน ถือว่าเหมาะสม มันไม่ควรจะยาวนานไปถึง 6 เดือน กรอบกติกา ผมว่า 2 เดือนคงจะแก้ไขได้ ถ้ารัฐบาลจริงใจ เพราะถ้าปล่อยสภาคงพึ่งไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ท่านต้องเสียสละ ให้สิทธิแก่ประชาชน ขอให้นายกฯเสียสละ ยอมให้มีการเลือกตั้ง ตามกรอบเวลาที่เหมาะสม

นายจตุพร : นายกจะขอเวลาสักกี่เดือน

นายอภิสิทธิ์ : ผมขออธิบายว่าที่พูดถึงปฏิทินเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบมากการฟื้นตัวไม่ค่อยแรง เขาพูดกันได้ว่าที่ฟื้นมาได้เพราะหลายประเทศฟื้น พ.ร.บ.กู้เงินสี่แสนล้านคงไม่ได้กู้ตามนั้น สมัยก่อนงบประมาณเพิ่มทุกปี เวลาเกิดมีปัญหาการเมือง กฎหมายให้ใช้ของเก่าได้ งบเพิ่มทุกปีแต่ยังใช้ของเก่าได้ บังเอิญปีที่ผมเข้ามาเจอวิกฤตเศรษฐกิจงบประมาณขาด 2 แสนล้าน ถ้าตรงนี้มันชะงักอาจจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญช้าเร็วไม่ได้อยู่ที่สภา วันนี้เราเอาให้ชัดๆเลยว่าประชาชนเป็นคนทำ ทำประชามติไปเลยจะแก้มาตราไหน ซึ่งมันไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง กระบวนการประชามติบวกกับการแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา บรรยยากาศบ้านเมืองที่เราสามารถทำเรื่องยากๆกันได้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำประชามติ เราไม่สามารถแก้กันได้ลอยๆ

กรอบปลายปี สิ้นปี ผมไม่อยากบอกว่าเสียสละ ตามกฎหมายเหลือ 1 ปี 9 เดือน ตอนนี้เฉือนไปเลย 1 ปีเหลือแค่ 9 เดือน เราเพียงแต่บอกว่ามากำหนดเดินไปข้างหน้าไปกำหนดกรอบ ผมย้ำว่านี่คือสิ่งที่รัฐบาลวางลงได้แต่ถ้ายืนยันว่า 15 วัน ไม่ได้

นายจตุพร : ถ้าจะทำเรื่องใดๆก็ตามต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วันถึง 120 วัน หมายความว่าเรื่องนี้เริ่มปฏิบัติใช้เวลา 3 เดือน หรือเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าอายุรัฐบาลคงไม่ทัน เงื่อนไขประเด็นเศรษฐกิจจะมาผูกมัดรวมไม่ได้ว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้ท่านจะทำให้ดีขึ้นรวมทั้งบรรยากาศด้วย นับจากนี้ไปอีก 9 เดือนจะดีขึ้นได้อย่างไร มันเป็นการซ้ำซาก เวลานี้เรื่องการท่องเที่ยวการชุมนุมไม่กระเทือน ทั้ง 3 อย่างที่จะลากไปถึงสิ้นปีมันยาวไปถึงปีหน้า

การเรียกร้องให้ท่านเสียสละยังเป็นประเด็นหลัก นายกฯประชาชนยังต้องใช้ชีวิตตามปกติ หมายความว่าการเรียกร้องของเราไปวัดที่ผลการเลือกตั้ง คู่แข่งของท่านจะยอมเสียเปรียบ สิ้นปีคงเป็นเรื่องที่จะรับกันไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ : ย้ำอีกครั้งว่าเรื่องเศรษฐกิจดีไม่ดี ผมเพียงแต่บอกว่าตารางปฏิทินงบประมาณถูกกระทบตั้งแต่ตุลาคม เป็นต้นไปมันคงผิดปกติมากๆ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งก็กังวลเรื่องนี้ ผมคิดว่าวิธีที่จะทำคือทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ประเด็นที่จะแก้ค่อนข้างที่จะแน่ชัด มีการเสนอทำร่าง สรุปสาระให้ประชาชนเข้าใจ

นายจตุพร : แค่เขตเลือกตั้งพรรคร่วมกับรัฐบาลก็เห็นต่างกันแล้ว

นายอภิสิทธิ์ : บอกว่าก็อยู่ที่ประชามติ อันนี้จะเป็นกระบวนการที่ดีมากที่จะยอมรับกระบวนการไปออกคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจเรื่องการเลือกตั้งผมเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทุกคนบอกว่าถ้าผมยุบสภาโดยมีการกดดันจากกลุ่มหนึ่งเขาจะไม่เลือกผม แต่ถ้าด้วยเหตุผลอื่นแต่อธิบายได้ว่าได้ฟังคนเสื้อแดงและมีเหตุผลอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่ผมบอกว่าเป็นประโยชน์สูงสุด

นายจตุพร : ความเห็นผม 15 วันกับสิ้นปี เป็นประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ : จะบอกว่าไม่เชื่อกันก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร สิ่งที่ท่านกลัวว่าจะเบี้ยวกันหรือเปล่า ผมยืนยันว่าผมอยู่ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่พูดอะไรออกไปแล้วไม่ทำตาม

นายจตุพร : นี่คือสิ่งที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 15 วันกับ 1 ปี

นายชำนิ : บอกว่าไม่ได้ต้องการยืดเวลา แต่ถ้าปัญหาที่หลายฝ่ายมีความกังวลทั้ง 3 ประเด็นที่ดำรงอยู่ บางเรื่องเป็นความเชื่อ เป็นความสามารถ โดยกรอบของกติกา การเสนอ 9 เดือน โดยกระบวนการเราต้องทำประชามติต้องใช้เวลาเท่าไร เพราะกฎหมายบังคับระยะเวลา 9 เดือน ถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์กติกา ถ้าเราผ่านกระบวนการนี้จะนำไปสู่ประเด็นที่ 3 การเลือกตั้ง

นายกอร์ปศักดิ์ : เรามาคุยกันตรงนี้เพราะอยากหาข้อยุติไม่มีใครเชื่อใคร บอกว่าเคารพก็ไม่มีใครเคารพใคร ในเมื่อไม่มีใครเชื่อใคร ทำอย่างไรต้องมาลองกัน ท่านบอกไม่ต้องลองหรอกเพราะท่านบอกว่าไม่เชื่อ ผมบอกว่าภายใน 9 เดือนจะเข้ารูปเข้ารอย ท่านก็ไม่เชื่อ เพราะถ้าเชื่อกันก็ไม่มีวันนี้หรอก ยังไม่ต้องเลือกตั้งเอาเรื่องรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นกลับไปหาประชาชน ใช้เวลา 120 วันใน 4 เดือน ใครจะผิดกติกา แต่การชุมนุมของท่านก็ต้องเป็นไปตามกติกาที่ศาลปกครองได้กำหนดไว้ 4 เดือนทำเสร็จทุกคนโล่งอก ถ้าเบี้ยวกันมันจบตั้งแต่ 2 เดือนแรก ไปไม่รอด จริงๆแล้วไม่อยากให้ Yes หรือ No ตอนนี้ข้อเสนอชัดแล้ว ข้อเสนอท่าน 15 วัน ของผมสิ้นปี อีก 2 วันมาคุยกัน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ถ้าเกิดบอกว่าเราไม่สนใจอะไรก็ 9 เดือนกันไปพิจารณากันได้

