--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สินเชื่อบุคคล-รถคันแรก ดันหนี้ครัวเรือน !!?

คลังยอมรับหนี้ครัวเรือนพุ่ง จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ระบุหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้ อยู่ที่ 0.82 เท่า แต่ยังไม่พบสัญญาณหนี้เสีย รถยนต์คันแรก

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ทำการประเมินสถานะหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน โดยดูจากฐานข้อมูลทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนขยายตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดี และปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า

"เมื่อพิจารณาข้อมูลสถานะการเงิน ยังไม่พบสัญญาณของปัญหาหนี้เสียจากหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน"

ทั้งนี้ ธปท.แสดงความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเป็นประเด็นที่นำมาโยงกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยเกรงว่าหากลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้สินเชื่อภาคครัวเรือนปรับสูงขึ้นไปอีก และกำลังวิตกว่าหากเศรษฐกิจมีปัญหาจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

นายสมชัยกล่าวว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างรายได้ทั้งประเทศและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลพบว่า รายได้ทั้งประเทศในปี 2555 สามารถขยายตัวที่ 7.3% ขณะที่ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัว 21.6% แสดงถึงประชาชนได้ก่อหนี้เพิ่มในอัตราที่มากกว่ารายได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหนี้สินต่อรายได้ในปีดังกล่าวพบว่า หนี้สินต่อรายได้อยู่ที่ 0.82 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 0.74 เท่า

สินเชื่อรวมในปี 2555 นั้น ขยายตัว 15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 74.2% ของสินเชื่อรวมนั้น ขยายตัวได้ 13.2% และ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่มีสัดส่วน 25.8% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวในระดับสูงที่ 21.6%

โครงการรถยนต์คันแรกดันหนี้พุ่ง

ในหมวดสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวดีมาจากสินเชื่อเพื่อการซื้อและเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักที่ขยายตัว 33.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรถยนต์คันแรกของภาครัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์พบว่า ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับปกติ คือ ไม่ได้ขยายตัวมากจนน่าเป็นห่วง

ด้านข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้หรือหนี้เสียอยู่ที่ 2.3% ของสินเชื่อคงค้าง ขณะที่หนี้เสียในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วนที่ต่ำเพียง 0.5% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น พบว่า อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.9% ของสินเชื่อบัตรเครดิต สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนที่ดี ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 14.3% ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอสเรโช)ของระบบธนาคารพาณิชย์ในเดือนก.พ. 2556 อยู่ที่ 15.94% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

หนี้เพิ่มต่อเนื่อง-ออมต่ำ

ทั้งนี้ สำหรับสถานะหนี้ครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบว่า ภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 134,900 บาท โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 5.8 เท่า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 6.4 เท่า

ส่วนสถานะหนี้ครัวเรือนตามข้อมูลของธปท.ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้จากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินและอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจนอนแบงก์ ซึ่งธปท.รายงานว่า หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยสินเชื่อครัวเรือนในปี 2555 คิดเป็น 77.7% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 61.4% ต่อจีดีพี โดยหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบมีจำนวน 8,818,217 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้สินเฉพาะต่อครัวเรือนอยู่ที่ 439,490 บาท จากจำนวนครัวเรือน ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 20.06 ล้านครัวเรือน

ด้านสถานะหนี้ครัวเรือนของสศช.ซึ่งใช้ข้อมูลของธปท.ในการศึกษา สรุปว่า ครัวเรือนมีการก่อนหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ การออมภาคครัวเรือนในปี 2554 อยู่ที่ 5.3% ของจีดีพี และ เมื่อพิจารณาความสามารถในการออมพบว่า มีครัวเรือนสูงถึง 45% ของครัวเรือนทั่วประเทศจำนวน 9.09 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีความสามารถในการออม

สำหรับสถานะหนี้ครัวเรือนของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งใช้การสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง โดยสำรวจจากกลุ่มแรงงานล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 จากจำนวนตัวอย่าง 1,237 ราย พบว่า จำนวนหนี้ครัวเรือนและผ่านการชำระหนี้ในปี 2555 อยู่ที่ 168,517 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 5.7%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และส่วนใหญ่มีปัญหาในการชำระหนี้จากการที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายถึง 79.8%

นายสมชัยกล่าวว่าต้นเดือนมิถุนายนนี้ สศค.จะจัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อหนี้ครัวเรือน โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมวิเคราะห์ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่าอยู่ในระดับใด และ มีความน่าเป็นห่วงต่อประเด็นดังกล่าวตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้กังวลหรือไม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น