ปมปัญหาเงินบาทแข็งค่าจนทำให้ผู้ส่งออกเสียหายหนัก ประเทศชาติส่อแวววิกฤตเศรษฐกิจอีกรอบ แต่การแก้ไขหรือดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนตัวลงตามเสียงเรียกร้องของภาคเอกชนยังคงไม่เกิดขึ้นแถมยังบานปลายเป็นประเด็นขัดแย้งอย่างหนัก ระหว่าง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น การส่งออกก็จะได้รับผลกระทบในทันที ประการแรกผลกระทบจากการลดลงของผู้ซื้อสินค้าของไทย เพราะเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เคยซื้อสินค้าไทยได้ 30-31 บาท แต่มาตอนนี้กลับซื้อสินค้าไทยได้แค่ 28-29 บาทเท่านั้น
เท่ากับว่าสินค้าไทยแพงขึ้น ผู้นำเข้าจึงหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งของไทยแทน
นั่นคือเจ๊งแรกของประเทศ ที่ส่งออกสินค้าได้น้อยลง อย่าว่าแต่เป้าในการส่งออกจะลดลงเลย การที่รายได้เข้าประเทศน้อยลงเช่นที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลนายกฯปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยหวังเอาไว้ว่า GDP ของไทยปีนี้จะโต 8-9% ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็ลืมไปได้เลย
เจ๊งที่ 2 ก็คือบรรดาผู้ส่งออกที่ขาดทุนบักโกรกไปตามๆกัน จากที่เคยกำหนดราคาขายเอาไว้ 1 ดอลลาร์เพราะคิดว่าจะได้เงิน 30 -31 บาท พอจะมีกำไรบ้างเนื่องจากต้นทุนอยู่ที่ 29 บาท กลับกลายเป็นขาดทุนในทันที... แค่ขายก็ขาดทุนแล้ว อย่าว่าแต่ลดราคาแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านเลย ซึ่งก็ทำไม่ได้เหมือนกัน เพราะค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับค่าเงินในประเทศอื่นๆ
ฉะนั้นนี่คือเหตุผลที่ทำไมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ต่างออกมาประสานเสียง ร้องลั่นไปหมดว่าแย่แล้ว ไม่ไหวแล้ว ทำอย่างไรก็ได้ ช่วยดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนลงด้วยเถิด
นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และคือเหตุผลว่าทำไมภาคธุรกิจเอกชนจึงโหยหวนขอความเห็นใจว่า แบงก์ชาติช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงทีเถิด
และเป็นเหตุให้นำมาซึ่งการถกเถียงกันเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ที่กระทรวงการคลัง ภาคธุรกิจเอกชนต้องการให้ แบงก์ชาติ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเสียที เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจะได้ลดน้อยลง ค่าเงินบาทจะได้อ่อนตัวลงมาบ้าง
แต่ทางแบงก์ชาติ และ กนง.กลับไม่เห็นด้วยในการที่จะลดอัตราดอกเบี้ย
ประเด็นของการลดไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ที่ไปเกี่ยวข้องกับการแข็งขึ้นของค่าเงินบาท ก็เนื่องจากว่า เมื่อแบงก์ชาติ และ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับที่สูงกว่าประเทศต่างๆ โดยอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 2.75% ในขณะที่ประเทศอื่นๆอยู่ที่ 0 – 1.25% จึงเท่ากับดอกเบี้ยไทยเป็นแม่เหล็กขนาดมหึมาที่จะดึงให้ต่างชาติเอาเงินเข้ามาฝากมาลงทุนในไทย
ฝากที่ประเทศตัวเองได้ไม่ถึง 1% แต่มาซื้อตราสารหนี้มาซื้อพันธบัตรของไทย ได้ดอกเบี้ย 2.75 – 3% มีหรือต่างชาติจะไม่สนใจเข้ามา
ซึ่งวิธีการเข้ามาพวกนี้ก็จะต้องมาซื้อเงินบาท เพื่อเข้ามาลงทุนในไทย เมื่อเงินต่างชาติทะลักเข้ามามากมาย ค่าเงินบาทก็เลยแข็งค่าขึ้นอย่างที่เห็น และนี่เองเป็นเหตุผลที่มีการเรียกร้องให้แบงก์ชาติ และ กนง.ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลงมาบ้าง ประเทศอื่นๆเขาลดอัตราดอกเบี้ยกันอุตลุดแล้ว ล่าสุดธนาคารกลางของออสเตรเลียก็ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก 0.25% แล้ว
ถ้าดอกเบี้ยลดลงไปใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ เงินที่เคยไหลเข้ามามากมาย ก็จะชะลอตัวลง หรือดึงเงินกลับคืนไปลงทุนที่ประเทศอื่นแทน ค่าเงินบาทจะได้อ่อนตัวลงมาบ้าง
แต่แบงก์ชาติยืนกรานที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะกลัวจะเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์
ในขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีคลัง แถมเป็นอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญใน กนง. และยังเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นแบงก์ที่นายประสารเคยไปนั่งเป็นเอ็มดีมาแล้ว ก็ได้มีการออกมาสนับสนุนแนวทางของนายประสารแบบเต็มที่ โดยอ้างว่า การลดดอกเบี้ยไม่ช่วยอะไรได้มาก