จตุพร พรหมพันธุ์ : ความรู้สึกความร้อนแต่ละคนแตกต่างกัน ผมร้อนมาก 15 วัน แต่ท่านร้อนน้อย 9 เดือน ในทางปฏิบัติคำว่า "ซื้อเวลา" เราได้ยินมานานไม่มีอะไรดีขึ้น ทำให้เจ็บช้ำ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ซื้อเวลาคือไม่ทำอะไร ผมชวนทำหมด ทั้งปัญหาการพูดจามานั่งวางกัน ดังนั้นผมถึงบอกว่าถ้าพูดสิ่งเหล่านี้ทำให้มองเห็นว่าการยุบสภา 15 วันปัญหาก็ไม่หยุด ฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้อยู่ที่ท่านว่าจะสนใจการพิจารณาก็กลับมาคุยกัน

วีระ มุสิกพงศ์ : เรื่องบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ดังนั้นเราต้องพูดจากัน ถ้าตันช่วงนี้ มะรืนนี้ (31 มี.ค.)ก็ได้มาคุยกันอีก

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ระหว่างนี้ที่เราพูดกันหลายเรื่องขอให้กางออกมาทำแผนร่วมกัน รัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร เรื่องคดีความจะทำอย่างไร ผมจะไปบาห์เรนพรุ่งนี้เช้า (30 มี.ค.) วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายนก็ยินดีคุยต่อ ระหว่างนี้ช่วยรักษาบรรยากาศทั้งสองฝ่าย

จตุพร พรหมพันธุ์ : เราต้องยุติกันก่อนตอนนี้ อย่าเพิ่งให้นับกันเลย ขอให้จบลงตรงนี้ เพราะว่าเจรจาสองฝ่ายไม่บรรลุผล จากนี้เป็นเรื่องอนาคต

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : อันนั้นคือตัดสินใจของท่าน (นายจตุพร) เพราะเราต้องรับผิดชอบ 60 ล้านคน หากผมตัดสินใจผมก็ต้องรับผิดชอบคนเสื้อแดงด้วย และท่านต้องรับผิดชอบคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงด้วย ฉะนั้นที่พี่วีระเสนอดีแล้ว แต่ข้อเสนอของคุณจตุพรไม่ตอบสนอง ดังนั้นค่อยนัดหมายมาอีกครั้งแล้วค่อยให้คำตอบอีกได้

จตุพร พรหมพันธุ์ : ถ้าพวกเรามาพบกันต้องเปิดเผยไปมุบมิบพบกันไม่ได้ การเจรจาสองวันต่างคนต่างมีข้อเสนอยังไม่บรรลุ ส่วนวันข้างหน้าว่ากันอีกที ผมขอ 15 วันท่านปฏิเสธ ท่านเสนอ 9 เดือน ผมปฏิเสธ ประเด็นขอให้จบลงวันนี้ก็จบข้อเสนอสองฝ่ายไม่ตอบรับกัน ผมต้องไปถามประชาชนว่าจะเอาอย่างไรต่อ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : เอาเป็นว่าฝ่ายผมยินดีจะนัดหมายต่อไม่มีปัญหา


ที่มา.มติชนออนไลน์
****************************************************

ม.เที่ยงคืน ชี้ซื้อเวลาแก้รธน.-ยุบสภาเพิ่มความตึงเครียดม็อบ

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า การเจรจาของฝ่ายรัฐบาลและแกนนำ นปช. เป็นสัญญาณที่ดีของการแก้ปัญหา เพื่อทำให้การเมืองไทยพัฒนาต่อไปได้ แต่เห็นว่ารัฐบาลควรมีกรอบของการเจรจาและระยะเวลาดำเนินการ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการยุบสภาให้แน่ชัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่กลุ่ม นปช. โดยเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้ง ก่อนยุบสภาภายใน 3 เดือน หากการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ หลังยุบสภาก็จะนำไปสู่จุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขความขัดแย้ง หากรัฐบาลไม่กำหนดกรอบที่ชัดเจนจะยิ่งสร้างความตรึงเครียดแก่กลุ่มผู้ชุมนุม

ทั้งนี้การเจรจาที่มีขึ้นจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากนายอภิสิทธิ์พูดแต่เพียงว่าแก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อยยุบสภา โดยไม่กำหนดกรอบที่ชัดเขน ก็ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความสามารถในการซื้อเวลาเก่งมาก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาและถูกกล่าวถึงคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 และอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เนื่องจากปัจจบันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในชนชั้นนำของประเทศเท่านั้น แต่เป็นสังคมทุกระดับชั้น เนื่องจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอำนาจรัฐ จนเป็นเหตุให้มีการแสดงพลังของกลุ่มมวลชน


ที่มา.เนชั่นทันข่าว
**********************************

กองทัพคนเสื้อแดง

เพื่อไทยปักหลักสู้ "นอกสภา" ฝ่ายนิติบัญญัติ-คณะรัฐมนตรี รุกชิง-ยึดคืนพื้นที่รัฐสภา-ทำเนียบ

ในที่สุด ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารก็ชิงพื้นที่ในการปฏิบัติงานกลับคืนจาก "เสื้อแดง"

โดยใช้เวลากว่า 13 วันของการชุมนุมของ นปช.ที่กินพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะรัตนโกสินทร์

การเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ของ "ชัย ชิดชอบ" เพื่อหาทางลง-ทางออกให้ฝ่ายรัฐบาล- ฝ่ายค้านมาเจรจา-ตั้งกระทู้-ถกเถียงใน ห้องประชุมสภา แทนการตะโกนด่ากันบนท้องถนน

เหนืออื่นใด รัฐบาลต้องการแสดงสัญลักษณ์ทางการบริหาร ว่าสามารถทำให้โครงสร้างอำนาจและการบริหารบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะ "ปกติ"

ด้วยการรุกคืบจัดประชุมคณะรัฐมนตรี และเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากว่างเว้น-กินเวลากว่า 15 วัน

วาระการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านจึงสร้างสีสันทางการเมืองหลากรูป-หลากแบบ

เมื่อรัฐบาลชิงลงมือสั่งการให้ "ทหาร-ตำรวจ" เข้าปฏิบัติการรุกเงียบตั้งแต่ยามวิกาล ก่อนการประชุม 12 ชั่วโมง เพื่อ วางแนวสกัดกั้นไม่ให้ "เสื้อแดง" เข้าใกล้ "ฝ่ายนิติบัญญัติ"

