--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาษาไทยวันละคำ : ตลก.. (ตุลาการ) อัยการสูงสุดไม่ตลกด้วย !!?

ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเข้าเนื้อลึกลงไปเรื่อยๆ ตามคำสอนของไทยแท้แต่โบราณจริงๆ
เพราะงานนี้ตุลาการรัฐธรรมนูญกำลังตกอยู่ในสภาพ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก... จะเดินหน้าก็ลำบากใจ จะถอยหลังศักดิ์ศรีก็ค้ำคอ

เรื่องของการใช้อำนาจในการรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ทำให้กลายเป็นมติคำสั่งที่เป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่หล่นโครมเข้าใส่กลางวงของตุลาการเสียงข้างมาก จนไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร ก็เลยต้องเล่นมุก “รัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ”

แต่คนทั้งประเทศไม่ตลกไปด้วย เลยทำให้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถึงกับอ่วม เพราะเสียงสะท้อนในเรื่องที่ให้คนไทยไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้น มาแรงเกินกว่าที่นายวสันต์คาดเดาเอาไว้เยอะ

แถมแต่ละเสียงแรงๆทั้งนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ถึงขนาดไล่ให้ไปเกิดใหม่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักแทนที่จะเกิดในเมืองไทย

แต่ที่เป็นหลักวิชาการภาษาอังกฤษ ก็คือ นายณรงค์เดช สรุโฆษิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายการปกครองและกฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นอกจากระบุว่ากรณีรัฐธรรมนูญ 2550 ชัดเจนว่า ร่างขึ้นจากภาษาไทย อีกทั้งเนื้อความตามมาตรา 68 ในภาษาอังกฤษก็คลุมเครือ ซึ่งแม้จะไม่เชี่ยวชาญนัก แต่เข้าใจว่าคำกริยา request นั้น มีโครงสร้างแบบ "request + someone + to do something" ดังนั้น มาตรา 68 ในภาษาอังกฤษ ก็น่าแปลว่า อัยการสูงสุดต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลอยู่ดี

“หากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้คำร้องไปศาลได้ทั้งสองช่องทางจริง อย่างน้อยก็น่าจะใส่เครื่องหมายคอมม่าหลังคำว่า facts และเพิ่มคำว่า to หน้าคำว่า submit เป็นดังนี้ In the case where a person or a political party has committed the act under paragraph one, the person knowing of such act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts, and to submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation of such act without, however, prejudice to the institution of a criminal action against such person. แต่ถ้าจะให้ชัดเจนกว่านั้น เติมคำว่า the right to เข้าไปหลังคำว่า and เลย เป็น “... the right to request the Prosecutor General to investigate its facts, and the right to submit…” คราวนี้ จะเป็นดังที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญอธิบายมาแน่ๆ”นายณรงค์เดชกล่าว

นายณรงค์เดชยังให้มุมมองด้วยว่าจริงๆแล้วศาลรัฐธรรมนูญสามารถถอนคำสั่งศาลได้เสมอ แต่ศาลคงจะไม่ทำ เพราะจะหมายความว่าความศักดิ์สิทธิ์ของศาลจะลดลงทันที

แต่กรณีนี้อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า คณะทำงานอัยการชุดที่พิจารณาเรื่องนี้ ไม่สนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษวันละคำ อย่างที่นายวสันต์ และตุลาการเสียงข้างมากสนุก

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคำร้องมาตรา 68 จึงประชุมกันอย่างเคร่งเครียดนานกว่า 6 ชั่วโมง แล้วสรุปความเห็นออกมาว่า ไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ตามมาตรา 68

ซึ่งนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันหนักแน่นว่าหลังจากคณะกรรมการอัยการสรุปข้อเท็จจริง และเสนอให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด พิจารณาแล้ว เห็นว่ากรณีคำร้องของผู้ร้องทั้ง 6 นั้น

ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่ามีพฤติกรรม หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำตามความ รัฐธรรมนูญ มาตรา 68

