--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

5 อำนาจในพายุตุลาการภิวัตน์ รัฐสภา-อัยการ-นิติบัญญัติระส่ำ !!?

ทันทีที่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแสดงจุดยืน-หลักการของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อน

ดีกรีความขัดแย้งอาจจะทวีเพิ่มขึ้น หลังจากที่หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องต่างออกมาตบเท้าแสดงความเห็นในทิศทางที่ "ตรงข้าม" กับศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งสิ้น

เริ่มจาก "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ในฐานะประธานสภา ที่ออกมาแสดงท่าทียืนยันที่จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 8 มิ.ย. เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างสภา แต่จะไม่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว

ประธานสภาระบุว่า เพื่อยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่ต้องการให้ประชาชนเสียเลือดเสียเนื้อ

"หากสั่งให้เดินหน้าประชุมและให้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ก็ละเมิดอำนาจศาล แต่หากฟังคำสั่งศาล ผมก็ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคห้า"

ขณะที่ "พิทูร พุ่มหิรัญ" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงชี้แจงในทิศทางเดียวกับ "สมศักดิ์" ว่า ทีมกฎหมายรัฐสภาก็ได้ตีความอย่างสุจริตเพื่อให้ข้อมูลแก่ประธานสภา

โดยสรุปความเห็นได้ทั้งหมด 6 ประเด็น หยิบยกเอาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญมา

สนับสนุนทั้งสิ้น 4 มาตรา ดังนี้

1.มาตรา 3 กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้รัฐสภามีผลผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยขององค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ถูกบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าต้องปฏิบัติตาม

2.มาตรา 216 กำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเด็ดขาดต่อรัฐสภา แต่ต้องเป็นคำวินิจฉัยต้องถูกกระทำโดยคณะตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนของตน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่คำสั่งศาลครั้งนี้ไม่ปรากฏตามลักษณะในมาตรา 216 จึงถือว่าไม่เป็นคำวินิจฉัยที่ผูกพันต่อสภา

3.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามมาตรา 68 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 213 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถเรียกขอเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล ตลอดจนหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อมาดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาได้

แต่รัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่มีผลผูกพันตามคำสั่งดังกล่าว

4.มาตรา 291 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตรา 122 ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดหรือความครอบงำใด ๆ จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเพื่อประโยชน์ของประชาชน

5.คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นนี้ เป็นหนังสือส่งถึงเลขาธิการสภาเพื่อให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาว่า ขอให้รอดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถือว่าเป็น "คำสั่ง" ที่ส่งตรงถึงประธานรัฐสภาหรือรัฐสภาโดยตรง

และ 6.การดำเนินการใดของประธานสภาและรัฐสภาในเรื่องดังกล่าวหลังจากนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

ด้าน "อัชพร จารุจินดา" เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า วิธีการรับเรื่องร้องเรียนของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ไม่เคยมีใครในโลกนี้เขาทำกัน และสิ่งนี้ทำให้เกิดความคาราคาซังของรัฐสภา-รัฐธรรมนูญ

เขาย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือกฤษฎีกาอีกแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจไปบังคับรัฐสภา ดังนั้นสภาจะเดินหน้าต่อโดยไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องข้อกฎหมายต่อไป

"รัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่า พอพ้น 15 วันก็ต้องลงมติ แต่หากพ้นกรอบเวลาดังกล่าวไปแล้ว เรื่องนี้ก็จะยังไม่ตกไป ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนที่รัฐสภาสามารถจะคาเรื่องนี้ไว้ได้"

ขณะเดียวกัน "อรรถพล ใหญ่สว่าง" รองอัยการสูงสุด ก็ได้ออกมาเปิดเผยอย่างสงวนท่าที ว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลแค่เฉพาะจากทางสำนักเลขาธิการฯ เท่านั้น แต่ไม่ได้รับข้อมูลจากทางฝั่งศาลรัฐธรรมนูญ

"เหตุที่ต้องขอเอกสารก่อน ก็เพราะต้องตรวจสอบว่ากระบวนการทางรัฐสภาอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ทางด้านศาลก็ต้องดูว่าได้รับคำร้องไว้จริงหรือไม่ ทางเราทำเรื่องขอเอกสารไปนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับทั้งหมด"

ทั้งนี้เมื่อสรุปความเห็นเรียบร้อย จะส่งต่อให้ "จุลสิงห์ วสันตสิงห์" อัยการสูงสุดทันที โดยยืนยันว่า ความเห็นจากอัยการสูงสุดจะตอบคำถามสังคมได้ทุกข้อ

ส่วน "นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาแสดงท่าทีสวนทางกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่า การยับยั้งขั้นตอนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเป็นการขัดแย้งต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจ

หากพิจารณาข้อมูลตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 150 และ 151 จะเห็นปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างละเอียด

โดยมาตรา 150 ระบุตอนหนึ่งว่า "ร่าง พ.ร.บ.ใดที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้ประธานสภานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา"

ดังนั้น หากรัฐสภาเดินหน้าหารือวันลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 8 มิ.ย. 55 ก็จะสามารถนัดวันลงมติอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 13 มิ.ย. 55 นั่นหมายความว่า ประธานสภาจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในวันที่ 3 ก.ค. 55

ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนและมีคำวินิจฉัย กรณีมาตรา 68 ที่กำหนดกรอบเบื้องต้นไว้ในวันที่ 5-7 มิ.ย. 55

ขณะเดียวกันในมาตรา 151 ระบุตอนหนึ่งว่า "กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้น 90 วันแล้วยังไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่าง พ.ร.บ.นั้นใหม่ และยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา จากนั้นให้ประธานสภานำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง และหากไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน ให้ประธานสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"

โดยหากเป็นไปตามปฏิทินข้างต้น จะส่งผลให้รัฐสภาเดินหน้าต่ออย่างช้าที่สุดในวันที่ 3 ต.ค. 55 (3 ก.ค.+90 วัน) เพื่อนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้งหนึ่ง

ในกรณีที่มีการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯครั้งที่สอง แต่มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย มาตรา 151 ก็ได้ระบุว่า หลังจากนั้น 30 วัน ประธานสภาสามารถประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที หรือใน 3 พ.ย. 55

ซึ่งอาจพอสรุปได้ว่า หากรัฐสภาตัดสินใจเดินหน้าและเมินคำสั่ง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็พุ่งเป้าไต่สวนหาคำวินิจฉัย ดีกรีความแรง-ขัดแย้งก็มีโอกาสที่จะปะทุขึ้นอีกครั้งด้วยเช่นกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น