ทำให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องข้ามเครื่องกีดขวางไม่น้อยกว่า 7 ชั้น และเข้าสู่ถนน ที่ถูกสั่งปิดไม่น้อยกว่า 4 สาย รอบนอกสภา กว่าจะเดินเข้าห้องประชุมได้ ต้องผ่าน จุดตรวจไม่น้อยกว่า 3 จุด

ทว่ามีแต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถ "ฝ่าด่าน" ของ "ทหาร-ตำรวจ" เข้าสู่สภาได้

ส่วน ส.ส.เพื่อไทยเกือบทั้งหมด นำโดย นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต้องนำ "รถส่วนตัว" เป็นเครื่องกีดขวาง-ดักทาง-สกัดกั้น ไม่ให้ ส.ส.ที่เหลือเดินทางเข้าสู่สภาได้

การตั้งเวทีส่งเสียงปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยวาทะ-เหตุผล "ส.ส.ไม่มีศักดิ์ศรี หากต้องเข้าประชุมโดยผ่านแถวทหาร-ตำรวจ"

ระหว่างทางการเข้าสู่พิธีกรรม-การประชุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีทั้งเสียง-ภาพการทะเลาะ-โต้เถียงกันของบรรดาผู้ทรงเกียรติหลายคู่-หลายตำแหน่ง

ตั้งแต่ระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึงระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทยกับประธานรัฐสภา

และยังมี "คู่ผสม" ระหว่างทหารที่ปฏิบัติการด้านจิตวิทยา+ส.ส.ประชาธิปัตย์ กับนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ปากดี-เพื่อไทย ที่ตั้งวงปราศรัยย่อยท้าทายใกล้ ๆ ราชสำนัก-เขตพระราชฐานหน้าสวนจิตรลดา

ในที่สุด สัญลักษณ์-พิธีกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรก็บรรลุผล เมื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.พรรคร่วมสามารถเดินทางเข้าประชุมได้จนครบองค์ประชุม

ส่วน ส.ส.เพื่อไทย ที่จัดประชุม "นอกสภา" ก็สลายการชุมนุมจากหน้ารัฐสภา เคลื่อนตัวเข้าสู่เวที นปช.-เสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หากการปะทะครั้งนี้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้ภาพ-ได้ความชอบธรรม

ฝ่ายค้านก็ได้ภาพความพยายามในการ "แสดง-โชว์" การต่อสู้ "นอกสภา" และโฆษณา-ชวนเชื่อว่ากำลัง "ทหาร-ตำรวจ" เข้ายึด-ปิดล้อมรัฐสภาจนไม่สามารถฝ่าด่านเข้าสู่ห้องประชุมได้

ตามที่ฝ่ายค้าน "อ้าง" ว่าการประท้วงไม่เข้าร่วมประชุม เพราะรัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารมาดำเนินการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา

และการพยายามตอบโต้-ทางสัญลักษณ์-ย้อนศรอย่างรู้ทางฝ่ายรัฐบาล ด้วยคำพูดที่ต้องการกระจายเสียงไปทั่ว ทุกสื่อว่า "ทหารไม่มีสิทธินำกำลังเข้ายึดรัฐสภา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามระบอบประชาธิปไตย"

ข้ออ้างของ "ฝ่ายค้าน" ถูก "ฝ่ายความมั่นคง" ตอบโต้ โดยรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

การชี้แจงขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย ระบุต้นเรื่องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้เลขาธิการสำนักงานทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เพื่อหามาตรการป้องกันความปลอดภัยในการประชุมสภาในระหว่างที่มีการชุมนุม

พร้อมกันนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้โชว์-สัญลักษณ์ของความสำเร็จในพิธีกรรม การประชุม ด้วยการโหวต-ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ, ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทราวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ในท้องที่เขตบางเขน เขตสายไหม และเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

และร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ถูกโหวตโดยฝ่ายรัฐบาล ผ่านฉลุย ไร้เงาฝ่ายค้าน

แผนขั้นต่อไปของฝ่ายความมั่นคงที่ผนึกกันแนบแน่นระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ทหาร-กองทัพ คือการรุก-บุกเข้ายึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลคืนกลับมาเป็นฐานบัญชาการของฝ่ายบริหาร

การจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่าง "ปกติ" ในอีกไม่นานเกินควร จึงเป็น เป้าหมายต่อไปของฝ่ายรัฐบาล

1 ใน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ส.ส.ควรทำหน้าที่ในสภา โดยเฉพาะวันพุธ-พฤหัสฯ ต้องเข้าประชุมสภาและพูดในสภา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

"ผมเห็นด้วยกับมาตรการรักษาความปลอดภัย รับมือการชุมนุมรอบสภา แต่ที่ไม่เห็นด้วย คือวิธีการนำกำลังและ สิ่งกีดขวางมาวางรอบรัฐสภา เพราะรู้สึกว่าทำเกินไป เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ เหมือนประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่อยู่ในภาวะสงคราม หรือกำลังรัฐประหาร" ทายาท-การเมืองของ "สมศักดิ์" กล่าว

เสียงโจษจัน-เล่าขาน การไม่เข้าร่วมสังฆกรรม-พิธีกรรม ที่แสดงสัญลักษณ์ ของฝ่ายนิติบัญญัติ จาก "ไชยันต์ ไชยพร" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า

"พรรคเพื่อไทยไม่น่าจะตีความไปถึงเรื่องศักดิ์ศรี เพราะถ้าคิดเรื่องศักดิ์ศรี ก็ต้องตอบให้ได้ว่า หากผู้ชุมนุมเดินทางมาล้อมรัฐสภาแล้วจะทำอย่างไร รวมทั้งหากลไกรัฐสภาล้มเหลว ส.ส.ไม่ทำหน้าที่ในสภา กลับมีแต่กลไกการเคลื่อนไหวบน ท้องถนน ก็จะทำให้สถานการณ์แรงขึ้น จนกระทั่งอาจเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เช่น ในปี 2549 ที่เป็นผลจากการกดดันนอกสภาอย่างมาก"

ส่วน นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการ จากสำนักเดียวกัน ค่ายรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปปรากฏตัว "แดง" เห็นต่าง "ไม่ใช่การนำทหาร มาล้อมรัฐสภา แต่เป็นเรื่องความชอบธรรมในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะเหมือนเป็นการประกาศศัตรูภายในประเทศ"

"พวก ส.ส.ที่ไม่เข้าประชุมสภานั้น แม้จะเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่แสดงออกมา เช่นนั้น แต่ตัว ส.ส. ก็ต้องตอบประชาชน ให้ได้ ว่าหน้าที่ของเขาอยู่ตรงไหน เพราะการมาดูแลประชาชนของตัวเองบนถนนนั้น ทำได้อยู่แล้ว แต่หน้าที่ในสภา ส.ส.ก็ต้องตรวจสอบรัฐบาลและผลักดันกลไกรัฐสภาให้ทำงานได้ หรือหากไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ควรจะเข้าไปตั้งกระทู้ในสภา"

ความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ "ข้ามกองเลือด" เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรซ้ำรอยกับ สมัย "7 ตุลา" ถูกนำไปตีความ-พลิกประเด็น-ยกระดับการต่อสู้ของฝ่ายค้านและฝ่ายเสื้อแดง

การประชุมเพื่อแสดงรูปแบบ-สัญลักษณ์โครงสร้างอำนาจของประเทศเพียงครึ่งวัน โหวตผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ถูกพรรคเพื่อไทยนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ และเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายริมสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล จากนี้ไปไม่จำกัดสถานที่-เวลา-กาละ-เทศะเฉพาะพื้นที่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
**************************************************

“ทักษิณ”ซัด”มาร์ค” ไร้จริงใจอ้างตั้งธงไม่ยุบ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วิดีโอลิงค์มายังเวทีคนเสื้อแดงว่า ตนอยู่ต่างประเทศ เห็นภาพการเจรจาแล้วก็คงนานาจิตตัง ตนได้รับโทรศัพท์มากมีความคิดหลากหลาย กลุ่มฮาร์ดคอร์ไม่อยากให้คุยอยากให้ลุยไปเลย บางคนร้องไห้ตนอยากให้ใจเย็น ๆ เรื่องบ้านเมืองเรื่องใหญ่ การออกทีวีเจรจาครั้งนี้เป็นผลกำไร เพราะการชุมนุมไม่เคยออกทีวีปกติ ไม่เคยออกข่าว ไม่เคยถ่ายทอดเพราะถูกอำมาตย์ครอบ

ขณะที่ทุกคนอธิบายความเป็นมาในการออกมาเรียกร้องให้ยุบสภา รัฐบาลขาดความชอบธรรมและให้ประเทศชาติกลับไปสู่ความปรองดอง อภิสิทธิ์พูดเก่งจริงแต่มีมุมหนึ่งที่เขารู้ว่าขาดความจริงใจ หน้าตาน้ำเสียงขาดความจริงใจ แต่ที่ไม่ได้เอามาก็คือธงที่ไม่ได้เอามาปักว่าไม่ยุบสภา ฟังชัดว่าตั้งธงว่าไม่ยุบสภา แม้พยายามรำวงแต่ก็แน่ชัดว่าไม่มีการยุบสภา ตนไม่อยากประเทศไทยหากมีอำมาตย์เช่นนี้กลับไปก็ถูกฆ่าทิ้ง แต่ตนพร้อมกลับไปในฐานะอะไรก็ได้

รัฐบาลขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้นอำมาตย์อยู่บ้านคนเดียวถนัดเรื่องปิด ประตูตี แมวไม่ว่าจะทำอะไรก็ใช้ความคิดแบบประตูตีแมว พวกเราต้องมอบความไว้ใจให้แกนนำเสื้อแดงไปทำงานไม่ต้องห่วงเราสามัคคีกันไว้ รวมพลังเป็นหนึ่งสู้ต่อไป อย่าหวั่นไหว อย่ายอมแพ้ เราจะสู่ด้วยกัน

การยุบสภาเป็นการเริ่มต้นความปรองดอง สานฉันท์ในชาติเพราะเราเริ่มต้นผิด รัฐบาลนี้มีอภิสิทธิ์ทุกอย่างเข้ามาโดยมีทหารและอำมาตย์ คุ้มครอง มีองค์กรอิสระทีเข้าข้างลำเอียง และคงเห็นการแทรกแซงของอำมาตย์ อภิสิทธิ์ก็ไม่เคารพกฎหมายไม่ว่าจะเรื่องการหนีกม. หรือเอาผิดพันธมิตร วันนี้เราต้องเริ่มต้นใหม่

วันนี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัย มธ. อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นตรงกับเสื้อแดงให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่และทำหนังสือออกมา ตนเป็นหนี้บุญคุณเสื้อแดงผมจะกลับไปรับใช้พี่น้องในฐานะอะไรก็ได้ขออย่าได้ กังวลเพราะแกนนำเสื้อแดงมีกลไกในการคิดร่วมกัน เขาจะคิดยาวและทำอย่างไรเพื่อให้มีสังคมเพื่อลูกหลาน วันนี้ ณัฐวุฒิจับเด็กก่อกวนที่ส่งมาอาละวาดและรับสารภาพว่าใช้มาเผาอาหารพวกเรา ใจมันดำจริง ๆ ขอให้มันอดอยากเหมือนกัน มีแผนประทุษกรรม เมื่อเดือน เม.ย.เป็นอย่างไร ก็ให้ดู นอกจากนี้มีโรงงานบอกว่ามีการซื้อเสื้อแดง นับหลายหมื่นตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า พรุ่งนี้จะมีการเจรจาอีกครั้งหลังนายกฯกลับจากบรูไนก็คงไปบอกกับสุลต่านว่า อย่าต้อนรับตนเพราะตนไปบ่อยอุตส่าห์ปลีกเวลาไป ตนไปไหนก็พยายามตามไปจนเขารำคาญหมดแล้ว

ที่มา.เดลินิวส์ออนไลน์
*************************************************

เจรจารัฐบาล-แกนนำเสื้อแดงยังไร้ข้อสรุป-คุยต่อพรุ่งนี้

กรุงเทพฯ 28 มี.ค.- ที่สถาบันพระปกเกล้า อาคารศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 16.30 น. การเจรจาระหว่างรัฐบาล นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และทั้งสองฝ่ายได้จับมือก่อนที่จะเริ่มเจรจา สำหรับบรรยากาศการเจรจาทั้งสองฝ่ายยังคงยืนตามข้อเสนอเดิม เสื้อแดงเรียกร้องยุบสภา ขณะที่รัฐบาลเห็นว่ายังไม่ใช่ทางออกที่ดี ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ประนีประนอม

“วีระ” เปิดฉากเสนอยุบสภาและค่อยเจรจาแก้ปัญหาร่วมกัน

นายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นฝ่ายเริ่มเจรจาก่อน ว่าจะเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจ ขณะนี้ปัญหาหลายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ยังขัดข้องอยู่คือรัฐธรรมนูญที่ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ เพราะขณะนี้ยังไม่ชัดว่าจะมีการแก้ไขหรือทำประชามติอย่างไร และนายกรัฐมนตรีมาทำงานในช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหามาก แต่ไม่อาจฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จึงคิดว่าการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เป็นทางออกที่ดี และการมาเจรจาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน พูดตรง ๆ หากใครชนะก็ไม่มีประโยชน์ถ้ายังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถ้าร่วมมือกันประเทศก็จะชนะ และอยากให้เริ่มต้นทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นปัญหาแทงใจคน ว่ามีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีหลายองค์กรในรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ดังนั้น อย่ารอให้ครบเทอมแล้วมีการแก้ไข

