--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฝ่าสมรภูมิ สินเชื่อ เอสเอ็มอี !!?


ตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีในวันนี้ หลายธนาคารที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดนี้เริ่มขยับในทิศทางเดียวกัน โดยพุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายไล่ไซซ์ธุรกิจ ขยายไปสู่เอสเอ็มอีรายเล็กและรายจิ๋ว ที่มียอดขายประมาณไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือยอดสินเชื่อประมาณ 10-20 ล้านบาท

การแข่งขันที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเห็นแพ็กเกจสินเชื่อเอสเอ็มอีที่พุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก ล่าสุดจากธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ที่ออกสินเชื่อ "3 เท่า 3 ก๊อก" ก๊อก 1 ให้ทั้งวงเงิน 3 เท่าของหลักประกัน ก๊อก 2 ให้วงเงินเสริมเผื่อฉุกเฉินอีก 15% และก๊อก 3 หากขยายกิจการก็ให้กู้ได้อีก 1 เท่า แพ็กเกจสินเชื่อนี้เจาะกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี

"ปพนธ์ มังคละธนะกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอสเอ็มอีและซัพพลายเชน ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) บอกว่า การแข่งขันในตลาดเอสเอ็มอีรายเล็กตอนนี้ยังถือว่าไม่แรงมาก เพราะต้องปรับระบบงานพอสมควร เช่น ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 2-3 ล้านบาท ต้องมีวิธีอนุมัติให้เร็ว ภายในเวลาราว 2 สัปดาห์ ฉะนั้นโมเดลสินเชื่อต้องชัด และคุมความเสี่ยงให้ได้ เพราะตลาดนี้มีสเปรดดี แต่ก็ต้องบริหารต้นทุนให้ได้ด้วย

"เราตัดสินใจทำเรื่องซัพพลายเชนกันใหม่มาตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว ก็ต้องจัดการระบบกันมากพอสมควร ตอนนี้ก็เห็นธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มปรับแล้ว จึงเชื่อว่าปีหน้าคงจะแข่งขันกันหนักขึ้น" ปพนธ์กล่าว

สอดคล้องกับสิ่งที่ "พัชร สมะลาภา" รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดนี้เป็นส่วนที่หลายธนาคารยังไม่ค่อยได้เข้ามาจับอย่างจริงจัง แม้จะมีสเปรดสูง แต่ความเสี่ยงก็สูง ที่ผ่านมาจึงยังไม่ค่อยมีธนาคารใดเข้ามาจับตลาดนี้ เพราะติดข้อจำกัดด้านการประเมินความเสี่ยง เช่น แผนธุรกิจ หลักประกัน และหลักฐานการเดินบัญชี (Statement)

"เรื่องการเดินบัญชีเป็นข้อจำกัดใหญ่สำหรับการขอสินเชื่อของธุรกิจรายเล็ก ทำให้ล่าสุดธนาคารออกสินเชื่อ "SME กู้ง่ายหมดกังวลเรื่องเดินบัญชี" ซึ่งสามารถใช้เอกสารอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งซื้อสินค้า รวมถึงเข้าพบลูกค้าเพื่อสำรวจกิจการและสต๊อกสินค้าแทนได้ สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการวงเงินตั้งแต่ 5 แสน-10 ล้านบาท ก็จะเป็นอีกวิธีที่จะเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มรายเล็กได้ลึกขึ้น เพราะในพอร์ตเรามีสินเชื่อกลุ่มรายเล็กและไมโครอยู่ถึง 50%" พัชรกล่าว

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้โมเดล "กรุงศรี แวลูเชน โซลูชั่นส์" โดยต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิม ไปสู่กลุ่มที่เป็นซัพพลายเออร์รายย่อย ๆ ลงไป ซึ่งธนาคารต้องการขยายตลาดสินเชื่อธุรกิจรายเล็กและรายย่อย วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 30 ล้านบาท เพราะเป็นตลาดที่ให้มาร์จิ้นสูง ซึ่งธนาคารได้ปรับมาใช้ระบบ "One Scan" ที่เข้ามาช่วยเรื่องพิจารณาสินเชื่อรายย่อยให้เร็วขึ้น ทราบผลใน 3 วัน และจะพยายามทำให้เร็วขึ้นเป็น 2 วันให้ได้ในปีนี้

แนวทางนี้ใกล้เคียงกับ "ธนาคารกรุงไทย" ที่เร่งปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่ออนุมัติสินเชื่อได้เร็วขึ้นสำหรับกลุ่มที่ต้องการวงเงิน 10-20 ล้านบาท โดยจะทำโมเดลพิจารณาสินเชื่อไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตนี้จาก 18% ให้เป็น 30% ของพอร์ตรวมในปีนี้

นอกจากนี้อีก 2 ค่ายอย่าง "ธนาคารไทยพาณิชย์" และ "ธนาคารกรุงเทพ" ก็เป็นอีกสองผู้เล่นในตลาดที่ละสายตาไม่ได้ แม้ช่วงนี้จะยังไม่มีความเคลื่อนไหวใหม่ออกมาให้เชยชมก็ตาม

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่บอกว่า ตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีไซซ์เล็ก-จิ๋ว จะยังเป็น "โฟกัส" ที่สำคัญของหลายแบงก์ เพื่อสร้างทั้งโอกาส รายได้ และกำไรให้ดีในช่วงต่อไป แล้วแน่นอนว่าการวิ่งเข้าสู่สมรภูมินี้ย่อมตามมาด้วยการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น