--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ครม.ฉุนขาด ประสาร ทำรัฐตกเป็นจำเลย !!?

ประชุมครม.ถกเครียดไม่พอใจผู้ว่าการธปท. โวยทำรัฐบาลตกเป็นจำเลย หลังกนง.ชง 4 มาตรการเริ่มจากอ่อนยันเข้มสุดให้ใช้ยาแรงกันสำรองทุนไหลเข้า ตอบกลับจ.ม.คลัง ระบุเงินไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าบาท ตามพื้นฐานศก.แกร่งมากกว่าหาผลตอบแทนส่วนต่างดอกเบี้ย "กิตติรัตน์" ตอกย้ำ "ลดอาร์/พีจำเป็น" นายกฯปูสั่งรมว.คลังประสานธปท.ใกล้ชิดระบุอยากให้แก้ปัญหาศก.แบบองค์รวม ด้าน "หม่อมอุ๋ย- ค้านลดดอกเบี้ย-ชี้บล็อกกระแสเงินไหลเข้าตราสารหนี้วิธีแก้ตรงจุดสุด



ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ทางออกในการสกัดทุนร้อนไหลเข้าเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งกระทรวงการคลัง ยังคงยื่นไม้ตายให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายหรืออาร์/พีลง 1% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.75% เหลือ 1.75% แม้ว่าก่อนหน้าธปท. จะเสนอแนวทางเริ่มจากมาตรการอ่อนยันเข้มแล้วก็ตาม อาทิ การลงทะเบียนนักลงทุนต่างชาติ,การกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติถือครองเงินบาทที่ลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐตามระยะเวลาที่ธปท.กำหนด ตลอดจนการจัดเก็บภาษีหรือมาตรการกันสำรองเงินไหลเข้าระยะสั้น

โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่าขณะนี้ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการ(รมว.)กระทรวงการคลัง ประสานกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมให้รมว.คลังประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิกระทรวงพาณิชย์เพื่อติดตามดูว่ามีกรณีใดที่จะต้องเร่งช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคส่งออก

ส่วนปัญหาที่ผู้ว่าการธปท.ไม่สนองนโยบายภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังยืนกรานจะให้ลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายกฯกล่าวว่า ข้อกฎหมายได้ให้ความอิสระต่อธปท.ที่จะตัดสินใจในวิธีการ ในขณะที่รมว.คลังก็มีหน้าที่มอบนโยบายอย่างเดียว ดังนั้นคงต้องประสานงานพูดคุย ซึ่งขึ้นอยู่กับกนง. ที่จะเป็นผู้พิจารณาร่วมกับผู้ว่าการธปท. เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องแก้แบบองค์รวม
ทั้งนี้นายกฯ ยังปฏิเสธที่จะตอบสื่อมวลชนที่ถามว่า พอใจหรือมองว่าผู้ว่าการธปท.เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาค่าเงินหรือไม่

"โต้ง" ย้ำลดอาร์/พีจำเป็น

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานมาตรการแก้บาทแข็งค่า 4 ข้อตามที่ที่ประชุมกนง.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 30 เมษายน เสนอให้กระทรวงการคลัง โดยได้แจงให้ที่ประชุมครม.รับทราบ ซึ่งเป็นเพียงแนวทาง เพราะกนง.ไม่ได้เสนอเพื่อขออนุมัติ และบางข้อเสนอผู้ว่าการธปท.มีอำนาจพร้อมใช้ แต่บางข้อต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อน

อย่างไรก็ดีรมว.คลัง ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของมาตรการทั้ง 4 กล่าวเพียงว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะธปท.ประทับตราลับ แต่มีบางมาตรการที่มีความพร้อม ธปท.สามารถดำเนินการได้เลย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นธปท.ออกบังคับใช้มาตรการใด ทำให้รู้สึกเป็นห่วงอัตราแลกเปลี่ยน และการไหลเข้าของเงินทุน" นายกิตติรัตน์กล่าวและว่าในฐานะรองนายกฯ ที่ดูแลเศรษฐกิจ เห็นว่าจำเป็นที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุด เพราะวิธีการดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ง่ายในการใช้กลไกของตลาดควบคุมเงินทุนไหลเข้า
เปิดจ.ม.ธปท.ตอบคลัง

