--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สำรวจ : รอยเลื่อนตุลาการ-การเมือง ??

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเด็นการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญถือเป็นประเด็น เผ็ดร้อน ในกระแสการเมืองจนอาจก่อให้เกิดเรื่องบาน-ปลายหากมีการตะแบงดึงดัน ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในวงวิชาการเองเรื่องนี้ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหลายวงเสวนา แต่ก็เชื่อว่าอาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ได้หากนักการเมืองจะเปิดใจรับฟัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเสวนาวิชาการ จัดโดยวิทยาลัย นานาชาติปรีดี พนมยงค์ เรื่องปรีดี พนมยงค์หลักการแบ่งแยกอำนาจตามหลักประชาธิปไตย ตุลาการ vs. นิติบัญญัติ ภายในงานดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต สสร.รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งสารภาพว่า สสร. 2540 ทำบาปสร้างองค์กรอิสระให้กลายเป็นอำนาจที่ 4 อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร รวมถึงนายโภคิณ พลกุล อดีต ประธานรัฐสภา และ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจ ก้าวล่วงมาวินิจฉัยและมีคำสั่งกรณีการลงมติแก้ไขรธน. วาระ 3 ของรัฐสภาครั้งนี้ เป็นบาปที่เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีอำนาจอื่นเข้ามาใช้อำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ “อาจจะเป็นบาปของผมด้วย เพราะตอนนั้นผมเป็นสสร. 2540 คือสถานการณ์ตอนนั้นมันเลวร้ายมาก จึงจำเป็นต้องหามือปราบ หาเปาบุ้นจิ้นมา ในขณะนั้นเรามีความหวังกันมาก ในรธน. 2540 ก็หวังว่าการเมืองจะใสสะอาด การเลือกตั้งจะไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่โกงกัน นักการเมืองก็จะทำงานกันอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใส เพราะกลไกต่างๆ มันมัดไว้หมดเลย เรามีองค์กรอิสระ กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ มี อีกหลายองค์กรล้วนแค่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเปาบุ้นจิ้นปราบนักการเมืองที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบ นี่เป็นกระแสของความรู้สึก ในขณะนั้น เรามีรธน. เขียนออกมาก็เฮโลเห็นดีเห็นงามกันไป ผมเองก็คัดค้านว่านี่คือการสร้างระบบขุนนางขึ้นมา ไม่ได้ผ่านความเห็นดีเห็นงามของประชาชนเลย ผ่านการสรรหาทั้งสิ้น แล้ว กรรมการก็ล้วนแต่อำมาตย์”

“การมีองค์กรอิสระก็เพื่อจะควบคุมการบริหารแผ่นดินโดย การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามระบอบรัฐสภา ศาล หรือองค์กรอิสระต่างๆ นั้นแนวคิดพื้นฐานเพื่อเอามาควบคุมรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยสรุปคือองค์กรต่างๆ เหล่านี้มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในความรู้สึกผม หลังจากที่เหตุการณ์มันพัฒนามาถึงปัจจุบันนี้แล้ว ผมคิดว่าอันที่จริงแล้วตอนที่เราทำรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น หลักการคานอำนาจ ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แหม เรา รู้สึกภูมิอกภูมิใจเหลือเกินว่าเราสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา แต่มันได้ทำลายระบอบรัฐสภาลงโดยสิ้นเชิง เป็นการสร้าง ระบอบนี้ขึ้นมาเป็นอำนาจที่สี่ ควบคุมอีกสามอำนาจที่เหลือ”

“ถ้ามีช่องเมื่อไหร่ท่านก็จะอ้างอำนาจทันที นี่คือตุลาการภิวัตน์ เรามาถึง รธน. 2550 นี่จึงไม่น่าแปลกใจเลย เริ่มจากใคร เป็นสสร.-ตุลาการเข้ามาเต็มไปหมดเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ศาล รธน. สร้างอำนาจตรงนี้ ออกคำสั่งมายังสภา ถือว่าผิดต่อหลักการ กระจายอำนาจไหม”

การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ ม.68 ว่า ศาลคงตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายล้างรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าตัวเองเป็นผู้แทนของอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

“แต่ผมอยากจะถามว่าถ้าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นจริง แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนไว้ทำไมในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลาฟังท่านฟังให้ดีๆ นะครับ เพราะเวลาพูดแล้วฟังดูลื่นมาก ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีใครทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

สสร. 2540 ผู้นี้ยืนยันว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็น คำสั่งที่ไม่ชอบ แต่หลายฝ่ายอาจจะรู้สึกแหยงเพราะผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นน่าแขยง ทั้งการพจนานุกรมมา ตีความ การยุบพรรคการเมืองชนิดที่ทำผิดคนเดียวก็ถือว่าผิดทั้งหมู่

