--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรากฎการณ์ : เดจาวู กรีซ กับ 3 สมมติฐาน ยูโรโซน !!?

ผลเลือกตั้ง "กรีซ" ที่ออกมาอาจทำให้หายใจโล่งไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ดูเหมือนเอเธนส์จะหนีไม่พ้นปรากฏการณ์เดจาวู ท่ามกลางภาวะใกล้ถังแตกเข้าไปทุกขณะ

แม้ว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่หนุนแนวทางรัดเข็มขัดแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน จะคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบนี้ แต่เป็นการเฉือนชนะพรรคซิริซาที่ปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัดอย่างชัดเจนเพียงไม่ถึง 3%

ผลเลือกตั้ง ที่ออกมาอาจช่วยให้หายใจโล่งขึ้นในยามที่ผู้คนวิตกถึงการโบกมือลายูโรโซนของกรีซ แต่ยังต้องรอลุ้นการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนี่ไม่ใช่ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพัง สถานการณ์นี้ คล้ายกับผลการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งพรรคประชาธิปไตยใหม่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 และพรรคซิริซาตามมาเป็นที่ 2 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ขณะที่ การจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในยามนี้ เพราะกรีซกำลังใกล้ภาวะถังแตกมากขึ้นเรื่อยๆ ประเมินกันว่าภายในวันที่ 15 กรกฎาคม ทางการเอเธนส์อาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่าย

ถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีพรรคใดบ้างที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปไตยใหม่ แต่สื่อกรีซประเมินว่าหนึ่งในนั้นน่าจะมีชื่อของพรรคสังคมนิยมปาสก คู่แข่งที่ทำคะแนนมาเป็นอันดับ 3

นอกจากนี้ ผลเลือกตั้งครั้งล่าสุด ยังจุดคำถามตามมา เพราะชาวกรีกที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 38% ไม่ออกไปใช้สิทธิหย่อนบัตร ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากกว่าคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่ได้คะแนนนำ 29.7% ได้ 129 ที่นั่ง จากทั้งหมด 300 พรรคซิริซา 26.9% หรือ 71 ที่นั่ง และพรรคปาสก 12.3% ยึด 33 ที่นั่ง

ที่น่าสนใจ คือ กรีซยังหนีไม่พ้นวังวนแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งนี่ส่งแรงกดดันไปยังสเปนและอิตาลี เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 และอันดับ 3 ของยูโรโซน ซึ่งลำพังสเปนประเทศเดียวมีขนาดใหญ่กว่าไอร์แลนด์ โปรตุเกส และกรีซ 3 เกลอที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วรวมกันเสียอีก ทำให้อยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ "ทั้งใหญ่เกินกว่าจะอุ้ม และใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม"

โดยสถานการณ์ของสเปน ยังคงต้องจับตา หลังเพิ่งได้รับเงินช่วยเหลือภาคธนาคารไป 1 แสนล้านยูโร ถึงมาตรการนี้จะช่วยบรรเทาคลื่นลมในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรได้ แต่ก็ไม่ยั่งยืนเพียงพอ เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสเปนพุ่งขึ้นแตะระดับ 7% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนมูดี้ส์ก็ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสเปนลง 3 ขั้นรวด อยู่เหนือระดับขยะเพียงขั้นเดียว ขณะที่อัตราว่างงาน 24% และราคาบ้านที่ทรุดฮวบ สำหรับเศรษฐกิจอิตาลีก็น่าจะหดตัว 2% ในปีนี้

คำถามสำคัญ นับจากนี้ คือ อนาคตของยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป มี 3 สมมติฐานหลักๆ โดยสมมติฐานแรก คือ การล่มสลายของยูโรโซนแบบไม่มีระเบียบแบบแผน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายหนักหนาที่สุด เริ่มต้นจากกรีซที่ไม่มีใครชนะอย่างชัดเจน และเกิดรอยแตกร้าวระหว่างชาวกรีก ในขณะที่เงินในคลังร่อยหรอจนเกือบหมด จากนั้นแพร่สู่สเปนและอิตาลี ส่วนเยอรมนีเลือกเดินบนทางที่ไม่ผ่อนปรน ผลที่ตามมาจึงไม่พ้นเศรษฐกิจยุโรปเดินสู่หายนะ ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ที่จะตามมา การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย และภาวะถดถอยยาวนานทั่วยุโรป

สมมติฐานต่อมา ยุโรปอาจวุ่นวาย แต่ยังผนึกภาคการเงินและการคลังได้ ซึ่งเกิดจากการประนีประนอมระหว่างกรีซและทรอยก้า หรือคณะตรวจสอบวินัยการคลังแห่งยุโรป ที่ประกอบด้วยไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสหภาพยุโรป แนวทางนี้จะช่วยให้กรีซพ้นจากสถานการณ์เลวร้าย โดยบทบาทของเยอรมนีภายใต้สมมติฐานนี้จะยอมรับเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย รวมถึงจัดตั้งสหภาพการธนาคารเพื่อสร้างหลักประกันแก่ผู้ฝากเงิน การใช้นโยบายภาษีร่วมกัน นโยบายหนี้ภาครัฐและการจัดการภาวะถดถอย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาจุดร่วม แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อเยอรมนีที่ส่งออกในยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึง 60%

สมมติฐานสุดท้าย คือ การบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศยังไม่สามารถผลักดันไปสู่จุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการเปิดตลาดแรงงานเสรี การตรวจสอบภาคการเงิน หรือการผนึกระบบภาษีร่วมกัน แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้แรงหนุนจากชาวยุโรปที่ไม่เชื่อมั่นในผลประโยชน์ร่วมกันจากการบูรณาการเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น