--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการ 13 ชุด แยกสอบจีที 200 - อัลฟา 6.

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีตรวจสอบกรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และอัลฟา 6 ภายหลังที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สรุปส่งสำนวนการสอบสวนมาให้สำนักไต่สวนคดีทุจริตภาครัฐ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.54 เลขที่ ยธ.0800/10 ซึ่งดีเอสไอสรุปผลการสืบสวนสอบสวน ภายหลังมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอตรวจสอบตั้งแต่ ปี 53 ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยทั้ง 2 ประเภท ทั้งการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริง และฮั้วประมูล ซึ่งตามระเบียบราชพัสดุของสำนักนายกฯการจัดซื้อเครื่องมือใดๆจะต้องไม่แพงเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดราคากลาง แต่กลายเป็นแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างจัดซื้อกันเอง

นายวิชา กล่าวอีกว่า หนังสือของดีเอสไอยังได้แยกประเด็นระบุถึง 13 หน่วยงานของภาครัฐ ที่มีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดวัตถุระเบิดดังกล่าว ประกอบด้วย กรมการปกครองที่ได้มีการจัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 63 เครื่อง จังหวัดยะลา จัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 17 ชุด เทศบาลนครภูเก็ต จัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 2 เครื่อง จังหวัดพิษณุโลก 1 เครื่องและเป็นการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ สถานีตำรวจภูธร จ.ชัยนาท จัดซื้อเครื่องจีที 200 จำนวน 1 ชุด กรมศุลากรจัดซื้อเครื่องจีที 200 จำนวน 6 เครื่อง กรมสรรพาวุธ จัดซื้อเครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง ศูนย์รักษาความปลอดภัย(ศรภ.)จัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 8 เครื่อง สำนักป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) จัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 10 เครื่อง และต่อมาภายหลังได้มีการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มอีก 5 เครื่อง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ทยอยจัดซื้อเครื่องมือจีที 200 จำนวน 7 เครื่อง และต่อมาได้มีการจัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 อีก 2 เครื่อง สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรีจัดซื้อจีที 200 จำนวน 2 เครื่อง รวมงบประมาณที่หน่วยงานรัฐได้ใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือทั้งสองประเภทจำนวน 683 ล้านบาท

กรรมการป.ป.ช. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการป.ป.ช.มีความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวมีถึง 13 หน่วย ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบในแต่ละหน่วยงานจำนวน 13 ชุด เพื่อเร่งรัดให้มีการทำคดีอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นคดีใหญ่และมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก โดยในวันที่ 26 ก.ค. นี้ กรรมการป.ป.ช.จะนัดหารือเพื่อพิจารณาว่า จะมอบหมายให้ใครจะรับผิดชอบเรื่องใดบ้าง หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่ากรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่จะรับไว้พิจารณาเอง นอกจากนี้ป.ป.ช.ต้องขอข้อมูลจากประเทศอังกฤษ เนื่องจากอัยการประเทศอังกฤษได้ดำเนินคดีกับนายจิม แมกคอร์มิก เจ้าของธุรกิจเครื่องมือตรวจดักระเบิดจีที 200 เพื่อนำรายละเอียดมาประกอบการพิจารณาไต่สวนคดีต่อไป

นายวิชา กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 นั้น เบื้องต้นป.ป.ช.ได้รับข้อมูลการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้ส่งผลการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวของสำนักนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมมาให้แล้ว แต่กรรมการฯยังไม่ได้ดูรายละเอียดดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร และหากมติที่ประชุมเห็นว่าควรจะให้รวมเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียวกับสำนวนที่ดีเอสไอสรุปส่งมาให้ก็คงต้องรวม

ที่มา.เนชั่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น