--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วอน ธปท - คลัง ยุติศึก กิตติรัตน์ รับ 2 มาตรฐาน กนง.คุมค่าเงินบาท รูดไร้ทิศทาง !!?

รมว.คลังรับ 2 มาตรการ กนง.ยุติศึก หวั่นเฮดจ์ฟันด์ยกระดับโจมตีบาท ด้านส.อ.ท.เดินสายไม่หยุดเข้าทำเนียบเสนอ 5 ข้อ ยํ้าเร่งแก้ด่วน หอการค้าวอน 2 หน่วยงานยุติศึก ชี้ส่งผลกระทบความเชื่อมั่น นักลงทุนถอยจากตลาดรอดูสถานการณ์ เปิด 5 มาตรการ แบงก์ชาติชงรับมือบาทแข็ง ไม่ยอมแตะดอกเบี้ยอาร์/พี ทำความอดทนคลัง ขาดผึง "โกร่ง" ร้องนายกฯปูดูแลด้วยตนเอง
 
ความขัดแย้งคลังกับแบงก์ชาติ จากความเห็นต่างในมาตรการดูแลค่าบาท บานปลายเป็นวิกฤติความเชื่อมั่นแล้ว เมื่อกระแสข่าวปลดนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังลือกระฉ่อนไม่หยุด โดยทั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธปท. และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงตนชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธปท. เพียงแต่ยังเกี่ยงว่าเป็นอำนาจของใคร นั้น

-แก้บาท รอ นายกฯปู
 
ที่ผ่านมา นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ดธปท. ได้เปิดแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล วิจารณ์การทำงานของผู้ว่าการ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อย่างหนักว่า ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการในธปท.ได้  "คงต้องฝากท่านนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาดูแล ส่วนที่ครม.อาจจะมีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนผู้ว่าการธปท.ได้ ก็ไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น"
 
ขณะที่ภาคเอกชนเดินสายต่อร้องทางการเร่งแก้บาทแข็ง โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) พร้อมด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร และสิ่งทอ เข้าพบนายกฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากที่ไปพบผู้ว่าการ ธปท. มาก่อนแล้ว
 
เพื่อยื่นหนังสือเสนอ 5 มาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาท  พร้อมระบุว่า แม้ค่าเงินบาทในตอนนี้อ่อนค่าลง แต่ก็มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง  ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม ได้ขยายวงกว้างครอบคลุมทุกระดับแล้ว เห็นได้จากหลายธุรกิจสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ทดแทนสินค้าในประเทศแล้ว และคาดว่ามูลค่าการส่งออกที่ลดลง เห็นได้ชัดเจนในไตรมาส 2 และ 3 ทำให้ทั้งปีนี้การส่งออกจะขยายตัวเพียง 4-5% หรือครึ่งหนึ่งของเป้าที่ตั้งไว้ 8-9%  
 
ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ภาครัฐกังวลถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น เพราะกลัวว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก จะไม่ได้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่เป็นการเข้าไปเก็งกำไรในตราสารหนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเร่งไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเร่งเดินหน้าโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการนำเงินบาทมาใช้ในการลงทุน เพื่อลดแรงกดดันปัญหาเงินบาทแข็งค่า

-วิวาทะหนัก"หนุน-ปลด"ประสาร
 
ส่วนเรื่องการปลดผู้ว่าการ ธปท.กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันอย่างกว้างขวาง มีทั้งที่สนับสนุนจุดยืนของฝ่ายการเมือง-รัฐบาล ที่เห็นว่าต้องเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. และที่เห็นคัดค้าน อาทิ นายพรายพล  คุ้มทรัพย์ อดีตบอร์ดกนง.กล่าวว่า ส่วนตัวมองไม่ควรปลด เพราะยังไม่เห็นมีรายละเอียดอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรงในการทำหน้าที่ของผู้ว่าการ ธปท.ถ้าจะปลดต้องอธิบายเหตุผลให้ชัด   ถ้าตอบไม่ได้แปลว่า"มั่ว"
 
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกระทรวงการคลังอาจจะบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปลดผู้ว่าการธปท.  ถ้ามีการปลดผู้ว่าการธปท. ย่อมทำให้ภาพรวมของประเทศไทยไม่ดีแน่ และเชื่อว่าจะตามมาด้วยการสรรหาผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ และการวางคนใหม่ให้บอร์ดกนง.ใหม่ว่านอนสอนง่าย
 
ขณะเดียวกันนายพรายพลยังได้แนะนำให้มองรอบด้าน ถึงกรณีที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  เพราะการลดอาร์/พีไม่ใช่มีผลเพียงสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับผู้ออมเงิน หรือผู้ลงทุน และปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงด้วย (อ่านประกอบล้อมกรอบ)

-วอนยุติความขัดแย้ง
 
ความขัดแย้งที่บานปลายนี้ส่งผลให้ภาคเอกชนกังวลหนัก โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากธปท.และรัฐบาลขัดแย้งกัน จะทำให้นักธุรกิจไม่เชื่อมั่น โดยเห็นได้จากข่าวปลดผู้ว่าการ ธปท. ทำให้เช้าวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 29.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่แข็งค่าขึ้นไปแตะที่กว่า 27 บาท
 
