ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการวางแผนบริหารนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างสูง เพราะตลอด 4 เดือนแรก มีตัวเลขการเจริญเติบโตในส่วนนี้เพียง 4% จากเป้าทั้งปีที่วางไว้ที่ 9%
แม้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะได้รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้เร่งสปีดหาทางออก แต่ดูเหมือนว่าตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่มีถ้อยแถลงถึงมาตรการการแก้ไข
ปัญหาอย่างชัดเจน
เพราะการแก้ปัญหา "เงินบาทแข็ง"
ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องจับมือร่วมกันเดินไปในแนวทางเดียวกัน ลำพังแค่หน่วยงานใต้กำกับของรัฐบาลมิอาจแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จได้
"รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จำเป็นต้องพึ่งกลไกทางการเงินขั้นสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) องค์กรอิสระที่มีภารกิจกำกับเรื่องการเงิน และเฝ้าระวัง
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราอื่น
แม้ ธปท. และรัฐบาล จะเดินเข้า-ออกห้องประชุมร่วมกันไปหลายครั้ง แต่สุดท้ายแนวความคิด มาตรการการแก้ไขปัญหา ยังคงแตกต่างกันอย่างชัดเจน
เพราะฝั่งรัฐบาลต้องการให้ดำเนินการ "ลดดอกเบี้ยนโยบาย" ขณะที่ ธปท.ผู้รับผิดชอบเชื่อว่ามีเครื่องมือที่ดีกว่า ฉะนั้นข้อเสนอของรัฐบาลจึงไม่ได้รับการตอบรับ
เป็นที่มาของอาการหน่ายส่ายหน้าหนีของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่เปรยออกอากาศว่า "คิดจะไล่ผู้ว่าการออกจากตำแหน่งทุกวัน"
เป็นที่มาของ "จดหมายน้อย" ที่ถูกเขียนจากขุนคลัง ส่งถึง "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องลดดอกเบี้ย หากไม่ดำเนินการและเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจ ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ
ไม่เพียงมีแค่ความในใจ-จดหมายน้อยจากขุนคลังเท่านั้นที่ถูกตีความกดดันให้ "ประสาร" ลาออก
หากเพียงแต่องคาพยพอื่น ๆ ที่เลือกยืนข้างเดียวกันกับรัฐบาล ต่างก็เห็นพ้องต้องกัน กับท่าทีไม่ลดดอกเบี้ยของ ธปท. หากเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศมากกว่านี้ ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบ
เช่นเดียวกันกับเมื่อวันที่ 1 พ.ค.
ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน ได้ทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทน ธปท., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายกสมาคมค้าทองคำ, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ฯลฯ เพื่อเปิดประเด็นถกเถียงขึ้นอีกครั้ง
ทั้ง "ไชยา พรหมา" ส.ส.หนองบัวลำภู จากฝั่งเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ เป็นผู้เปิดประเด็นตั้งคำถาม-โยงเรื่องหาคำตอบว่า "เหตุใดไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย
และถ้าหากเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ ธปท.จะรับผิดชอบหรือไม่ ?"
ขณะที่พล-พรรคเพื่อไทยกล่าวย้ำ
การดำเนินงานของ ธปท. แบบ
Conservative เปรียบเสมือน "เด็กดื้อ"
ที่ใครเตือนก็ไม่ฟัง ตั้งใจจะทำในแบบของตนเองอย่างเดียว
ตลอดเวลาการประชุมกว่า 1 ชั่วโมง ทั้งห้องประชุมกรรมาธิการรุมซักถาม-
ยิงประเด็นถึง ธปท. โดยมักมีคำถามพ่วงท้ายว่า "หาก ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย ไม่มีมาตรการที่ชัดเจน แล้วประเทศเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ ?"
นอกจากนี้ยังมีองคาพยพวงนอกของรัฐบาลอย่าง "วีรพงษ์ รามางกูร" ประธานคณะกรรมการ ธปท. ก็ออกมาเปิดเผยความในใจทำนองเดียวกันว่า หากเศรษฐกิจจะพังล้มละลาย นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถรับผิดชอบต่อรัฐสภาได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระ
"ผมเคยตักเตือนแล้ว ดูในรายงานการประชุมได้ เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว และตั้งคณะกรรมการมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธานคณะกรรมการให้สอบข้อเท็จจริงว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับงบดุล
ธนาคารนั้นเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร และส่งให้ผู้ว่าการ ธปท. และให้แจ้งต่อ กนง. ซึ่งผู้ว่าการก็ดูไม่เดือดร้อน"
"ผมได้แสดงความหนักใจต่อที่ประชุมคณะกรรมการ จะให้ผมเป็นตัวกลางก็ไม่ใช่ เพราะผมก็เป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาฟังก็ดี
เขาไม่ฟังก็เสียหน้า เรื่องนี้ต้องฝากให้นายกรัฐมนตรีเป็นตัวกลาง และไม่อยากให้ไปถึงขั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถอดถอนกันเลย"
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตีความตามแบบฉบับฝ่ายค้านว่า เหตุที่ทั้งองคาพยพของรัฐบาลออกมาโจมตี ธปท. มีเหตุผลเหนือชั้นกว่าการปะทะคารมเรื่อง ลด-ไม่ลด ดอกเบี้ยนโยบาย
โดย "สรรเสริญ สมะลาภา" หนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การธนาคารฝั่ง ปชป. บอกว่า ความต้องการที่แท้จริง
ของรัฐบาล คือการสร้างกระแสจากทั้งองคาพยพ เพื่อกดดันให้ ผู้ว่าการ ธปท.ลาออก
"ประเด็นนี้มันใหญ่กว่าเรื่องดอกเบี้ย หากดูเรื่องราวมาตั้งแต่ต้นจะพบว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลเข้ามาทำงาน เขาพยายามสร้างแรงกดดันมาที่ ธปท.ตลอด ตั้งแต่สัญญาณจากนายวีรพงษ์อยากใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งการกดดันให้ ธปท.แก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อนเมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้ก็เรื่องแก้บาทแข็ง"
"เหตุผลทุกอย่างทำให้ผมเข้าใจได้อย่างเดียวว่า การสร้างข้ออ้างเพื่อปลดผู้ว่าการ ธปท. และถามว่าจะทำเพื่ออะไร ผมเชื่อว่าเขาต้องการหาคนที่ควบคุมได้ มาช่วยรัฐบาลนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ"
ทั้งหมดเป็นสัญญาณเสียงถึง ธปท.
ที่มีทั้งดอกไม้ ก้อนอิฐ แฝงนัยทั้งคำถาม คำขู่ และความในใจ
เป็นถ้อยคำที่ "ประสาร" ต้องพินิจ พิเคราะห์ และประมวลผลว่า สุดท้ายจะพิจารณาหาทางออกให้กับตนเอง และ ธปท. อย่างไร
ที่มา.ประชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น