--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกมบังคับ เพื่อไทย. กลับไปสู่ประชาชน !!?

ทางออกเพื่อดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามช่องทางมาตรา 291 ให้สำเร็จลุล่วงตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แม้พอมีทางอยู่ แต่ต้องระดมแรงมหาประชาชนมาถากถางกันยกใหญ่

เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้สร้าง "ปมปัญหา" ผูกมัดไว้แน่นหนา หันหน้าขยับไปทางไหน ยังแต่สุ่มเสี่ยงและเสียหายทางการเมืองใหญ่หลวง

จนทำให้แกนนำพรรคอยู่ในอาการ "ยิ้มฝืดๆ" จะดีใจก็ไม่ให้ เมื่อร้องไห้ยังไร้น้ำตาเปื้อนเกม

คำวินิจฉัย 3 ประเด็น ราวกับเป็น "เกมการเมือง" ให้พรรคเพื่อไทยตั้งรับ แล้วหาทางแก้ลำให้ได้ที่สำคัญแก้อย่างไร ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาล และเอกภาพพรรคเพื่อไทย

ประเด็นหนึ่งทั้งศาลรัฐธรรมนูญและอัยการสูงสุดมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 วรรคสองได้

อีกประเด็นหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบตั้ง "สมาชิกสภายกร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ใหม่ทั้งฉบับ" ต้องขอ "ประชามติจากประชาชน" แต่แก้ไขเป็นรายมาตราดำเนินการได้

และสุดท้าย ยกคำร้อง "การล้มล้างการปกครอง" ในระบอบประชาธิปไตยภาพใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68 วรรคแรก

เพราะคำวินิจฉัยซับซ้อน เต็มไปด้วยเกมที่ออกแบบไว้เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ของเหล่าทหารยึดอำนาจให้ดำรงอยู่อย่างเหนี่ยวแน่นไปอีกนานๆ

เอากันง่ายๆ เป็นเบื้องต้น แม้คำวินิจฉัยได้บรรจุสิ่งดีๆ ไว้ คือ การสถาปนา "อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ขึ้นมา โดยความตั้งใจหรือจำยอมให้เป็นไปก็ตามที แต่ "อำนาจประชาชน" เป็นใหญ่เพียงไร ต้องพิจารณาคำวินิจฉัยที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้อง "ขอประชามติจากประชาชน"

ดังนั้น การหันหน้า "กลับสู่ประชาชน" จึงเป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคมความขัดแย้งแห่งอำนาจในยุคนี้

บัดนี้ ภารกิจศาลรัฐธรรมนูญพ้นไปแล้ว แต่คำแนะนำให้ "กลับไปสู่ประชาชน" ได้สั่นสะเทือนทั้ง "สภาและรัฐบาล" ที่พรรคเพื่อไทยต้องกุมหัว แค้นใจในการสะสาง หาทางออกให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองอย่างละมุนละม่อมที่สุด

เนื่องจากทางเลือกของพรรคเพื่อไทยมีน้อย หนำซ้ำยังถูก "บีบบังคับ" ให้ต้องเลือกในช่องทางที่ศาลขีดเส้นให้เดิน

หนึ่ง เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 วาระ 3 ให้เสร็จสิ้นกระบวนการฝ่ายสภา เพื่อหยุดเส้นทางปัญหาที่ยืดเนื้อมากกว่าเดือน ยังลำบากเอาการถึงขนาดนี้

แล้วพรรคเพื่อไทยยังจะเดินหน้าในแนวทางใด เพื่อไปบรรลุการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายการมาตราในครั้งใหม่ได้เล่า มันช่างอับจนเหลือเกิน

สิ่งเหล่านี้ บ่งชี้ถึง "กรรม" จากอาการ "กลัว" ของ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภาที่ไม่กล้าลงมติวาระ 3 ตั้งแต่แรก กลับตัดสินใจรอคำวินิจฉัยของศาล จนได้เรื่องและดิ้นหลุดยากหนักเข้าไปอีก

