--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อดีต รมว.คลัง แนะแก้บาทแข็ง กิตติรัตน์-ประสาร ผนึกกำลัง เลิกตั้งป้อม !!?


เมื่อ ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ กระทบตรงถึงธุรกิจการส่งออก ร้อนถึงทุกองคาพยพที่รับผิดชอบต่อนโยบายการเงินการคลังของประเทศ จำเป็นต้องระดมสมองหาทางแก้ไข

ฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผู้รับผิดชอบโดยตรงชื่อ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รมว.คลัง และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำนำทัพโดย "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กินเวลาหลายเดือนที่ 2 องค์กรใหญ่ระดมสมอง เพื่อค้นหายุทธวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ที่สุด

"กิตติรัตน์" มีความเห็นให้ ธปท. ผลักดัน ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือเพื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่ "ประสาร" เสนอมาตรการจากอ่อนไปถึงเข้มรวม 4 ข้อ เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่จนถึงวินาทีนี้ "บาทแข็ง" ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกจากปาก 2 ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินการคลังของประเทศ
ปรากฏเพียงแต่ภาพงัดข้อประลองกำลังระหว่าง "กิตติรัตน์-ประสาร" ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ผู้เคยผ่านสมรภูมิรบ 2 องค์กรข้างต้น เคยเป็นทั้ง รมว.คลังคนแรกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเคยนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าการ ธปท. เพื่อวิเคราะห์หาทางออกอีกแรงหนึ่ง

ถามความเห็นเรื่องแรงกดดันจาก รมว.คลัง ถึงการปลดผู้ว่าการ ธปท. เขาบอก "no comment" และขอพูดแต่เรื่องปัญหาค่าเงินเพียงอย่างเดียวโดย ทั้งหมดเป็นความเห็น บทวิเคราะห์ล่วงหน้า 3 วัน ก่อนที่ "กิตติรัตน์" จะเรียกประชุมทุกหน่วยงานเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. โปรดติดตามได้บรรทัดต่อจากนี้

- มอง 4 มาตรการที่เสนอโดย ธปท. อย่างไร

เมื่อ มองดูแล้วว่าโจทย์วันนี้เป็นเรื่องของบาทแข็ง 4 มาตรการนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ ผมคิดว่าสิ่งที่เขาเสนอเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมาตรการ capital control ที่ต้องการควบคุมเงินทุนไหลเข้าโดยตรง ซึ่งเป็นมาตรการที่ ธปท.ออกแบบจากอ่อนไปหาเข้มอยู่แล้ว ทั้งหมดสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยประเมินปฏิกิริยาของนักลงทุนควบคู่ไปด้วย

ผมขอยกตัวอย่าง หากเราบังคับให้นัก ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ว่าต้องมีการคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยน ผลตอบแทนที่เขาได้ก็จะน้อยลงทันที อาจเริ่มต้นคุ้มครอง 10-30% ก่อนที่จะไปถึง 100% แล้วสังเกตดูว่าเงินยังไหลเข้ามาหรือไม่ นี่คือการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำได้ทันทีโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย

- ถ้าดำเนินการตามข้อเสนอ ธปท. ก็ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย

ผม ว่าเรื่องมาตรการของ ธปท. และการลดดอกเบี้ย แยกส่วนเป็นอิสระต่อกัน ฉะนั้นการประชุมวันจันทร์จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่า เศรษฐกิจในต่างประเทศมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเศรษฐกิจภายในยังคงมีความร้อนแรงหรือเบาบางลง เมื่อได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน กนง.ก็อาจจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็ได้

สิ่ง ที่ ธปท.เสนอมา ทั้งการเก็บภาษี การบังคับให้เงินไหลเข้าต้องคุ้มครองอัตราแลกเปลี่ยน ผมไม่มั่นใจว่าเป็นอำนาจของ ธปท.หรือไม่ แม้แต่การห้ามซื้อพันธบัตร ธปท. ก็อาจเป็นอำนาจของเขาหรือไม่ แต่ตามมารยาทการทำงาน ข้อเสนอทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก รมว.คลัง เพราะทุกมาตรการเป็นการใช้อำนาจของ ธปท.ที่เกินกว่ากรณีปกติ

