--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชัยชนะกลางวงล้อมประชาชน !!?

การเมืองเดือนกรกฎาคมนี้ส่ออาการ ดุเดือด การเผชิญหน้าระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงแนวร่วมสนับสนุนแต่ละฝ่ายอยู่ในขั้น “เตรียมพร้อมแตกหัก” กันไปข้างหนึ่ง เอาเป็นว่า ทุกขุมอำนาจในสังคม ตั้งท่า “เปิดหน้าเล่น” ชนิดไม่อายฟ้าดิน แน่ละ...เมื่อเกมเปิดแบบนี้ หากฝ่ายใดพลาดเป็นเสร็จแน่

ตามปฏิทินอำนาจ ในต้นเดือนกรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญเริ่ม “เพาะเชื้อความรุนแรง” กำหนดการไต่สวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ในข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” ตามมาตรา 68 จะเปิดฉากขึ้น การโหมประโคมยัดเยียดข้อกล่าว หาย่อมเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงครึ่งๆ กลางๆ ผสมด้วยเทคนิคนักโฆษณาชวนเชื่อมวลชนโน้มน้าวให้เกิดความสับสน

อารมณ์แห่งเดือนกรกฎาคมค่อนข้าง “ไร้ความสุข” ข้อกล่าวหาแบบ “ดี-ชั่ว” หรือ “มึงผิด-กูถูก” จะปกคลุมบรรยากาศการสื่อสารมวลชนเลือกข้างเพื่อเปิดฉากเชียร์กันอย่างเคร่งเครียด โดยเฉพาะพลังอำนาจการเมืองแต่ละฝ่ายจะถูกปลุกโหมเติมเชื้อไฟให้เดือดปุดๆ พร้อมอุ่นเครื่องสู่สมรภูมิ “แตกหัก” ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสภาจะเปิดประชุม “สมัยทั่วไป”

การประชุมสภาสมัยทั่วไป พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่น “ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ” เพื่อเล่นงานรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่นเท่ากับการเผชิญ หน้าค่อยๆ ถูกเติมเชื้อร้ายให้พัฒนา “เต็มรูปแบบ” มากขึ้น หากพรรคเพื่อไทยเกิด “อารมณ์เหลือทน” แล้วเปิดหน้าชนโดยใช้พลัง ส.ส.เสนอพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ชนิดให้ “มันจบๆ กันไป” สถานการณ์แบบนี้เท่ากับผลักดันการ เมืองไปอยู่ใน “ภาวะไม่ปกติ” และสุ่มเสี่ยงถูกพลังอำนาจอำมาตย์แทรกแซง โอกาสเช่นนี้ มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย

ในเบื้องต้น พลังอำนาจอำมาตย์จาก ฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญได้สะท้อนการ “เล่นเกม” มากกว่าทำหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรมแห่งสังคม การไต่สวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ส่อแนวโน้มถูกตีตราว่า “ผิด” ตามการกล่าวหาว่า ล้มระบอบการปกครอง แต่ปัญหาย่อมเกิดตามมาเป็น สายธารแห่งพลังต่อต้านค่อนข้างจะหลีกเลี่ยงได้

สภาพการดื้อเพ่ง หรือรูปแบบการต่อสู้แบบ “อารยะขัดขืน” มีแนวโน้มลุกลาม ทั้งในฝ่ายนักการเมือง นักวิชาการและซีกมวลชนทั่วประเทศ แม้บนพื้นฐานความเชื่อ ของโครงสร้างทางสังคมให้คุณค่า “ระบบศาล” ไม่มีการตัดสินใจที่ “ผิด” แต่พลังมวลชนในเดือนกรกฎาคมนี้ จะแสดงออกเพื่อลบล้างความเชื่อเก่าๆ ตามโครงสร้างสังคมแบบอนุรักษนิยมทันที

นั่นคือ พลังประชาชนมีแนวโน้มไม่เชื่อถือศาลรัฐธรรมนูญจะกระจายไปอย่างกว้างขวาง แล้วลากโยงไปสู่การทำลายความเชื่อถือของระบบศาลอื่นๆ ด้วย

ความเชื่อแบบ “กูไม่มีผิด” ย่อมถูกท้าทายด้วยเสียงตะโกนตอบกลับแบบ “ระบบสองมาตรฐาน” และเป็นองค์กรที่ไร้คุณค่า เมื่อตกเป็นเครื่องมือในการเล่นเกมการเมือง ถอดความง่ายๆ คือ ชัยชนะที่ศาล รัฐธรรมนูญเชื่อจะถูกประกาศขึ้นกลางวงล้อม ของประชาชนทันทีไม่มีข้อสงสัยอื่นใดอีกแล้ว ในการถกเถียงทาง “ข้อกฎหมาย” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเปิดหน้าออกมารับลูกเล่นเกมการ เมืองในกรณีตีความมาตรา 68 และออกคำสั่งให้ชะลอลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะความเชื่อสังคมทุกองค์กร ล้วนสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันว่า “ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ลุแก่อำนาจ” ประหนึ่ง เป็นพฤติกรรมอำนาจในการสร้าง “กฎกูเป็นกฎหมาย ไว้กดหัวพรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็นพฤติกรรมแห่งอำนาจที่ไม่สมควรเกิดขึ้น อย่างยิ่ง

ล่าสุด กลุ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 40 (ส.ส.ร.40) ประมาณ 20 คนประชุมแลก เปลี่ยนความเห็นเมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ผลการหารือมีข้อสรุปเด่นชัดว่า การกระทำ ของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการล้มล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเอง

