โดย.วันวลิต ธารไทรทอง
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อปี 2529 โดยใช้ชื่อเรียกว่า ดอย เหม่ย (Doi Moi) การปฏิรูปนี้ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างงดงามในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามได้เดินมาสู่หนทางแห่งความท้าทายใหม่ของการปฏิรูป ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามในอนาคต
การปฏิรูปเศรษฐกิจ ดอย เหม่ย ถือเป็น “หลักไมล์” สำคัญในการเปลี่ยนเวียดนามจากระบบเศรษฐกิจที่วางแผนโดยส่วนกลาง ไปสู่การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดมากขึ้น ลดบทบาทภาครัฐ เพิ่มบทบาทภาคเอกชน และมุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization)
แม้ตลอดระยะเวลาแห่งการปฏิรูปนี้ได้ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามดีขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อาทิเช่น เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 7% ต่อปี เปลี่ยนจากเป็นประเทศยากจนมาก กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง และมีการเปิดกว้างทางการค้าการและการลงทุนกับต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2538 และสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ในปี 2550 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การปฏิรูปชักจะไม่สดใส ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านมหภาค (Macroeconomic Indicators) หลายตัวเริ่มสะท้อนความป่วยไข้ของเศรษฐกิจเวียดนาม อาทิเช่น เวียดนามขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเกือบตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา และเมื่อ 4 ปีที่ผ่าน (2551-2554) มาเวียดนามประสบสภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในเอเชีย คือสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเวียดนามต้องปรับลดค่าเงินหลายครั้งเพื่อหนุนการส่งออก เงินทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเวียดนามและโยกเงินออกไปลงทุนที่อื่น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจากประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 เหลือเพียงประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ เป็นสถานการณ์ที่ตรงข้ามกับแนวโน้มของประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การจัดอันดับความสะดวกในการเข้าไปดำเนินธุรกิจของแต่ละประเทศโดยธนาคารโลก ซึ่งวัดจากตัวชี้วัดด้านการประกอบธุรกิจ 10 ตัว เช่น การหาสินเชื่อในการลงทุน ระบบการชำระภาษี การคุ้มครองนักลงทุน พบว่า เวียดนามอยู่อันดับที่ต่ำมาก คืออันดับที่ 98 จากจำนวน 183 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 17 และสิงคโปร์ เป็นอันดับที่ 1
มากไปกว่านั้น เวียดนามกำลังประสบกับปัญหาพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งยังมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูง อันเนื่องมาจากการขาดระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ อย่างเช่น ฮานอย และ โฮจิมินห์ ปรับตัวขึ้นมาก เกินกว่าอำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่จะไล่ตามทัน เกิดการขยายตัวของความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบท รวมถึงปัญหาสังคมต่างๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
แม้แต่รายงานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของเวียดนามเอง เช่น รายงานความสามารถทางการแข่งขันปี 2553 รายงานการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามปี 2553 และ ปี 2554 ก็ยอมรับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เป็นการเติบโตแบบไม่มีคุณภาพและไม่ยั่งยืน มีการก่อมลภาวะสูงจากกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value Addition) ให้กับสินค้าที่ส่งออก อีกทั้งผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง
สรุปคือ เวียดนามกำลังตกอยู่ใน “กับดัก” ของการพัฒนา คือ ยิ่งพยายามพัฒนา ยิ่งสร้างปัญหาในการพัฒนา ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนของเวียดนามตอนนี้คือ ต้องทำการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่
ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลและคนเวียดนามก็ทราบดี สังเกตได้จากการประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2554-2564 โดยตั้งเป้าหมายสำคัญไว้คือ ต้องสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานระดับโลก (World Class Infrastructure) ผลิตแรงงานที่มีฝีมือ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันและองค์กรต่างๆของ “ตลาด” (Strengthen Market-based Institutions)
เป้าหมายเหล่านี้ถือว่าเป็นการ “ปลดล็อค” ให้เวียดนามสามารถพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ทำโดยวิธีใด และใช้เวลานานเท่าไหร่ กว่าเวียดนามจะหลุดออกจากปัญหาโครงสร้างนี้ ยังเป็นความท้าทายของเวียดนาม
ผมเชื่อว่า ถ้าเวียดนามสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปได้อย่างดี จะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าไปมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้เวียดนามสามารถปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม และยกระดับสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ (Modern Economy) ซึ่งแน่นอนว่า ศักยภาพของเวียดนามจะเพิ่มมหาศาล โอกาสที่เศรษฐกิจเวียดนามซึ่งปัจจุบันมีขนาดประมาณ 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เล็กกว่าขนาดเศรษฐกิจไทยประมาณ 3 เท่า จะสามารถไล่ทันเศรษฐกิจไทยในเวลาไม่ถึง 10 ปี
ในทางกลับกัน ถ้าเวียดนามไม่สามารถออกจากวังวนของปัญหานี้ได้ โอกาสที่เวียดนามจะเดินไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง และวิกฤตสังคม ก็มีความเป็นไปได้สูง
แต่ไม่ว่าเวียดนามจะปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งนี้ได้สำเร็จงดงาม หรือล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ย่อมมีนัยต่ออาเซียนและประเทศไทยโดยไม่ต้องสงสัย การติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจเวียดนามหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้
ที่มา:Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น