--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คลังเตรียมถก ธปท. เล็งออกมาตรการเพ็คเกจ ดูแลค่าเงิน !!?


นายอารีพงศ์  ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางในการดูแลค่าเงินบาทว่ากระทรวงการคลังเตรียมหารือธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เพื่อพิจารณาออกมาตรการเป็นแพ็กเกจ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบในหลายด้านด้วย

อย่างไรก็ดีหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีเครื่องมือใดที่พร้อมจะดูแลค่าเงินก็ให้ดำเนินการได้ ยกเว้นในกรณีของการใช้มาตรการภาษี ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง  ส่วนมาตรการกีดกันไม่ให้เงินทุนไหลเข้ามา ในลักษณะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีอุปสรรค กระทรวงการคลังมีความเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนใช้และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากใช้มาตรการดังกล่าว จะทำให้คนที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารระยะยาวหนีออกไปแล้วจะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่าหากกนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุน แต่ห่วงเรื่องฟองสบู่เศรษฐกิจ ก็เป็นความรับผิดชอบซึ่งธปท.สามารถดำเนินการโดยการออกมาตรการควบคุมสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับ 29.5-29.6 บาทต่อดอลลาร์  ต่อความห่วงใยค่าเงินบาทของกระทรวงการคลังนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง มองว่า สถานการณ์บาทแข็งอยู่ในระดับที่ทรงตัว ไม่ได้แข็งค่ามากเหมือนกับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งที่ระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์  และการบริหารค่าเงินบาท ก็ยังเป็นภาระหน้าที่ของ ธปท.  และจะต้องหารือมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่ยังหารือกันและมีการรายงานต่อเนื่อง

นายอารีพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการประชุมเอดีบีในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้  ต่างชาติยังให้ความสนใจและเห็นว่าประเทศไทย ยังมีศักยภาพที่ดี โดยเห็นโอกาสจากตราสารหนี้ของไทยให้ผลตอบแทนดีกว่ามาก ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ที่ผลตอบแทนติดดิน  โดยเฉพาะฟันด์เมเนเจอร์ รีไทร์เม้นท์อินคัม  ที่ต้องการผลตอบแทนระยะยาว ที่ทำให้กองทุนมีรายได้ จึงเป็นประเด็นที่ว่า ความคิดของ ธปท.  ยังไม่แน่ใจว่า ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวลดลงจริงหรือไม่  เพราะว่าบางประเทศที่ใช้วิธีการนี้แล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวไม่ได้ลดลง

ขณะเดียวกันในที่ประชุมเอดีบีก็ได้ถามถึงประเด็นดังกล่าวต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เงินแข็งค่าขึ้น คิดอย่างไรบ้าง โดยประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ มองในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ว่า ญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรือยุโรป จะใช้มาตรการอะไรเข้ามาเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับแข็งแรงขึ้นก็ตาม  จะทำให้เศรษฐกิจของทั้งโลกแข็งแรงขึ้นด้วย

 “ตอนนี้ไทยเข้าสู่มิติของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง และวิธีการดังกล่าวในบางประเทศใหญ่ๆ ก็ยังไม่เคยมีประเทศใดดำเนินการมาก่อน  แต่ถ้าเมื่อญี่ปุ่นใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวก็จะเป็นผลดีต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและการส่งออกจะฟื้นตัวด้วย แต่แน่นอนว่า จะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคนี้แข็งค่าขึ้น

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น