นายกิตติรัตน์ ยังได้กล่าวถึงจดหมายที่ธปท.ตอบกลับกระทรวงการคลังใน 3 ประเด็นถึง 1.สถานการณ์ทางการเงินของธปท.ว่างบการเงินของธปท.สิ้นปี 2555 ส่วนทุน ธปท.แจงกลับมาว่าติดลบอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบมาจาก 2 ส่วน คือ 1.ส่วนของผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง และส่วนที่ 2 คือผลกระทบจากการตีมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองอยู่ ซึ่งหากค่าเงินบาทมีมูลค่าแข็งขึ้นทำให้การคำนวณมูลค่าทางบัญชีประสบผลขาดทุน

2. แนวคิดเรื่องอัตราดอกเบี้ย ธปท.ตอบกลับว่า แม้ว่าการลดดอกเบี้ยลงจะสามารถชะลอการไหลเข้าเงินทุนจากต่างประเทศได้ แต่ข้อกังวลของธปท.วิเคราะห์ว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยน่าจะเป็นปัจจัยรองเพราะว่าผู้ลงทุนน่าจะประสงค์ที่จะได้ผลตอบแทนอื่นเช่นเรื่องของการแข็งค่าของเงิน หรือหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้น


3. ส่วนในเรื่องมาตรการการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ทาง ธปท. ได้ชี้แจงกลับในภายหลังว่ากนง.พิจารณาอย่างไรรวมถึงมาตรการทั้ง 4 มาตรการ
เผยธปท.เสนอใช้ยาแรง "กันสำรอง"

สำหรับบรรยากาศการประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า การประชุมรอบนี้ได้ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็มหารือกันอย่างตึงเครียดเรื่องค่าเงินบาทและ 4 มาตรการคุมเงินไหลเข้า โดยเฉพาะข้อ 4 ว่าด้วยมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ซึ่งถือเป็นมาตรการเข้มและแรงที่สุด โดย ธปท.เสนอมาว่า เมื่อเงินเข้ามาแล้วก็เก็บส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรอง ตรงนี้ครม.เห็นตรงกันว่า กระทรวงการคลังทั่วโลกไม่มีใครทำ ขณะที่บ้านเราเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนปฏิวัติปี 2549 จนเมื่อปี 2550 เมื่อออกมาตรการนี้มาใช้อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อตลาดหุ้นตกก็ร่วงเลย จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้
"ครม.มองว่าต่างต้องตกอยู่ในสภาพเป็นจำเลยกันหมด ทั้งๆที่เรื่องดูแลค่าเงินไม่ได้เกี่ยวกับครม.เลย เนื่องจากเป็นหน้าที่ของบอร์ดธปท.ที่มีหน้าที่บริหาร แต่บอร์ดธปท.ก็ไม่มีหน้าที่ดูแลเรื่องของความเปลี่ยนแปลงค่าเงิน เพราะเป็นหน้าที่ของกนง.ที่คณะกรรมการธปท.ได้ให้อำนาจ ตอนนี้รัฐบาลอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เพราะต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีการพูดถึงในลักษณะเป็นนัยที่ว่า จะดำเนินการกับ ผู้ว่าการธปท.อย่างไร จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้ โดยเฉพาะนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกอาการไม่พอใจอย่างชัดเจน"

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง ระบุว่าขณะนี้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นมาตรการบรรเทาเงินทุนไหลเข้าได้ดีและง่ายที่สุด แต่ต้องรอดูท่าทีที่ชัดเจนของกนง.ในการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ หากไม่ลดดอกเบี้ยและสถานการณ์เงินบาทยังแข็งค่าต่อ คงมีความจำเป็นต้องใช้ยาแรงโดยใช้มาตรการกันสำรอง

มองบาทอ่อนแตะ 31 บาทยาก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร. ได้เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มาหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกรณีเงินบาทแข็งค่า

โดยทั้ง 2 ท่านได้ให้ข้อมูล ว่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มแข็งค่าตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่เติบโตและแข็งแกร่งต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุตอนหนึ่งว่า ธปท.เองก็มีส่วนชะล่าใจเล็กน้อยที่ในช่วงต้นปี (กลางเดือนมกราคม ) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2-3 % แต่ยังไม่ได้มีมาตรการรับมืออะไรออกมา จนปัจจุบันแข็งค่ากว่าคู่แข่งมากถึง 6-7% ดังนั้น ก็ควรออกมาตรการดูแลทันที เพื่อไม่ให้ไทยแข็งค่า

