คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ
โดย ศุภชัย เจียรวนนท์
ความภูมิใจในตัวเองเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น หากปราศจากความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นในตัวเองจะทำให้เราไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึงความภูมิใจ และความมั่นใจเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาระบบสังคม และเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งองค์กร หรือแม้กระทั่งผู้นำในครอบครัว
ผมยังจำได้ว่า ตอนที่ลูกชายคนโตยังเด็ก เขาเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เรียนจะเกี่ยวกับยุโรป ประวัติศาสตร์กรุงโรม ผู้ที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเด็กชายวัย 10 ขวบตอนนั้น ชื่อ Alexander the Great ซึ่งสามารถครอบครองพรมแดนในอาณาบริเวณกว้างถึง 1/3 ของโลก สิ่งที่สะท้อนกลับมาตอนนั้น ดูเหมือนว่า เด็กวัย 10 ขวบคนหนึ่ง ไม่ได้มีอะไรในความเป็นประเทศเอเชีย หรือแม้กระทั่งประเทศไทย ที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ หรือแม้กระทั่งความเป็นเด็กไทยของตัวเอง หรือความเป็นเด็กเอเชียคนหนึ่ง
ดูเหมือนว่า ความยิ่งใหญ่ทั้งหมดเกิดขึ้นจากยุโรป ไม่ใช่เพียงแค่การปกครอง แต่ยังรวมถึงการค้นคว้าวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง
ผมถามลูกชายวัย 10 ขวบในเวลานั้นว่า นอกจาก Alexander the Great แล้ว เขารู้จัก "สิทธัตถะ" หรือไม่ เขาบอกว่า ไม่รู้จัก และเมื่อถามว่า รู้จักพระพุทธเจ้าหรือไม่ เขาบอกว่า รู้จัก แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ปกครองโลกถึง 1 ใน 3 เหมือน Alexander ผมเลยถามต่อว่า แล้ว Alexander มีคุณค่าและความทรงจำที่เป็นประโยชน์ต่อเนื่องไว้ให้คนรุ่นปัจจุบันนี้หรือไม่ หากเทียบกับเจ้าชายสิทธัตถะ ที่เวลาผ่านมากว่า 2500 ปีแล้ว ยังมีคนเรียนรู้คำสอน ยังเคารพบูชา แม้กระทั่งหุ่นปั้น หรือรูปของท่านอยู่ตลอด
ผมถามลูกชายผมต่อไปถึงสิ่งที่รู้สึกภูมิใจในประเทศไทย ในความเป็นคนไทย
คำตอบที่เขาสามารถตอบได้ทันที คือภูมิใจใน "ในหลวง" ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นจุดยึดเหนี่ยวของคนไทย แต่ถ้าถามไปว่า มีอะไรอีก เขาเริ่มจะคิดไม่ออก
ผมกลับมานึกถึงตัวเองว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่ง 20 ปีก่อนล้าหลังเรามาก แต่ปัจจุบันก้าวนำหน้าประเทศเราไปแล้ว ผมสังเกตได้ชัดเลยว่า เวลาคนจีนพูดถึงประเทศตัวเอง จะพูดด้วยความเชื่อมั่น และภาคภูมิใจว่า สามารถทำทุกอย่างได้ไม่แพ้ประเทศอื่น
เรื่องความภาคภูมิใจในประเทศของตนไม่ใช่มีเพียงแค่คนในประเทศจีน แต่ทั้งประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ต่างมีความชัดเจนเรื่องความภาคภูมิใจในประเทศของตน ซึ่งรวมถึงผู้คนในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตกด้วย
การสร้างความภาคภูมิใจในประเทศของเรา ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านความคิดที่สำคัญมาก เพราะหากปราศจากความเชื่อมั่น เราก็ไม่สามารถสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม
ทุกวันนี้ สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของไทยยังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งชาวโลกยอมรับ แต่คนไทยเองอาจยังมองไม่เห็น ทั้งศิลปะการป้องกันตัวของไทย "มวยไทย" ที่มีชื่อเสียงติดระดับท็อปของโลก อาหารไทยก็ได้รับการยอมรับในระดับท็อปของโลกเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมไทย ที่นานาประเทศต่างชื่นชมว่า เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีการ
หล่อหลอมวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียเข้ามาด้วยกัน อันเนื่องมาจากความเป็นเอกราชของไทย ที่ทำให้วัฒนธรรมไทยเปิดกว้าง และยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจ
ประเทศไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในระดับโลก และเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก ว่าทำไมต้องมาเที่ยวที่ประเทศไทย แต่เราอาจไม่ดูแล และรักษาความน่าภาคภูมิใจเหล่านี้เท่าที่ควรจะเป็น
ยังมีศิลปวัฒนธรรมของไทยอีกมายมาย ที่แสดงถึงความสามารถของคนไทย รวมไปถึงอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมที่มีความรุดหน้า และเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก จะพูดไป ก็มีอีกหลายเรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย แต่หลายสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้มีการนำมาถ่ายทอดไปสู่เยาวชน ให้เขาได้รู้สึกภาคภูมิใจ และเสริมสร้างความมั่นใจว่า เขาสามารถสร้างสรรค์ภายใต้ความเป็นไทยไปสู่ความเป็นผู้นำในระดับสากลได้ เขาสามารถสร้างคุณค่าที่แบ่งปันให้คนทั้งโลกได้ เขาจะมีความรู้สึกได้ว่า ถ้าประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว สมารถทำได้ ทำไมตัวเราจะทำไม่ได้
คนทุกคนอยากรู้ว่า ตัวเองมีที่มาจากครอบครัว จากสังคม หรือจากประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในทางใดทางหนึ่ง หากขาดความภาคภูมิใจ และความมั่นใจในพื้นฐานของตัวเอง ขาดความรู้สึกที่เรียกว่า Sense of Belongings ไม่เข้าใจหรือเคารพในที่มาที่ไปของตัวเอง ก็ยากที่จะเติบโตอย่างมีความมั่นใจ
ในฐานะที่เป็นคนไทย ความมั่นใจ ความภูมิใจ คือความแข็งแกร่งของเมล็ดพันธุ์ที่จะหยั่งรากลึก พร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรค และความท้าทายนานัปการในการดำเนินชีวิต พร้อมที่จะแข่งขัน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ คุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ลองถามตัวเองดูว่า คุณเชื่อหรือไม่ว่า คนไทย ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในเกษตรอุตสาหกรรมของโลกได้ ? คุณเชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในเรื่องของอาหาร เพื่อเสิร์ฟคนทั่วโลกได้ ? คุณเชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งโลกได้ ?
คุณเชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของ AEC เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศไทยน่าอยู่ประเทศหนึ่งของโลก ? คุณเชื่อหรือไม่ว่า จะสามารถเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านอวกาศ และส่งกระสวยอวกาศไปดาวอังคารได้ ?
ถ้าคำตอบคือไม่เชื่อ มันก็คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าคำตอบคือประเทศไทยทำได้อยู่แล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปได้ ลองถามเด็ก ๆ รุ่นใหม่ดูว่า เขามีความเชื่อหรือไม่ และมีความภาคภูมิใจในประเทศมากน้อยแค่ไหน มีเรื่องอะไรบ้างที่เขามีความภูมิใจในความเป็นคนไทย แต่ต้องอย่าลืมเริ่มต้นด้วยการถามตัวคุณเองก่อน
ทุกอย่างเริ่มต้นจากความภาคภูมิใจ "You are what you belong" ในพื้นฐานที่คนเอเชียมักคิดคือความกตัญญู คือการรู้ถึงที่มาที่ไปของตัวเอง และสามารถที่จะทดแทนและตอบแทนให้กับที่มาของตัวเอง อันนี้เป็นความภาคภูมิใจขั้นพื้นฐาน
ด้วยสื่อ หนังสือ และระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน และรวมถึงระบอบที่เป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ทำให้ลืมพื้นฐาน ที่มาที่ไป และความภาคภูมิใจของตัวเราเอง รวมทั้งลืมความเป็นไทย ที่สามารถสร้างคุณค่าให้คนทั้งโลกได้
ในฐานะผู้นำขององค์กรไทยองค์กรหนึ่ง หลายครั้งที่ผมตั้งคำถามว่า เราจะทำสิ่งใหม่ ๆ ได้หรือไม่ แต่คำถามที่ผมมักได้รับกลับมา คือมีประเทศอื่นทำสำเร็จหรือยัง ถ้าไม่มี แล้วเราจะทำสำเร็จได้หรือ ซึ่งก็ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับองค์กรไทย แต่ผมมีความหวังว่าสักวันหนึ่งที่ผมถามถึงการทำเรื่องอะไรใหม่ ๆ จะมีคนถามผมกลับว่าทำไมเราจะทำไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดเช่นเดียวกัน เพราะผมมั่นใจว่าคนไทยทำได้
ผมมั่นใจในศักยภาพของคนไทย และภูมิใจในความเป็นคนไทย
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น