สหรัฐ'หวังผล5เด้ง'ปมทะเลจีนใต้ "ภราดร"ย้ำมีความจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของชาติ
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ท่าทีและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยต่อกรณีสถานการณ์ในทะเลจีนใต้" เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการและความมั่นคงเข้าร่วมอภิปรายอย่างคับคั่ง
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความอ่อนไหวและกระทบต่อความมั่นคง ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับประเทศจีนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือต้องมีจุดยืนที่แสดงต่อประชาคมระหว่างประเทศ โดยต้องคำนึงถึงกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางการทหาร ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีการแสดงจุดยืนของประชาคมอาเซียนก่อนจึงจะแสดงท่าทีต่อจีนได้
นายประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้เริ่มดีขึ้นจากที่เคยขัดแย้งอย่างหนักถึงขั้นรบกันในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีปฏิญญาว่าด้วยกรอบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ DOC แล้ว ทุกอย่างก็ดูดีขึ้น เริ่มมีการเจรจา เน้นในเรื่องของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง วิเคราะห์ว่ามาจากมิติทางเศรษฐกิจของทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐทำให้สถาณการณ์คุกรุ่นมากขึ้น
"การเข้ามาของสหรัฐเหมือนเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 5 ตัว คือ 1.เพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคนี้ 2.ปิดล้อมจีนทางทหาร 3.ยุให้จีนโกรธ 4.ทำให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และ 5.ทำให้อาเซียนแตกแยก ฉะนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยต้องรู้ว่าวาระซ่อนเร้นของสหรัฐคืออะไร ของจีนและคู่กรณีต่างๆ คืออะไร ขณะเดียวกันเราจะทำอย่างไรให้ทั้งจีนและสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดี หากไทยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทั้งสองได้ ก็จะกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้ง"
ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนต่างๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในทะเลจีนได้ แต่สุดท้ายปัญหาหมู่เกาะอาจทำให้ความสัมพันธ์พังลงได้ ส่วนประเทศไทยในฐานะผู้ประสานระหว่างอาเซียนกับจีน ต้องรักษาประโยชน์และวางตัวให้เหมาะสม พร้อมหาทางแก้ปัญหา โดยการเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน
"วิธีการจัดการปัญหา ผมแนะนำว่าเราต้องมุ่งเจรจาเพื่อเปลี่ยน DOC ไปสู่การปฏิบัติเพื่อถ่วงเวลาทุกอย่างไว้ไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้ และจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct for the South China Sea หรือ CoC) ให้สำเร็จ ส่วนการสร้างไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ไทยต้องผลักดันนโยบายความโปร่งใสทางทหาร การแจ้งล่วงหน้าหากมีการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ มุ่งสู่การยุติความเคลื่อนไหวทางทหาร เพิ่มการแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางทหาร แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้คืออาเซียนไม่เป็นเอกภาพ เห็นได้จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีที่แล้วก็มีความแตกแยกกัน จึงต้องเร่งให้เกิดการเจรจาโดยเร็ว" นายประภัสสร์ กล่าว
ขณะที่ นายชุมพร ปัจจุสานนท์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่พูดเรื่องเส้นเขตแดนหรือใครเป็นเจ้าของเขตแดน เพราะปัญหาจะไม่จบ แต่เมื่อทุกฝ่ายต้องการผลประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ก็ควรตกลงกันหรือแบ่งเค้กกันให้ชัดเจน
พล.ต.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กล่าวว่า ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีมาก นักการศึกษาด้านความมั่นคงจะเห็นว่าโลกขณะนี้เป็นของเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาของภูมิภาค ย่อมเป็นปัญหาของประเทศด้วย
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น