--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แบงก์ชาติ กังขาตัวเลขเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ฯ


แบงก์ชาติกังขาตัวเลขเศรษฐกิจสภาพัฒน์ฯสั่งจนท.ตรวจสอบข้อมูล ด้านสศช.ยันของจริง ปัดปั้นตัวเลขเอาใจรัฐบาล คลังแก้กฎกระทรวงสกัดบาทแข็ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความสงสัยตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่าต่ำกว่าความเป็นจริง ในขณะที่เตรียมส่งข้อมูลเศรษฐกิจให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้

ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสแรกมีผลต่อการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง. โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ระบุว่าจะรอพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรก หากเห็นว่าขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพก็พร้อมจะลดดอกเบี้ย ในขณะรัฐบาลกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2556 ที่ สศช.ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.3% นั้น ถือเป็นตัวเลขซึ่งต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ โดยเฉพาะตัวเลขอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียด

"เท่าที่ดูตัวเลขเบื้องต้นมีข้อสังเกตอยู่บ้าง คือ ถ้าเป็นตัวเลขการนำเข้าและส่งออกนั้นถือว่าใกล้เคียงกับที่เรามองเอาไว้ แต่ที่น่าสังเกต คือ ตัวเลขอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งตัวเลขของสศช.ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของทางแบงก์ชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตัวเลขอุปสงค์ในประเทศที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ เวลานี้ก็ให้ทีมงานดูอยู่ว่า สาเหตุมาจากอะไร"นายประสาร กล่าว

สำหรับ ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ว่าอัตราการขยายตัวประมาณ 7.1% ขณะที่ตัวเลขจริงของสศช. อยู่ที่ 5.3% ส่วนตัวเลขอุปสงค์ในประเทศของธปท. ประเมินการเติบโตไว้ที่ 6.1% ส่วนตัวเลขจริงของสศช.อยู่ที่ 3.9%

ในขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนของธปท. ประเมินไว้ที่ 5.8% แต่ตัวเลขจริงออกมาที่ 4.2% และตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนของธปท.ประเมินไว้ที่ 7.3% แต่ตัวเลขจริงของสศช.ออกมาที่ 3.1%

นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงนั้น ประเด็นนี้ธปท.พอเข้าใจได้ เพราะไตรมาสที่ผ่านมาภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไม่สู้ดีนัก ทำให้การลงทุนลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนนั้น นายประสาร กล่าวว่าหากดูอัตราการจ้างงานและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่องมาหลายเดือน ประกอบกับสินเชื่อภาคเอกชนของธนาคารพาณิชย์ที่แม้จะชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 13% เศษ ทำให้ ธปท.ต้องพิจารณาในรายละเอียด ว่า การบริโภคภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาดนั้นมาจากสาเหตุใด

"เราเห็นตัวเลขอุปโภคบริโภคร่วงลง แต่ถ้าดูตัวเลขอื่น เช่น รายได้ การจ้างงานที่ยังสูง แถมยังก่อหนี้เพิ่มอีก ถ้าข้อมูลเหล่านี้เป็นจริง มันกลายเป็นว่าตัวเลขการอุปโภคบริโภคน่าจะสูง ไม่น่าจะลดลง เพราะสมมติว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มจาก 200 บาทเป็น 300 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นมา 100 บาท แถมยังก่อหนี้เพิ่มอีก ซึ่งหนี้ที่เพิ่มก็น่าจะทำให้การบริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องไปดูในรายละเอียด"นายประสาร กล่าว

ชี้ศก.ชะลอไม่เกินคาดหมาย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงนั้น ไม่ได้เกินความคาดหมายของธปท. เพราะก่อนหน้านี้ ธปท.ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มว่าจะชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมาจึงไม่ได้เกิดความคาดหมายมากนัก เพียงแต่มีข้อสังเกตบ้างในเรื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจด้านนโยบาย

