--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วสันต์. ประมุขศาลรัฐธรรมนูญ คนที่ก่อกรรม ก็ต้องรับกรรม !!?

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมืออำมาตย์

มันเป็นข้อกล่าวอ้างตามคำร้อง ผู้ร้อง เขากล่าวอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น เขาบอกว่ามีเจตนาซ่อนเร้น แอบแฝง

เป็นคำอรรถาธิบายของ "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่องค์กรศาลรัฐธรรมนูญถูกดึงคลุกฝุ่นการเมือง

รัฐธรรมนูญมาตรา 68 กำลังกลายเป็นปัญหาการตีความ ในเรื่องช่องทางการร้องเรียนว่าผู้ทราบการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะต้องยื่นอัยการสูงสุดตรวจสอบเท่านั้น หรือสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้อีกช่องทางหนึ่ง

และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ห้ามรัฐสภาโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 มีผลผูกพันกับองค์กรอื่นหรือไม่

มุมมองของ "วสันต์" เทียบการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน "เราได้พิเคราะห์ตัวบทแล้ว เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องเรื่องจะพลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน อย่างเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะนำไปสู่การวินิจฉัยของอัยการสูงสุดเพียงท่านเดียว น่าจะเป็นการตีความที่แคบ"

"เราระวังมากกับการก้าวล่วงเกี่ยวข้องกับอำนาจอื่น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไต่สวนควรความก่อนว่าจริงหรือเปล่า"

"อย่างน้อยที่สุดในเบื้องต้น มีคำร้องกล่าวหาว่าการกระทำของบุคคลเหล่านี้ ก็ต้องฟังก่อนว่าคนที่เขาถูกฟ้อง ถูกร้องจะว่าอย่างไร เขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดอย่างนั้นจริง เขาคงไม่รับใช่ไหม ถ้าไม่รับก็ปฏิเสธมาสิ มีเหตุผล มีพยานหลักฐานมาก็พิจารณากัน"

เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญใกล้ถึงบรรทัดสุดท้าย เมื่อถึงมือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่า ส.ส.ร.ทั้ง 99 คนจะเขี่ยบอลอย่างไร

"ถ้าผ่านลูกให้ ส.ส.ร. เขาจะเตะอย่างไรก็ยังไม่รู้ คนเกี่ยวข้องยืนยันไหมว่าไม่ใช่ตามที่ถูกกล่าวหา หรือจะสารภาพ"

วสันต์บอกว่า ยังไกลเกินไปถ้าจะพูดถึงเรื่องยุบพรรค "เขาจะมาสู้คดีหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ไต่สวนจะได้ความอย่างไรก็ยังไม่รู้ นี่แค่รับไต่สวนธรรมดาก็เป็นปัญหา"

"แต่ถ้าไต่สวนแล้วเป็นอย่างนั้น ผลก็เป็นไปตามมาตรา 68 วรรคถัดไป คือศาลสั่งให้ยกเลิกการกระทำอันนั้น ก็จะมีคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำอันนั้น และอาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้แค่นั้น จะไม่ยุบก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ"

เขาไม่คิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตจะกลายเป็นชนวนขัดแย้งของมวลชนเหลือง-แดงรอบใหม่ เพราะทุกฝ่ายควรใช้เหตุใช้ผลเป็นที่ตั้งมากกว่าการใช้อารมณ์ ไม่ควรนำวาทกรรม 2 มาตรฐานมาปลุกกระแส

"คนเรามันต้องฟังเหตุฟังผล ต้องรับในเหตุผล ไม่ใช่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เวลาทำอะไรก็ไปว่าสองมาตรฐาน (เสียงดัง) ไอ้คนของคุณที่ว่าสองมาตรฐานเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็เพิ่งเคยมีเป็นเรื่องแรก สองมาตรฐานตัวจริงคือซุกหุ้นภาคแรก มีปัญหาเรื่องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ตอนเช้าตัดสินว่าผิด ตอนบ่ายตัดสินว่าไม่ผิด คนละคดี เรื่องเหมือนกัน หน้าตาเหมือนกัน อย่างนี้เขาเรียกสองมาตรฐาน"

วสันต์ยกตัวอย่างคดีเก่าของเพื่อไทย "ผมไม่เห็นพรรคเพื่อไทยมาชื่นชมผม หรือศาลรัฐธรรมนูญ พอผ่าน พ.ร.ก.ให้ 2 ฉบับ เห็นนายกฯมาขอบคุณ ตรงกันข้ามผมตั้งคำถามรองนายกฯกิตติรัตน์ (ณ ระนอง รมว.คลัง) ก็ไปด่าบนเวทีเสื้อแดงว่า ซักยังกับทำตัวเป็นทนายของฝ่ายค้าน พอผ่านให้ ไม่เห็นขอโทษเลยที่ด่าฟรี ๆ ไปแล้ว พวกนี้มีอคติกันมาก่อน พอเห็นหน้าแล้วโอ๊ยนี่เป็นศัตรูร้อยเปอร์เซ็นต์"

"วสันต์" เล่าเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2551 "ตอนตัดสินยุบ 3 พรรค ใส่เสื้อแดงไปนั่งกินข้าวอยู่ พวกศาลปกครองสูงสุดมองเหล่เลยว่าขึ้นมาได้ยังไงวะ พอมาดูหน้าก็เอ้า... เลยบอกว่าทำเนียนไง เดี๋ยวจะได้หนีได้ เราก็เตรียมเสื้อแดงมาใส่"

ในชีวิต "วสันต์" ทำหน้าที่ตัดสิน วินิจฉัยมาแล้วหลายคดี เขาบอกว่า...

"คนที่ก่อกรรมก็ต้องรับกรรม ผมอยู่มาปูนนี้ อีกไม่กี่ปีก็ตาย ตายก็บริจาคร่างกายไม่ต้องมีใครมาทำศพ กำหนดไว้ด้วยว่าไม่ต้องมีพิธีสวด ปล่อยให้โรงพยาบาลเขาไปจัดอย่างไรก็เรื่องของเขา เป็นอาจารย์ใหญ่"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น