--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อับดุล ทำไมต้อง อดุลย์.

คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีมติให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน (10 ต่อ 0) ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) อาวุโสลำดับที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งจะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้

การที่นายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ข้ามอาวุโสลำดับที่ 1 และ 2 คือ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต และ พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ นับเป็นการตัดสินใจทางการบริหารที่กฎหมายตำรวจ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ไว้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมากว่า 30 ปี ที่ตำแหน่งผู้นำองค์กรตำรวจ ไม่ว่าจะมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เรียกชื่อว่า “อธิบดีกรมตำรวจ” หรือเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังกัดขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เรียกชื่อตำแหน่งว่า “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”

ผู้มีอำนาจเสนอชื่อจะคัดเลือกรองอธิบดีกรมตำรวจ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีอาวุโสสูงสุดในหน่วยงานเลื่อนขึ้นเป็นผู้นำองค์กร

มีครั้งเดียวที่นายกรัฐมนตรีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พยายามเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รอง ผบ.ตร. ที่มีอาวุโสต่ำกว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แต่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบถึง 2 ครั้ง จึงจำเป็นต้องรับราชการมาจนเกือบจะเกษียณอายุถึงได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียรให้ ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ.วิเชียรอาวุโสต่ำกว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะว่าไปแล้วความเห็นดังกล่าวก็ฟังได้ถ้าพิจารณาจากการเข้าสู่ตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นตำแหน่งหลักนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ดำรงตำแหน่งก่อน และก่อน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ด้วยซ้ำไป แต่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ประสบวิบากกรรมจากการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ถูกคณะปฏิวัติ (ชื่อยาวเหยียด) ออกคำสั่งให้ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จนเป็นเหตุให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจนชนะคดีได้กลับมาเป็นรอง ผบ.ตร. อีกครั้งหนึ่ง

แต่จะว่าไปแล้วในอีกมุมหนึ่ง พล.ต.อ.วิเชียรได้ยศเป็น พล.ต.อ. ในตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก ซึ่งเทียบชั้นเดียวกับรอง ผบ.ตร. ก่อน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ถ้านับตามลำดับอาวุโส มองในมุมนี้ พล.ต.อ.วิเชียรย่อมมีอาวุโสกว่า

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ย้าย พล.ต.อ.วิเชียรไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงเป็นความชอบธรรมที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะขึ้นเป็น ผบ.ตร. ด้วยประการทั้งปวง

สำหรับกรณีของ พล.ต.อ.ปานศิริ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในขณะนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ พล.ต.อ.อดุลย์ ตามกฎหมายตำรวจว่าด้วยการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้ดูที่อาวุโส ประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และความรู้ความสามารถ ประกอบกัน (ม.57) ทั้ง 2 คนแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ที่เห็นได้ชัดก็คืออาวุโสและอายุราชการเท่านั้น พล.ต.อ.ปานศิริมีอาวุโสกว่าทั้งอายุราชการและอายุตัว ทั้งคู่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจห่างกัน 1 รุ่น ไล่เรียงเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเกือบทุกชั้นยศห่างกันเพียง 1 ปี จนกระทั่งถึงชั้นยศนายพลตำรวจ

ที่สำคัญคือทั้ง 2 คนเป็นนายตำรวจที่ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาให้การยอมรับในฝีไม้ลายมือ ความเฉลียวฉลาด ความมุ่งมั่นเพียรพยายามในงานที่มอบหมายให้รับผิดชอบ ตลอดจนความมีมนุษยสัมพันธ์ทั้งต่อบุคลากรในองค์กรและต่างองค์กร ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน

ถ้าจะว่าไปแล้วเมื่อพิจาณาถึงความสัมพันธ์สนิทสนมคุ้นเคยกับฝ่ายนโยบายและการเมือง พล.ต.อ.ปานศิริดูจะใกล้ชิดได้รับความไว้วางใจเหนือ พล.ต.อ.อดุลย์ด้วยซ้ำไป นอกจากรุ่นจะใกล้เคียงกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แล้วยังมีโอกาสได้ตามไปศึกษาต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัย Eastern Kentucky University ด้วยกันอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเลือก พล.ต.อ.ปานศิริให้เป็น ผบช.ภ.1 ก่อนเปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลต่อรัฐบาลอย่างผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ความสามารถในการสอบสวนอยู่ในระดับเกรดเอบวก จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีสำคัญๆเกือบทุกคดี

มองคุณสมบัติของ พล.ต.อ.ปานศิริแล้วแทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่าทำไมนายกรัฐมนตรีถึงต้องหยิบ พล.ต.อ.อดุลย์เข้ามาแทนที่แบบออกนอกกฎเกณฑ์ธรรมเนียมปฏิบัติ

ในฐานะที่ผมเป็นครูของทั้ง 2 คนที่เป็นคู่ Candidate ตำแหน่ง ผบ.ตร. รู้จักคุ้นเคย สนิทสนมใกล้ชิดเป็นอย่างมาก เคยใช้สอยไหว้วาน บังคับบัญชาทั้งคู่ ใช้งาน ได้งานละเอียด ผลงานไม่มีอะไรบกพร่อง รักทั้งพี่ เสียดายทั้งน้องถ้าจะต้องตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่ง

สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ผมเชื่อว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้มีอำนาจเลือกตกลงใจในลักษณะที่มองการณ์ไกล 2 ปีในตำแหน่งกับ 1 ปี มีผลแตกต่างกันในเชิงบริหารงานมาก โดยเฉพาะการบังคับบัญชาในองค์กรตำรวจ นกกาจะเกาะต้นไม้ใดก็ต้องดูความยั่งยืนและผลิตผลของต้นไม้นั้นๆเป็นหลัก ถ้าเป็นต้นไม้ที่ร่มเงาอยู่ไม่คงทน คำว่า “นกรู้” จึงเกิดขึ้น จะบังคับบัญชาสั่งการใดๆ ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชารู้ดีว่านายอยู่ได้สั้นๆ คำสั่งก็จะรับฟัง ส่วนการปฏิบัติจะให้เต็มร้อยคงไม่เป็นไปตามคาดหวัง

องค์กรตำรวจไทย 5 ปี เปลี่ยน ผบ.ตร. มาแล้ว 6 คน ความต่อเนื่องในการบริหารงาน สั่งการไม่มีเอกภาพ แทบจะกล่าวได้ว่าแต่ละคนทำงานเพื่อรักษาสถานภาพ การเลือก พล.ต.อ.อดุลย์ให้ทำงานอย่างน้อย 2 ปี จึงเท่ากับเป็นการเตือน (Warning) ให้ตำรวจทุกนายทราบว่าต่อไปนี้งานบริการ การรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมต้องเดินหน้าจริงจัง เพราะกิตติศัพท์ของ พล.ต.อ.อดุลย์เป็นที่ทราบกันดีว่าจริงจัง เอาการเอางาน กัดไม่ปล่อย และทำงานอย่างเป็นระบบ คิด วางแผน ตัดสินใจอย่างทหาร เพราะเป็นนายตำรวจระดับสูงคนเดียวที่ให้ความสำคัญกับการใช้ฝ่ายอำนวยการ (เสนาธิการ) ดังจะเห็นได้จากรูปแบบการทำงานที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยสั่งการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์เป็นนายตำรวจระดับสูงยศ พล.ต.อ. ที่ผ่านงานในสนามรบในฐานะนักรบ (จนได้เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้น 1 ประดับเปลวระเบิด เป็นเครื่องหมายประกันคุณภาพถึงความกล้าหาญ) นักปฏิบัติ และเป็นผู้เสนอแนะแนวปฏิบัติ (เสนาธิการ) ทุกตำแหน่งระดับหัวหน้างาน จึงครบเครื่องของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่รู้ทุกข์รู้สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

ความเสียสละ กล้าหาญ ตั้งแต่เป็นนายตำรวจเด็กๆจนถึงสารวัตร มีผลงานจนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากมูลนิธิธารน้ำใจให้เป็น “คนไทยตัวอย่าง”

สำคัญที่สุดก็คือ พล.ต.อ.อดุลย์เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำงาน โตมาทุกตำแหน่งโดยไม่เคยมีข้อครหาว่าวิ่งเต้นกับผู้ใดเลย?!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น