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นายประสารจะเสียงแข็งที่จะไม่ลดดอกเบี้ย แถม กนง. ก็ยังเล่นบทลอยตัว เห็นได้จากการออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่บอกว่า ห่วงใยต่อความผันผวนและการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในระยะที่ผ่านมา ซึ่งบางช่วงอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการจึงเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้วางไว้แล้ว รวมถึงการผสมผสานมาตรการและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
บอกว่าห่วง แต่ก็ไม่มีมาตรการใดๆที่ชัดเจนออกมา ทำให้ล่าสุดทางนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องออกมาเรียกร้องให้ กนง.ประชุมพิจารณาลดดอกเบี้ยภายใน 24 ชั่วโมง
ชัดเจนว่าเดินพันในเรื่องความเสียหายของประเทศรุนแรงมากขึ้นทุกที
ในขณะที่ทั้งนายกิตติรัตน์ และนายประสาร ก็ยังไม่สามารถที่จะคุยกันได้รู้เรื่อง กระทั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องใช้สิทธิของการเป็นนายกรัฐมนตรี สั่งให้ทั้ง 2 คน ไปเปิดร้านอาหารคุยกันให้รู้เรื่องเสียที เพราะขืนปล่อยเอาไว้อย่างนี้ ประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย
ปัญหาในขณะนี้นอกจากการเมือง จะมีการแบ่งแยกแตกขั้วกันอย่างชัดเจนแล้ว แม้แต่ในภาคเศรษฐกิจก็มีการแบ่งแยกแตกขั้วเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งๆที่เวลาที่เกิดวิกฤต เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น มันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทั้งหมดทุกภาคส่วนของประเทศ
ท่าทีของนายประสาร ที่เลือกจะไม่ยอมลดดอกเบี้ยเลยแม้แต่สักนิด แต่กลับเลือกเสนอมาตรการดูแลค่าเงินบาท 4 แนวทาง ออกมาแทน โดยมาตรการที่ 1 คือ การออกพันธบัตรของธปท. ที่สามารถกำหนดห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อพันธบัตร มาตรการที่ 2 การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังให้กำหนดระยะเวลาการถือครอง เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร มาตรการที่ 3 คือ เสนอให้เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เมื่อได้รับผลตอบแทน
และมาตรการที่ 4 ยังไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ใช้กัน คือ กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามา ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบังคับไม่ให้ได้รับผลตอบแทนทางบวก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ
มองให้ลึกลงไปในข้อเสนอทั้ง 4 ข้อของแบงก์ชาติ ไม่ว่าอย่างไรก็เห็นแต่เงาของนายประสารและ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นั่นแหละที่อยู่เบื้องหลังแนวคิด
และทำให้หลายฝ่ายอดคิดไม่ได้ว่า หรือว่าที่ไม่ยอมให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะต้องการให้เกิดเหตุซ้ำรอย เหมือนเมื่อปี 2549 ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% กับเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย
ครั้งนั้น ตลาดหุ้นไทยตกวินาศสันตะโร 100 กว่า 200 จุดมาแล้วในชั่วข้ามคืน... หรือว่าครั้งนี้ ก็อยากจะให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนั้นซ้ำรอยขึ้นมาอีก
ทำให้มีการตั้งประเด็นสงสัยว่า แล้วทำไมจึงอยากให้ตลาดหุ้นไทยพังพาบลง ซึ่งก็น่าจะมีเพียงเหตุผลเดียวก็คือ การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย จนดัชนีหุ้นมาจ่อที่ระดับ 1600 จุด และคาดการณ์กันว่า สิ้นปีดัชนีหุ้นไทยน่าจะไปที่ 1,700 จุดได้
ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มเครดิต เพิ่มคะแนนบวกให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากขึ้น
แต่หากเจอมาตรการ Capital Control เข้าให้ ตลาดหุ้นตก 200 กว่าจุดเหมือนเมื่อปี 49 ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการถล่มแหลกทางการเมืองได้ในทันทีว่า เป็นความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาล
การออกมาตรการสำรอง 30% ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ครั้งนั้น โดนด่าหนักเพียงใด หม่อมอุ๋ยย่อมรู้ซึ้งแก่ใจ เพียงแต่บังเอิญตอนนั้นเป็นรัฐบาลมาคลอดมาจากมดลูกของ คมช. ไม่ใช่รัฐบาลที่เลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็คงอยู่ลำบาก
แต่ขนาดนั้นสุดท้าย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็อยู่ไม่ได้ในที่สุด
ปัญหาก็คือ การแข็งขืนไม่ยอมลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ และการออกมาหนุนท่าทีแบงก์ชาติ ของบรรดาขั้วตรงข้ามรัฐบาลทั้งหลายนั้น มีเจตนาอย่างที่ผู้คนในแวดวงตลาดทุนตั้งข้อสงสัยกันหรือไม่???
