กิตติรัตน์ รายงานครม. ยัน “คลัง” รวบรวมมาตรการแก้ไขปัญหา “บาทแข็ง” ไปให้ผู้ว่าฯธปท.พิจารณาแล้ว รวมถึงความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ย ด้าน “กกร.” เตือนผู้ประกอบการเตรียมรับมือบาทแข็งค่าได้อีก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้รายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทให้ครม.รับทราบ โดยรัฐบาลก็มีความห่วงใยในการแก้ปัญหา และเห็นว่าต้องแก้โดยภาพรวมทั้งนโยบายการเงินและการคลังควบคู่กัน
ทั้งนี้ ได้ให้คลังรวบรวมมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อประสานไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ซึ่งตามข้อกฎหมายรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธปท.ได้ แต่คลังก็จะคอยทำหน้าที่ประสานและให้นโยบาย ซึ่งจะเป็นเชิงของการพูดคุย พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า รัฐบาลพอใจการทำงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขออนุญาตไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะจริงๆ แล้วนายกรัฐมนตรีไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงได้
ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ในการดูแลค่าเงินบาทด้วยการทำหนังสืออีกฉบับ เพื่อสอบถามไปยังธปท.เกี่ยวกับแนวคิดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ ธปท.จะมองว่าการลดดอกเบี้ยจะไม่มีปัจจัยสำคัญต่อการไหลเข้าของเงินทุน เพราะมองว่าเงินทุนไหลเข้าขณะนี้ เพื่อเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและเก็งกำไรส่วนต่างของค่าเงิน
“ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังติดตามดูแลค่าเงินบาท โดยกระทรวงการคลังยังเป็นห่วงจากอัตราแลกเปลี่ยน และมองว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเป็นโอกาสสำคัญของการตัดสินใจเข้ามาหาส่วนต่างจากทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินบาท จึงแยกออกจากกันไม่ได้ และติงคณะทำงานของ ธปท. ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วยังไม่มีความคืบหน้า” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ในวันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสอท.กล่าวว่าที่ประชุมได้เชิญม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าการ ธปท. มาร่วมให้ข้อมูลและเสนอแนะการปรับตัวของเอกชนต่อภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า
“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ชี้ให้เห็นว่าค่าเงินบาท ของไทยปี 2540 ตั้งแต่ 45 บาทต่อเหรียญสหรัฐต่อมาใน ปี 2544 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 45.4 บาทต่อเหรียญ ปี 2546 บาท อยู่ที่ 37.56 บาทต่อเหรียญ ขณะนี้ 29 บาทต่อเหรียญก็เห็นว่าบาทไทยมีแต่จะแข็งขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะเอเชียที่เงินจะไหลมาอีกมาก โอกาสจะเห็น 31 บาทต่อเหรียญจะไม่มีแล้ว แต่สิ่งที่เห็นตรงกันคือช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาบาทของไทยแข็งค่ามากเกินพื้นฐานเศรษฐกิจ” นายพยุงศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ กกร.พอใจการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธปท. ที่ใช้มาตรการผสมผสานระหว่างมาตรการการเงินและการคลัง โดยเฉพาะท่าทีของผู้ว่าการ ธปท.ที่ส่งสัญญาณว่าเงินบาทที่แข็งค่ามากของไทยช่วงที่ผ่านมาเกินพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เงินบาทในช่วงนี้เริ่มอ่อนค่าลง และเป้าหมายต่อไปคือการสร้างเสถียรภาพของเงินบาท ซึ่งจะต้องดูแลและเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินแบบวันต่อวัน
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่าค่าเงินบาทวันที่ 7 พฤษภาคม ปิดตลาดที่ระดับ 29.58-29.60 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากที่เปิดตลาดในช่วงเช้า โดยระหว่างวันอ่อนค่าสุด 29.68 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อยปิดที่ระดับดังกล่าว
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น