--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไขทางออก : วิกฤติ รธน. ประชามติ ดับไฟการเมือง !!?

วาระร้อน!! ว่าด้วย “ศึกแก้รัฐธรรมนูญ” ดูท่าจะ ยืดเยื้อและบานปลาย หลังฝ่ายผู้ถูกร้องเริ่มออกอาการงัดข้อ กันเอง จนกลายเป็น “วิวาทะ” ระหว่าง “ขุมข่ายอำนาจรัฐ” กับ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ซึ่งต่างมีปม ปัญหาขัดแย้งในเรื่องการลงมติ “วาระ 3” ที่ฝ่ายหนึ่ง แนะให้เดินหน้าต่อไป โดยไม่สนใจ “คำวินิจฉัย” หรือการที่อีกฝ่าย ชี้ให้ “ค่อยเป็นค่อยไป” แก้ทีละ มาตราตาม “ข้อเสนอแนะ” ของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อดูจากอาการ “เสี้ยนตำคอ” ระหว่างเหล่าเสนาบดีแห่งรัฐ และทีมยุทธ ศาสตร์ในมุ้งค่ายเพื่อไทย ต่างมี “มุมความ คิด” ที่แปลกแยกกันไป เกี่ยวกับคำวินิจฉัย ใน 4 ประเด็น ตลอดจน “ข้อเสนอแนะ” ซึ่งอีกฝ่ายมองว่าเป็นการ “มัดมือชก” โดยคณะตุลาการภิวัฒน์ นั่นยิ่งทำให้ผลวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสมือนหนึ่ง เป็นการ “ขุดหลุมพราง” เอาไว้ล่อฝ่ายการเมือง-นิติบัญญัติ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” ทิ้งปม “ข้อเสนอแนะ” ไว้ให้แตกผลึกกันต่อไปว่า... ถ้อยคำที่ศาล

รธน.ชี้ว่า ควรจะทำประชามติถามประชาชน ก่อน หมายถึงอย่างไรกันแน่?!!

โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ศาล รธน. อ้าง ถึงหลักการ “อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นของประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาแสดงออก โดยการลงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2550 มากถึง 15 ล้านเสียง หากจะแก้ไขควรผ่านการลงประชามติ และหากจะแก้ก็ควรแก้เป็นรายมาตรา ไม่เป็นการแก้ทั้งฉบับ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่าย ล้มล้างการปกครอง

แต่การที่ศาลไม่ได้ชี้ชัดว่า การลงประชามติควรกระทำเมื่อไหร่ ในขั้นตอนไหน ลงประชามติในหลักการใหญ่เลยว่าสมควรจะแก้หรือไม่แก้... หรือให้ลงประชามติในหลักการสำคัญๆ เป็นประเด็นไป

เช่นที่ว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของที่ประชุม “รัฐสภา” ว่าจะ “เลือก” โดย ยึดหลักอะไรเป็นบรรทัดฐานรองรับ ซึ่งหาก ยึดหลักการถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจ กำหนดขอบเขตอำนาจแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน หรือชี้ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่ควรก้าว “ล้ำเส้นอำนาจ” การบัญญัติกฎหมายของรัฐสภา ก็ให้เลือกแนวทางเดินหน้า “ลงมติ” ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “วาระ 3”

ในทางกลับกัน หากเลือกหลักการบริหารจัดการให้เกิดความเรียบร้อย ลดความขัดแย้ง และบรรลุเป้าหมายที่ต้อง การในที่สุด ก็ควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญ ตกไป ไม่ต้องนำขึ้นมาให้ความเห็นชอบวาระ 3 แล้วเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขราย มาตรา โดยกระบวนการรัฐสภาเอง มิต้อง มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา

แต่หาก “เลือก” แนวทางนี้ โดยแก้ เป็นรายมาตราตามข้อเสนอแนะของศาล รธน. ยิ่งแน่ชัดว่าจะมีการ “ลากประเด็น” หรือ “ตีรวน” โดยฝ่ายคัดค้าน ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้อออกไปอีก แต่ก็เชื่อว่าด้วย “เสียงข้างมาก” ย่อมจะเอา ชนะได้ไม่ยาก เมื่อมีการยกมือโหวต!

ปัญหามีอยู่ว่า...หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ ก็อาจถูก “ซีกฝ่ายค้าน” นำเอา คำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่ระบุไว้ว่า “จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระ ขึ้นมายก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เอามาโจมตีซึ่งรัฐบาลสามารถอธิบายเหตุผลความเปลี่ยนแปลง โดยอ้างถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้

ทว่า...ปัญหาข้อถกเถียงเพื่อหาทางออกก็ยังไม่ตกไป เพราะคงมีประเด็นว่าด้วยการทำประชามติ ค้างคาอยู่อีก! ไม่ว่าจะทำประชามติก่อนยกร่างเป็น รายมาตรา หรือประชามติในหลักใหญ่เพียงประเด็นเดียวว่า...ควรแก้หรือไม่ควร แก้ หรือไม่ก็ให้ “รัฐสภา” ลงมติในวาระ 3 แล้วค่อยลงประชามติ หากประชาชนจำนวนมากกว่าครึ่งเห็นอย่างไร ก็ให้มีผลตามนั้น

