--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รัฐบาล กำหนดท่าทีไทย หากกัมพูชานำประเด็นพระวิหารเข้าประชุมมรดกโลก !!?

 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีวาระสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ประเด็นปราสาทพระวิหาร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ(ทส.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จะเสนอขอความเห็นชอบกำหนดกรอบท่าทีของประเทศไทยในประเด็นปราสาทพระวิหาร เพื่อคัดค้านฝ่ายกัมพูชา หากกัมพูชามีการหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่จะมีขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 16-26 มิถุนายน 2556 ดังนี้

1. หากคณะกรรมการมรดกโลกยืนยัน ที่จะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตย เหนือดินแดนของไทย ให้ไทยคัดค้าน หรือไม่ร่วมประชุม

2. หากมีการพิจารณา และมีผลกระทบกระเทือนต่ออธิปไตยของไทย จะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยจะยึดถืออธิปไตยของชาติเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และจะดำเนินการตามขบวนการภายในของประเทศต่อไป

3. ในกรณีที่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณตัวปราสาท ไทยควรให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งระบุว่า ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลฯ ทวีความรุนแรง หรือแก้ไขได้ยากขึ้น จนกว่าศาลฯ จะมีคำสั่งตัดสินในคดีตีความปราสาทพระวิหาร ปี พ.ศ. 2505 รวมทั้งควรรอผลการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (JBC) และควรเสนอให้ปราสาทพระวิหารออกจากกลไกการติดตามตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

4. กรณีที่วาระเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนมรดกโลก มีการให้การสนับสนุนกัมพูชา เพื่อกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของไทย ควรคัดค้าน และขอให้ศูนย์มรดกโลกและหรือคณะกรรมการมรดกโลกตรวจสอบการใช้เงินกองทุนมรดกโลกของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู บูรณะแหล่งมรดกโลก เช่น การซ่อมแซมตลาดบริเวณเชิงบันไดนาค หรือปรับปรุงกิจกรรมอื่นๆ ของกัมพูชา

และ 5. กรณีปราสาทพระวิหารอาจปรากฏในวาระที่ 7 B: State of Conservation of World Heritage Properties Inscribed on the World Heritage List หรือสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมปราสาทพระวิหาร

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. อาจมีการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรมต. ผู้ช่วยเลขานุการรมต. และที่ปรึกษารมต. ส่วนที่เหลือตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ  หลังจากที่มีการแต่งตั้งปรับเปลี่ยนไปแล้วจำนวน12 คนในการประชุม ครม. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  รวมทั้งคาดว่า นายกฯ จะสั่งการให้ ครม. เตรียมพร้อมครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2556 ด้วย

มท. ชงของบ 1,650 ล้านแก้ปัญหาจราจรฝั่งธน
กระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบวงเงินโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรฝั่งธนบุรี ย่านศิริราช ย่านบ้านช่างหล่อ และย่านอรุณอัมรินทร์ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมวงเงิน 1,650 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้

 1. โครงการต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์พร้อมทางขึ้น – ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช ในวงเงิน 1,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2557 –2559) โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และค่าก่อสร้าง จำนวน 1,270 ล้านบาท  ให้ใช้งบประมาณสัดส่วนเงินอุดหนุนรัฐบาล 100%  โดยให้กรุงเทพมหานครใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว และให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558- 2559 ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีต่อไป สำหรับค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน จำนวน 30 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานของทางราชการต่อไป

2.โครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาส และสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ในวงเงิน 350 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2557 –2559) ให้ใช้งบประมาณสัดส่วนเงินอุดหนุนรัฐบาล 100% โดยให้กรุงเทพมหานครใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว และให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 –2559 ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีต่อไป

ทั้งนี้ การกำหนดการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากสัดส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานคร เห็นควรให้กรุงเทพมหานครนำเสนอคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ศธ. ชง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชนห้ามปฏิเสธไม่รับนักเรียนยากจน
กระทรวงศึกษาธิการขอความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดให้สถาบันเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาโดยวิทยาลัยชุมชน ที่สำคัญคือ กำหนดห้ามมิให้วิทยาลัยปฏิเสธการรับบุคคลเข้าศึกษาในวิทยาลัยหรือยุติหรือชะลอการศึกษาของนักศึกษาด้วยเหตุเพียงว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักศึกษาผู้ใดเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะขอ ขออนุมัติโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยจ่ายค่าตอบแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจำนวน 10,400,000 บาท หรือ 252,000 ยูโร (อัตราแลกเปลี่ยน 39.98 บาท ต่อ 1 ยูโร) ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แผนงานสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ผลผลิตนโยบายและแผนด้านการศึกษา งบรายจ่ายอื่น รายการค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และยังมีเงินคงเหลือเพียงพอไปดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ก.อุตฯ เสนอ กม. คุมเข้มการปนเปื้อนในดิน-น้ำใต้ดิน
กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมขอความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดการการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. …. ซึ่งจะกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจในการประกาศกำหนดค่าความเสี่ยงที่ใช้อ้างอิงในการคำนวณเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน กำหนดความเข้มข้นของสารปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงานโดยจะต้องไม่สูงกว่าเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินที่ได้จากการคำนวณ กำหนดให้ประเภท ชนิด หรือขนาดของโรงงานใดเป็นโรงงานที่ความเข้มข้นของสารปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงานต้องไม่สูงกว่าเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน กำหนดเกี่ยวกับการให้ผู้ประกอบกิจการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน รวมทั้งบุคคลที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ จะมีการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน ทั้งก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน และภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด รวมทั้งดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดด้วย

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น