แม้ว่าฝนจะตกกระหน่ำราวฟ้ารั่วในหลายพื้นที่ของมาเลเซียเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังหลั่งไหลไปลงคะแนนเสียงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดราว 13 ล้านคน
นับเป็นจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศ
ตลอดทั้งวันกองเชียรฝ่ายค้านดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะตั้งความหวังไว้สูงว่า คงถึงยึดทำเนียบปุตราจายาเป็นแน่แท้ เพราะปัจจัยแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงครั้งแรก หรือ “คนรุ่นใหม่” ที่คาดว่าเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าจำนวนมาก กับความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน รวมทั้งผล การสำรวจความเห็นทางการเมืองหลายสำนักที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่าฝ่ายค้าน จะมีคะแนนสูสี หรือแม้กระทั่งมีคะแนนนำฝ่ายรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้
หลังจากลุ้นระทึกผลแพ้ชนะหลายชั่วโมง ราวตีหนึ่งของวันใหม่คณะกรรมการเลือกตั้งมาเลเซียประกาศว่า แนวร่วมพรรครัฐบาลได้ที่นั่งในรัฐสภารวมกันแล้ว 112 ที่นั่ง หรือเกินครึ่งของจำนวนที่นั่งในสภาฯซึ่งมีทั้งหมด 222 ที่นั่ง มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ประกาศราวตีสาม ระบุว่าแนวร่วมพรรครัฐบาล ที่เรียกกันสั้นๆว่า บีเอ็น (BN: Barisan Nasional) ชนะได้ที่นั่งในรัฐสภาของรัฐบาลกลางทั้งหมด 133 ที่นั่ง ในขณะที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน หรือ พีเคอาร์ (PR: Pakatan Rakyat) ได้ 89 ที่นั่ง
ผลที่ได้ทำเอาผู้สนับสนุนฝ่านค้านทุกรุ่นทุกวัยที่นั่งถ่างตารอข้ามคืนถึงกับอ่อนเปลี้ยเพลียแรง แยกย้ายกันกลับบ้านไปตามๆกัน
ชาวมาเลเซียโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากคนเชื่อว่า การเลือกตั้นทั่วไปในครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สามารถลิดรอนการผู้ขาดอำนาจของรัฐบาลพรรคอัมโนที่ดำเนินมากว่า 50 ปี
การเผชิญหน้าระหว่างแนวร่วมฝ่ายค้านอันประกอบด้วยพรรคเคอาดิลัน รักยัต (PKR: People’s Justice Party) นำโดยนายอันวาร์ อิบราฮิม พรรคดีเอพี (DAP: Democrat Action Party) ของนายลิม กิต เสียง และพรรคพาส (PAS: Pan-Malaysian Democratic Party) นำโดยนาย ฮาดี อาวัง กับแนวร่วมพรรครัฐบาล หรือ บีเอ็น (Barisan Nasional) นำโดยพรรคอัมโน (United Malays National Organisation) ของนาย นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี พรรค เอ็มซีเอ หรือ(Malaysian Chinese Association) และพรรคเอ็มไอซี (Malaysian Indian Congress) และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นหลังจากฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภาฯจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2551
นับแต่นั้นเป็นต้นมา บรรยากาศของความกลัวที่เคยครอบงำการเมืองมาเลเซียในยุคมหาเธร์ก็เริ่มจืดจางไป ชาวมาเลเซียเริ่มแสดงความคิดเห็นของตัวเองมากขึ้น ประหนึ่งสังคมมาเลเซียเริ่มก้าวกระโดดทางความคิดไปไม่น้อย
ภาพผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเข้าแถวยาวหน้าซุ้มเลือกตั้งหลายแห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ถือเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ และอาจแสดงถึงความรู้สึกคึกคักทางการเมืองในหมู่คนเมือง
มีบางซุ้มเลือกตั้งผู้รอลงคะแนนเข้าแถวยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตร ผู้ลงคะแนนเสียงวัยกว่า 50 คนหนึ่งบอกว่าเขาเข้าแถวรอหย่อนบัตรนานถึงกว่าชั่วโมงซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยพบในการหย่อนบัตรที่ผ่านมาในชีวิต
ในขณะเดียวกัน มีการร้องเรียน เปิดโปง ความไม่ชอบมาพาในกระบวนการเลืกตั้งกลว่อนอินเตอร์เน็ตตลอดตลอดวันเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่เรื่องหมึกถาวรที่ผู้ลงคะแนนต้องแต้มที่ปลายนิ้วนี้เพื่อกันการเวียนเทียนเลือกตั้งที่ไม่ถาวรจริง เพราะสามารถล้างออกได้อย่างหมดจด
