--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ค่าเงินบาทของไทย !!?


นับตั้งแต่ปี 1960(พ.ศ. 2503) ประเทศที่เคยบอบช้ำจากผลพวงสงครามโลก ไม่ว่าเป็นประเทศในยุโรป หรือผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น เยอรมัน เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของสหรัฐ ขณะที่ตัวสหรัฐเองกลับมีค่าใช้จ่ายมโหฬาร เช่น การให้ความช่วยเหลือประเทศที่บอบช้ำจากการทำสงคราม การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการทำสงครามเวียดนาม  การใช้จ่ายเหล่านี้นำไปสู่การขาดดุลการค้าต่อประเทศคู่แข่งทางการค้าที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้สหรัฐประสบปัญหาการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศทุกปีๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มขาดความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงนำเอาเงินดอลลาร์สหรัฐที่ตนถือไว้ไปแลกเปลี่ยนกลับเป็นทองคำบริสุทธิ์แทนที่ธนาคารกลางสหรัฐเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุนสำรองที่เป็นทองคำของสหรัฐลดลงถึงหนึ่งในสามในระยะเวลาเพียง 7 เดือนของปี1971  ดังนั้นเพื่อระงับความแตกตื่นของประชาคมโลก รัฐบาลสหรัฐจึงประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนทองคำกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ15 สิงหาคม 1971 ถือเป็นการยกเลิกข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1944 โดยปริยาย

ยุคที่สี่ : ระบบการเงินระหว่างประเทศภายหลังระบบเบรตตัน วูดส์พ.ศ. 2514 – ปัจจุบัน  (The Post-Bretton Woods  System :  1971 – Today )

ภายหลังการประกาศออกจากระบบเบรตตัน วูดส์ของสหรัฐเมื่อสิงหาคม 1971 เดือนธันวาคมปีเดียวกัน ประเทศกลุ่มผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกได้ประชุมกันที่กรุงวอชิงตัน บรรลุข้อตกลงกำหนดให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 38 ดอลลาร์ต่อทองคำบริสุทธิ์หนึ่งทรอยออนซ์ และอนุญาตให้เงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ 2.25%จากค่าเสมอภาค (Par Value) จากเดิมที่เคลื่อนไหวได้เพียง 1% อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี ค่าเงินสกุลตราหลักต่างๆเกิดความผันผวนขึ้นอย่างมาก จนหลายประเทศต้องประกาศลอยตัวค่าเงินสกุลตนเอง เช่น

ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ ประกาศลอยตัวค่าเงินสกุลปอนด์ เดือนมิถุนายน ค.ศ.1972

ธนาคารกลางแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิส มกราคมค.ศ. 1973

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดค่าเงินอีกเป็นครั้งที่สอง ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973 จาก 38 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์ เป็น 42.22 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์

เหตุการณ์ผันผวนของเงินตราสกุลต่างๆ นำไปสู่การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ที่ประเทศจาไมก้า ในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) โดยบรรลุข้อตกลงให้มีการประกาศ“ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว”(Flexible Exchange Rate System) อย่างเป็นทางการ ซึ่งค่าเงินของแต่ละประเทศจะถูกกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดเงินตราในประเทศและต่างประเทศ โดยแต่ละประเทศต้องพยายามรักษาเสถียรภาพค่าเงินตนเองไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในค่าเงินนั้นๆ

ปัจจุบัน ระบบการเงินระหว่างประเทศยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัวที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1976 เพียงแต่ประเทศต่างๆ เลือกใช้ระบบปริวรรต (แลกเปลี่ยน) เงินตราต่างประเทศแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของระบบเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เพราะปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาเลือกระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้น ล้วนแตกต่างกันไป เช่น อัตราว่างงาน อัตราดอกเบี้ยในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาตลาดเงินในประเทศ ดุลการค้า ดุลชำระเงินระหว่างประเทศ โดย IMF ได้จัดกลุ่มระบบปริวรรตเงินตราในประเทศต่างๆออกเป็น 8 กลุ่มดังนี้

(1) ระบบปริวรรตเงินตราที่พึ่งพาเงินสกุลต่างประเทศหรือสหภาพการเงิน (Exchange Arrangements with No Separate Legal Tender)

(2) ระบบปริวรรตเงินตราที่ควบคุมโดยคณะกรรมการ (Currency Board Arrangements)

(3) ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น (Other Conventional Fixed-Peg Arrangements)

