--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤติความขัดแย้ง..แสงตะเกียงยังริบหรี่ !!?

วิกฤติและความขัดแย้งทาง การเมืองเชิงสถาบัน ถูกมอง เป็นพันธนาการที่รัดรึงกระบวนการพัฒนาของระบอบประชา ธิปไตย ที่ก่อร่างสร้างตัวในประเทศไทย อย่างน่าเป็นห่วง

80 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของประเทศไทยเดินหน้า ถอยหลังซัดเซเหมือน คนเมาที่หาหลักจับไม่ได้ แม้จะมีความพยายามที่จะศึกษา พัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของสังคมไทยเพียงใดก็ตาม เมื่อไม่กี่วันมานี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันศูนย์ติดตาม ประชาธิปไตย จัดงาน “80 ปี ประชาธิปไตย : รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย” ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “วิกฤติและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบัน” เพื่อพยายามหาทางออกให้กับสังคมไทย แม้จะไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานแต่ก็ถือเป็นอีกแสงสว่างหนึ่งในการจะคลำทางไปสู่ทางออกของสังคมไทย

ภายในวงเสวนาครั้งนี้มี ทั้งนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงบุคลากรผู้คร่ำหวอด ในวงการการเมืองอย่าง ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อ.ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และประธาน สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

> “ความขัดแย้ง”..ต้องควบคุมให้อยู่

“อนุสรณ์ ลิ่มมณี” กล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่า ให้ลุกลามไปถึงสงคราม เพราะเราสร้างภาวะสงครามขึ้นมานาน โดยเฉพาะในรอบ 10 ที่ผ่านมา เป็นไปในแง่ที่แย่ลง ไม่มีผลดีที่จะพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งบัดนี้ เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และมั่นคงได้ เรายังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน หัวเลี้ยวหัวต่อมาเรื่อยๆ แม้จะปฏิรูป แต่ก็กลับไปสู่ภาวะเดิมเริ่มต้นกันใหม่ตลอดเวลา ฉะนั้นสถาบันต้องประคองไว้และให้ ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ถ้าขัดแย้งก็หาทาง ออกภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เชื่อว่าจะได้ประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ

“สำหรับความขัดแย้งเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งในหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งแน่นนอนว่าความขัดแย้งเกิดจากการที่แต่ละฝ่าย พยายามผลักดันให้กลไกเป็น ไปในด้านที่ตนเองจะได้เปรียบ และได้ประโยชน์โดยเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ฉะนั้นแต่ละฝ่ายจึงเปิดสงครามโดยอ้างประชาธิปไตย และทะเลาะกันว่า ใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากันทั้งๆ ที่ ทั้งสองฝ่ายเป็น “ขา” ของประชาธิปไตยที่ขาดไม่ได้”

“อนุสรณ์” พูดถึง 2 หลักการสำคัญของประชาธิปไตย คือ 1.หลักการเสียงข้าง มาก ที่มีตัวแทนคือ รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มีความยึดโยงกับประชาชนโดย ตรงจากการเลือกตั้ง และ 2.หลักการการ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยมองว่า ฝ่าย ตุลาการเป็นกลไกที่ดีที่สุดที่สามารถตรวจ สอบได้