นายคณิน บุญสุวรรณ ตัวแทน ส.ส.ร.ปี 2540 วิจารณ์ตรงๆ ว่า “นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจตีความแล้ว ยังมีอำนาจในการควบคุมรัฐสภา ควบคุมคณะรัฐมนตรี และควบคุมประชาชนอีกด้วย ซึ่งจะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้ง และเกิดวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุด จนมิอาจพยากรณ์ได้ว่าสุดท้ายจะเกิดหายนะต่อบ้านเมืองอย่างไร”

เอาเถอะ ไม่ว่ากลุ่มใด พวกไหนจะชี้หน้าต่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันในสิ่งที่ตัดสินใจเชิงอำนาจไปด้วยความเชื่อมั่นว่า ได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องอยู่ดี ไม่เพียงเท่านั้น “นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับพยายามชี้แนวโน้มข้อกล่าว หา “ล้มล้างการปกครอง” มีความน่าเชื่อว่า “เป็นความจริง”

นายวสันต์ กล่าวว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ รับพิจารณาคำฟ้องกรณีรัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไป ดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกัน”

“เพราะรัฐสภาชุดนี้พิจารณากฎหมาย แบบขายขาด แล้วโยนภาระให้ ส.ส.ร. ก็ต้อง เสียเงินเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบว่าไม่แตะต้อง หมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ต้องไม่แตะ นะ ถ้าเขาร่างมาแล้วแตะล่ะ ใครจะทำไม”

“อ๋อไม่เป็นไรมีประธานสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าประธานสภาเห็นว่าให้ลงมติเลย เวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไรได้อีก เพราะเมื่อมีผลเป็นการลงประชามติไปแล้ว ผมขอย้ำเลยว่าถ้าเชื่อถือในบุคคล ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย”

แปลความง่ายๆ คือ แนวโน้มการวินิจฉัยจะอยู่บนความเชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผิด แล้วคำถามตามมามีว่า การตัดสินใจ ของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลอย่างไรกับการ ทำหน้าที่ของสภาฝ่ายนิติบัญญัติ และนั่นเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญโยนปัญหาทางการเมืองให้พรรคเพื่อไทยสะสางกันเอาเอง

พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.มากถึง 265 เสียงเกินกึ่งของสภา มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็น ผู้นำฝ่ายบริหาร ต้องใช้ “ความกล้า” ครั้งสำคัญเพื่อตัดสินใจว่า “สู้หรือถอย” จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดทางการเมืองร่องรอยการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ส่อให้เห็นในหลายรูปแบบปัญหามาแล้ว ร่างกฎหมายปรองดองเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์และมวลชนคนเสื้อเหลืองต่อต้าน ก็เกิดอาการใส่เกียร์ถอยไม่เป็นขบวน

เป็นไปได้ว่า “การถอย” ในการลงมติ แก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 คงเกิดขึ้นอีกเช่น เคย แต่พรรคเพื่อไทยจะอธิบายกับมวลชน เสื้อแดงและองค์กรทางวิชาการในสังคมอย่างไร เพราะการถอยก็คือ การสะท้อนถึง ต้องการรักษาพรรค อยากเป็นรัฐบาล มาก กว่าการปกป้องระบบของสังคมที่กำลังถูกศาลรัฐธรรมนูญแสดงอำนาจก้าวล่วง

ถึงที่สุดแล้ว การตัดสินใจ “สู้หรือถอย” ก็ตาม พรรคเพื่อไทยต้องมีหลังอิงกับ อำนาจมวลชนอยู่ดี โดยเฉพาะมวลชนเสื้อแดงที่ให้การสนับสนุนมาอย่างเหนียวแน่น พรรคเพื่อไทยต้องอธิบายกับแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ แกนนำ นปช. เพื่อโยงไปสู่การทำความเข้าใจ กับมวลชนเสื้อแดง

แน่ละ...คนที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ นี้คือ “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำ นปช.คนสำคัญที่พรรคเพื่อไทยต้องเรียกใช้บริการให้ทำความเข้าใจกับมวลชน ไม่ว่าจะตัดสินใจสู้หรือถอยศาลรัฐธรรมนูญ

ดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ อ่านขาดถึงกับกล้าเล่นเกม “ถอดประกัน” เพื่อให้ศาลอาญานำตัว “จตุพร” ไปขังคุก ราวกับยับยั้งให้ไปเคลื่อนไหวมวลชนมาล้อมกรอบ แสดงพลังบดขยี้ศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคมนี้

“จตุพร” เข้าใจเกมอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เขามองทะลุและค่อนข้างตัดสินใจ จะสู้กับศาลรัฐธรรมนูญ แม้เขาอยากเป็นรัฐมนตรี และต้องการสมัคร ส.ส.เพื่ออาศัย เป็นเกราะป้องกัน แต่เมื่อระบบโครงสร้างดุลอำนาจสังคมกำลังถูกทำลาย การตัดสินใจสู้กำลังก่อรูปขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างน่าสนใจ

และน่าสนใจยิ่งกว่าคือ การประกาศชัยชนะในการตัดสินร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คงมีขึ้นกลางวงล้อมของประชาชนอย่างแน่นหนา...

โปรดหลับตา นึกถึงผลกระทำ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญคงจะรู้คำตอบด้วยเช่นกันว่า จะสู้หรือถอย!!!

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น