นายประสาร กล่าวว่า การตัดสินเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น โดยปกติทาง กนง. จะดูว่าเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพหรือไม่ และแรงส่งทางเศรษฐกิจเริ่มลดลงหรือเปล่า แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ทีมเศรษฐกิจของธปท.จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นข้อมูลล่าสุดแล้วมาวิเคราะห์ดูว่าสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ส่งมอบให้กับ กนง. เพื่อใช้ตัดสินใจทางด้านนโยบาย

"ตัวเลข 5.3% ก็ดูจะลดลงกว่าศักยภาพเล็กน้อย และฐานปีที่แล้วไม่ได้สูงด้วย ความจริงถ้าอยากให้เศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีโตได้เกินกว่า 5% เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกควรต้องโตมากกว่านี้ ดังนั้นตัวเลขที่ 5.3% จึงเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาด สาเหตุก็คือการอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสังเกต"นายประสาร กล่าว

ธปท.ไม่ติดใจตัวเลขส่งออก-นำเข้า

นายประสาร กล่าวถึงตัวเลขส่งออกและนำเข้า ว่า ธปท.ไม่ได้มีข้อสังเกตเพราะถ้าดูตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่ สศช. ประกาศออกมาที่ 8.4% นั้น เป็นตัวเลขเดียวกับที่ธปท.ประเมินไว้ ส่วนตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการนั้น ธปท. ประเมินไว้ที่ 7.8% ซึ่งตัวเลขของ สศช. ออกมาที่ 8.2% ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ส่วนมูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น นายประสาร กล่าวว่า ถ้านำไปหักกับการจ่ายเงินเพื่อนำเข้าสินค้าก็ถือว่าเสมอตัว เพราะปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกต่อจีดีพีของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 70%

"เวลานี้การนำเข้าและส่งออกจะใกล้ๆ กัน คือ 70% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อรายได้จากการส่งออกน้อยลง รายจ่ายเพื่อการนำเข้าก็ลดลงตามไปด้วย เมื่อนำ 2 ตัวมารวมกันมันก็เจ๊ากัน ไม่ได้หายไปไหน" นายประสาร กล่าว

ชี้ค่าบาทผันผวนจากปัจจัยนอก

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น โดยรวมในขณะนี้ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และเท่าที่ติดตามดูอยู่แรงกดดันส่วนใหญ่มาจากทางด้านอุปทาน เช่น เรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น ภาวะการจ้างงานที่ตึงตัว ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพียงแต่แรงกดดันไม่ได้มีมากนัก

สำหรับการแกว่งตัวของค่าเงินบาทในช่วงนี้ นายประสารกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ ทำให้ตลาดเงินมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก โดยช่วง 2 วันที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงจากกระแสข่าวที่มีคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) บางคนเสนอให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุติการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (QE) ก่อนกำหนด

แต่เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) มีข่าวว่า มูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจปรับลดเครดิตเรทติ้งของสหรัฐลงหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางการคลังได้ ก็ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง เงินบาทกลับมาแข็งค่า

สศช.ยันบริโภคลดลง

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ตัวเลขการบริโภคทุกตัวลดลงหมด เว้นแต่รถยนต์ที่ยังได้รับแรงส่งจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวสูงถึง 121.8%

"ถ้าหากตัวเลขการซื้อรถยนต์ไม่ช่วยพยุงการบริโภคไว้ ยิ่งจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนต่ำมากไปกว่านี้อีก"

นายปรเมธี ออกมาชี้แจงตอบโต้ หลังจากที่นายประสาร แสดงความสงสัยตัวเลขเศรษฐกิจที่ สศช.แถลงไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา

ปฏิเสธแต่งตัวเอาใจการเมือง

นายปรเมธี กล่าวถึงกรณีนายประสารอ้างถึงการขยายตัวของสินเชื่อการบริโภคที่ยังสูงนั้นน่าจะแสดงถึงการบริโภคที่ขยายตัวดีว่าคนกู้เงินอาจจะนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น ไม่ได้กู้เงินมาเพื่อบริโภคก็เป็นได้

นายปรเมธี กล่าวว่า สศช. ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัว 6-7% แต่ตัวเลขจริงที่ออกมา 5.3% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจนั้น ได้หารือกันตลอดกับทีมงานของธปท. และไม่มีการแต่งตัวเลขเพื่อเอาใจรัฐบาล เพื่อบีบให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง

นายกฯปัดจับมือสศช.บี้ลดดอกเบี้ย

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากเห็นค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและราคาที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การลดดอกเบี้ยก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดี

"อย่ามองอย่างนั้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว สศช. มีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงตรงนี้เราเองถือว่าทุกส่วนต้องช่วยกันชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ส่วนการตัดสินอย่างไรนั้นทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะเป็นผู้ที่พิจารณาตัดสินใจ แต่ข้อมูลต่างหากที่เป็นข้อมูลที่ควรจะได้รับฟังอย่างครบถ้วน"นายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อถามว่ารัฐบาลสั่งให้ สศช. ลดตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อกดดัน ธปท.ลดดอกเบี้ยหรือไม่"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากเห็นความร่วมมือทำงานไปด้วยกัน เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่อยากเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีต้องหยุดชะงัก เพราะสูญเสียโอกาสไปมากแล้วตั้งแต่อุทกภัย ซึ่งไม่อยากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจหดตัว ในขณะที่ประเทศอื่นจะเริ่มปรับตัวแล้ว

คลังส่งรายงาน สศช. ให้แบงก์ชาติ

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้งว่าจะนำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2556 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ของสศช. ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังจะทำหนังสือถามไปยังธปท.ว่าที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท

ธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เตรียมแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการในมาตรการที่ธปท.เตรียมไว้สำหรับการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งจะมี 2 มาตรการที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้ว และส่งร่างแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา

ธปท.ขอแก้กฎหมาย2ฉบับ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่าธปท.ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมาย จำนวน 2 ฉบับ ไปยังกระทรวงการคลังเพื่อรองรับการออกมาตรการดูแลเงินบาท โดยประกอบด้วย กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากการลงทุนในตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ และ การกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินลงทุนในตราสารหนี้เพื่อไม่ให้ได้รับผลกำไรและขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน

"แบงก์ชาติได้ส่งร่างแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับไปให้กระทรวงการคลัง โดยเสนอไปทั้ง 2 แบบเลย ทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. เพราะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ก็อยู่ที่คลังจะไปดำเนินการอย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อต้นเดือนนี้ นายกิตติรัตน์ ได้รายงานมาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า รวม 4 ข้อ ที่เสนอโดยธปท.ให้ครม.ได้รับทราบ คือ การห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในพันธบัตร ธปท.,การกำหนดเวลาให้ต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาล อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป, เก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากผลตอบแทนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ส่วนมาตรการสุดท้าย กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในไทย ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง) เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนในเชิงบวก แต่ก็จะไม่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และกำหนดให้เงินทุนที่นำเข้ามานั้น ต้องถูกกันสำรองจำนวนหนึ่งไว้ที่ธปท.

"กิตติรัตน์"พร้อมทำตามข้อเสนอธปท.

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่าธปท.ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556 ชี้แจงมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่มีทั้งมาตรการที่ดำเนินการได้เองและถ้านำมาใช้จะหารือกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด และบางมาตรการต้องแก้ประกาศกระทรวงการคลังที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้เร็วภายในสัปดาห์นี้

"บางมาตรการต้องแก้กฎหมายระดับ พ.ร.บ.ทำให้บางคนเข้าใจว่าจะต้องแก้เป็น พ.ร.ก.ที่มีฐานะเท่า พ.ร.บ. ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้ตามที่ ธปท.เสนอมาและจะเสนอแก้ไขเป็น พ.ร.บ.แต่ขณะนี้สภาปิดสมัยประชุม โดยถ้าแก้ไขเป็น พ.ร.บ.จะใช้เวลาและถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการนี้ก่อน ก็จะพิจารณาร่วมกับ ธปท.ว่ามีความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ แต่ไม่ขอเจาะจงว่าเป็นมาตรการใดเพราะเอกสารจาก ธปท.ตีตราลับมาก และยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะดำเนินการตามที่ ธปท.เสนอมาทุกประการ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น