เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทีมยุทธศาสตร์ พร้อมหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่งสัญญาณให้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมถอยในเกมแก้รัฐธรรมนูญ
ทำให้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารของรัฐบาล
ต้องยอมทำตามคำสั่งของฝ่ายตุลาการ
กระนั้นก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทยที่เคยหวาดกลัว หวั่นไหวต่อการเผชิญหน้ากับขบวนการตุลาการภิวัตน์ ก็ยังเชื่อเรื่อง "เกมใต้ดิน" และการ "เจรจาลับ"
เป็นเกมที่นักการเมืองใกล้ชิดฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าผลการเจรจากับฝ่ายตุลาการจะทำให้เกิดผลทางบวกกับพรรคเพื่อไทย
จากนี้ไปจึงเป็นตารางการเมือง ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากสมมติฐานในทาง "คิดบวก" และไม่คิดว่า "จะถูกหลอก" อีกครั้ง
ภายใต้แนวคิดนี้จะทำให้ฝ่ายเพื่อไทยได้เป็นฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ราวต้นปี 2557
เริ่มต้นจากสมมติฐานคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยคำร้องเรื่องการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 ภายในเดือนกรกฎาคม 2555
จากนั้นรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีขอตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อจะกำหนดวันลงมติวาระ 3 ทันที
หรือเมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว จึงค่อยขอให้คณะรัฐมนตรีตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติวาระ 3
หรือเมื่อเปิดสมัยประชุมสมัยสามัญทั่วไปแล้ว จึงค่อยเสนอลงมติวาระ 3 ในสมัยประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปตามปกติ
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่เป็น "คุณ" กับพรรคเพื่อไทย โดยยกคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มิได้ล้มล้างการปกครองหรือเปลี่ยนรูปแบบรัฐ
เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการยกมือโดยเสียงข้างมากได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และส่งขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อตราเป็นกฎหมาย และโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ปฏิทินของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเริ่มต้นนับจากวันประกาศลงในราช
กิจจานุเบกษาในวันถัดไป ประเมินคร่าว ๆ คาดว่าจะเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2555
จากนั้น คณะรัฐมนตรีจะออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. 3) จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน โดยใช้เวลาประมาณ 15 วัน ซึ่งตรงกับต้นเดือนกันยายน 2555
ขั้นตอนต่อไป ให้ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงจังหวัดละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 77 คน โดยเดินคู่ขนานกับกระบวนการสรรหา ส.ส.ร.ในรัฐสภาอีก 22 คน โดยทั้งสองกระบวนการจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน
ดังนั้นราวกลางเดือน "พฤศจิกายน 2555" ก็จะเห็นโฉมหน้า ส.ส.ร. ที่จะมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแทนคนไทยทั้ง 99 คน
เมื่อ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนแล้ว ตามมาตรา 291/9 จะต้องมีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรกภายใน 30 วัน นับจากที่มีการเลือกตั้ง + สรรหา ครบจำนวน เพื่อให้มีการประชุมเพื่อเลือกประธาน และรองประธาน โดยห้วงเวลาในขั้นตอนนี้จะตรงกับกลางเดือนธันวาคม 2555
หลังมี ส.ส.ร.ครบทั้ง 99 คน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" กำหนดกรอบเวลาทั้งสิ้น 240 วัน เท่ากับใช้เวลาหมด 8 เดือนพอดิบพอดี จะตรงกับช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556
เมื่อได้ ส.ส.ร.ยกร่างพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อตรวจสอบว่าขัดต่อมาตรา 291/11 วรรค 5 ที่ระบุว่า "ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้" หรือไม่
หากประธานรัฐสภาเห็นว่าไม่ขัด ก็จะส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน เพื่อให้จัดการออกเสียงประชามติจากมหาชนว่า "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ภายใน 45-60 วัน
ช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้น-กลางเดือนพฤศจิกายน 2556
จากนั้น กกต.ก็จะใช้เวลารับรองผลคะแนนประชามติอีก 15 วัน หากเสียงข้างมากโหวตว่า "เห็นชอบ" ประธานสภาก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และประธานรัฐสภาก็จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจเป็นต้นปี 2557
ทั้งหมดนี้คือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเป็น "บวก" และเปิดทางให้ฝ่ายเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่หากเป็นกรณี "เลวร้าย" ตามคำวิเคราะห์ของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง
หัวขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 90% คือการแก้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำบาตร ก็จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของรัฐบาล
"ยิ่งลักษณ์" อาจต้องจากไปก่อนเวลาอันควร
ที่เหลืออีก 10% คือแรงกดดันของมวลชน มีผลต่อคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ ทำให้เกิดการหาทางลง และกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้
ทางรอดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในทรรศนะจาตุรนต์ คือ "ผมภาวนาให้ผมวิเคราะห์ในส่วนของ 90% ผิด"
เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีลุ้นทุกขณะ จนกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นคำตอบสุดท้าย
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น