นายกฯ ย้ำไม่เคยปฏิเสธข้อเสนอยุบสภา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่าส่วนตัวอยากให้ประเทศชนะ ไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตนยืนยันมาตลอด ว่าฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างไม่ใช่ศัตรู เพียงแต่มีความแตกต่างทางการเมือง และมีการแสดงออกที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อบริหารสถานการณ์ไม่ให้มีเหตุที่ทำให้ ใครเสียใจภายหลัง ตนยืนยันไม่เคยปฏิเสธข้อเสนอเรื่องยุบสภา แต่ยังมีเหตุผลหลายอย่างที่ความเห็นไม่ตรงกัน และเมื่อยุบสภาแล้ว ปัญหาจะจบจริงหรือไม่

“ที่ผมมาเจรจาในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมือง จึงต้องตระหนักมากกว่าการเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งก่อนจะมาพูดคุยได้ใช้เวลาสั้น ๆ หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ทุกพรรคก็สนับสนุนกระบวนการพูดคุย แต่เราฟังความเห็นจากทุกฝ่ายว่าการยุบสภา จะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ต้องดูพื้นฐานคนทั้งประเทศ วันนี้คนกลุ่มเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มคนผูกขาด ยังมีหลายคนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนใครเลย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดก็ได้ ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ดังนั้นจึงไม่สามารถตัดสินใจแทนใครได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

“อภิสิทธิ์” ระบุการเลือกตั้งยังไม่ใช่คำตอบขณะนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามีหลายคนที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เคยได้คำตอบเพราะมีหลายประเด็นที่มีการพูด และไม่ได้ข้อสรุป และยังมีข้อสงสัยว่าถ้าหากมีการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการแก้เรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ อย่างไรก็ตามสรุปว่าการเลือกตั้งคงไม่ใช่คำตอบที่ตรงนัก เพราะหากมีการหาเสียง แล้วมีคนนำคลิปเสียงที่อ้างว่าตนสั่งฆ่าประชาชนไปใช้หาเสียง เกิดเป็นเรื่องร้องเรียน และถ้าคนนั้นเป็นกรรมการบริหารพรรค แล้วถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรคอีก ปัญหาต่าง ๆ จะวนกลับมาอีกหรือไม่ ดังนั้นต้องมีการตกลงกติกาให้ชัดก่อน

“จตุพร” ย้ำให้ยุบสภา อย่ากลัวปัญหาจะวนกลับมาที่เดิม

นายจตุพร กล่าวว่ารัฐสภาชุดนี้เชื่อว่าไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ถ้าวันนี้นายกรัฐมนตรี หาทางออกด้วยการยุบสภา และทุกฝ่ายมาลงสัตยาบัน ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะไม่มีใครต่อต้าน ถ้ารัฐบาลมั่นใจ ว่าประชาชน ยอมรับแม้เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ากลับมาด้วยความสง่างาม ถ้านายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าได้ 280 เสียงเหมือนที่เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน ส่วนเรื่องคลิปเสียงที่นายกรัฐมนตรี กล่าวอ้างว่าจะเป็นปัญหาวนกลับมาที่เดิม เชื่อว่าเรื่องทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการ ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเหตุให้ยุบพรรคก็ว่ากันไป ถ้านายกรัฐมนตรีดำเนินการตามนี้ ต่างฝ่ายก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ใช้ชีวิตในค่ายทหาร แต่ทหารเข้าไปใช้ชีวิตในทำเนียบรัฐบาล

นายชำนิ กล่าวว่ากรณีรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย คงไม่ใช่ปัญหา เพราะตน ได้รับทราบข้อมูลจากการศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พบว่ามีปัญหาที่เกิดจากการใช้น้อยมาก แต่มีเรื่องของความรู้สึก ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากไหน ถ้ายุบสภาแล้ว ได้คำตอบที่ไม่สอดคล้องกับความรู้สึกก็คงแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
นพ.เหวง กล่าวว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือโครงสร้างของประเทศ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จุดที่ทำให้แตกร้าวคือประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐอำมาตย์ หากยุบสภาแล้ว สิ่งที่จะได้ คือยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่แตกร้าว

นายกฯ เสนอจัดทำโรดแม็ปให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าการยุบสภาไม่สามารถทำให้ประชาชน เปลี่ยนแปลงอารมณ์ที่ตกค้างจากความขัดแย้ง จึงควรให้เวลากับการคลายความรู้สึก แล้วหันมาช่วยกันทำกติกาให้ดีขึ้น ดังนั้นทางออกจึงไม่ควรมีทางเลือกเดียวคือการยุบสภา แต่ควรจะสร้างโรดแม็ป เพื่อทำให้บ้านเมืองและความรู้สึกของประชาชนกลับคืนสู่ความเป็นปกติ หากใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการแก้ปัญหาบ้านเมือง จากนั้นจึงค่อยคืนอำนาจให้ประชาชนก็ได้ ตนยังเชื่อว่าการยุบสภาเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ทางออกของสังคม และขอย้ำว่าตนมีจุดยืนที่ชัดเจน ที่จะรับฟังข้อเรียกร้องที่มีเหตุผล และจะให้เกียรติกับทุกฝ่าย

นายจตุพร กล่าวว่าสิ่งที่ยืนยันคือการยุบสภา เพราะการอยู่ของนายกรัฐมนตรีขณะนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ควรให้เจ้าของประเทศช่วยกันตัดสินใจ ไม่ควรตัดโอกาสสังคม และได้สอบถามนายกรัฐมนตรีว่ามีแนวทางอย่างไร

“อภิสิทธิ์” เสนอกรอบเวลาเพื่อให้แก้ปัญหาได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่าจะอยู่จนครบวาระ แต่บอกแล้วว่า ถ้าหากใครมีข้อเสนอที่มีเหตุผลก็ต้องรับฟัง ที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความพยายาม สรุปออกมาได้ 6 ประเด็นแต่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ดังนั้นหากเดินหน้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาของประเทศ ต้องค่อย ๆ คุยกัน ซึ่งตนอยากเสนอว่าให้กำหนดกรอบเวลา และมีเหตุมีผล ให้เชื่อได้ ว่าจะสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งคนเสื้อแดง อาจจะกลับไปหารือกับผู้ชุมนุมก่อนก็ได้

นายวีระ กล่าวว่าระหว่างทางเลือกว่าจะยุบสภา และทำกติกาใหม่ หรือกติกาแล้วค่อยยุบสภา ตนเห็นว่ามีความแตกต่างกัน คนเสื้อแดงเคยรอกติกาใหม่ แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรยุบสภาก่อน ค่อยทำกติกาใหม่ภายหลัง นายกรัฐมนตรีควรพูดให้ชัดว่าเลือกแบบไหน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามเลือกตั้งแล้วทำกติกาใหม่ แต่ก็ทำไม่ได้ ในวันนี้จึงควรกำหนดตารางเวลาให้ชัดเจน โดยการแก้ไขปัญหาหรือทำกติกา จากนั้นค่อยมาทำประชามติก็ได้

