ควันหลงที่ยังคงมีไออุ่นของ "การเมืองมาเลเซีย" ที่ยังน่าจะมีความครุกรุ่นของความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายอันวาร์ อิบราฮิม
จริงๆ แล้ว ถ้าจะให้คาดการณ์ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคาดล่วงหน้าว่าน่าชนะแบบสูสีชนิดอาจต้องใช้กล้องถ่ายรูปก็เป็นได้ แต่ปรากฎว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ "พรรคแนวร่วมแห่งชาติ" นำโดย "พรรคอัมโน" คว้าชัยชนะเลือกตั้งทั่วไป ทำให้นายนาจิบ ราซัก หวนกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และจะได้ยึดครองอำนาจบริหารประเทศไปได้อีก 5 ปี ทั้งๆ อายุเพียง 59 ปีเท่านั้น
จำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ 222 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมแห่งชาติพรรคอัมโนคว้าชัยชนะได้ 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เพียง 89 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด
ถามว่า การที่นายอันวาร์ อิบราฮิม ปฏิเสธการพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติมาเลเซียว่า "โกง!" จนต้องมีการประท้วงเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงไต่ระดับสู่ความยุ่งเหยิง เหตุผลเพราะว่า นายนาจิบ ราซัก ปฏิญาณตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองเรียบร้อยแล้ว พร้อมบริหารชาติบ้านเมืองต่อทันที
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ "การโกงการเลือกตั้ง" นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องด้วยชาวมาเลเซียที่มีสิทธิมีเสียงในการลงคะแนนเลือกตั้งจำนวน 13 ล้านคน ผู้มีสิทธิประมาณร้อยละ 80 หรือคิดเป็นจำนวน 10 ล้านคน ใน 8,000 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ จึงขอย้ำว่า "โปร่งใส-ธรรมาภิบาล" ที่สุด และนอกเหนือจากนั้น การเลือกตั้งในประเทศมาเลเซียไม่เคยถูกครหานินทาว่ามีการโกงแต่ประการใด
ว่าไปแล้ว พรรคอัมโนยึดครองอำนาจการเมืองมายาวนานหลังผูกขาดอำนาจทางการเมืองมามากถึง 56 ปี นับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2500 เพราะฉนั้น ความรู้ความเข้าใจของประชาชนชาวมาเลเซีย ที่น่าจะสืบทอดอุปนิสัยใจคอที่มี "วินัย" ทางการเมืองที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมายาวนาน น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ตลอดรัฐธรรมนูญก็ยังมีชาวอังกฤษเป็นผู้ร่วมร่าง
ทั้งนี้ การที่ประเทศมาเลเซียเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น จะนับว่าดีหรือไม่ต้องอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคน เพียงแต่ว่า อังกฤษเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดมั่นในความถูกต้องและระเบียบวินัย จะเห็นได้จากการซึมซับวัฒนธรรมอังกฤษ จนมาเลเซียวันนี้มีระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งมีประชากรเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น แต่บ้านเมืองของเขาสวยงาม มีระเบียบ ถนนหนทาง ต้นไม้รายล้อมทั่วบ้านทั่วเมือง
จริงๆ แล้วน่าจะผิดกับสิงคโปร์ที่ขอหยาบคายเรียกว่าเป็น "สังคมพลาสติค (PLASTIC SOCIETY)" กล่าวคือ จะเป็นโลหะก็ไม่ใช่ เสมือนของปลอมคล้ายพลาสติค ที่มีกรอบวินัย และผู้คนเคารพกฎหมาย (หรือกลัวกฎหมาย) บ้านเมืองเจริญทันสมัย เพียงแต่อาจจะ "วัตถุนิยม (MATERIALISTIC)" และ "ของปลอม" กับ "ของแท้" แตกต่างกันมากแค่ไหน!
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าทั้งสองประเทศยึดมั่นในระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องตอบว่า "แน่นอน!" เพียงแต่ว่าทั้งวัฒนธรรมและค่านิยมของชาวมาเลเซียกับชาวสิงคโปร์อาจจะแตกต่างกันมากพอสมควร เนื่องด้วยชาวสิงคโปร์เวลามาเที่ยวหาดใหญ่หรือกรุงเทพฯ จะสูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่และหมากฝรั่งเกลื่อนกลาด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทุกคนปฏิบัติกัน เพียงแต่บางคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ปฏิบัติกัน ถามว่าทำไมมักจะตอบว่า เมืองไทยสามารถทำได้ เพราะไม่ผิดกฎหมาย "ว่าไปนั่น!?!"
การเมืองในมาเลเซียไม่น่ามีอะไรที่จะต้องวิตกแต่ประการใด ถึงแม้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะประท้วงอย่างไร พรรคอัมโนจะยึดครองอำนาจการเมืองต่อไปอีก 5 ปี จนยาวนานถึง 61 ปีทีเดียว
ดร.มหาเธร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียหลายสมัย เป็นยุคที่มาเลเซียก้าวกระโดดอย่างมาก จนเกิดแนวคิดพัฒนาวิสัยทัศน์ประเทศจนถึงค.ศ.2020 และเป็นผู้ที่ปลดนายอันวาร์ อิบราฮิม ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และติดคุกในข้อกล่าวหา ทุจริตคดโกงและประพฤติผิดทางเพศ จึงน่าจะเป็นบ่วงที่ดึงคะแนนนิยมและการยอมรับนายอิบราฮิม
ประวัติของนายนาจิบ ราซัก นั้นสืบทอดจากบิดาที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย ประกอบกับนายนาจิบ ราซัก นั้นอาจมิเคยคิดเล่นการเมือง เพราะหลังจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและทำงานที่บริษัทน้ำมันปิโตรเลียม บังเอิญบิดาเสียชีวิตทำให้ตำแหน่งในสภาว่างลง ทำให้นายนาจิบ ลงสมัครเล่นการเมือง และได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ อายุเพียง 23 ปี
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกเหนือจากนายนาจิบ ราซัก ได้ปฏิญาณตนแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แสดงความยินดีต่อชัยชนะของนายนาจิบแล้ว บวกกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำให้การเมืองมาเลเซียวุ่นวายยุ่งเหยิง
ประเด็นสำคัญที่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)" จะเริ่มปลายปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) อีกเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น บ้านเรายังคงมีตายรายวันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่น่าจะมีแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายภูมิภาคที่ต้องการ "นครรัฐอิสระ" แยกจากประเทศไทยและมาเลเซีย
จึงต้องถามว่า มาเลเซียจริงใจมากน้อยเพียงใดกับความร่วมมือกับประเทศไทยในการ "ผลักดัน-กดดัน" มิให้เกิด "นครรัฐอิสระ" ขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เพียงแต่ว่ามาเลเซียสามารถเป็นประเทศที่ 3 หรือ ที่ 4 จากการเป็นกลุ่มผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ต้องคอยติดตาม!
ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น