(4) ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินไว้กับเงินสกุลอื่นแบบยืดหยุ่น (Pegged Exchange Rate within Horizontal Bands)

(5) ระบบปริวรรตเงินตราที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Crawling Pegs)

(6) ระบบปริวรรตเงินตราที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Exchange Rate within Crawling Bands)

(7) ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ (Managed Floating with No Pre-announced Path for the Exchange Rate)

(8) ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี(Independent Floating)

ค่าเงินบาทของไทยภายหลังระบบเบรตตัน วูดส์ ถึง ปัจจุบัน

ดังที่กล่าวมา การล่มสลายของระบบเบรตตัน วูดส์ ทำให้ระบบการเงินระหว่างประเทศเกิดความผันผวนขึ้นมาก เพราะประเทศต่างๆขาดความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินตราสกุลหลักของโลกที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง ประเทศไทยที่ผูกติดค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องปรับค่าเสมอภาคเงินบาทหลายครั้ง เพื่อรักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐคงอยู่ในอัตรา 20.80 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเดิม โดยเริ่มจาก.....

ครั้งแรก วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ด้วย“ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่143” ข้อ 1ให้ยกเลิก พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ. 2506 และข้อ 2 ให้กำหนดค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.03935157  กรัม

ครั้งที่สอง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2516 ด้วย “พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ.  2516” ได้กำหนดให้ ค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.0354164  กรัม

ครั้งที่สาม วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ด้วย “พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ.2516(ฉบับที่ 2)”กำหนดให้ ค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.0368331  กรัม ผลของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐกลับมาคงอยู่ในอัตรา 20 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเดิมที่ประเทศเคยไทยใช้อยู่ในช่วงระบบเบรตตัน วูดส์

ในปี พ.ศ. 2519 เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศบรรลุข้อตกลงให้มีการประกาศ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว” ประเทศไทยก็ต้องยอมรับกติกาใหม่ของระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัว

ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์(พ.ย. 2520 – มี.ค. 2523)  ออก “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 พ.ศ.2521”  มีผลทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจากเดิมที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐสกุลเดียว มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าของเงินตราหลายสกุลหรือ“ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น”  ตามการจัดกลุ่มระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศของ IMF หรือ เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “ระบบตะกร้าเงิน” (Basket of Currencies)

ในช่วงปี พ.ศ. 2522-2524 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันโลก รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ต้องลาออกเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากได้ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์(มี.ค. 2523 – ส.ค. 2531) ที่เข้ามาบริหารประเทศใหม่นอกจากน้ำมันแพงแล้ว ยังเผชิญปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเงินบาท ผลคือเงินบาทมีค่าลดลงมาก รัฐบาลจึงตัดสินลดค่าเงินบาทถึง 2ครั้ง

ครั้งแรก  วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นที่ 21 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปเป็น 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ครั้งที่สอง วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทอีกครั้ง จาก 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปเป็น 27 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ(พ.ย. 39 – พ.ย. 40) ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์การเงินและสถาบันการเงิน ค่าเงินบาทถูกนักเก็งกำไรต่างชาติโจมตีอย่างหนัก รัฐบาลต้องประกาศเปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศจาก"ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น” หรือ“เงินระบบตะกร้าเงิน” ไปเป็น “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี”เพราะไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทจากการถูกโจมตีได้อีกต่อไป

ภายใต้“ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี” รัฐบาลไทยต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเสรี ซึ่งในระยะแรก ภายหลังประกาศปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆจากประมาณ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ตกลงไปต่ำสุดถึงประมาณ 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2541

ปี 2542 ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพขึ้น ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2544 - 2548  ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอีก อยู่ที่ระดับ 40-41บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี  2549 – 2555 ค่าเงินบาทก็แข็งขึ้นมาเรื่อยๆอยู่ที่ระดับ 33-30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

และ ขณะเขียนบทความนี้อยู่ (16 พ.ค. 2556)  ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.68 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน IMF จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ใช้ “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ” ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะที่คล้ายกับ“ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี” ที่รัฐบาลต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเสรี เพียงแต่ “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ” นั้น รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงค่าเงินตนเองได้ทันที กรณีมีความจำเป็น เพื่อให้ค่าเงินสกุลตราของตนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการและเห็นว่าเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้น

เรื่องราวการเดินทางของค่าเงินบาทไทย ในรอบร้อยปีที่ผ่านมาก็ขอจบลงด้วยเพียงเท่านี้ ครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น