--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนะประเดิมแก้ ม.309 ล้างรัฐประหารสร้างหลักประชาธิปไตย !!?

โภคิน. แนะให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อตัดปัญหา และควรเริ่มต้นที่การแก้มาตรา 309 ที่รับผลการกระทำและผลผวงจากการรัฐประหารก่อน เพราะขัดแย้งกับมาตรา 3 เพื่อสร้างหลักประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ “สามารถ” ชี้หากทำประชามติต้องได้มากกว่า 23 ล้านเสียงจึงแก้ไขได้ นิติราษฎร์เซ็งฝ่ายการเมืองไม่ตอบรับข้อเสนอเดินหน้าลงมติวาระ 3 ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ให้เป็นแนวทางไปปรับใช้ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญเผยคำวินิจฉัยกลางเสร็จแล้ว เผยแพร่ได้ภายในสัปดาห์หน้า

+++++++++++

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คำวินิจฉัยกลางคดีล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 เสร็จแล้วอยู่ระหว่างตรวจทานความถูกต้องก่อนเผยแพร่ คาดว่าจะส่งถึงผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ตามกำหนดภายในวันที่ 28 ก.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลักเป็นไปตามที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยแล้วทั้ง 4 ประเด็น แต่จะมีคำอธิบายเพิ่มเติม เชื่อว่าเมื่อสังคมได้อ่านแล้วจะเข้าใจ

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด พยานฝ่ายผู้ถูกร้องคดีแก้รัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครอง ระบุว่า ต้องรอคำวิจิยฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวออกมาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไปอย่างไร เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น การแก้มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถือเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

“ทางเลือกที่ดีที่สุดควรแก้เป็นรายมาตรา และแก้มาตรการที่ขัดกันเองในรัฐธรรมนูญ เช่นมาตรา 309 ที่นิรโทษกรรมและรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร ผลพวงจากรัฐประหาร ซึ่งขัดกับมาตรา 3 จึงควรแก้ไขเพื่อสร้างหลักประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้า ไม่ใช่เป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ถูกตั้งข้อสงสัย ส่วนการแก้เรื่องขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้ดี หากจะแก้ต้องระบุให้ชัดว่า ต่อไปการรับเรื่องตามมาตรา 68 ต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนเท่านั้น”

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า สภาควรปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอลงมติวาระ 3 ตกไป เพื่อจัดทำประชามติสอบถามประชาชนว่าเอารัฐธรรมนูญปี 2550 หรือหากไม่เอาจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงเพื่อประกาศใช้แทน ส่วนตัวเห็นว่าควรเอาฉบับปี 2517 มาปรับปรุงแก้ไขเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด หลังปรับปรุงแล้วก็จัดทำประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 15 เดือน โดยไม่ต้องมี ส.ส.ร.

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวว่า หากจะทำประชามติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอยู่ประมาณ 46 ล้านคน หมายความว่าถ้าได้คะแนนไม่ถึง 23 ล้านเสียงก็ไม่มีสิทธิแก้ไข

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจให้เด็ดขาดตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอแนะว่าจะเอาอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เรื่องจบ บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะนี้ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายแล้ว อยู่ที่หัวหน้ารัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำคณะนิติราษฎร์:นิติศาสตร์เพื่อราษฎรกล่าวว่า แม้ไม่มีฝ่ายการเมืองตอบรับข้อเสนอเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นอะไร เพราะเป็นการเสนอทางวิชาการที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

“คณะนิติราษฎร์มีแนวคิดที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฏร์ขึ้นมา เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวคิดในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ เนื้อหายังคงความเป็นราชอาณาจักรไทย และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งมีความเป็นนิติรัฐมากขึ้นด้วย”

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น