“จตุพร” ชี้กติกาใหม่ทำได้ยาก เสนอไปตายดาบหน้า

นายจตุพร กล่าวว่า เรื่องการทำกติกาใหม่เป็นเรื่องยาก คนเสื้อแดงเห็นว่าสามารถไปตายเอาดาบหน้าได้ ขณะนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่จะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าจะได้เสียงข้างมาก ก็ควรยุบสภา และไปเลือกตั้งใหม่ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ตนเห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องตกผลึกว่าจะตัดสินใจอย่างไร วันนี้คงคุยกันได้ยาก เพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันเมื่อไหร่ค่อยมาคุยกันใหม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยกังวลว่ายุบสภาแล้วใครจะแพ้หรือชนะ อยู่ที่ว่าแม้มีการเลือกตั้งใหม่ คนก็ยังกลัว ดังนั้นควรมาแก้ปัญหา ถ้าทุกฝ่ายจริงใจปัญหาก็สงบลงได้ “ผมไม่มีสิทธิ์ให้สังคมไปตายดาบหน้า แต่ต้องหาคำตอบให้สังคม”

แต่นายจตุพร ยืนกรานให้รัฐบาลยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ เพราะเมื่อยุบสภาเมื่อถึงขั้นตอนการเลือกตั้งทุกฝ่ายจะกลับไปอยู่ในจุดที่ เท่าเทียมกันเพื่อให้ประชาชนตัดสิน

และเมื่อเวลา 19.00 น. ซึ่งการเจรจาผ่านไป 2.30 ชม. นายวีระ ขอหยุดพักการเจรจาเพื่อทำภารกิจส่วนตัว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำคนเสื้อแดงได้ใช้เวลาประมาณ 5 นาที เพื่อหารือเป็นการส่วนตัวในห้องรับรองฝั่งตรงข้ามกับห้องเจรจา และการเจรจาเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลา 19.15 น. และคุยต่ออีกประมาณไม่ถึง 20 นาทีก่อนจะจบการเจรจาในวันนี้เมื่อเวลาประมาณ 19.25 น. และนัดคุยต่อพรุ่งนี้ .


ที่มา.สำนักข่าวไทย

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

"อภิวันท์"ซัด"ป๋า"อย่าคิดว่ารักชาติมากกว่าคนอื่น ชี้ทุกคนรักสถาบันเหมือนกัน เมินถูกยื่นถอดรองปธ.สภาฯ


เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาคนที่ 2 และส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เตรียมล่าชื่อถอดถอนจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ หลังขึ้นเวทีคนเสื้อแดงว่า จากการตรวจสอบย้อนหลัง พบว่าตนไม่ได้พูดถ้อยคำหยาบคายโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แค่พูดว่าว่านายกฯหลีกเหลี่ยงการเกณฑ์ทหารและยืนยันกับคนเสื้อแดงว่าเป็นรองประธานสภาฯ ที่ขึ้นเวทีคนเสื้อแดงเพื่อปกป้องเกียรติของรัฐสภา เพราะที่สภาฯมีกองกำลังทหารจำนวนมากปิดล้อมอยู่ อีกทั้งยังเข้าไปกินนอนในสภาฯ ซึ่งถือว่าเป็นเป็นการละเมิดฝ่ายนิติบัญญัติ


"ผมในฐานะที่เป็นศิษย์จปร.เป็นรุ่นน้องพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ท่านร่ำเรียนมาอย่างไร ผมก็เรียนมาแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งท่านคงคิดว่าท่านรักชาติมากกว่าคนอื่น แต่ผมไม่เชื่อ เพราะทุกคนรักชาติและสถาบันเหมือนกัน" รองประธานสภาฯ กล่าว

ที่มา.มติชนออนไลน์
*************************************************

บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มนปช ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ในช่วงค่ำเป็นไปอย่างคึกคักขณะที่บนเวทีปราศัย เเกนนำได้ปลุกระดมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปสมทบที่ทำเน

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ในช่วงค่ำเป็นไปอย่างคึกคัก ขณะที่บนเวทีปราศัย เเกนนำได้ปลุกระดมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปสมทบที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันให้ทหารออกจากทำเนียบ

บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ในช่วงหัวค่ำเป็นไปด้วยความคึกคัก ภายหลังที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางกลับมาที่บริเวณเวทีปราศัย โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ เเกนนำกล่ม นปช.ได้ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะ หลังจากที่ได้เดินทางไปกดดันให้มีการถอนกำลังทหารที่ประจำการอยู่ในสถานที่สำคัญ นอกจากนี้ยังได้ขอฉันทามติจากผู้ชุมนุม เดินทางไปกดดันให้มีการถอนกำลังทหารที่ดูเเลความเรียบร้อยออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เเละนายพายัพ ปั้นเกตุ เเกนนำกลุ่ม นปช.ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากยังคงปักหลักฟังการปราศัยอยู่หน้าเวทีการปราศัย

ส่วนบนเวทีการปราศัยเเกนนำกลุ่ม นปช.ได้ประกาศระดมกลุ่มผู้ชุมนุม ให้เดินทางไปสมทบที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะ หลังจากทราบข่าวว่า ทหารไม่ยอมถอนกำลังออก โดยเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เเกนนำกลุ่มนปช.ได้ขึ้นเวทีปราศัย ระดมผู้ชุมนุมทั้งชายเเละหญิง ขึ้นรถเเทร็กเตอร์เพื่อไปนำสิ่งกีดขวางออกจากบริเวณโดยรอบ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการกดดันให้ถอนกำลังทหารออก ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ขึ้นเวทีปราศัยไม่ให้มีการไปสมทบที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้ความมั่นใจผู้ชุมนุมว่า จะจบลงด้วยความสงบเเละสันติ

ผู้สื่อข่าว : ลีลีญา อุปพงค์
rewriter : คณิต จินดาวรรณ
***********************************************

“วีระ”จี้มาร์คอย่าบิดพลิ้วพบแดง หวังเรื่องจบพรุ่งนี้

นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มนปช.แดงทั้งแผ่นดิน คาดหวังว่า พรุ่งนี้ (27 มี.ค.) จะเป็นจุดสิ้นสุดของความวุ่นวายทางการเมือง หลังจากคนเสื้อแดงเตรียมจะรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ เดินขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่องยุบสภา ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวของนปช.

