ระบบการค้าเสรีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการและถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
หากเป็นบริษัทต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สามารถซื้อที่ดินได้ แต่ต้องใช้เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อเลิกประกอบกิจการก็ต้องขายที่ดิน นอกจากนี้ ชาวต่างด้าวยังสามารถซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยจะต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี ทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยแสดงหลักฐาน คือ
1) หนังสือรับรองการลงทุนจากผู้ขายพันธบัตรว่า ได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
2) หนังสือรับรองการลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว่าได้ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักฐานการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว
3) หลักฐานการลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และบัตรส่งเสริมที่แสดงว่านิติบุคคลดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
4) หลักฐานการลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และหนังสือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ระบุว่ากิจการที่นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการอยู่เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้
5) หลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุน
ในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทต่างด้าวและชาวต่างด้าวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย เช่น ตั้งเป็นบริษัทไทยและให้คนไทยถือหุ้นแทนและซื้อที่ดิน หรือคนต่างด้าวที่สมรสกับคนไทย หรือการว่าจ้างให้คนไทยซื้อที่ดินและให้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับชาวต่างด้าว
การที่ชาวต่างประเทศสนใจซื้อและถือครองที่ดินในประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน หากเป็นบริษัทต่างด้าวจะมุ่งการลงทุนในเชิงธุรกิจ เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การทำกสิกรรมขนาดใหญ่ และยังรวมถึงการขายเก็งกำไร ส่วนชาวต่างด้าวที่เป็นเอกชนจะซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือเป็นบ้านพักตากอากาศ และหากมีโอกาสก็อาจจะขายเพื่อทำกำไร
รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถร่วมกันตรวจสอบการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเข้าข่ายการทำธุรกรรมอำพราง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในนิติบุคคลสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นจากนิติบุคคลไทยเป็นนิติบุคคลต่างด้าวหรือมีการเพิ่มทุนจนมีสภาพที่เป็นนิติบุคคลต่างด้าวแต่เคยรับโอนที่ดินในขณะที่เป็นนิติบุคคลไทย นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ควรสอดส่องดูแล คนในท้องถิ่นที่มีพฤติการณ์ช่วยคนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมาย หากมีการซื้อขายที่ดินในท้องที่ของตน
การถือครองที่ดินโดยชาวต่างด้าวที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ เพราะที่ดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หากปล่อยให้ที่ดินถูกถือครองโดยคนต่างด้าวโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายในอนาคตอันใกล้ย่อมทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน ต่อไปลูกหลานคนไทยจะมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินได้ยากขึ้น อาจถึงขั้นต้องรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัย และเช่าที่ดินจากชาวต่างประเทศเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำมาหากิน
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น