มากกว่าประเทศคู่แข่งและประเทศในภูมิภาคเดียวกันแถบนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่าทิศทางค่าเงินบาทจากนี้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มแข็งค่าตามเศรษฐกิจไทย โดยประเมินว่าโอกาสที่เงินบาทจะกลับไปแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีก
ขณะที่ประธานส.อ.ท.กล่าวอีกว่า กกร.อยากเห็นการเคลื่อนไหวที่ระดับ 29.6-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมากกว่า เพราะไม่กระทบผู้ประกอบการมากนัก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันต้องทำคือ มีความพร้อมที่จะปรับตัวรับกับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ การลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เพื่อให้ขีดความสามารถเหนือคู่แข่ง

กกร.เห็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ว่าการใช้มาตรการเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อาจจะไม่ได้ผลแล้ว แม้จะลดดอกเบี้ยแรง 1% แต่หากจะใช้มาตรการแรงสุดในการควบคุมเงินทุนไหลเข้า เช่นมาตรการภาษี แคปิตอล คอนโทรล ก็อาจจะเกิดความเสียหาย ซึ่งเชื่อว่าธปท.จะมีมาตรการควบคุมที่มีผลดูแล ในระดับปานกลางออกมาในระยะต่อไป"
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย จะร่วมหารือ กับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 นี้ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนระยะสั้น กลาง และระยะยาว ใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจกล่าวว่า ปัจจุบันทั้งกระทรวงการคลังกับธปท. ก็มียาค่อนข้างพร้อมอยู่แล้วเพียงแต่ศึกษาว่ามาตรการที่เรามีอยู่จะเหมาะสมออกมาใช้เมื่อสถานการณ์อย่างไร อาทิ การเข้าแทรกแซงเงินบาทซึ่งเป็นยาขั้นต่ำที่ผลข้างเคียงน้อย ,การลดดอกเบี้ยนโยบาย ,การกำกับดูแลให้มีการจดทะเบียนของนักลงทุนซึ่งเป็นระดับยาที่แรงขึ้นอีก หรือการเก็บค่าธรรมเนียม ฯลฯ

นักเศรษฐศาสตร์แนะคลังเปิดกว้างงัดภาษีคุม

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า สาเหตุที่ทุนไหลเข้ามหาศาลขณะนี้ ไม่ได้เพื่อหาผลตอบแทนจากส่วนต่างดอกเบี้ย จากการที่อัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่าต่างประเทศ แต่เพื่อมาเก็งกำไรผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากคาดคะเนได้ว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการที่นักลงทุนเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจ และแรงหนุนจากการที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ,โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

ขณะนี้มาตรการที่เหมาะสมและได้ผลมากสุดก็คือ" ภาษี" ซึ่งอยู่ในอำนาจกระทรวงการคลัง แต่รัฐไม่ทำเพราะกลัวว่าจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้น " แหล่งข่าวกล่าวและว่าสิ่งที่ภาครัฐ-ธปท. ควรทำในทันที คือการประกาศให้นักลงทุนทราบว่าประเทศไทยมีมาตรการในการควบคุมเงินทุนไหลเข้าอย่างไร ตั้งแต่ระดับอ่อนถึงเข้ม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เงินบาทแข็งค่าหลุด 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

หวั่นลำพังลดดบ.สกัดเงินร้อนไม่อยู่

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาบาทแข็ง รัฐบาลควรจะใช้มาตรการจัดเก็บภาษีจากทุนไหลเข้าหรือ มาตรการ Capital Control โดยกำหนดอัตราภาษีตามความยืดหยุ่น เพราะประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้มาตรการนี้ไม่ว่าเป็นประเทศที่เผชิญค่าเงินแข็งหรืออ่อน

 ไม่เห็นด้วย หากจะลดดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี )ลง เพราะการจะสกัดทุนไหลเข้าอย่างได้ผล อาจต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 1.50% จากปัจจุบันที่ 2.75% มาอยู่ระดับ 1.25-1.50 % จึงจะปิดส่วนต่างดอกเบี้ยในและต่างประเทศได้ และไม่คุ้มค่ากับผลเสียทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ในภาคธุรกิจเพิ่ม และฉุดเงินฝากไหลออกจากระบบ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะติดดินอยู่ที่ 0.50%ต่อปี "

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น