“เรากำลังอยู่ในวิกฤติรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญที่สุด และไม่รู้ จะหาใครเป็นคนตัดสิน ในเมื่ออำนาจในการตัดสินอยู่ที่ท่าน ในเมื่อรัฐสภาเองก็ยังลงมติไม่ได้ว่าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่มีความเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่ง แต่การโต้แย้งนี้ ไปยื่น ต่อศาลซึ่งผลก็เท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจโดยปริยาย แล้วถ้าศาลตัดสินว่าใช่ตามที่ผู้ร้องเขาร้องแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็ขอให้คิดกันต่อไป”

หากจะผ่าทางตัน..“พนัส” เสนอวิธีการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหากรณีศาลรธน. สั่งชั่วคราวระงับการลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรนูญของ รัฐสภา เพื่อรอการพิจารณคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ส.ส. ต้องไม่กลัว เพราะที่ศาลรธน. ทำคือต้องการให้หยุด แต่ ส.ส. และ ส.ว.จะไม่ฟังคำสั่งก็ไม่ได้ เพราะเสี่ยงต่อการจะถูกถอดถอน

อย่างไรก็ตาม ส.ส. ต้องมีความกล้าให้มาก ในเมื่อรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชน เสียงข้างมากของสภาต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกับพวกกลับขัดขวาง ดังนั้น มีทางเลือก 2 ทาง คือ หนึ่ง ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไป แล้ว ส.ส. เข้าชื่อกันใหม่ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง เลยโดยไม่ต้องมีสสร. และในอันดับแรกที่จะแก้ไขคือ ยกเลิกศาล รัฐธรรมนูญเสีย แต่แนวทางนี้ต้องอาศัยความกล้า ส่วนประธาน รัฐสภาที่ไม่มีความกล้าต้องเอาออกไป

ทางเลือกที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการขัดขวางความต้องการของประชาชน เมื่อขัดขวางประชาชนก็ต้องเอาอาวุธของประชาชนมาใช้คือลงประชามติ โดยวิธีการประชามตินั้นทำได้โดยนายกรัฐมนตรี ปรึกษาประธาน สภาผู้แทนและประธานวุฒิสภาโดยมีเหตุผลว่าขณะนี้เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ประชาชนลงประชามติเพียงอย่างเดียวว่า ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และในการลงประชามตินั้นก็สามารถให้ประชาชนลงประชามติไปพร้อมกันเลยว่าต้องการให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

“นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องเลิกไปดูน้ำเสียที มาปรึกษาหารือกัน ว่าจะแก้ลำเขาอย่างไร ดูสิว่าจะสู้กับอำนาจประชาชนได้หรือไม่”

ด้านโภคิณ พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เห็นว่าความวุ่นวายในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีที่มาจากรัฐประหาร พยายามจำกัดอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ให้เป็นไปตามหลักยุติธรรมที่ควรจะเป็น ฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญตามประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อะไรที่ไม่เป็นไปตามหลักก็ต้องทำให้ถูกหลักนิติธรรม ความไม่เหมาะสมของรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และการวินิจฉัยของตุลาการที่มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคเป็นการตีความย้อนหลังและเหมาเข่งเอาคนที่ไม่เกี่ยว ข้องไม่ได้กระทำผิดให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองยาวนานถึง 5 ปีไปด้วย นี่คือตัวอย่างที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

โดยทั่วไปแล้วกฎหมายมีมาตรฐานเดียว แต่คนตีความกฎหมายพยายามใช้ 2-3 มาตรฐาน และการจะยื่นถอดถอนศาล รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาจำนวนมากแล้วจึงส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเห็นได้ว่ากลไกเหล่านี้ ถูกวางไว้หมดแล้ว เขาจึงเสียกลไกนี้ไปไม่ได้

“พวกคนไม่ชอบอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคนเสนอว่าหากจะให้บ้านเมืองสงบพ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องมาติดคุก แต่ถ้าไปดูจริงๆ แล้วจะเห็นว่ากระบวนการที่กล่าวหาอดีต นายกฯ มีที่มาไม่ถูกต้องเกิดจากการรัฐประหารจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคตส.รวมถึงหน่วยงานต่างๆ มาทำตรงจุดนี้ ทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามให้ฉุกคิดว่าการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ไปได้ทั่วโลกยกเว้น ประเทศไทย แสดงว่าหลักนิติธรรมทั้งโลกแย่กว่าประเทศไทยใช่หรือไม่”

ไม่ว่าผลของพิจารณากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่นี่จะเป็นกรณีที่ทำให้คนหูตาสว่างมากขึ้น และอยากให้ทุกคนก้าวพ้นความกลัว (ภยาคติ) เพราะความกลัวทำให้เสื่อมทุกอย่าง ก็จะไม่เดินหน้า หากเราก้าวข้ามความกลัว ส.ส.เลิกกลัว ประชาชน เลิกกลัว แล้วเดินหน้าเลิกเราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทาง ที่ดีขึ้น โดยไม่ยอมให้เขาทำเราอยู่ฝ่ายเดียว เป็นคำสรุปของ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”..ที่ไม่จำเป็นต้องขยายต่อ...

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น