--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คลังแก้กฎคุมเงินทุน หวังกดค่าเงินบาทอ่อน !!?


กฎคุมเงินทุน,เงินไหลเข้า,ค่าเงินบาท,ธปท.,กนง.,

กิตติรัตน์. เผยเตรียมออกประกาศกระทรวงการคลัง ดูแลเงินทุน"เข้า-ออก"หวังเป็นเครื่องมือให้ธปท.ใช้ได้ทันที เพื่อดูแลค่าเงินบาท คาดประกาศใน3วัน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2556 ตามข้อเสนอของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีมาตรการที่ต้องประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลค่าเงินบาทเอาไว้ด้วย ในขณะที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันนี้ (29 พ.ค.)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการแก้ไขร่างประกาศกระทรวงการคลังควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศจากเดิมที่มีการควบคุมเพียงเงินทุนไหลออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความเหมาะสมในควบคุมเงินไหลเข้า-ออกก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยรายงานให้กระทรวงการคลังทราบเท่านั้น

"การแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว เพื่อให้ภาครัฐมีเครื่องมือดำเนินการได้ แต่ในการนำมาใช้ปฏิบัติจะต้องมีการนำเสนอจาก ธปท. มาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบ ซึ่งสามารถทำได้เลยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ส่วนข้อเสนอในการยกร่างระดับกฎหมาย เช่น การออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ เนื่องจากช่วงนี้สภาปิด จึงยังไม่พิจารณานำมาใช้และขอนำข้อมูลเนื้อหาภายในร่างกฎหมายมาศึกษาให้รอบคอบในช่วงนี้ไปก่อน" นายกิตติรัตน์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (28 พ.ค.)

ได้ส่งร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้าประเทศมาในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกำหนด เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีเครื่องมือไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นหากต้องมีการ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เลือกใช้วิธีการแก้ไขร่างประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำกับดูแลเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศฉบับเดิมที่ไม่กำหนดจำนวนของเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากแต่ก่อนประเทศไทยอยากได้เงินไหลเข้า และเมื่อก่อนได้จำกัดเงินทุนไหลออก เพราะไม่อยากให้เงินไหลออก จึงได้มีการแก้ไขไหม้ โดยได้ส่งร่างแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะมีผลใช้บังคับได้ทันที"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ควรมีความเหมาะสม และไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้เชื่อว่าจากแผนดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ ตามเป้าอย่างมีเสถียรภาพ

"ทุกมาตรการที่ออกมา จะให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่พูดกันทีละครั้งสองครั้งเหมือนที่ผ่านมา โดยกรอบดังกล่าวมีต้องทำสอดคล้องกันระหว่าง การสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะสั้น และรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีม คอยติดตามสถานการณ์ ก่อนสรุปและรายงานให้ครม.รับทราบทุกเดือน"

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าจากการหารือกันในที่ประชุมครม.มีความสบายใจมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องของการดูแล เสถียรภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาท โดยจะมีมาตรการในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจออกมาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีทั้งมาตรการทางการเงิน มาตรการคลังควบคู่กัน โดยไม่ให้มีการหารือกันถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่ประชุมครม.ครั้งนี้แต่อย่างใด

การประชุม ร่วมกับ ครม.ครั้งนี้เป็นการกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยหรือไม่ ผู้ว่าการ ธปท.หัวเราะ ก่อนที่จะบอกว่า "พรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมแล้วรอฟังผลพรุ่งนี้"

สศช.รายงานครม.ผลกระทบค่าเงิน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติรับทราบมาตรการกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้เศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพเติบโตในระยะยาวที่ระดับ 5% โดยมาตรการทั้งหมดมีการเตรียมความพร้อมด้วยการวางแนวทางในการดูแลเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจและค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ 2556 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

การประชุมในครั้งนี้มีการนำเสนอเรื่องนี้เป็นวาระจรที่ 1 ใช้เวลาในการพิจารณากว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยมาตรการทั้งหมดที่ออกมามี 22 ข้อ แบ่งเป็นมาตรการ ด้านการเงิน 7 ข้อ มาตรการด้านการคลัง 7 ข้อ และมาตรการเฉพาะด้าน 8 ข้อ นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ เป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินงาน และให้สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ติดตามรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการให้ครม.รับทราบทุกเดือน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สศช.ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในปีนี้ โดยมุ่งไปที่ผลกระทบจากทุนไหลเข้าเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือคิวอี ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อไปในระยะยาว โดยได้เสนอนโยบายที่เร่งด่วนใน 6 เดือน ซึ่งเป็นข้อสรุปจากนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