ประเด็น คือ เราจะไปเน้นว่ามาตรการใดเป็นอำนาจของใครมันเป็นเรื่องรอง เพราะทุกมาตรการล้วนมีผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน และจำเป็นต้องอธิบายให้สังคมรับรู้ ฉะนั้นเรื่องหลักคือ Big Move ที่ ธปท.จะได้ตัดสินใจอะไรก็ควรได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมืองอย่างเต็มที่

- ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ต่างมี Big Move คนละเส้นทาง

มันเป็นการตั้งป้อม ผมก็ไม่อยากจะวิจารณ์มากว่ามันมีอะไรอยู่นอกเหนือเรื่องนี้หรือไม่

- แต่ละมาตรการควรใช้เมื่อไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

ต้องกลับ มาดูเรื่องอัตราค่าเงิน นี่เป็นสิ่งที่ตอบยาก เพราะถามแต่ละคนว่าค่าเงินระดับไหนสมควรทำอะไร ก็จะให้คำตอบแตกต่างกัน ฉะนั้นในแง่ระดับค่าเงินบาท ผมคิดว่า ธปท.จำเป็นต้องหาข้อมูลอย่างกว้างขวางจากภาคเอกชน จากผู้เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจ ซึ่งการที่ รมว.คลัง นัดประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องเสียที หลังจากที่ตั้งป้อมยิงปืนใหญ่ใส่ ธปท.มาโดยตลอด

- การตั้งป้อมยิงอย่างนี้มีแต่ผลเสีย

เป็น ผลเสียมากกว่า ผมว่าต้องเลิกตั้งป้อมยิงเสียที ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลตามที่อยากได้ เพราะ กนง.มีหน้าที่ตามกฎหมาย เขาต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจโดยภาพรวม หมายความว่าปัญหาค่าเงินเป็นแค่ไพ่ใบเดียวในมือ กนง. ฉะนั้นการดำเนินการโดยให้ตั้งเป้าหมายไปที่ใบเดียวคงเป็นไปไม่ได้

ดัง นั้นการที่ รมว.คลังเป็นเจ้าภาพนัดหารือ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ผมเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วว่า ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำจะต้องเอาหัวชนกัน ไม่ใช่ขวิดเขาใส่กัน และเวลานี้ก็ต้องเอาภาคธุรกิจมาคุยด้วยก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

- บางฝ่ายวิเคราะห์ว่า การตั้งป้อมอย่างนี้ก็ช่วยให้นักลงทุนถอยออกไปส่วนหนึ่ง

ถ้า ผมเป็น รมว.คลัง และมีข้อตกลงกับผู้ว่าการ ธปท.ชัด ๆ ผมจะเดินออกมาพูดพร้อมกันว่า เรามีความเห็นว่าเงินไหลเข้าประเทศมากไปแล้วนะ หรือเงินบาทแข็งขึ้นไปหน่อยแล้วนะ ผมว่าทำแค่นี้เงินทุนก็ไหลกลับไปเอง หัวใจคือทุกฝ่ายต้องพูดเป็นเนื้อเดียวกันถึงจะจูงตลาดได้

- หากเป็น รมว.คลังอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร

สมัย ที่ผมดำรงตำแหน่ง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการหารือกับภาคเอกชนเป็นประจำ เพราะข้อมูลจากส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญ และโดยตำแหน่ง รมว.คลังเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ธปท. คุมอำนาจทางการเมือง คุมอำนาจรัฐ และเป็นผู้ดูแลกฎหมาย ธปท. ในแง่นี้ ผมจะนัดคุยกับ ธปท. และภาคเอกชนแบบเงียบ ๆ แสดงข้อกังวล เสนอทางออกให้เขาเต็มที่ ทำแบบเงียบ ๆ และต้องแสดงให้คนข้างนอกเห็นว่า ผู้บริหารการเงินการคลังยังผนึกกำลังเป็นเนื้อเดียวกัน

- ทำไมต้องหารือทุกฝ่ายแบบเงียบ ๆ

การ ถกเถียงระหว่าง รมว.คลัง กับ ธปท. ในที่สาธารณะ มันก็เหมือนเอาผ้าปูที่นอนที่เปื้อนแล้วมาซักในที่สาธารณะ เรื่องขัดแย้งทางความคิดมันคุยกันได้แบบเงียบ ๆ เหมือนสมัยท่านสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ท่านนัดประชุมแบบเงียบ ๆ เป็นประจำ เราเรียกว่า breakfast meeting เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งกินข้าวกันไป หารือกันไป แบบนี้มันทำให้ประเทศมีความราบรื่น