ที่สำคัญมีการชี้แจงกันแบบตรงไปตรงมาด้วยว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมให้อำนาจอัยการสูงสุดในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยถึงการกระทำดังกล่าวตามเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา68 หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อมิให้อัยการสุงสุดใช้อำนาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง

ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 68 และการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการอันเป็นวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งมาตรา 291 รวมทั้งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครอง
อีกทั้งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องจัดให้มีการทำประชามติก่อนว่าจะรับร่างฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้นกรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งหกข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่ามีพฤติการณ์หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการให้เลิกการกระทำการตามมาตรา68 ของรัฐธรรมนูญ

โดยการพิจารณาของอัยการสูงสุดในเรื่องนี้ไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นแต่อย่างใด
ส่วนกระบวนการต่อไปขององค์กรอื่นๆ ทั้งในส่วนของรัฐสภา หรืออำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ทางอัยการสูงสุดไม่ได้พิจารณาในส่วนนั้น เนื่องจากอัยการสูงสุดพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เท่านั้น

ซึ่งวงในยืนยันว่า ความเห็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีการระบุไว้ชัดเจนว่า เนื้อหาในคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

แน่นอนว่ากรณีนี้คือหนังคนละม้วนกับตอนที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้รับคำร้องของกลุ่ม พล.อ.สมเจตน์ และเสียงสะท้อนก็แตกต่างกันด้วย เพราะตอนมติคำสั่งของตุลาการรัฐธรรมนูญ โดนชยันโตดังทั้งแผ่นดิน โดยเฉพาะบรรดานักกฎหมาย นักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ พากันรับไม่ได้ทั้งนั้น

ยิ่งกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง และแกนนำ นปช. ไม่เพียงแต่รับไม่ได้ ยังมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน 7 ตุลาการเสียงข้างมากกันเลยทีเดียว

ส่วนผู้ที่เชียร์และเห็นด้วยมีเพียงแค่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ กับกลุ่ม พล.อ.สมเจตน์ กับกลุ่ม 40 ส.ว. และกลุ่มพันธมิตรฯเท่านั้น ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้ออกมาเจื้อยแจ้วว่า ให้เคารพหลักการ เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็ควรเคารพตามนั้น

แต่พอคณะอัยการสูงสุด มีความเห็นสวนทางกับศาลรัฐธรรมนูญ คือไม่รับคำร้อง นายอภิสิทธิ์ก็ลืมสิ่งที่เคยพูดว่าควรเคารพตามคำตัดสินที่ออกมา แต่กลับเล่นงานกล่าวหาว่า อัยการสูงสุดเดินตามธงของรัฐบาลไปโน่นเลย
แถมกลุ่มพันธมิตรก็ออกโรงขู่ฟ่อว่าจะหาช่องทางฟ้องอัยการในเรื่องนี้ แต่ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง สวนกลับไม่กังวลเรื่องนี้ เนื่องจากอัยการสูงสุดพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงเท่านั้น เมื่อพบว่าไม่เข้าตามมาตรา 68 ก็เท่านั้นเอง

เจอเข้าเต็มๆแบบนี้ตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมต้องดิ้นหาทางออก เมื่ออัยการสูงสุดเห้นไม่ตรงกับตุลาการ ก็เลยมีการเปลี่ยนการจัดรายการจาก “ภาษาอังกฤษวันละคำ” มาเป็นจัดรายการ “ภาษาไทยวันละคำ”อีกรอบหนึ่ง

โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกข่าวมาชี้แจงว่า การที่อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วไม่ฟ้อง ก็ยิ่งเป็นการทำให้เห็นว่าผู้ทราบการกระทำมีสิทธิ 2 ประการ คือ 1 มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงได้

พร้อมกับระบุด้วยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการกับศาลนั้นแตกต่างกัน เพราะอัยการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแล้วจึงใช้ดุลพินิจว่าจะยื่นฟ้องหรือไม่ แต่ศาลต้องรับคำฟ้องหรือคำร้องให้เป็นคดีก่อน แล้วค่อยไปพิจารณาหลักฐานของทุกฝ่าย