สอง เป็นหนทางเดินไป "สู่ประชาชน" เพื่อขอประชามติตัดสินอนาคตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 ที่คาราคาซังอยู่

คำถามต้องตอบให้กระจ่างมีว่า จะเอากฎหมายใดมารองรับการขอประชามติก่อนลงมติวาระ 3 ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องขอประชามติก่อนลงมติวาระ 3 ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องขอประชามติจากประชาชนถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ขอประชามติเพื่อ "แก้ไข" ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตาม "คำแนะนำ" ที่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ครั้งที่สอง ขอประชามติเพื่อ "ใช้" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/13

นี่คือ "ปมปัญหา" ที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ในคำแนะนำให้ "ขอประชามติ" แม้เป็นทางออกให้พรรคเพื่อไทย รัฐบาลและสภา ได้สวยงดงาม แต่กลับเต็มไปด้วยขวากหนาม

ว่ากันตามจริงแล้วตามเส้นทางเดิน "กลับไปสู่ประชาชน" สอดคล้องกับจะยืนประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ถ้าพรรคเพื่อไทยเลือกเช่นนี้เท่ากับนำเสียงประชาชนมา "ต่อสู้" และเป็นหลับพิงอำนาจประชาธิปไตยของประชาชน

แต่สังคมไทยกำลังอยู่ "ท่ามกลางความขัดแย้ง" เมื่อพรรคเพื่อไทย เดินหน้าไปสู่การขอประชามติย่อมเท่ากับทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางความคิดของมวลชน "สองฝ่าย" แล้วมีโอกาสนำไปสู่ "กลุ่มคนไม่หวังดี" ก่อความรุนแรงให้เกิดการเผชิญหน้ายิ่งขึ้น

ถึงที่สุด สังคมขัดแย้งภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังเต็มไปด้วยปัญหาการ "ชิงอำนาจ" แบบเดิม ซ้ำร้ายการขอประชามติยังจะกลายเป็นสมรภูมิการเผชิญหน้าครั้งใหม่ของมวลชนทั้งสองฝ่ายเข้าไปอีก

"มวลชนเสื้อแดง" อารมณ์และจุดยืนชัดเจน "ต้องการสร้างประชาธิปไตยของประชาชน" จึงสนับสนุนการ "ขอประชามมติ" เพื่อสร้าง "สังคมใหม่ประชาธิปไตยใหม่" ให้เกิดขึ้นเป้นจริง "สมเจตนารมณ์" ในการต่อสู่มานานถึง 6 ปี

ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายอำมาตย์ และโครงสร้างสังคมเดิมๆต้องสู้ "สุดกำลังมี" เพื่อไม่ให้ประชามติผ่าน

ดังนั้น ในทางเลือกทั้งหลายทั้งปวงของพรรคเพื่อไทย ราวกับเป็น "ปม" ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นไว้ในคำวินิจฉัยประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยุคปี 2555

และเป็นทางเลือกที่พรรคเพื่อไทยต้องปวดหัว แม้ "เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง" แต่กลับเสียทางการเมืองทั้งหมดเมื่อทุกหนทางเลือกมีปัญหาต้องเผชิญหน้าแล้ว พฤติกรรมรักษาอำนาจของพรรคเพื่อไทยที่แสดงออกมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คือ เฉยและหยุดนิ่งอยู่กับที่

ดังนั้น ทางเลือกของพรรคเพื่อไทย-รัฐบาล อาจถนัดทาง "เฉยค่อยไปทางถอย" เพื่อปล่อยปัญหาไปเรื่อยๆ ยื้อเวลาตัดสินใจแบบไม่มีอนาคต

นั่นสะท้อนถึงอาการ "เสื่อม" เริ่มเกาะแน่น ยากจะสกัดทิ้งได้ ดีไม่ดีอาจขั้น "ยุบสภา" ล้างกระดานใหม่เพื่อกลับไปสู่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง...ยังมีความเป็นไปได้อยู่

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น