เรื่องการใช้เที่ยวบินพิเศษขนคนจากเกาะซาบาห์และซาราวักมาลงคะแนนในกัวลาลัมเปอร์ และข้อกล่าวหาเรื่องการให้บัตรประชาชนชั่วคราวแก่ชาวบังกลาเทศเพื่อให้มาลงคะแนนในบางพื้นที่
แม้ว่ากลุ่มบีเอ็นจะยังคงกุมอำนาจรัฐได้อีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อลองใช้วิชาคณิตศาสตร์เบื้องต้นมาพิจารณาคะแนนเลือกตั้ง ก็ให้สงสัยว่าสิ่งที่เห็นๆนั้นเป็นเรื่องจริงแน่หรือ
เริ่มจากตัวเลข ส.ส.ในสภาฯของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลที่หายไปถึงเจ็ดที่นั่งเมื่อเทียบกับสมัยที่แล้ว ในขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านได้ สส.เพิ่มเป็นเจ็ดที่นั่งเท่ากัน
คำถามก็คือ รัฐบาลทำอีท่าไหนที่นอกจากจะไม่ได้ที่นั่งเพิ่มแล้ว ยังถูกฝ่ายค้านเฉือนให้เจ็บใจได้อีก
เรื่องนี้คำตอบอยู่ที่พรรคฝ่ายค้านตัวแทนชาวจีน หรือ พรรคดีเอพี ซึ่งได้ที่นั่งเพิ่มถึง 10 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านอีกสองพรรคเสียที่นั่งรวมกันแล้วสามที่นั่ง บวกลบคูณหารแล้วแนวร่วมฝ่ายค้าน “กำไร” มาเจ็ดที่นั่ง
เจ็ดที่นั่งที่หายไปของฝ่ายรัฐบาล มากพอที่จะสั่นสะเทือนขาเก้าอี้ในฐานะหัวหน้าพรรคอัมโนของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ผู้สัญญากับสมาชิกพรรคเอาไว้ว่าจะเพิ่มที่นั่ง ส.ส. ของรัฐบาให้ได้ไม่น้อยกว่า 140 ที่นั่ง หรือสองในสามของที่นั่งทั้งหมดในสภาฯ
คนคนแรกที่ออกมาเขย่าเก้าอี้ของนายนาจิบ หาใช่ใครอื่นนอกจากอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่คิดเลยว่านายนาจิบจะมีผลงานเลือกตั้งที่แย่กว่าอดีตนายกรัฐมนตรี อับดุลลาห์ บาดาวี ผู้มีผลงานย่ำแย่ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
คำพูดของมหาเธร์ที่ว่าคนในพรรคอัมโนจะต้องตั้งคำถามต่อความสามารถและยุทธศาสตร์ของนายนาจิบ ราซัค นั้นเป็นคำพูดที่ไม่ค่อยเป็นมงคลสักเท่าไหร่ในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีรอบสองของเขา
มหาเธร์มองผลการเลือกตั้งว่าเป็น “ความผิดพลาด” ของพรรคร่วมรัฐบาล และบอกว่าอัมโนจะต้องเรียนรู้จาก ความผิดพลาดในครั้งนี้ หาไม่ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจเลวร้ายยิ่งกว่านี้
พรรคดีเอพีของฝ่ายค้าน มีคู่แข่งคือพรรคเอ็มซีไอซึ่งเป็นพรรคคนจีนข้างรัฐบาล พรรคพรรคนี้ร่ำรวยมหาศาล มีกิจการมากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือพิมพ์ “เดอะสตาร์” ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลเซีย
ในการเลือกตั้งครั้งนี้เอ็มซีไอได้ที่นั่งในรัฐสภาฯมาเพียงเจ็ดที่นั่ง จากที่เคยได้ครั้งที่แล้ว 15 ที่นั่ง เป็นตัวบ่งชี้สำคัญอีกประการหนึ่งคือชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในประเทศแห่กันเทคะแนนเสียงให้ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคดีเอพีที่มีฐานสำคัญที่ปีนัง
ตัวเลขปริศนาอีกกลุ่มหนึ่งคือตัวเลข “ป๊อปปูล่าร์โหวต” หรือตัวเลขคะแนนรวมทั้งประเทศอย่างเป็นทางการ ที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านได้ 50.1 เปอร์เซ็นต์ ชนะแนวร่วมพรรครัฐบาลที่ได้ 46.7 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับผลสำรวจความเห็นประชาชนก่อนการเลือกตั้ง
สิ่งที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ที่นั่งในสภาฯมากกว่าฝ่ายค้านคือกลเม็ดในการแบ่งซอยพื้นที่เลือกตั้งฐานเสียงรัฐบาลเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส. ซึ่งเป็นเทคนิกที่ใช้กันในบางประเทศ
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงการอุ่นเครื่องเพื่อรอการประลองกำลังครั้งใหญ่ในอีกห้าปีข้างหน้า ที่จะตัดสินชะตาประเทศมาเลเซียว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริง
หรือจะเป็นประชาธิปไตยแบบขำขันที่สังคมโลกดูแคลนต่อไป
ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
//////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น