กิตติรัตน์.เผยไม่ได้กดดันกนง.ลดดอกเบี้ยแค่ขอให้ใช้มาตรการดูแลบาทเหมาะสม ด้านผู้ว่าฯ ธปท.รับหารือคลัง-กนง.-เอกชนสร้างสรรค์ไม่มีแรงกดดัน เอกชนมั่นใจจีดีพีปีนี้โตเกิน 5% หากรัฐ-เอกชนบูรณาการแก้ปัญหาบาทมีเสถียรภาพ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนเดิม 3.ทิศทางและกำลังซื้อของผู้บริโภค 4.สถานการณ์การส่งออกและการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯเห็นตรงกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ดี แม้ในปี 55 เศรษฐกิจจะเผชิญความยากลำบากจากการเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ในปลายปี 54 รวมทั้งปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ส่วนการส่งออกในปีนี้ เห็นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกัน นอกเหนือจากเรื่องการดูแลปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น เห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปและมีความผันผวนจะทำให้การส่งออกขยายตัวลำบาก ทุกภาคส่วนควรดูแลและทำงานร่วมกันให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพไม่มีความผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินของทั้งประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง เพื่อให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งค่าเงินที่สามารถแข่งขันได้นั้นจึงไม่ควรเทียบเฉพาะสกุลดอลลาร์เท่านั้น แต่ต้องเทียบกับทั้งสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่งด้วย
ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยและพำนักของชาวต่างชาติ ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกได้มีการหารือกันถึงการรักษาฝีมือแรงงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ
วันนี้ไม่ได้พูดเจาะจงเรื่องการส่งออก แต่พูดถึงเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ถึง เพราะเมื่อรวมกลจักรเศรษฐกิจอื่นๆ ก็น่าจะขยายตัวได้" นายกิตติรัตน์ กล่าว
พร้อมมองว่า กรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ได้หารือกัน แต่โดยภาพรวมวันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และต้องทำให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนในระดับเหมาะสม
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนไม่ได้คาดหวังถึงการเข้าไปควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก แต่ต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลช่วยพิจารณาแนวทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ดังนั้น กนง.และธปท.ต้องสามารถสื่อสารระหว่างกัน และขอฝากให้มีการพิจารณาให้มากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทอย่างรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีเสถียรภาพ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าว่า ที่ประชุมในวันนี้ ยังไม่มีการพูดถึงการออกมาตรการใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ตลอดจนไม่ได้พูดถึงแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เป็นเพียงการหารือในภาพรวมของเศรษฐกิจ และความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่จะต้องเผชิญในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งความต้องการของภาคเอกชนที่ขอให้ช่วยดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่ผันผวน
ที่ประชุมวันนี้ได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการรับทราบข้อมูลปัญหาของภาคเอกชน เช่น การขาดแรงงาน, ประสิทธิภาพด้านการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน โดยต่างเห็นตรงกันว่ายังมีปัญหาที่ต้องเผชิญและเป็นความท้าทายในทุกภาคส่วน พร้อมมองว่ายังมีความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงโดยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีความเข้าใจร่วมกันว่า แม้เงินบาทจะมีความผันผวน แต่จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเช่นเดียวกับทิศทางสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่อ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ถือเป็นอุธาหรณ์ว่าไม่ควรประมาทหรือวางใจแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขสำหรับภาพรวมในระยะกลางและระยะยาวที่ยังมีปัญหาต้องเผชิญในอีกหลายมิติ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ใช่เฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหรือการเงินโลกเท่านั้น
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการประชุม กนง.ในวันที่ 29 พ.ค. และการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรร มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันไม่เฉพาะแต่เรื่องการเงินเท่านั้น
พร้อมเชื่อว่า การประชุม กนง.ในรอบถัดไปจะได้รับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงและใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะแถลงภาวะเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1/56 และแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ กนง.ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดก่อนที่จะนำไปใช้ตัดสินใจในเรื่องการดูแลค่าเงินบาทต่อไป
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯ ธปท.ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่อง 4 มาตรการที่ธปท.เคยนำเสนอต่อกระทรวงการคลังไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่าการออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้ต่างประเทศตีความไปเกินจำเป็นได้
นายประสาร กล่าวด้วยว่า รมว.คลังได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่าการประชุมในลักษณะเช่นนี้ควรจะจัดให้มีขึ้นอีก แต่อาจเปลี่ยนหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่ง ธปท.ก็ยินดีที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพราะหลายปัญหาต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ไม่ได้หยิบยกมาตราการใดมาหารือเป็นพิเศษ รวมถึงการลดดอกเบี้ย เพียงแต่ ธปท.ได้รับฟังปัญหาของทางภาคเอกชน โดยธปท.ยืนยันว่าจะดูแลอย่างใกล้ชิด และเพื่อรับทราบถึงผลกระทบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน
ทั้งนี้ ถือว่าบรรยากาศการพูดคุยวันนี้เป็นไปด้วยดี เชื่อว่าหากภาครัฐและภาคเอกชนยังร่วมมือกันทำงานแบบนี้ ยังมีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตในระดับเกิน 5% ขึ้นไปได้
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้สะท้อน ข้อมูลผลกระทบเรื่อง Supply Chain จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาค่าเงินบาทได้ได้เข้าไปมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์
พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนยืนยันว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจเข้ามาช่วยกันการทำงาน ก็เป็นการตอกย้ำการทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและดูแลค่าเงินบาทในช่วงเวลาที่เหมาะสม
นายพยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยากให้ดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับภูมิภาค เนื่องจากหากเทียบกับเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นแล้ว เงินบาทถือว่ามีช่วงห่างกับเงินเยนค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังได้พูดถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ประชุมฯเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอยู่จึงจำเป็นต้องดูแลให้ดี
ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น