นโยบายทางการเงินการคลัง มันมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีข้อมูลต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายทำได้คือให้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจรับรู้อย่างเต็มที่

- หากเป็นผู้ว่าการ ธปท. ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไร

ใน มุมนี้จะยากนิดหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับหมากที่ รมว.คลังจะเดินอย่างไร สมัยนี้ต้องยอมรับว่าเหนื่อย เพราะ รมว.คลังออกมาพูดเรื่องขาดทุน ที่เป็นการตีราคาทางบัญชี อีกส่วนหนึ่งเป็นการขาดทุนจากการ

ออก พันธบัตรเพื่อดูแลปริมาณการเงิน ซึ่งการขาดทุนจากการตีราคานี้เกิดจากการที่ ธปท. มีทรัพย์สินเป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินอ่อนตัว ทรัพย์สินทางบัญชีก็ย่อมขาดทุน

ผมไม่ได้หมายความว่าทรัพย์สินเหล่า นี้เกิดจากที่ท่านประสารเป็นผู้ซื้อมา แต่มันซื้อมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าการคนเก่า ๆ ฉะนั้นจะเหมารวมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือท่านประสาร ผมว่ามันก็ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก

มองลึกลงไปจะพบว่า กรณีขาดทุนของ ธปท. ทำเพื่อให้เงินบาทแข็งตัวช้าลง ให้เวลาคนปรับตัวมากขึ้น ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะล้มหายตายจาก เกิดการปลดคนงาน วุ่นวายไปหมด ฉะนั้นสิ่งที่ ธปท.ยอมขาดทุน

มันทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศ เราจะมามองแต่การขาดทุน แต่ไม่มองกระจกเงาที่สะท้อนกลับมาไม่ได้

- เมื่อฝ่ายการเมืองตั้งต้นแนวคิดอย่างนี้ ธปท.ที่เป็นข้าราชการประจำควรทำอย่างไร ตอบโต้หรือก้มหน้ารับผิดชอบ

มัน เป็นสิ่งที่ยากทั้งสองทาง ถ้าออกมาอธิบายมาก คนก็หาว่าอวดดี แก้ตัว แต่ในความเห็นผม ท่านประสารควรออกมาอธิบายมากกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลานี้ก็มีความเสี่ยงที่คนจะไม่ฟัง เพราะมันมีคนตั้งป้อมรออยู่แล้ว

- เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถึงเวลาลดดอกเบี้ยหรือไม่

ผม เองไม่ได้ตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เลยแสดงความเห็นไม่ได้ แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่าภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนตัว จากจีน ยุโรป สหรัฐ ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หากรัฐบาลไทย

ไม่ได้เหยียบคันเร่งนโยบายประชานิยมเข้าไปผสม ไม่อัดเงินผ่านนโยบายการคลังลงไป กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยได้ง่ายกว่านี้

- ถ้าสุดท้ายต้องมีการลดดอกเบี้ย

จะ ถือว่า ธปท.แพ้แรงกดดันหาก กนง.ประเมินแล้วว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอฉับพลัน จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องของเขา แต่ต้องให้เวลาเขาดูไพ่ทั้งมือ ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเสียก่อน

ภาพรวมมาตรการที่เสนอผ่านมาทั้งของ ธปท. และของกระทรวงการคลังที่พยายามจะใช้หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นสิ่งที่ตลกมาก เพราะ รมว.คลังเสนอมาตรการในความรับผิดชอบของ กนง.

ขณะ ที่ ธปท.กลับเสนอมาตรการที่เป็นหน้าที่ของคลัง มันสวนทางกัน ดังนั้นกระทรวงการคลังทำอะไรได้มากกว่าการกดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ย ทำอะไรได้มากกว่าการใช้หนี้รัฐวิสาหกิจเยอะแยะ โดยเฉพาะมาตรการที่ ธปท.เสนอมาเป็นอำนาจของท่านรัฐมนตรีโดยเฉพาะ อยู่ที่ว่าท่านจะทำหรือไม่เท่านั้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น