--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เรืองไกร ย้อนศร ยื่นยุบ ปชป.ต่อศาล รธน.โดยตรง ..!!?
















นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหาเปิดเผยว่า วันที่ 5 มิถุนายนนี้ จะไปถอนคำร้องจากอัยการสูงสุด แล้วนำมายื่นโดยตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งยกเลิกผลการใช้อำนาจในการบริหารประเทศของ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อาจกระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 20 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 20 วรรคหนึ่ง(5) เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ ในการรับคำร้องไว้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำโดยชอบหรือไม่ ซึ่งกรณีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เป็นผลให้ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วันนับจากวันที่มีคำสั่งยุบพรรค

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า แต่จากการตรวจบันทึกการประชุมวันลงมติเลือกนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคที่ไปโหวตให้เป็นการบันทึกว่างเอาไว้ ดังนั้น ส.ส.ของทั้ง 3 พรรค ยังมีสถานภาพเป็นสมาชิกพรรคที่ถูกยุบไปอยู่เช่นเดิม จึงมีประเด็นให้พิจารณาว่า การเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาของ ส.ส. ของพรรคที่ถูกยุบไป ก็เท่ากับว่ามีการละเมิดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลเป็นเด็ดขาดผูกพันรัฐสภา และทุกองค์กร

อีกทั้ง จำนวน ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคมีจำนวนมาก อาจทำให้ผลของมติในวันดังกล่าวมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ดังนั้นการเข้าใจกันไปเองว่า ส.ส.ของพรรคที่ยุบไป มีความเป็นอิสระสามารถทำหน้าที่เป็นองค์ประชุมในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น อาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ซึ่งล่าสุดคือ กรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

“จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ข้อ 6 สั่งให้พรรคประชาธิปัตย์และส.ส.ของพรรค หยุดการดำเนินกิจการและหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส.ส.เอาไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตามมติของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555” นายเรืองไกรระบุว่า

และว่า สาเหตุที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดไต่สวนมากว่า 2-3 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น จึงขอใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องโดยตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญ และหวังว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็วเหมือนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ตนข้องใจคือ มีคำสั่งแบบนั้นออกมาได้อย่างไร อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ตนรวมถึงส.ส.พรรคเพื่อไทยเคยยื่นร้องมาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเสนอเป็นญัตติจึงไม่สามารถรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ แต่คราวนี้ทำไมถึงรับไว้วินิจฉัย

ที่มา.หนังสือพิมพ์แนวหน้า
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น