ความขัดแย้งเชิงสถาบันจริงๆ แล้ว เป็นปัญหาที่ฝ่ายหนึ่งยึดหลักเสียงข้างมากอย่างเดียว โดยไม่ยึดหลักการตรวจสอบ และคุ้มครองสิทธิผู้อื่น ในขณะที่อีกฝ่ายก็ใช้การตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิตนเองจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล ซึ่งฝ่ายนี้ก็มักจะมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนการปกครองโดยการยึดอำนาจ ซึ่ง ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนในเชิงสถาบันว่า การยึดอำนาจด้านใดด้าน หนึ่งไม่ได้แก้ปัญหา แต่เพิ่มปัญหามากขึ้น นั่นคือการยึดขาใดขาหนึ่งโดยไม่มอง ขาอีกด้านนั้นทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งเรื่อยๆ และไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“หากคิดจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง และมีประชาธิปไตยให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วย กันได้ โดยมีรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนเสียงข้างมาก และมีตุลาการเป็นตัวแทนตรวจสอบ โดยทั้งสองสถาบัน สามารถทำงานได้ภายใต้เกมประชาธิปไตย เดียวกัน และเมื่อเกิดข้อขัดแย้งก็หาทาง ออกภายในกรอบกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้ เราก็จะได้ทั้งสองอย่าง คือได้ประชาธิปไตย ที่สะท้อนเสียงข้างมากของประชาชน และปกป้องสิทธิของคนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะควบคุมการใช้อำนาจได้”

> ภาวะซ่อนเร้นของปัญหาสู่ความแตกแยก

“สุรชาติ บำรุงสุข” กล่าวถึงการรัฐประหารปี 2549 เป็นการเปิด “กล่อง” ที่บรรจุความขัดแย้งบางอย่างในสังคมไทย โดยเชื่อว่าความขัดแย้งชุดหนึ่งคือ สังคมเมืองและชนบท ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นบนและชนชั้นล่าง โดยซ่อนโครง สร้างความขัดแย้งใหญ่อยู่ด้วย นั่นคือ ความสัมพันธ์ของทหารและพลเรือนที่จาก การเลือกตั้ง รวมถึงความขัดแย้งในระบบ ทุนนิยม ซึ่งผลพวงอย่างนี้ทำให้เห็นปัญหา ประมาณ 10 เรื่องซ่อนอยู่กับปัญหาที่เกิด ขึ้น ได้แก่

1.การเมืองต้องเผชิญกับการไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

2.สังคมไทยอยู่บนภาวะการเผชิญหน้า และแตกแยก และความเป็นขั้วที่สูงที่สุด

3.จะทำอย่างไรกับการเมืองภาคประชาชนที่ยังอ่อนแอ

4.ความอนุรักษ์นิยมขับเคลื่อนผ่านเสาหลัก 5 เสา ตุลาการภิวัตน์ สื่อภิวัตน์ ประชาภิวัตน์ ปัญญาชนภิวัตน์ และเสนาภิวัตน์ โดยเชื่อว่าทิศทางและเสาหลักนี้จะยังขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ

5.การเมืองของมวลชนบนถนนจะมีมากขึ้น

6.พลังของการรัฐประหารไม่เหมือน เก่า อาจต้องเริ่มคิดใหม่ในส่วนของบทบาท ทหารกับการเมืองไทย

7.เราจะเห็นพื้นที่ของการเมืองใหม่ กระแสใหม่และตัวแสดงใหม่

8.ชนชั้นนำยังเชื่อในประชาธิปไตยแบบชี้นำ โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำ

9.ไม่มีแนวทางประนีประนอมและปรองดอง โดยมองว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด หรือคุยไปเรื่อยๆ จนถึงจุดยุติที่ต่างฝ่ายต่างยอม ซึ่งไทยไม่เกิดบรรยากาศทั้งสองอย่าง

10.โลกรอบๆ รัฐไทยกำลังเปลี่ยน แปลง ทำให้ไทยถูกปิดล้อม

> ระบบตุลาการก้าวสู่อำนาจเกินเหตุ

“จาตุรนต์ ฉายแสง” กล่าวว่า 80 ปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่สำคัญ คือ อำนาจ อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจริงหรือไม่ แค่ไหน และมีความขัดแย้งของผู้ที่มีอำนาจ หรือองค์กรที่มีอำนาจที่ยึดโยงกับ ประชาชนและอีกฝ่ายคือผู้ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนซึ่งพบว่า 80 ปีมานี้ ไทยปกครอง กันมาโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ลำพังค่อนข้างนาน และเป็นผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนอยู่ในฐานะที่มาก กว่าและครอบงำอยู่

