--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ครบ 1 ปี ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม !!?

วันที่ 3 กรกฎาคม 2555 นี้ จะครบรอบ 1 ปีของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย และทำให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีหญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังถือเป็นความพ่ายแพ้อีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคหลักของรัฐบาลก่อนหน้านี้และมีความมั่นใจไม่น้อยก่อนการยุบสภาว่าจะสามารถกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งติดต่อกันมาแล้วหลายครั้ง และถ้าพูดกันเป็นจำนวนปี พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในสมัยรัฐบาลชวน 1 ในปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และยังไม่เคยจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคอันดับหนึ่งอีกเลย นับถึงวันนี้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว (อ่านบทความ แผนภาพแสดงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2535-2554 ประกอบ)

พรรคประชาธิปัตย์เองก็ดูจะรับทราบปัญหานี้ดีว่า พรรคเองต้องปรับตัวให้พ้นภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเชื่องช้า ดีแต่พูด มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในฐานะสถาบันทางการเมืองแห่งหนึ่งของไทย และเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุยาวนานเป็นอันดับสองของเอเชีย



หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เราจึงเห็นพรรคประชาธิปัตย์พยายามปรับปรุงตัวในหลายด้าน อย่างแรกสุดที่ชัดเจนคือการตั้ง “โรงเรียนการเมือง” ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเริ่มจากการนำสมาชิกของพรรคมาเข้าชั้นเรียนทฤษฎีพื้นฐานทางการเมืองการปกครอง กฎหมาย ประวัติศาสตร์ ใหม่อีกครั้ง แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก และได้รับความสนใจไม่น้อยในช่วงแรก แต่กลับดูเงียบๆ ไปในช่วงหลัง

อย่างที่สอง คือการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริหารพรรคเสียใหม่ โดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้สมาชิกเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่หมด ถึงแม้คุณอภิสิทธิ์จะได้รับเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งแบบไร้คู่แข่ง แต่ตำแหน่งรองๆ ลงไปก็มีการเปลี่ยนตัวบุคคลเป็นจำนวนมาก ที่ชัดที่สุดคือได้เลขาธิการพรรคคนใหม่ คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส่วนตำแหน่งอื่นก็เป็นทีมงานที่ใกล้ชิดกับคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมานั่งเก้าอี้กรรมการบริหารพรรคกันเป็นจำนวนมาก ในแง่การทำงานเรายังประเมินได้ยากว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ทำงานได้ดีแค่ไหน แต่ในแง่ฝักฝ่ายภายในพรรค ก็ชัดเจนว่าตอนนี้คนของคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมากุมตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรคเกือบหมดแล้ว

อย่างที่สาม พรรคประชาธิปัตย์มองว่าตัวเองเสียเปรียบทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะว่าไม่มีมวลชนเป็นของตัวเองอย่างเดียวกับที่กลุ่มคนเสื้อแดงคอยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่ ซึ่งตรงนี้จะต่างไปจากความสัมพันธ์แบบหลวมๆ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งภายหลังก็เห็นแล้วว่ามีปัญหาแตกคอกัน ทำให้ฐานมวลชนที่ออกมาปกป้องพรรคประชาธิปัตย์มีจำนวนลดลง หลังการแพ้เลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จึงเริ่มสร้างฐานมวลชน “คนเสื้อฟ้า” ของตัวเอง โดยเปิดทีวีดาวเทียมช่อง BlueSky มีรายการชูโรงอย่าง “สายล่อฟ้า” มาเป็นจุดขาย (อ่านบทความ พรรคประชาธิปัตย์เปิดสถานีทีวี Bluesky Channel อย่างเป็นทางการ) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย แถมพรรคประชาธิปัตย์ยังใช้เวทีการปราศรัยตามพื้นที่ต่างๆ ควบคู่ไปกับช่อง BlueSky สร้างฐานมวลชนของตัวเองอย่างต่อเนื่อง (ดูบทความ ถอดคำ
ปราศรัย ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ หยุดล้มรัฐธรรมนูญ-ออกฎหมายล้างผิดคนโกง ประกอบ)

สามประการที่ว่ามาเป็นความพยายามปรับตัวของพรรคประชาธิปัตย์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นความพยายามในด้านบวก แต่ถ้าประเมินในภาพรวมทั้งหมดแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่กล้าแตะปัญหาหลักของตัวเองเรื่องวัฒนธรรมองค์กรแบบข้าราชการประจำ เชื่องช้าในการตัดสินใจ และมีแนวทางการบริหารที่ไม่เน้นประสิทธิภาพและผลลัพธ์มากนัก

คำถามก็คือถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่กล้าจะเผชิญหน้ากับจุดอ่อนของตัวเองอย่างนี้ต่อไป ในระยะยาวแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยที่ภาพลักษณ์ด้านการบริหารดีกว่าได้อย่างไร เพราะเหตุผลสำคัญที่คนไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งก่อน คงไม่ใช่เป็นเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่เป็นเพราะประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีปัญหาต่างหาก

ดังนั้นต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ปรับตัว สร้างฐานมวลชนของตัวเองที่เข้มแข็ง มีสื่อของตัวเองไม่ต้องพึ่งใคร ก็ยังไม่สามารถรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่ดี ฐานมวลชนของพรรคจะเป็นเพียงแค่มวลชนที่เหนียวแน่นและเสียงดังเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาหย่อนบัตรลงคะแนน พรรคก็จำเป็นต้องดึงเสียงจากกลุ่มคนกลางๆ หรือที่ภาษาเลือกตั้งเรียกว่า swing vote โดยจูงใจให้คนกลุ่มนี้เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การมีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและคนไทย เพราะการปล่อยให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวที่ครองเสียงข้างมากอยู่เสมอ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก และเมื่อพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอ ก็ทำให้ต้องมีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยอยู่ตลอดเวลาแทน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในเมืองไทยแน่นอน

ที่มา:Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น