โฆษกเพื่อไทยงัดข้อมูลในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญตบหน้าตุลาการ เพราะเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจส่งเรื่องตีความตามมาตรา 68 คืออัยการสูงสุดเท่านั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญเต้นสั่งเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลเตรียมชี้แจงอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ยันไม่ได้ตอบโต้แต่ต้องการทำความเข้าใจให้ตรงกัน อัยการสูงสุดไม่ก้าวล่วงอำนาจศาลว่าข้ามขั้นตอนหรือไม่ จะเร่งพิจารณาคำร้องให้เสร็จในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ เลขาฯกฤษฎีกาแนะรัฐบาลอยู่เฉยๆ เพราะเป็นเรื่องของสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินโผล่แจมทำเรื่องถึงสภาให้ทำตามคำสั่งศาลชะลอลงมติวาระ 3 เสื้อแดงล่า 100,000 ชื่อยื่นถอดถอนตุลาการแต่ไม่หวังผลสำเร็จ เพราะ 50% ในวุฒิสภาล้วนเป็น ส.ว.แต่งตั้ง ประธานวิปฝ่ายค้านระบุหากดึงดันลงมติจะไม่ร่วมประชุม
++++++++++++++++
ความเห็นแตกต่างกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการประชุมเพื่อลงมติวาระ 3 ที่ตามกำหนดจะลงมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ศาล รธน. เตรียมชี้แจง
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุว่า ตุลาการบางท่านไม่สบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน
“ยืนยันว่าไม่ใช่การตอบโต้แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เข้าใจว่าการชี้แจงจะมีในสัปดาห์นี้”
กฤษฎีกาชี้ไม่เกี่ยวรัฐบาล
นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขั้นตอนขณะนี้ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว เพราะเรื่องอยู่ที่รัฐสภา อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องไปถกเถียงกันด้วยเหตุผลให้ได้ข้อสรุปต่อไป โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้กรณีต้องลงมติวาระ 3 หลังจากผ่านการลงมติวาระ 2 มาแล้ว 15 วัน
อัยการไม่ก้าวล่วงศาล
นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าข้ามขั้นตอน เพราะยังไม่มีคำวินิจฉัยและยังเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งในส่วนของอัยการจะมีการประชุมเพื่อสรุปข้อร้องเรียนว่าเข้าข่ายมาตรา 68 หรือไม่วันที่ 7 มิ.ย. นี้ หากเข้าข่ายความผิดจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯเคยทำเรื่องทักท้วงประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภา 3 ข้อ และจะยื่นซ้ำไปอีกครั้งเพื่อให้ทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติวาระ 3 ยืนยันว่าไม่ได้ก้าวก่ายแต่เป็นการทำหน้าที่องค์กรอิสระ หากสภายังเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะตามมา และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งชะลอการลงมติก็ควรปฏิบัติตามคำสั่งศาล
เสื้อแดงล่าชื่อถอดถอน
นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง แถลงว่า ได้แจกจ่ายแบบฟอร์มลงชื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งให้ ส.ส. ทุกคนไประดมรวบรวมรายชื่อ เชื่อว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญลุแก่อำนาจทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ต้องถอดถอน
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า การยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยื่นต่อวุฒิสภาที่ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของ ส.ว. จึงถอดถอนได้ แต่ขณะนี้ในวุฒิสภามี ส.ว. สายแต่งตั้งมากถึง 50% จึงไม่มีทางจะถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เพราะเสียงไม่พอ
งัดข้อมูลเว็บไซต์โต้ศาล
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญระบุข้อมูลชัดเจนว่าศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องตีความตามมาตรา 68 โดยตรง ต้องรับเรื่องจากอัยการสูงสุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กังวลว่าเมื่อนำเรื่องนี้มาเปิดเผยจะมีการแก้ไขข้อมูลในเว็บไซต์ของศาล
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 8 มิ.ย. ตามข้อเสนอของหลายฝ่ายหรือไม่ ต้องรอฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนให้ตกผลึกก่อนตัดสินใจ โดยการตัดสินใจจะยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
ตุลาการผิดมาตรา 270
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเข้าข่ายมาตรา 270 ว่าด้วยการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงเรียกร้องให้ ส.ส. ใช้สิทธิยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนประชาชน
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การโต้เถียงกันในประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องปรกติ แต่รัฐบาลควรตอบคำถามของศาลรัฐธรรมนูญให้ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหากรัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะคงข้อความในหมวดที่ 1 และ 2 เอาไว้ ศาลรัฐธรรมนูญก็พร้อมยกคำร้อง
“ทำไมรัฐบาลไม่ชี้แจงไม่ยืนยันคงหมวด 1 และ 2 แต่กลับโมโหที่ศาลรับวินิจฉัยเรื่องนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะต้องล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงหรือไม่” นายชวนนท์กล่าวและว่า กรณีนี้หากไม่ฟังอาจมีการลงโทษหรืออาจถึงขั้นยุบพรรค รัฐบาลต้องรับผิดชอบเอง อย่าไปโทษองค์กรอิสระว่ากลั่นแกล้ง หรืออำมาตย์สั่งการ
ฝ่ายค้านไม่ร่วมลงมติวาระ 3
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า สภาควรปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หากดึงดันลงมติวาระ 3 ฝ่ายค้านจะไม่ร่วมในการลงมติ เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาตามมา ส่วนการเคลื่อนไหวยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นคิดว่าตุลาการไม่ควรหวั่นไหวเรื่องนี้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็เข้ามาตรา 216 วรรค 5 ที่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆของรัฐ”
ที่มา.หนังสือพิมพ์ดลกวันนี้
//////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น