นายวีระ กล่าวว่า คนเสื้อแดงนัดรวมพลพรุ่งนี้ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ คาดว่าใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยเมื่อถึงกรมทหารราบที่ 11 ประมาณ 10.30 – 11.00 น. จะตั้งตัวแทนไปเจรจา หวังว่า นายอภิสิทธิ์จะไม่บิดพลิ้ว ทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ซึ่งหากนปช.ไม่ได้เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ก็ควรลาออกจากตำแหน่ง ไม่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย


ที่มา.โลกวันนี้ ออนไลน์

วันเดียวแก๊งป่วนเมืองวาง-ยิงบึ้ม 4 จุด "ช่อง11-ททบ. 5" โดนระเบิดถล่ม ทหาร -รปภ.-ปชช.บาดเจ็บ

วันเดียวยิง-ปาบึ้ม 4 จุดในกรุงเทพ-เชียงใหม่ ถล่มช่อง11 ททบ.5 ช่วงค่ำ กรมศุลฯโดนแต่เช้ามืด ธนาคารกรุงเทพ สาขาดอกคำใต้เจอทั้งเอ็ม 79 อาก้าเชื่อทุกจุดโยงกัน ทหาร รภป.เจ็บ ชาวบ้านโดนลูกหลงด้วย


บึ้มอีกช่อง 11 ทหาร-รปภ.บาดเจ็บแรงระเบิกเกิดหลุมลึก

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 27 มีนาคม เกิดเหตุระเบิดภายในสวนหย่อมหน้าสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หรือเอ็นบีที ถ.วิภาวดีรังสิต แรงระเบิดทำให้สนามหญ้าเป็นหลุมลึกแรงระเบิดทำให้ทหารที่เข้าเวรรักษาการณ์ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของช่อง 11 ได้รับบาดเจ็บอีก 1 ราย ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นระเบิดชนิดใด

คนร้ายขว้างระเบิดใส่ช่อง 5 ทหาร-ปชช.บาดเจ็บ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 19.00น. มีรายงานข่าวแจ้งว่าเกิดเหตุคนร้ายพยายามขว้างระเบิดไม่ทราบชนิดเข้าไปภายใน สถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 สนามเป้า ถนนพหลโยธิน เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน เป็นพลทหารเจ็บ 2 นาย และประชาชนอีก 2 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า คนร้าย 2 คนขี่จักรยานยนต์ คนแรกสวมหมวกกันน็อคสีขาว คนซ้อนท้ายสวมหมวกกันน็อคสีดำ ใส่เสื้อแจ๊คเก็ตสีดำทั้งคู่ โดยคนซ้อนท้ายขว้างระเบิดเข้าใส่ ททบ.5 แต่ติดตาข่ายที่ขึงไว้ด้านหน้าทำให้ระเบิดสะท้อนกลับมาตกที่ฟุธบาทที่เกิดเหตุ พยานในที่เกิดเกิดเหตุระบุว่ามีการขว้างระเบิดเข้ามาในเวลา 18.50 น.

ทราบชื่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บประกอบด้วย พลทหารชัยสิทธิ์ ชาวโพธิเอน, พลทหารนฤพงษ์ อุเทนสุด ทหารสังกัด พล.ม.2 กำลังเข้าเวรยามที่รั้วรอบนอก ททบ.5 นำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฏ โดยมีพลเรือน 2 คนคือ นายวีระวัฒน์ สว่างทวีวงศ์ และนายวันชัย ฉัตรชัยชนวัฒน์ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย นำตัวส่งโรงพยาบาลพญาไท 2

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอ.รส.กล่าว เมื่อเวลา 20.30 น. ว่า ได้รับรายงานในเบื้องต้น ทราบว่ามีรถปิคอัพที่จะมุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้ขว้างระเบิดเข้ามาใน ททบ.5 แต่ติดตาข่าย ขณะนี้ยังตรวจสอบไม่ได้ระเบิดชนิดไหน เพราะชิ้นส่วนแตกกระจาย คิดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ เพราะ ททบ.5 เป็นสัญลักษณ์ของส่วนราชการ และวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมเน้นกดดันทหารเป็นหลัก จึงไม่แน่ใจว่าการที่กลุ่มผู้ชุมนุมเน้นกดดันทหาร เกี่ยวพันกับกรณีนี้หรือไม่ ถือเป็นหน้าที่ตำรวจที่ต้องสืบสวนสอบสวนต่อไป

"สุเทพ"โต้ข่าวยิงระเบิดถล่มราบ 11

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.ศอ.รส.)ให้สัมภาษณ์ ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร. 11รอ.)สถานที่ตั้งศอ.รส. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นว่า ได้ระมัดระวังเต็มที่ เมื่อคืนวันที่ 26 มีนาคม ผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร แม้แต่ตนก็พยายามที่จะไปให้กำลังใจบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านตรวจสกัด ตามที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และทุกคนทุกหน่วยตื่นตัว ทำให้โอกาสที่คนร้ายจะมาก่อเหตุลดน้อยลงมาก "แต่ยังมีพลาดจนได้ ที่เกิดเหตุคนร้ายลอบปาระเบิด เค 75 ที่อาคาร 120 กรมศุลลากร ตรงนั้นเราไม่คิดว่าจะเป็นจุดที่จะเป็นไปได้ เดิมคิดว่าจะเป็นที่อื่น ๆ ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพราะเป้าหมายการก่อเหตุวินาศกรรมนั้น เดิมนึกว่าเป็นสถานที่ราชการหากเขาทำได้แล้วจะทำให้รัฐบาลเสียหน้า หรือทำให้ ตำรวจ ทหารรู้สึกโกรธ เป็นการยั่วยุให้มีอารมณ์ เราได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเราอยู่ตลอด"นายสุเทพกล่าว

ส่วนเหตุ ระเบิดตามสถานที่ต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า "ขณะนี้เป็นอย่างนั้น ยกเว้นกรณีที่ใช้ปืนอาก้ายิงใส่บ้านคนที่ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิทจะไม่เกี่ยวข้อง แต่การสอบสวนยังไมได้ระบุถึงตัวบุคคล ต้องให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนไป"

รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงกล่าวว่า เกิดระเบิดที่กรมศุลฯนั้น ได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกไว้แล้ว ตอนนี้พยายามที่จะถอดดูอยู่ เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่คงต้องใช้เวลาอีกนิดหน่อย

นายสุเทพยังกล่าวตอบคำถาม ถึงกระแสข่าว มีการยิงอาร์พีจีและเอ็ม 79 เข้ามาในพื้นที่ ร.11 รอ. เมื่อคืนวันที่ 26 มีนาคมว่า "ไม่มี เขาแกล้งปล่อยข่าวกันไป ข้อเท็จจริงคือเมื่อช่วงใกล้ 21.00 น. มีการจุดพลุที่วัดลาดปลาเค้าซึ่งห่างจาก ร. 11 รอ. ไปประมาณ 3 กิโลเมตร คนที่อยู่ใกล้จะเห็นพลุชัดเจน แต่ปล่อยข่าวกันอ้างว่าเราปิดข่าว "

"กษิต"บอกมีการยิงระเบิดอยู่ตูมๆ

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวตอบคำถาม เรื่องการก่อเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทย ต่างประเทศมีคำถามถึงเรื่องนี้หรือไม่ว่า " รู้สึกจะมี คำถามที่มีเข้ามายังรัฐบาล ก็มีอยู่ 3-4 ประเด็น มีคำถาม ไม่ว่าจะเป็น สังคมประชาธิปไตย การประท้วงก็ต้องอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ไม่มีใครทั้งในและต่างประเทศอยากให้เกิดความรุนแรง ซึ่งเราได้เห็นความรุนแรงมาแล้ว มีการยิงระเบิดตูมๆ กันอยู่"

