คอลัมน์ Smart SMEs
ในตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเห็นโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีตั้งแต่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่จนถึงโครงการขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน ที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างมาก มูลค่าของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้านี้ราว 8.5%
ถือว่าสอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีศักยภาพอยู่ โดยเฉพาะตลาดตามเขตหัวเมืองใหญ่ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น เรียกว่าเป็นแหล่งทำเลทองที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ได้กว้านซื้อที่ดินไปทำโครงการที่อยู่อาศัยกันหมด
สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่างจังหวัดเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในปลายปี 2554 ทำให้คนเริ่มกระจายความเสี่ยง มาหาซื้อที่พักอาศัยในต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ประกอบกับการอิ่มตัวในตลาดส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯและปริมณฑล กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ต้องเริ่มหาตลาดใหม่ ๆ
นอกจากนี้การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และจังหวัดที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่ม AEC กลายเป็นที่ต้องการของนักลงทุน
จากความร้อนแรงของธุรกิจอสังหาริม ทรัพย์ดังกล่าว ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ผมยังไม่ค่อยกังวล เพราะมีเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการกว้านซื้อที่ดิน แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ต้องการซื้อที่ดิน ก็จะต้องไปเสาะแสวงหาสินเชื่อเพื่อมาขยายโครงการ ซึ่งถ้าโครงการได้รับความสนใจจากตลาดและสามารถขายได้หมดก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าหากเกิดสภาวะฟองสบู่แตกขึ้นมาก็จะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจได้
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ยังไม่ได้เกิดสภาวะฟองสบู่ก็ตาม แต่การที่ผู้ประกอบการจะขยายโครงการเพิ่มขึ้น ก็จะต้องมีต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง อาทิ เรื่องค่าแรง ที่เป็นต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจก่อสร้าง เพราะส่วนใหญ่แรงงานก่อสร้างจะรับค่าจ้างเป็นรายวันตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับกับต้นทุน เพราะต้องบวกอัตราค่าแรงใหม่เข้าไปในค่าก่อสร้างด้วย
ยิ่งกว่านั้นผลกระทบของต้นทุนค่าแรงที่เกิดขึ้น ยังกระทบต่อไปยังค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างบางรายการที่ปรับขึ้นตามค่าแรงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้กำลังการผลิตจำนวนมาก
นอกจากนี้ราคาที่ดินในปี 2556 ก็มีทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ พื้นที่เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ในย่านธุรกิจที่สำคัญทั้งในกรุงเทพฯ และในพื้นที่หัวเมืองในต่างจังหวัดที่เศรษฐกิจเติบโตสูง
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าแม้ว่าทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตอนนี้ยังมีแนวโน้มที่สดใส แต่ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงไม่มีความแน่นอน เพราะมีปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ความผันผวนของค่าเงินบาท ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ยังไม่แน่นอน และวิกฤตการณ์อื่น ๆ ที่เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในตอนนี้
ดังนั้น ผมขอฝากให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะรายเล็กที่คิดจะขยายธุรกิจในช่วงนี้ ต้องศึกษาตลาดให้รอบคอบและวางแผนการเงินให้รัดกุม ในฝั่งธนาคารพาณิชย์เองก็เฝ้าระวังในการปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง หากปล่อยสินเชื่อไม่รอบคอบก็จะทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นมาได้ ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อตัวผู้ประกอบการและธนาคารเองด้วยเช่นกันครับ
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น