หากเป็นจริง ก็ต้องถือว่าเป็นเกมการเมืองที่โหดเหี้ยมเอามากๆ เพราะการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น ไม่ใช่เป็นเพราะลำพังผลงานรัฐบาล หรือไม่ใช่มีแต่นักการเมืองหรือคนที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลเข้าไปลงทุน แต่ยังมีนักลงทุนรายย่อย รายบุคคล อีกเป็นจำนววนนับแสนๆคนที่เข้าไปลงทุนโดยสุจริตอยู่ด้วย
หากตลาดหุ้นต้องพังลงด้วยเหตุผลลึกๆทางการเมือง หรือเพียงเพื่อผลประโยชน์ตัณหาทางการเมืองจริงๆแล้ว ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนไทยควรจะต้องจดจารึกซื่อคนที่เกี่ยวข้องใส่บัญชีหนังสุนัขกันเอาไว้เลยว่า เพื่อเกมทางการเมือง ทำกันจนนักลงทุน จนเศรษฐกิจพัง ก็ยังทำได้เช่นนั้นหรือ
แต่หากไม่ใช่ทางผู้ว่าแบงก์ชาติ ควรจะต้องพูดให้ชัดเจนไปเลยว่า ทำไมจึงยอมลดดอกเบี้ยลดไม่ได้แม้แต่เพียงแค่สลึงเดียว
ทั้งๆที่ในอดีตที่ผ่านมา การลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำ จะมีฮือฮาหน่อยก็คือลด 0.50% ซึ่งอดีตก็มีเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ขนาดว่าภาคธุรกิจเอกชนวิงวอนกันขนาดนี้แล้ว แต่ไม่ยอมเป็นไม่ยอม ตรงนี้แหละลูกผู้ชายอย่างนายประสารน่าจะพูดให้ชัดเจนไปเลย
ขณะเดียวกัน นายกิตติรัตน์เอง วันนี้ก็จะมัวมาเล่นบทอ่อนแออยู่ไม่ได้แล้วเช่นกัน ไม่ใช่เอาแต่โอดครวญว่าอยากจะปลดนายประสารเป็นรายวัน แต่ผ่านมาเป็นเดือนแล้ว ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจาบ่นไปเรื่อยๆ ทำให้นายประสารเกิดภาพเป็นลบในสายตาของภาพธุรกิจ
ถ้าคิดว่านี่เป็นเกมที่จะทำให้นายประสารเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำได้ในที่สุด ก็เป็นแผนที่ไม่เข้าท่า เพราะระหว่างนั้น กลายเป็นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ นักลงทุน ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้สังคมไทยรู้หมดแล้วว่ามีการเผชิญหน้ากันระหว่าง รัฐมนตรีคลัง กับ ผู้ว่าแบงก์ชาติ
แต่ก็เป็นการรับรู้ภายใต้การสับสนงุนงง ว่าตกลงแล้วใครผิดใครถูก ใครเดินเกมเดินแผนร้าย และสุดท้ายใครจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายเป็นฝ่ายไป
จริงแล้วทั้ง 2 คน คือนายกิตติรัตน์ และนายประสาร ควรจะต้องตระหนักด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายว่า การมองต่างมุม และการเผชิญหน้ากันในครั้งนี้ เป็นศึกที่คนทั้งคู่สามารถกุมชะตาเศรษฐกิจของประเทศ ชนิดที่จะทำให้ประเทศชาติพลิกคว่ำพลิกหงายได้
แล้วทำไมยังดันอุตริเล่นเกม หรือยังดันทุรังคาราคาซังกันอยู่แบบนี้
ถ้านายกิตติรัตน์ ยอมรับว่าไม่มีปัญญาจัดการกับผู้ว่าแบงก์ชาติให้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้ ก็ลาออกไปเลย
หรือถ้านายประสารเห็นว่าไม่สามารถจะทำตามทิศทางของรัฐบาลได้ ไม่ยอมรับการแทรกแซง ก็ลาออกไปเสียไม่ดีกว่าหรือ?
นายประสารเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติ ควรจะต้องจำคำของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เป็นอย่างดีว่า หากผู้ว่าแบงก์ชาติ อึดอัดใจ ไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องลาออกไป
ดังนั้นวันนี้ไม่ใช่แค่ทั้ง 2 คน จะไปนั่งกินอาหารคุยกันว่าจะตกลงเรื่องนี้อย่างไร แต่ทั้งคู่ควรจะต้องมีสำนึกว่า แล้วประเทศชาติจะอยู่อย่างไร
หากยังขัดแย้งกันไม่เลิกราอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้
ที่มา.บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น