ทำให้เกิดข้อกังขาที่ว่า...ใครจะเป็นผู้ทำประชามติ รัฐบาล รัฐสภา หรือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รับเอาไปทำ และมีคำถามต่อมาว่า จะทำได้หรือไม่...เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้

แต่เหนืออื่นใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ “คำแนะนำ” ซึ่งมิใช่เป็น “คำสั่ง” แต่เมื่อไม่ชี้ให้ชัดเจนถึงกระบวนการที่จะดำเนินต่อไป ปล่อยให้ผู้มีส่วนได้-เสีย ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาไปว่ากันเอง ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย จนไร้ซึ่งทางออก

ท้ายที่สุด ก็มีคำถามตามมาว่า... กลไกนิติบัญญัติและรัฐบาลจะ “เลือก” แนวทางไหน เพื่อเป็น “ทางออก” ของประเทศไทย ภายใต้วิกฤติแห่งรัฐธรรมนูญ?!! เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการ ส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยมีเนื้อหาสรุปเอา ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้ประชาชนลงประชามติก่อน ส่งผลให้มีการ วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงในด้านวิชาการว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นและวินิจฉัยเกินเลยไปจากมาตรา 68 หรือไม่ การลงประชามติต้องทำในขั้นตอนใด ข้อแนะนำดังกล่าวมีผลผูกพันต่อฝ่ายที่เกี่ยว ข้องแค่ไหนเพียงใด ซึ่งต้องรอศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตน แต่ที่มีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ รัฐสภาควรเดินหน้าลงมติในวาระสาม ต่อไป หรือควรชะลอเอาไว้ก่อนเพื่อไปดำเนิน การออกเสียงประชามติก่อน หรือปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แล้วไปดำเนิน การแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางที่ 1 แม้จะกระทำ ได้โดยชอบตามกฎหมาย แต่แนวทางนี้อาจเป็นชนวนหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดความ วุ่นวายในบ้านเมืองไม่จบสิ้น”

ส่วนแนวทางที่ 2 ก็ไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่มีร่างให้ประชาชนพิจารณาเปรียบเทียบ ก่อนตัดสินใจลงประชามติ ซึ่ง จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนกรณีการลง ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ2550 ที่ให้ประชาชนเลือกระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 50 กับสิ่งที่ยังมองไม่เห็น ขณะที่แนวทางที่ 3 คงต้องใช้เวลานานมาก และไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด จึงมีข้อเสนอว่า รัฐสภาควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่รอลงมติในวาระที่สามตกไป เพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดหัว ข้อให้ชัดเจน คือให้ประชาชนมีตัวเลือกว่าหากไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข และประกาศใช้บังคับแทน ซึ่งเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก หากประชาชนลงประชามติไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาปรับปรุงแก้ไขตามกระบวนการมาตรา 291 จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้บังคับ

การที่นำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีความก้าวหน้าและเป็นเสรีนิยม ยึดโยงกับภาคประชาชนที่สำคัญยังถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่ง บาน ขณะเดียวกันยังมีการบัญญัติถึงที่มา องค์ประกอบและการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้เลือกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หากเสียงข้างมากว่าเห็นควรใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไปก็เป็นอันยุติ ไม่ต้องดำเนินการอันใดต่อไปอีก เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาเท่านั้น

แต่หากเสียงข้างมากเห็นควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาปรับปรุงแก้ไข ก็ให้ ดำเนินการยกร่างเช่นเดียวกันกับปี 2517 คือให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างโดยใช้แนว ทางปี 2517 มาเป็นหลัก เสร็จแล้วก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ต่อไป

เมื่อรัฐสภาลงมติวาระแรกก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ส.ส.และ ส.ว.ในสัดส่วน จำนวนที่เหมาะสมจากนั้นจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยเปิดเผย และโปร่งใส ถ่ายทอดทางโทรทัศน์วิทยุ หรือสื่ออื่น ให้ประชาชนรับรู้ เมื่อพิจารณาในวาระสองเสร็จแล้วให้รอ 15 วัน จากนั้นจึงลงมติใน วาระสาม และนำไปสู่การออกเสียงลงประชามติ จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้บังคับต่อไป

หากดำเนินการตามแนวทางนี้จะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 15 เดือน หรือ 450 วันถึงจะต้องลงประชามติ 2 ครั้ง บางคนอาจมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบ ประมาณโดยใช่เหตุ แต่แนวทางนี้จะสิ้น เปลืองน้อยกว่าการจัดตั้งสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่นอกจากต้องเสียการ ใช้จ่ายเลือกตั้ง ส.ส.ร. ยังมีเงินเดือน และงบไปจัดทำประชามติอีก ที่สำคัญแนวทางที่เสนอ จะทำให้รัฐธรรมนูญได้ รับการยอมรับจากบุคคลทุกฝ่ายทุกสี และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อแนะ นำของศาลรัฐธรรมนูญด้วย...!!


ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น