--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อ รุกกลับ !!?

ยุทธวิธีที่พรรคเพื่อไทย ไม่มีทางเลือกมาก นอกจากทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนจาก"ถอย"มาเป็น"รุก"ในทางการเมือง

ยังไม่มีข้อสรุปจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ในการถกเถียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะหาทางออกอย่างไร หลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ศาลรธน.สามารถรับคำร้องวินิจฉัย และผู้ร้องสามารถยื่นผ่านอัยสูงสูดได้ ต่อประเด็นที่มีผลล้มล้างรัฐธรรมนูญ นั่นเท่ากับว่าศาลรธน.มีข้อ"ผูกพัน"เหนือกว่าฝ่ายสถาบันสภานิติบัญญัติ แม้การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องของสภาก็ตาม

ส่งผลให้พรรคเพื่อไทย ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดชะงักลงทันที ต้องรอคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนอของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาปลายเดือนกรกฎาคมนี้

เสียงที่ประชุมพรรคเพื่อไทยฝ่ายหนึ่ง มีการเสนอให้แก้ไขในมาตรา 68 และ 165(2) ที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ จากนั้นจึงค่อยมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆต่อไป โดยจัดให้มีส.ส.ร.ขึ้นเพื่อให้ประชาชนจากทุกหมู่เหล่าได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพราะอาจเป็นการ"ปลดกุญแจ"ให้สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่เสี่ยง

แม้นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.เพื่อไทยเดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมาบอกว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เห็นด้วยกับแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่ใช่ว่าแนวทางนี้จะราบรื่น เพราะต้องฟังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยก่อน ที่จะมีการประชุมในวันที่ 24 ก.ค.นี้ แนวทางแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก่อนหน้านี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคบางคน เชื่อว่าล่าช้า ต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้

แต่เสียงประชุมอีกฝ่ายเสนอให้เดินหน้าลงมติในวาระ 3 แต่มีเสียงคัดค้าน ถือเป็นการเสี่ยงเกินไป เพราะหากมีคนตีความแล้วไปยื่นเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาอีก

การติดตามการแก้รัฐธรรมนูญมีการต่อสู้ขับเคี่ยวกว่าจะแก้ได้ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะทั้งฝ่ายส.ว.และส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่มีความเป็นเอกภาพ มีเสียงแตกแน่ หากโหวตแก้วาระ3

ทางออกที่ดี และเหลืออยู่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย น่าจะคิดรอบคอบกว่าที่จะเลือกวิธีโหวต และเร่งแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็คือการหันกลับไปหาการทำประชามติ เพราะเป็นวิธีเดียว เมื่อรู้ว่าการต่อสู้กันครั้งนี้ ต้องใช้เวลานาน และซีกฝ่ายค้านไม่ยอมแน่

หากย้อนไปช่วงก่อนจะปิดสมัยสามัญนิติบัญญัติ ที่สภาเสนอพ.ร.บ.ปรองดอง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้ามา จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล อยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำ และถอยทางการเมืองมาตลอด

ยิ่งศาลรธน.วินิจฉัย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ติด"กับดัก"ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทางออกที่ดีกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ที่จะยอม"ถอย"ในทางการเมืองอย่างเดียว มาเป็นการ"รุก"กลับใหม่อีกครั้ง คือ"ทำประชามติ" นั่นคือ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย น่าจะมีเวลาได้คิด และไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาดที่กติกามีไว้ให้ รวมถึงเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญยังมีเวลามากพอ

อีกสถานการณ์หนึ่ง หากประเมิน แต่ละฝ่ายของกำลังมวลชนที่มีอยู่ในขณะนี้ กำลังในต่างจังหวัดของพรรคเพื่อไทยน่าจะมีกำลังมากพอที่จะช่วยหนุนได้ หากลงไปทำความเข้าใจ และยกระดับความรู้มวลชน ซึ่งเป็นกำลังหลักอยู่ก่อนแล้ว และเป็นแนวทางประชาธิปไตยทางตรง ที่จะทำให้ประชาชนที่เป็นผู้เลือกตัวแทนของเขาตัดสินชะตากรรมการปกครองประเทศ

ที่สำคัญ ก็คือเพื่อตอกย้ำว่า จริงๆแล้วประเทศนี้ เมืองนี้ต้องการระบอบการปกครองแบบไหนกันแน่? ควรออกแบบสถาบันการปกครองอย่างไรดี? มีสถาบันการปกครองถ่วงดุลอำนาจกันมากน้อยแค่ไหน? สถาบันไหนที่จะยกเลิก หรือเพิ่มอำนาจเข้ามา? หรือว่าสถาบันส่วนไหนจะลดอำนาจลง? เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่อเนื่อมาหลายปีและเป็นอยู่ในขณะนี้

นี่คือแนวทาง หากพรรคเพื่อไทยต้องการเลือกเดินหน้าวิถีประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน!

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้าทำประชามติได้ อาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน และที่สำคัญคือร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยังคงค้างวาระ 3ไว้ กลับมาพิจารณาได้ใหม่ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 39

เป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทย สามารถเปลี่ยนจาก"ถอย"มา"รุก"ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น