โฆษกบช.น.ไม่ฟันธงบึ้ม"กรมศุลฯ"เกี่ยวการเมือง

พล.ต.ต. ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีระเบิดหน้าอาคาร 120 ปี กรมศุลกากร ว่า จากเหตุระเบิดหลายครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มีทั้งประเด็นการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง และความขัดแย้งส่วนตัว ซึ่งในบริเวณกรมศุลกากร ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นประเด็นใด เพราะกรมศุลกากร ไม่ใช่สัญลักษณ์ทางการเมือง จึงต้องพิจารณาประเด็นความขัดแย้งอื่นร่วมกันด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนหาพยานหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เบื้องต้น พบว่า กลางดึกที่ผ่านมา คนร้ายขับจักรยานยนต์มาจากแยกกรมศุลกากร จอดห่างริมรั้วติดถนนใหญ่ประมาณ 30 เมตร จากนั้นขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงชนิดขว้าง K-75 ใส่ตัวอาคาร จากนั้นขับรถจักรยานยนต์หนีไปทางท่าเรือคลองเตย

ยิงถล่มธนาคารกรุงเทพ สาขา อ.ดอกคำใต้

ขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่งนั้น เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.ต.จรินทร์ อินทร์สุวรรณโณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด(ผบก.ภ.จว.)พะเยา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.สว่างวิทย์ สุทธหลวง ผกก.สภ.ดอกคำใต้ เกิดเหตุยิงถล่มธนาคารกรุงเทพ สาขา อ.ดอกคำใต้ ตั้งอยู่ติดถนนสายดอกคำใต้-พะเยา ใกล้กับตลาดในเขตชุมชน ภายในเขตเทศบาลเมืองดอกคำใต้ ห่างจาก สภ.ดอกคำใต้ ประมาณ 100 เมตร เมื่อออกไปตรวจสอบพบบริเวณสัญญลักษณ์ตราครุฑของธนาคาร บริเวณป้ายและกระจกหน้าธนาคาร ถูกยิงด้วยอาวุธชนิดเอ็ม 79 จำนวน 2 นัด เศษกระจก เศษปูน ตกกระเด็นใส่บ้านเรือนประชาชนในระแวกใกล้เคียง เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานได้เบื้องต้น ประกอบด้วย ปลอกกระสุนปืนอาก้า จำนวน 20 ปลอก เอ็ม 15 อีก10 กว่าปลอก

พล.ต.ต.จรินทร์กล่าวว่า นายมนัส ปินใจ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสาขา อ.ดอกคำใต้ ให้การว่าทางธนาคารติดกล้องวงจรปิดเฉพาะภายในธนาคารเท่านั้น ไม่ได้ติดตั้งด้านนอก เพราะคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ จากการสอบสวนชาวบ้านย่านใหล้เคียงระบุว่า เหตุเกิดเวลาประมาณ 02.15น.วันเดียวกันนี้ ชาวบ้านได้ยินเสียงคล้ายประทัดยักษ์ พอเปิดหน้าต่างบ้านออกไปดู เห็นรถปิคอัพแคปสีครีม ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เป็นพาหนะนำคนร้ายหลบหนีไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อม อ.จุน อ.ปง และอ.เชียงม่วน


"ได้ตั้งทีมงานออกสืบสวนอย่างเร่งด่วนแล้ว เพราะจากหลักฐานในที่เกิดเหตุ พอจะจับกุมผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ เบื้องต้นตั้งประเด็นสาเหตุน่าจะมาจากการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง เพราะพะเยาอยู่ในพื้นที่สีแดง"พล.ต.ต.จรินทร์กล่าว

บึ้มกรมศุลฯแต่เช้ามืด กระจกแตกรถตู้เสียหาย

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 03.50 น. วันที่ 27 มีนาคม ร.ต.ท.อำนาจ ศรีสุวรรณโน ร้อยเวรสอบสวน สน.ท่าเรือ ได้รับแจ้งเหตุระเบิดบริเวณด้านหน้าอาคาร 120 ปี กรมศุลกากร ถนนสุนทรโกษา แขวงและเขตคลองเตย กทม. จึงรุดไปตรวจสอบพร้อม พล.ต.ต.บุญส่ง พานิชอัตรา รองผบช.น. พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง ผบก.น.5 พ.ต.อ.สมบัติ มิลินทจินดา ผกก.สส.บก.น.5 พ.ต.อ.ธนิต เหรียญเจริญ ผกก.สน.ท่าเรือ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด บก.ตปพ.บช.น. และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ที่เกิดเหตุเป็นสวนหย่อมด้านหน้าตัวอาคาร อยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 30 เมตร พบหลุมเป็นวงกว้าง 10 ซม. ลึก 5 ซม. ระแนงอลูมิเนียมบนเพดานพังถล่มลงมา กระจกของตัวอาคารแตก 1 บาน และเกิดรอยร้าวอีก 4 บาน โคมไฟส่องส่วางบนฟุตปาธแตก 1 ดวง และยังมีรถตู้ ยี่ห้อนิสสัน สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน ฮค 5990 กทม. ของกรมศุลกากร ถูกแรงระเบิดกระจกด้านหลังแตกได้รับความเสียหายเล็กน้อย นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบกระเดื่องระเบิดตกอยู่ที่พื้นถนนหน้าอาคารห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร

พล.ต.ต.บุญส่ง เปิดเผยว่า สอบสวนทราบว่าช่วงที่เกิดเหตุมี รปภ.ของกรมศุลกากร ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดจากนั้นจึงรีบวิ่งมาดู เมื่อพบว่าเป็นระเบิดก็รีบโทรแจ้งตำรวจให้มาตรวจสอบ ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่าบริเวณด้านหน้าอาคารดังกล่าวมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเอาไว้ ส่วนระเบิดที่ใช้ก่อเหตุนั้นจากการตรวจสอบกระเดื่องและสะเก็ดระเบิดพบว่า เป็นระเบิดลูกเกลี้ยงชนิดขว้าง K-75 ซึ่งตนได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนนำภาพจากกล้องวงจรปิดไปตรวจสอบเพื่อหาเบาะแสของคนร้าย เบื้องต้นคาดว่าคนร้ายน่าจะขว้างระเบิดมาจากริมรั้วที่ติดกับถนนใหญ่ เพราะเป็นมุมที่โล่งและมีระยะห่างจากตัวอาคารไม่มากนัก ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการสืบสวน ส่วนจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายในขณะนี้หรือไม่นั้น ไม่ขอออกความเห็น อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มกำลังในการรักษาความปลอดภัยบริเวรโดยรอบกรมศุลกากร พร้อมทั้งเร่งสอบปากคำพยานและรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อติดตามตัวคนร้ายรายนี้มาดำเนินคดีต่อไป


ที่มา.มติชนออนไลน์
***********************************************