“ความขัดแย้งทางสถาบันกำลังจะพัฒนาไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายขอบเขตอำนาจของตนเอง และมีอำนาจสูงกว่าอธิปไตยอื่น ซึ่งตามหลักการ แบ่งแยกอำนาจ คงไม่อยากให้ศาลมีอำนาจ สูงสุด ซึ่งสำหรับบทบาทของตุลาการ ถ้าในแง่ของการดูแลความถูกผิด รักษากฎหมาย มีปัญหาอยู่ตรงที่การไม่มีการยึดโยงและไม่สามารถตรวจสอบได้โดยประชาชน และมีปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ บทบาทของฝ่ายตุลาการที่เป็นฝ่ายที่รับรองการรัฐประหาร และทำให้รัฐธรรมนูญใน 80 ปีไม่ใช่สูงสุดจริง อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของ ประชาชนเลย”

> เผด็จการรัฐสภากินรวบ

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” กล่าวว่า ระบบประชาธิปไตยไทยยังล้มลุกคลุกคลาน โดยเราเผชิญกับการปฏิวัติรัฐ ประหาร เผชิญกับปัญหาเผด็จการทหาร ซึ่งจะตัดตอนเฉพาะหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ไม่ได้ ในขณะที่ปัญหาของ ประชาธิปไตยใหม่ยุคปัจจุบัน คือเรากำลัง เผชิญกับการเปลี่ยนเผด็จการทหารเป็นเผด็จการรัฐสภา ที่ไม่ได้หมายถึงมีเสียงข้างมากแล้วเผด็จการ แต่หมายถึง การใช้เสียงข้างมากผ่านกลไกบริหารนิติบัญญัติและกลไกอื่น เพื่อให้ได้อำนาจเบ็ดเสร็จ และผลประโยชน์ทุกรูปแบบ หรือ ที่เรียกว่า กินรวบกินเรียบประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นภัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตย และในที่สุดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเกิดเผด็จการทหาร โดยอ้างเผด็จการรัฐสภา และวนเวียนเป็นวงจร อุบาทว์บ้านเรา

“ความจริงกรณีวิกฤติความขัดแย้งเกิดขึ้น ถ้าให้ 2549 เป็นเส้นกลาง ต้นเหตุ ผู้ขัดแย้งที่แท้จริงคือระบอบเผด็จการรัฐสภา กับผู้ต่อต้าน ในยุคก่อน 19 กันยาฯ มาจนถึงปัจจุบันคู่ขัดแย้งก็ยังไม่เปลี่ยน แต่เป้าหมายต่างกัน ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องการ สืบทอดอำนาจ แต่เป็นความต้องการเงินและอำนาจคืน กับฝ่ายที่ต่อต้านโดยเห็นว่า มาเอาคืนเงินและอำนาจคืนนั้นไม่ถูกต้อง และต้องการให้ทุกคนเคารพกติกา”

สำหรับทางออกระยะยาวของประเทศ ในการนำไปสู่การสมานฉันท์ ปรองดอง คือ เราต้องช่วยกันสร้างสังคมที่เคารพกฎหมาย กติกาที่เกิดขึ้นเป็นประเทศที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ และมีหลักนิติธรรมเกิดขึ้น ส่วนในระยะสั้นต้องช่วยกันดึงฟืนออกจากกองไฟ ช่วยให้เกิดวิกฤติน้อยลง

ประชาธิปไตยยังไม่พ้นภัย เพราะ วันสองวันนี้มีการประกาศว่า ถ้าได้กลับ มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็จะทำเหมือนเดิมอีก ซึ่งหมายถึงการฟื้นระบบ เผด็จการรัฐสภากลับคืนมา และก็จะทำ ให้เกิดการยึดอำนาจอีกในอนาคต ประเทศจึงสุ่มเสี่ยงที่จะย้อนกลับไปเป็น เผด็จการทหารได้อีกครั้ง

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น