งานนี้เห็นชัดเจนว่าตุลาการรัฐธรรมนูญไม่เลิกเล่นเกมตีความภาษา แต่หันมาตีความภาษาไทยอีกรอบหนึ่ง เรียกว่าเป็นการเปิดรายการ “ภาษาไทยวันละคำ” ขึ้นมาหมายกู้ศรัทธาคืน

เพราะเสียรังวัดตอนงัดภาษาอังกฤษมาสู้ จนเจอไล่ไปเกิดใหม่บ้าง ตั้งคำถามว่า ภาษาสากลของประเทศไทยที่เป็นทางการหรือเป็นภาษาราชการคือภาษาไทย เพราะเมืองไทยไม่ได้เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ภาษาราชการของประเทศไทย แล้วทำไมตุลาการ ทำไมนายวสันต์ จึงไปใช้ภาษาอังกฤษ

เมื่อโดนจนจุก จึงต้องหันมาใช้ตีความภาษาไทยวันละคำสู้อีกรอบ
งานนี้ไม่รู้ว่านักภาษาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย จะส่ายหน้าด้วยความอิดหนาระอาใจหรือเปล่า เพราะประโยคเจ้าปัญหาในมาตรา 68 วรรคสอง ที่เป็นกรณีขึ้นมาด้วยฝีมือของตุลาการ ก็คือ

“ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว”
ครูภาษาไทยมาทั้งชีวิตบอกว่า ประโยคนี้ไม่มีการเว้นวรรค ตรงหน้าคำว่าและ ฉะนั้นแม้แต่ตามหลักภาษาไทย โดยที่ไม่ต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ต้องบอกว่า เป็นสิทธิในการเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้อง

แต่สิ่งที่ตุลาการรัฐธรรมนูญกระทำกับภาษาไทยประโยคนี้คือ ไปทำเหมือนกับว่า มีการเว้นวรรค ตรงหน้าคำว่าและ ก็เลยตีความว่า ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งๆที่โดยรูปประโยค หากฝืนไปแยกเว้นวรรค เพื่ออ้างว่าผู้ทราบการกระทำมีสิทธิ 2 สิทธิอย่างที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างนั้น จะกลายเป็นว่า แล้วกระบวนการของอัยการสูงสุดก็จะกุดด้วนอยู่แค่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้นหรือ

ถ้าฝืนตีความภาษาไทยให้แยกประโยคขาดกันเช่นนั้นแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ จะให้อัยการทำอะไร
ในเมื่อประโยคนี้เป็นประโยคติดกัน ย่อมต้องหมายความว่าให้อัยการสูงสุดทำทั้งการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการยื่นคำร้อง

เรื่องนี้ต่อให้ถึงครูอังคณา หากยึดหลักไวยากรณ์ไทย ก็ต้องออกมาแบบนี้
ปัญหานี้เกิดจากการไม่เข้าใจเครื่องหมายวรรคตอนทางด้านภาษาไทยอย่างแท้จริง ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ๆก็มีปัญหาในเรื่องการเว้นวรรคไม่เว้นวรรคนี่แหละ ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในคนรุ่นผู้ใหญ่ด้วย
จึงถือเป็นวิกฤตของภาษาไทยเลยก็ว่าได้ เพราะขนาดผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรม แต่กลับตีความภาษาไทยแตกต่างกันอย่างนี้ ประชาชนที่หวังพึ่งระบบยุติธรรมก็คงอดรู้สึกวังเวงไม่ได้

งานนี้นอกจากจะเป็นศึกงัดข้อทางด้านกฎหมายแล้ว ยังเป็นสงครามการตีความภาษาไทยอีกด้วย
แบบนี้แหละที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ต้องออกมาบอกว่าห่วงที่บ้านเมืองยังคงมีการแบ่งเป็นเหลืองเป็นแดง

แต่ยังดีที่การันตีว่า บรรดาพวกที่ชอบกระชุ่นให้ทหารปฏิวัตินั้น ลืมไปได้เลย..
ยังไงก็ไม่ปฏิวัติแน่!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น