การกระจายอำนาจ. เป็นอีกหนึ่งแสงสว่างที่ถูกมองว่าจะส่องทางไปสู่ประชาธิปไตยที่..ดีกว่า!!..ในขณะที่สังคมการเมืองบ้านเรา กำลังร้อนเป็นไฟด้วยวิกฤติความขัดแย้ง ทั้งในมิติของความยุติธรรม และดุลอำนาจ
ในมุมหนึ่งที่กลเกมการเมืองกำลังแข่งขัน แก่งแย่ง ช่วงชิง หากแต่ยังมีอีกหลายด้านหลายมุมที่พยายามจะมองหาทางออกของประชาธิปไตย จนสุดท้ายอดคิดไม่ได้ว่าปัญหาการเมืองต้องหาบทสรุปที่การเมืองเสมอไป..เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเสวนา ในวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองอยู่ไม่น้อย รวมถึงคณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง ที่ร่วมกับกลุ่ม สยามประชาภิวัฒน์ จัดการประชุมเรื่อง “การกระจายอำนาจกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการเสวนาถึงทิศทางของการกระจายอำนาจของประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน อนาคต ความคาดหวังและโอกาสแห่งความสำเร็จ โดยมี นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
“คมสัน โพธิ์คง” กล่าวถึงทิศทางของการกระจายอำนาจของประเทศไทย : อดีต ปัจจุบัน อนาคตความคาดหวังและโอกาสแห่งความสำเร็จว่า คนไทยมักคิดว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องไกลตัวและมักเกี่ยวโยงกับการเมืองระดับชาติเท่านั้น ทั้งที่ความจริงกลับเกี่ยวเนื่องการเมืองท้องถิ่น ส่งผลให้ประเทศไทยแม้จะมีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการตนเองยังคงถูกระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคครอบงำจนขาดอิสระผ่าน 3 เงื่อนไขที่ทำให้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบปัญหา ได้แก่ 1.งบประมาณ 2.การ บริหารงานบุคคล และ 3.การกำกับดูแลตามกฎหมาย
การกำกับดูแลตามกฎหมายเกิดมาก ขึ้นในสังคมอย่างเช่น กรุงเทพฯ ที่ประสบ ปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอสจนเกิดข้อโต้เถียงว่าสุดท้ายควรให้สัมปทานโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดูแลหรือว่าจ้างโดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดูแล ทั้งที่ความจริงควรอยู่ในอำนาจของท้องถิ่น เช่นเดียวกับกรณีองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลหลายแห่ง ที่พบปัญหาซ้ำซ้อนการทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้การกระจายอำนาจ สู่ท้องถิ่นของประเทศยังวิกฤติ เพราะองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นเพียงผู้รับนโยบายจากส่วนกลางและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนการเมือง
“จรัส สุวรรณมาลา” กล่าวว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ผู้นำปฏิวัติหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือนายปรีดี พนมยงค์ เสนอแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ปัจจุบันยังไม่ สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมได้ เพราะ นักการเมืองไทยมักคิดว่าหากมีอำนาจคุม ส่วนกลางการปกครองของไทยได้ เสมือน เป็นเจ้าของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่ส่อทุจริตขึ้นตลอดมาจนถูกขนานนามว่า การปกครองวิถีการพนันที่มุ่งทำธุรกิจเป็นหลักมากกว่าการสร้างความชอบธรรม จนช่วงปี 40 ถึงปัจจุบันยอมรับว่ามีนักการเมืองหลายท่านที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจจริงจัง โดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง
หากการกระจายอำนาจไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในสภาวะที่การเมืองไทย ยังยึดการบริหารแบบรวมศูนย์ การส่งเสริม ให้เกิดธรรมนูญจังหวัดจัดการตนเองเป็นทางออกหนึ่ง เช่นใน จ.อำนาจเจริญและขอนแก่น ส่วนแนวคิดจะแก้กฎหมายให้อำนาจอบจ.มากขึ้นคงยาก เพราะจะทำให้ การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานระดับภูมิภาคไร้ความหมาย
“บรรเจิด สิงคะเนติ” กล่าวว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ยาวนานถึง 80 ปี มักอยู่ในอำนาจของกลุ่ม ทุน ส่วนประชาชนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกลับเข้าไม่ถึงสถาบันการเมืองส่วนกลาง ทำให้หลายพื้นที่เริ่มขับเคลื่อนจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง เพราะตระหนักดีว่าในอนาคตไทยยังคงยึดการปกครองลักษณะรวมศูนย์เช่นเดิม แม้นักการเมืองจะยืนยันว่าพร้อมกระจาย อำนาจสู่ท้องถิ่นก็ตาม
“การกระจายอำนาจของไทยไม่สามารถเทียบกับชาติตะวันตกได้ เพราะชุมชนในตะวันตกเกิดขึ้นก่อนจัดตั้งรัฐ กฎหมายต่างๆ จึงร่างขึ้นในบริบทความเข้มแข็งและการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น ขณะที่ไทยเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่รวมตัวกันตามวิถีอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง แต่มิได้เพื่อปกครองตนเอง การจัดการจึงยากกว่า”
พร้อมยกตัวอย่างประชาชน จ.ระยอง ร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดจากโครงการขนาดใหญ่และราคาพืชผลทางการเกษตร ตกต่ำว่าไม่สามารถบริหารจัดการด้วยตนเอง ได้ แม้จังหวัดจะมีรายได้ให้กับประเทศปีละ 7 แสนล้าน แต่อบจ.กลับได้งบประมาณเพียง 1.2 พันล้านเท่านั้น จึงเป็นข้ออ้างที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไข ปัญหาของคนในพื้นที่ได้ จึงยอมไม่ได้ที่จะ ให้อำนาจจากส่วนกลางมาครอบงำการบริหารจัดการส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิมากขึ้นทิศทางการกระจายอำนาจจึงควรไม่หวังพึ่งเพียงการเลือกตั้งนักการเมืองท้องถิ่น แต่ควรตั้งสภาพลเมืองทำหน้าที่วางแผนทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เช่น จัดแหล่งเรียนรู้ ทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรม ซึ่งอาจขัดแย้ง กับความต้องการของส่วนกลางที่มุ่งพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมอย่างเดียว ส่วนงบประมาณ จะได้รับจากท้องถิ่น นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการร่างกฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรช่วยขับเคลื่อนการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน และจำเป็นต้องเชื่อมโยงความ ร่วมมือในพื้นที่เข้ากับสถาบันการเมืองด้วย
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น