ข่าวเช่นนี้เป็นเรื่องไม่ดี เพราะนักลงทุนต่างประเทศกำลังเฝ้ามองข่าวที่เกิดขึ้นอยู่ ว่าจะแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากนี้อย่างไร และภาคเอกชนก็เห็นว่า รัฐบาลและธปท.ควรทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยต่างฝ่ายต่างใช้กลไกที่มีในการเข้ามาจัดการเงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร เชื่อว่าถ้ามีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน จะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้"
 
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่  3 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากวันก่อนหน้าที่ 29.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 28.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินบาทอ่อนค่าลงจากแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลต่อท่าทีของทางการ ในการดูแลความเคลื่อนไหวของเงินบาท  นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้น และพันธบัตรไทยเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทด้วย

-5มาตรการธปท.จุดแตกหักคลัง
 
ความขัดแย้งคลัง-แบงก์ชาติ มาถึงจุดแตกหัก เมื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง ได้รับหนังสือตอบกลับจากผู้ว่าการ ธปท. ตอบข้อถามถึงสถานการณ์และการแก้ปัญหาค่าบาท โดยก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันดูแล  โดยหนังสือธปท.ระบุได้เตรียมมาตรการ 5 ข้อดูแลค่าเงินบาทในสถานการณ์ความรุนแรงระดับต่าง ๆ โดยไม่ระบุการลดอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีอย่างที่คลังต้องการเลย
 
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า มาตรการ 5 ข้อของธปท.ดังกล่าว ประกอบด้วย  1.กันสำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ (เคยใช้ปี 2549 กันสำรอง 30%)  2.การประกันความเสี่ยงเต็มจำนวน(Fully Hedge) 3.กำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรไม่น้อยกว่า 6 เดือน 4.ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยและกำไรในการลงทุนพันธบัตร(Withholding Tax อัตราภาษี 15%) 5.ภาษีที่จัดเก็บจากธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Tobin Tax)
 
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลรับรู้เช่นนี้จึงสั่งเบรก และตีกลับไปให้พิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง รวมถึงมีการสอบถามถึงอำนาจในการปลดผู้ว่าการ ธปท. จนนำไปสู่ข่าวลือในตลาดหุ้น  ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องถอยเพื่อตั้งหลัก รอดูว่ารัฐบาลและธปท.จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย เท่ากับว่างานนี้ยังไม่มีใครต้องออกมาตรการอะไรมาสกัดเงินทุนไหลเข้า ค่าบาทได้อ่อนลงแล้วแต่เกิดจากวิกฤติความเชื่อมั่นในการบริหารนโยบายของรัฐ ที่ยังคาราคาซังอยู่จนถึงตอนนี้

-โต้งรับ 2ข้อเสนอคุมเงินบาท
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ข้อเสนอของ ธปท.ที่สำคัญ 2 มาตรการ คือ1.การกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติถือครองเงินบาทที่ลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงพันธบัตรของรัฐบาลและ ธปท.ตามระยะเวลาที่ ธปท.กำหนดและ2.การคิดค่าธรรมเนียมกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
   
มาตราการที่ ธปท.ส่งมาให้กระทรวงการคลังรับทราบ มันกว้างมากๆ จึงถือว่า ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ที่จะออกมาตรการช่วงนี้ เพื่อดูแลค่าเงินบาทเพราะตัวผมเองก็ไม่รู้ว่า ธปท.จะนำมาตรการใดมาใช้ในเวลาไหนเพียงแต่ผู้ว่าการ ธปท.บอกว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม"

-หนุนคุมลงทุนระยะสั้น
 
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาชิกสภาตลาดทุนได้หารือถึงสถานการณ์บาทแข็งแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่า บาทแข็งเกิดจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย จึงเสนอภาครัฐออกมาตรการจำกัดการเก็งกำไรของต่างชาติ ด้วยการห้ามนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทันตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่ถึง 6 เดือน เพราะการเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นดังกล่าว ถือเป็นต้นตอของปัญหาบาทแข็งในช่วงที่ผ่านมา
 
การจำกัดการเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด เราไม่เห็นด้วยที่จะออกมาตรการที่กระทบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ตลาดทุน และการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพราะไทยยังต้องการเม็ดเงินระยะยาวมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน"
-แหยงเฮดจ์ฟันด์ยกระดับโจมตีเงินบาท
 
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมตั้งข้อสังเกตว่า  ความขัดแย้งคลัง-ธปท.เวลานี้  อาจทำให้นักเก็งกำไรฉวยจังหวะยกระดับโจมตีเงินบาท ซึ่งในที่สุดทำให้ธปท.ต้องงัดมาตรการเข้มข้น ให้กันสำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศในอัตรา 30 % ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นปัญหาในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนไม่กล้าเข้ามา ยกเว้นเมืองไทยไม่ต้องการกู้เงินจากต่างประเทศแล้ว
 
ขณะเดียวกันยังมีความเป็นห่วงกรณีนักลงทุนรับทราบว่าเมืองไทยสนับสนุนเงินลงทุนโดยตรง(FDI) จึงเสนอให้มีการแยกบัญชี FDI ให้ชัด เพราะกลัวว่านักลงทุนจะฉวยโอกาสโยกเงินไปทำกำไร ก่อนจะโอนกลับเข้ามาในบัญชีFDI แต่จนถึงตอนนี้ทางธปท.ยังไม่แยกรายละเอียดนักลงทุนที่เข้ามา อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นที่ยังเป็นสุญญากาศ อยากเสนอให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งเดียวในอัตรา 1%

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น