"ยิ่งลักษณ์"ยัน'กิตติรัตน์-ประสาร'ไม่ขัดแย้ง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการประชุมครม. ทางกระทรวงการคลังและสศช. ร่วมกับนายกิตติรัตน์ นำเสนอกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีทั้งหมด 3 ด้าน คือ การเงิน การคลัง และมาตรการเฉพาะด้านที่เป็นมาตรการของแต่ละกระทรวง

"วันนี้เราเลยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมแผนงานที่ให้ทุกกระทรวงดำเนินการ และที่เราได้สั่งการให้ครม.ทั้งหมด เป็นแผนแบบบูรณาการที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและรับฟัง ซึ่งเราได้เชิญนายประสารเข้ามาฟังด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่ถ้าเห็นพ้องตามแผนก็จะได้นำรายละเอียดนี้ไปปฏิบัติ เพราะขั้นตอนในการปฏิบัติต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องไปทำ"

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ในการบูรณาการด้านนโยบายภาพรวม แต่ทางด้านธปท.จะเป็นในแง่เทคนิคที่เราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มา โดยเบื้องต้นมติครม.และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบและรับทราบแผนว่าสอดคล้องต้องกัน ถือว่าเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม

เมื่อถามว่านายกิตติรัตน์และนายประสาร ไม่มีอะไรติดใจกันแล้วใช่หรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่มีค่ะ เพราะเราก็ทำงานกันได้ แต่บางครั้งอาจจะมีการพูดคุยกันไม่ตรงในด้านของเทคนิคมากกว่า แต่มาวันนี้ก็ชัดเจน ในแง่ของนโยบายภาพรวมก็สอดคล้องต้องกัน แต่เทคนิคนั้นก็ถือว่าต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบนั้นดำเนินการ แต่เราก็คงคอยติดตามในเรื่องของผลมากกว่า"

ธปท.รับเศรษฐกิจชะลอตามตลาดโลก

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง "ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย" จัดโดย สภาหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ออกมา ธปท.ยอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เพียงแต่ตัวเลขที่ชะลอลงก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ชะลอลงนั้น ธปท.เองก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อดูว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังสามารถเติบโตได้หรือไม่

"เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของหลายประเทศมีทิศทางที่ชะลอลง ของไทยจึงชะลอตามไปด้วย ทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกไปจากประเทศอื่น เราไม่สามารถเดินสวนทางคนอื่นได้ ดังนั้น การชะลอลงจึงเป็นเรื่องปกติ เราก็ยอมรับว่าตัวเลขที่ออกมาชะลอกว่าที่คาด แต่ก็ต้องดูว่าที่ชะลอเกิดจากอะไร เพื่อดูว่าไตรมาส 2 จะไปต่อได้หรือไม่" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เท่าที่ดูก็เห็นว่าการชะลอตัวเป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง แต่การส่งออกยังอยู่ในระดับที่ไปได้โดยขยายตัวได้มากกว่า 8% ซึ่งต้องดูว่าการชะลอลงของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนนั้น ควรต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

เอกชนย้ำกนง.พิจารณาลดดอกเบี้ย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5-1% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และมองว่าอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ไม่ได้ปรับตัวจนสูงมากนัก จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล แต่หากมีความกังวลปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ควรหามาตรการอื่นเข้ามาดูแล

"หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีกว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีการชะลอตัวซึ่งทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ภาคการเงินและการคลังจะต้องมีการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น"

ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแม้จะเริ่มอ่อนค่าลงแต่ ก็ยังถือว่าแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัญหาแท้จริงขณะนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลักใหญ่ แต่มาจากปัจจัยภายนอกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ทำให้มีผลต่อออเดอร์คำสั่งซื้อลดลง จึงกระทบต่อภาคการส่งออก

บาทอ่อนประเมินกนง.ลดดอกเบี้ย

บาทร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันนี้ เพื่อหาทิศทางระยะใกล้

นักวิเคราะห์คาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาที่ 2.50% หลังการเปิดเผยข้อมูลจีดีพีที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาสแรก ประกอบกับแรงกดดันมากขึ้นจากรัฐบาลให้ผ่อนคลายนโยบายเพื่อสกัดกระแสเงินทุนไหลเข้า และเพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ปิดตลาดวานนี้ (28 พ.ค.) อยู่ที่ 30.01/03 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเปิดตลาดเช้า ที่ระดับ 29.90/92 บาทต่อดอลลาร์

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น