--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โต้ กิตติศักดิ์ ปรกติ. การบิดเบือนกรณีมาตรา ๓๐๙ และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร !!?

โดย.พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

กิตติศักดิ์ ปรกติ ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ [๑] ปรากฏความบิดเบือน ดังนี้

๑. กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “การนับวันและนับคืนตามปฏิทิน จะมาออกกฎหมายไม่ให้มีการนับวันและคืนทำได้หรือไม่ ให้ถือว่าไม่เคยมีวันและคืนตามปฏิทินได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ความเป็นจริงก็คือความเป็นจริง วันและคืนก็คือความจริง ถ้าจะพยายามออกกฎหมายเพื่อล้มล้างความจริงคนก็จะไม่ปฏิบัติตาม”

ข้อสังเกต :
การออกกฎหมายไม่ให้มีการนับวันตามปฏิทินมิใช่เรื่องแปลกประหลาดในระบบกฎหมายแต่อย่างใด เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๔ “ถ้ามีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงจ่ายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้บอกเลิกการเจรจา” หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๕ วรรคหนึ่ง “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วง ไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ” วรรคสอง “เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”

ท่านจะเห็นได้ว่า ที่กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “จะมาออกกฎหมายไม่ให้มีการนับวันและคืนทำได้หรือไม่…ก็ไม่ได้”นั้นจึงเป็นความเท็จ ตามตัวอย่างที่ผมยกให้ท่านพิจารณาในข้างต้น อีกทั้งเหตุผลของเรื่องคือ การนับอายุความเป็นเรื่องการนับระยะเวลาของระบบกฎหมาย (เป็นเรื่องในทางกฎหมายว่า จะบัญญัติให้นับอย่างไร อายุความเท่าไหร่) หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงการกระทำทางกายภาพหรือการกระทำในทางข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ตามที่ กิตติศักดิ์ อ้างว่า “ออกกฎหมายเพื่อล้มล้างความจริงคนก็จะไม่ปฏิบัติตาม” จึงเป็นความเท็จ เพราะเรื่องอายุความเป็นเรื่องในทางกฎหมาย หาใช่เรื่องในทางข้อเท็จจริงไม่

๒.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “แทนที่คุณจะเลิกมาตรา ๓๐๙ คุณมาพิสูจน์ว่ามาตรา ๓๐๙ มันคุ้มครองเฉพาะการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ถ้าคุณเชื่อว่าคณะ คมช.ทุจริตคอรัปชั่น เอาเงินไปโกงกิน คุณก็ดำเนินคดีเขาสิ แล้วดูว่ามาตรา ๓๐๙ มันคุ้มครองเขาจริงไหม ถ้ามันคุ้มครอง แล้วเขาทำผิดจริง มาตรา ๓๐๙ มันก็ไม่ถูก”

ข้อสังเกต :
เรามาพิจารณา ความเท็จและการเบี่ยงประเด็นของกิตติศักดิ์ เป็นลำดับดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒๕๕๐) มาตรา ๓๐๙ “บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”

นั่นคือ มาตรา ๓๐๙ รับรองว่า ๑. บรรดาการกระทำใด ๆ ๒. ที่รับรองไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ๓. ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ (๒๕๕๐)

ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาการดำรงอยู่ของบทบัญญัติในส่วนนี้ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับดังกล่าว(วัตถุในทางสารบัญญัติที่มาตรา ๓๐๙ รับรองการกระทำเช่นว่านั้น)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๗ “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไป เพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการรวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

ด้วยเหตุนี้ การที่ กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “มาตรา ๓๐๙ มันคุ้มครองเฉพาะการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย” จึงเป็นความเท็จ เพราะมาตรา ๓๐๙ คุ้มครอง “การกระทำที่ผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” ด้วย (โดยผลบังคับมาตรา ๓๗ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๔๙)

ดังปรากฏแล้วใน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ ๓๔๙๔/๒๕๕๐ คดีหมายเลขแดงที่ ๗๘๔๑/๒๕๕๓ ระหว่าง เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร (โจทก์) พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และพวก (จำเลย) ก็ยืนยันผลบังคับของมาตรา ๓๐๙ ประกอบมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ ดังที่ผม (พุฒิพงศ์) ได้อรรถธิบายไว้ข้างต้น ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าวดังนี้ [๒]

“โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันฟ้องทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ กระทำผิดกฎหมายด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บิดเบือนหรือบิดผันระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย…ได้กระทำการแทรกแซง องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แทรกแซงสื่อ ทำลายระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเอื้อประโยชน์ให้ตนและพวก พ้อง ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการได้มาโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิได้เห็นความสำคัญหรือเห็นคุณค่าในสิทธิของปวงชนชาวไทย อันเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ละเมิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ…
ฯลฯ

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลที่จะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว…เห็นว่า มูลเหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ในนามของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข” ได้ทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นผลสำเร็จ…ซึ่งในการนี้ต่อมามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ที่มีผลบังคับใช้โดยชอบเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ในมาตรา ๓๗ บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครอง แผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่อง…หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” นอกจากนี้ในมาตรา ๓๖ ก็ยังบัญญัติว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่าง วันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้…ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประกาศหรือการปฏิบัติที่ ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามร้อยแปดคน หากจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หรือผิดกฎหมายอาญา มาตราใด ดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามร้อยแปดคน จะมีมูลความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องมานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

นั่นคือ ศาลรับรองว่า การดำรงอยู่ของมาตรา ๓๐๙ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒๕๕๐) คุ้มครองการกระทำผิดกฎหมาย (กบฎ) ตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) ๒๕๔๙ ด้วยนั่นเอง ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามบทบัญญัติดังกล่าว

กรณีจึงมิใช่เรื่อง “การเอาผิดคณะรัฐประหารเพราะเหตุกระทำโดยทุจริตคอรัปชั่น” อันเป็นข้อเท็จจริงคนละกรณีกับการก่อ “กบฎล้มล้างระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะที่ “คณะรัฐประหาร” ได้กระทำความผิด อันได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓๐๙ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ประกอบมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ๒๕๔๙

การที่ กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ถ้าคุณเชื่อว่าคณะ คมช.ทุจริตคอรัปชั่น เอาเงินไปโกงกิน คุณก็ดำเนินคดีเขาสิ แล้วดูว่ามาตรา ๓๐๙ มันคุ้มครองเขาจริงไหม ถ้ามันคุ้มครอง แล้วเขาทำผิดจริง มาตรา ๓๐๙ มันก็ไม่ถูก” จึงเป็นการเบี่ยงเบนให้พิจารณานอกประเด็นของเรื่อง โดยมิได้พิจารณาเนื้อหาสาระของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อันขาดไร้ความรับผิดชอบในสามัญสำนึกอันดีของนักวิชาการ

๓. กิตติศักดิ์ กล่าวว่า “คุณต้องการอะไร ต้องการเอาโทษคณะรัฐประหารใช่ไหม ก็ต้องให้ศาลตัดสิน แต่เอาโทษสิ่งที่เขาไม่ผิดไม่ได้ ต้องเอาโทษสิ่งที่เขาผิด ในที่สุดก็ต้องวินิจฉัยว่าคุณทำรัฐประหารโดยชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นแบบนั้น อดีตผู้ทำรัฐประหารก็ต้องมาต่อสู้คดีกับศาลถึงการทำรัฐประหารว่าอันนี้เป็น สิ่งจำเป็นครับ อันนี้เป็นเหตุป้องกันอันตรายฉุกเฉินครับ โอเค คุณอาจจะผิด แต่ถึงเวลาตัดสินก็ต้องไปดูตอนนั้น เช่นแล้วมีเหตุให้ต้องบรรเทาการลงโทษหรือไม่”

ข้อสังเกต :
การรัฐประหารโดยชอบด้วยกฎหมาย มีได้อย่างไร? มิเช่นนั้นก็ไม่จำต้องนิรโทษกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งใน มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ๒๕๔๙ และยังนิรโทษกรรมซ้อนซ้ำอีกในมาตรา ๓๐๙ รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แต่อย่างใด

อีกทั้ง การที่กิตติศักดิ์ พยายามอ้าง “เหตุจำเป็น” หรือ “เหตุป้องกัน” เพื่อทำรัฐประหาร (ซึ่งจะทำให้การรัฐประหารไม่เป็นความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ) นั้น ตกลงแล้ว กิตติศักดิ์ มองว่า “การกระทำ” ที่เป็น “รัฐประหาร” ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่? ถ้าชอบด้วยกฎหมาย แล้วกิตติศักดิ์ จะอ้าง “เหตุจำเป็น” หรือ “เหตุป้องกัน” เพื่อยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ ไปทำไม (โดยนัย – เอาล่ะ กิตติศักดิ์ ถือว่าเป็นคำอธิบายในกรณีที่ “อาจจะผิด”) เพราะในกรณีอ้างเหตุดังกล่าวนั้นต้องปรากฏว่า การกระทำนั้นเป็น “ความผิด” เสียก่อน และโดยสภาพการทำรัฐประหารไม่อาจปรากฎ “เหตุจำเป็น” (ทำไปเพราะไม่สามารถหลีก เลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้) [๓]หรือ “เหตุป้องกัน” (เพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อ กฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง) [๔] ได้เลย โดยสภาพของการกระทำผิดฐานกบฎ (กบฎ – รัฐประหาร ; กระทำการเพื่อยึดอำนาจรัฐหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอาจรัฐโดยมิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ)

บทสัมภาษณ์ของกิตติศักดิ์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นบทสัมภาษณ์ไม่มีฐานรองรับการให้เหตุผลทางนิติศาสตร์เลยดังปรากฎเหตุผลประกอบตามที่ผมได้อรรถาธิบายไว้ข้างต้น

ในท้ายนี้ควรกล่าวด้วยว่า การลบล้างมาตรา ๓๐๙ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน จำต้องลบล้างมาตรา ๓๖, มาตรา ๓๗ รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ๒๕๔๙ ด้วย เพื่อนำผู้กระทำผิดกฎหมายก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยวิถีทางที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นมารับผิดและรับโทษตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่กระทำผิด (มาตรา ๑๑๓ ประมวลกฎหมายอาญา) หาใช่การลบล้างข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดๆ ไม่ เพราะการลบล้างบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการ “นำสิ่งที่ผิด” มารับผิดและรับโทษตามตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่กระทำผิด นั่นเอง หาใช่การย้อนเวลาไปเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหรือความจริงไม่ ดังที่ กิตติศักดิ์ บิดเบือนทั้งในข้อเท็จจริงและหลักวิชาจนยุ่งเหยิง และไม่อาจหาฐานรองรับการให้เหตุผลเช่นนี้ในทางนิติศาสตร์ได้เลยตามความปรากฏในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว.

____________________

เชิงอรรถ

[๑] เว็บไซต์ไทยโพสต์ “แก้309ไม่ล้างผิด นักกฎหมายยก‘ปิโนเชต์’กระตุก‘แม้ว’ชี้คดีโกงยังอยู่” : http://www.thaipost.net/news/200712/59901

[๒] เว็บไซต์นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร “คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คมช.และพวก ฐานกบฎล้มล้างรัฐธรรมนูญฯ” : http://www.enlightened-jurists.com/directory/193

[๓] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗

[๔] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น