กษิต พูดชัดรัฐบาลสหรัฐฯไม่ทำเพื่อคนๆเดียว ถือเป็นประเด็นร้อนแรง ปลุกกระแสสังคมได้สมเจตนาของขั้วการเมืองที่ต้องการทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้กระแสต้านแม้ว กระแสไม่เอาทักษิณ เงียบหายไป
โดยครั้งนี้เปิดประเด็นว่า รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ไปเขียวให้สหรัฐอเมริกามาใช้พื้นที่อู่ตะเภาตั้งฐานปฏิบัติการได้ เพื่อแลกกับวีซ่าเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่กองทัพไทยในยุคนี้ก็ไม่ได้มีการคัดค้านอะไรเลย
เจอข่าวปล่อยออกมาแบบนี้ กระแสเลือดรักชาติก็ย่อมพลุ่งพล่านเป็นธรรมดา และยิ่งหากเป็นพวกที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่แล้ว ยิ่งเดือดเป็น 2 เท่า
ซึ่งบังเอิญเรื่องที่ปล่อยออกมานี้ก็มีข้อมูลจริงอยู่ส่วนหนึ่ง คือมีโครงการเกี่ยวกับองค์การการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา หรือ “นาซา” จะมาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อทำการศึกษาสภาพภูมิอากาศ ในโครงการ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study หรือ SEAC4RS จริงๆ
แต่เรื่องที่เอาไปโยงว่านี่คือการยกแผ่นดิน การเปิดประตูให้รุกล้ำอธิปไตยของชาติเพียงเพื่อแลกกับวีซ่าเข้าสหรัฐให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นเป็นเรื่องจินตนาการกับความจงใจของคนปล่อยข่าว เพราะรู้ว่าประเด็นนี้ปล่อยออกมาแล้วแรงแน่ คนไทยจะเดือดแน่ๆ แล้วรัฐบาลก็จะเอียงกระเท่เร่ได้ง่ายๆ
เป็นประเด็นที่คล้ายหรือเหมือนกันกับกรณีพื้นที่เขาวิหาร ที่มีการปลุกเร้ากระแสรักชาติจนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาเกือบจะต้องรบกันนั่นแหละ
แต่ที่รอบนี้ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ ก็เป็นเพราะหลังจากที่เปิดประเด็นสร้างกระแสออกมาจนทำท่าว่าจะจุดติด รัฐบาลต้องเร่งชี้แจงเป็นพัลวัน ว่ากรณีนี้คือสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์สำรวจชั้นบรรยากาศ และ เป็นศูนย์กู้ภัยพิบัติธรรมชาติประจำภูมิภาคเอเชียเท่านั้น
ไม่ได้มีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีเพนตากอน เข้ามาแอบแฝงพัฒนาโครงการดาวเทียมหรือเครื่องบินสอดแนมเพื่อคุกคามจีน และที่สำคัญไม่ได้มีเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวเลยสักนิด
เพราะต้นตอจุดเริ่มต้นของการเจรจาเรื่องนี้ ไม่ใช่มาจากรัฐบาลชุดนี้ แต่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นแล้ว
กลายเป็นเรื่องกลับตาลปัตร โอละพ่อ ขึ้นมาในทันที ว่าอ้าวแล้วจริงๆมันอย่างไรแน่
ซึ่งแรกๆก็ตามสไตล์ ปชป. ที่ถูกล้อเลียนว่าชอบเอาดีเข้าตัว เอาชั่วโยนให้คนอื่นนั่นแหละ แต่บังเอิญรอบนี้ นายกษิต ภิรมย์ อดีต รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นคนที่ออกมาแถลงเรื่องการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์การนาซ่าขอใช้พื้นที่ด้วย เพื่อจอดอากาศยานและขึ้นทำการบินตรวจสภาพอากาศ
ยอมรับอย่างชัดเจนว่า โครงการนี้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
ว่าเป็นการเสนอไปที่จะให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพูดคุยกับ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และเวิลด์ฟู๊ด โดยทางนั้นขอเสนอให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ ส่วนทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็จะทำเรื่องนี้เป็นนโยบายของอาเซียน
ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดชัดเจนในอาเซียน ว่าจะทำเรื่องนี้ในกรอบของสหประชาชาติ โดยได้มีการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เคยหารือกันและมาสำรวจพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาว่าจะสามารถใช้พื้นที่ไหนในการทำศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯได้บ้าง
เพียงแต่ว่าพอมาในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงไอซีที กลับไม่มีการแถลงข่าวความคืบหน้าความชัดเจนในเรื่องนี้ จึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีของประชาชน
ทั้งที่จริงเรื่องนี้เราเป็นฝ่ายไปเจรจาเองในการขอความร่วมมือในการมาช่วยเหลือภัยพิบัติในอาเซียน ส่วนจะไปเกี่ยวกับ มาตรา 190 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหา เพราะด้านความมั่นคงเรามีกรอบความร่วมมือกับสหรัฐฯเราอยู่แล้ว
“การที่องค์การน่าซ่ามาขอใช้ก็มาในช่วงปลายสมัยที่ผมเป็น รมว.ต่างประเทศ จนเสนาธิการทหารสหรัฐมาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ คนไทยจึงมาทราบเรื่อง ส่วนเรื่องขอนาซ่ามาขอใช้ด้วยนั้น ทางเสนาธิการทหารสหรัฐฯบอกว่าเรื่องนาซ่าไม่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่ผลงานของนาซ่าในการสำรวจอวกาศจะช่วยให้เราสามารถรู้ถึงการเกิดภัยพิบัติล่วงหน้า และจะทำให้เราสามารถเตือนภัยและป้องกันภัยได้ ข้อมูลของน่าซ่าก็จะเป็นประโยชน์กับเรา”นายกษิต กล่าว
ชัดเจนแจ่มกระจ่างกันแล้วว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลใด
แถมยังบอกด้วยว่าเรื่องนี้กลุ่มพันธมิตรเข้าใจผิด ส่วนการต่างตอบแทนเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ แลกกับการใช้สนามบินอู่ตะเภานั้น นายกษิต พูดชัดเลยว่า รัฐบาลสหรัฐฯสูงส่งกว่าเรื่องนี้เยอะ เขาเคารพกฎหมาย คงไม่ใช่ประเทศที่จะมาทำเพื่อผลประโยชน์ของคนๆเดียว
“เรื่องนี้จริงๆแล้วไทยได้ประโยชน์ ได้ความรู้ ได้เทคโนโลยี และไม่ได้เสียอธิปไตยแน่นอน เพราะเราเป็นคนอนุญาตให้เขามาใช้พื้นที่ของเราเอง เขาเข้ามา เราก็มีอธิปไตยอยู่”นายกษิต สรุป
เล่นเอาแม้แต่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยังต้องออกมาขอบคุณนายกษิต ที่กล้าพูดสวนทางกับนายอภิสิทธิ์ ที่ก่อนหน้านี้กล่าวหาว่าความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐครั้งนี้ เพื่อแลกกับวีซ่าของพ.ต.ท.ทักษิณ
และยังกล้าหักต้นสังกัดเดิมคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ระบุว่าการให้สหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภา ทำให้เสียดินแดน เป็นความเข้าใจผิด
อย่างไรก็ตามในเรื่องการต่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง และหลายครั้งถูกลากโยงมาเป็นเครื่องมือการเมือง เพราะปลุกระดมแล้วจุดติดง่าย เช่น กรณีคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ยืนยันไม่มีอะไรที่ไทยเสียประโยชน์และไม่กระทบกับความสัมพันธ์กับประเทศใดๆ ในภูมิภาคแน่นอน
เมื่อเจอแบบนี้ นายอภิสิทธิ์ จึงมีการอ้างว่าการใช้สนามบินอู่ตะเภาในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะเน้น2ด้านคือ
1.ภารกิจการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและมนุษยธรรม
2.เป็นความร่วมมือในระดับพหุภาคีและในแง่ของการร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค ซึ่งยังรวมไปถึงการพูดถึงสหประชาชาติและมิตรประเทศต่างๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องระหว่างสหรัฐกับไทย ซึ่งเหตุผลที่ขอใช้ในขณะนี้ต้องมีความชัดเจนว่า ใช้โดยใครและอย่างไร หากเป็นเรื่องของการตกลงทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐก็ไม่ใช่แนวทางที่เคยวางไว้
ส่วนคำขอจากสหรัฐได้ส่งมาจริง ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด และก็ตามสไตล์คือเรียกร้องว่าเรื่องนี้ต้องโปร่งใสและต้องชี้แจง ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลยสักนิดว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์
กับนายอภิสิทธิ์ยังพูดให้ล่อแหลมอีกว่าต้องให้มิตรประเทศของเราในภูมิภาค เช่น ประเทศจีนมีความเข้าใจ เพราะสหรัฐมียุทธศาสตร์ปิดล้อมประเทศจีน
พูดแบบนี้จีนอาจจะสบายใจ แต่สหรัฐอาจจะไม่สบายใจที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอย่างนายอภิสิทธิ์พูดว่าสหรัฐมียุทธศาสตร์ปิดล้อมประเทศจีนก็เป็นได้
ซึ่งเมื่อต้องการความกระจ่าง เพราะคนไทยไม่รู้มาตลอดตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว นายธานี ทองภักดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงในเรื่องนี้ว่า
1. การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติระดับภูมิภาค (Humanitarian Assistance and Disaster Relief – HADR) ในประเทศไทย เป็นข้อริเริ่มของฝ่ายไทยในรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน - สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ในปี 2553 ด้วยเห็นว่าภูมิภาคประสบภัยพิบัติในหลายรูปแบบ และที่ผ่านมาหลายประเทศได้ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือ
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี จึงเห็นว่าการจัดตั้ง HADR ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาค อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งยังต้องมีการพิจารณาในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดต่อไป
2. องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration - NASA) ซึ่งเป็นองค์กรของพลเรือนได้ขอดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study - SEAC4RS) ในประเทศไทย ซึ่งโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ได้เคยดำเนินการแล้วในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น และคอสตาริกา โดยจะใช้ท่าอากาศยานในประเทศเหล่านั้นทำการบินเพื่อเก็บตัวอย่างของอากาศในพื้นที่และสำรวจสภาพอากาศในพื้นที่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ ประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ ตลอดจนการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ
ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อเสนอโครงการแล้ว ซึ่งโดยสรุปเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของไทย และช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการพยากรณ์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ หน่วยงานปฏิบัติหลักของไทยคือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
สำหรับฝ่ายไทยที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ อาทิ การตรวจอุปกรณ์ การทำการบิน ซึ่งจะมีทั้งนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อาทิ สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร เป็นต้น
อีกทั้งการใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะต้องขออนุญาตทำการบินผ่านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการบินสำรวจเหนือน่านน้ำสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมการบินของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้รับความยินยอมจากสิงคโปร์และกัมพูชา และได้แจ้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว ซึ่งไม่มีประเทศใดคัดค้าน ด้วยเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการ และก่อประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคโดยรวม
ก็เป็นเรื่องที่ชี้แจงออกมาชัดเจนแล้ว ส่วนเรื่องวีซ่านั้น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต กล่าวว่า ข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลไทยยอมให้สหรัฐเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนกับวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีจริงๆ และไม่เกี่ยวกันเลย พ.ต.ท.ทักษิณสามารถเดินทางเข้าออกประเทศไหนก็ได้อยู่แล้ว แม้แต่ประเทศอังกฤษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เข้าไปได้เลย ถือเป็นเรื่องเล็ก แต่หากจะขอแลกเปลี่ยนกันต้องขอมากกว่านี้
ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากแหล่งข่าวความมั่นคงแจ้งว่า นาซาได้คัดเจ้าหน้าที่ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ของนาซาที่มีเชื้อสายไทยร่วมคณะมาด้วย รวมทั้ง ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรไทยคนเดียวในนาซา เพื่อให้ไทยสบายใจขึ้นว่า นาซามาเพื่อสำรวจสภาพอากาศจริงๆ
ไม่ได้แอบส่งเครื่องบินหรือดาวเทียมจารกรรมมาสอดแนมจีน
งานนี้เป็นอีกกรณีที่ทำให้เห็นชัดว่า ที่ไทยมีปัญหากับประเทศต่างๆในรัฐบาลก่อนหน้า หรือที่มีการปลุกเร้ากระแสรักชาติเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารจนหวิดเกิดเรื่อง และกระทั่งมาถึงเรื่องอู่ตะเภาในครั้งนี้
ก็น่าจะเป็นเพราะสไตล์หรือนิสัย แมลงสาป นั่นแหละที่ชอบก่อเหตุ
ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น