--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤตยุโรปทุบลงทุนดิ่ง แบงก์ผวาครึ่งปีหลังเสี่ยงสูงสินเชื่อหด !!?

แบงก์พาณิชย์ สถาบันการเงิน จับตาสัญญาณอันตรายคู่ค้าธุรกิจยุโรปเสี่ยงผิดนัดจ่ายเงิน กสิกรไทยเผยคู่ค้าต่างชาติเริ่มดึงสภาพคล่องพยายามยืดเครดิตเทอม หลังอัตราความเสี่ยงพุ่งกระฉูดเท่าตัวใน 3 เดือน เตือนลูกค้าเร่งป้องกันความเสี่ยงขอเปิด L/C พร้อมทำประกันสินเชื่อการค้าดันผู้ส่งออกต้นทุนเพิ่ม ฟากบิ๊กบอสแบงก์กรุงไทยหวั่นครึ่งปีหลังการลงทุนในประเทศชะลอตัว

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กรณีวิกฤตหนี้ของยุโรปที่ทำให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศเริ่มมีสัญญาณความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระที่สูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งอิตาลี สเปน และกรีซ พบว่าคู่ค้าในต่างประเทศพยายามยืดเทอมการชำระเงินให้ยาวขึ้น เพื่อพยายามจัดการสภาพคล่องในระยะนี้ที่กำลังตึงตัวมาก

โดยสัญญาณความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้นสะท้อนจากอัตราราคา Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยอ้างอิงเปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ พบว่าอัตราราคาของ CDS ระยะ 5 ปี ของสเปนอยู่ที่ 6% และอิตาลีอยู่ที่ 5.28% ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระสูงขึ้นมาก ขณะที่กรีซถือว่าเสี่ยงสูงมากจนไม่สามารถโควตราคา CDS แล้ว

นายทรงพลกล่าวว่า ผู้ส่งออกอาจจะหารูปแบบการซื้อขายอื่น ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ เช่น การขอ L/C (Letter of Credit) การซื้อประกันภัยสินเชื่อทางการค้า (Trade Credit Insurance) หรือการเรียกเงินประกันล่วงหน้าก่อนส่งมอบสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกมีปัญหาเรื่องภาระต้นทุนที่สูงขึ้น

"ในมุมของธุรกิจแบงก์เองก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น ต้องระมัดระวังการปล่อยวงเงินเบิกเกินบัญชี" นายทรงพลกล่าว

การลงทุนครึ่งปีหลังชะลอตัว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ทุกธนาคารน่าจะเตรียมรับมือไว้อยู่แล้ว เพราะหากเหตุการณ์เลวร้ายจะทำให้สภาพคล่องหายไปบางส่วน ต้องดูแลลูกค้าที่เป็นคู่ค้ากับยุโรป ซึ่งต้องระวังเรื่องเก็บหนี้ไม่ได้

"ธุรกิจจากไทยส่งออกไปยุโรปสัดส่วนไม่สูงมาก ผลกระทบธุรกิจอาจจะขายของได้น้อยลง แต่ก็คงไม่ถึงกับเป็นหนี้เสีย แบงก์ก็ยังคงแผนการรับมือเอาไว้เช่นเดิม"

นายอภิศักดิ์มองว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปน่าจะถูกยืดออกไปอีกระยะหนึ่ง เชื่อว่ากรีซน่าจะเจรจาต่อรองกับอียูอีกครั้ง และอียูที่น่าจะผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้หากสถานการณ์ของกรีซอยู่ได้ ประเทศสเปน โปรตุเกส และอิตาลีก็น่าจะยังอยู่ได้

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ผลจากวิกฤตยุโรปทำให้ลูกค้าหลายรายเริ่มไม่มั่นใจว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยมากแค่ไหน ทำให้หลายรายก็ชะลอแผนขยายการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน

เบ้ยประกันสินเชื่อการค้าขยับ

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยสินเชื่อทางการค้ากล่าวว่าสถานการณ์ความเสี่ยงในปัจจุบันทำให้ผู้ประกอบการระดับกลางและใหญ่เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจการทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้ามากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนสถานการณ์อัตราเบี้ยประกันภัยสินเชื่อทางการค้าในขณะนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า เบี้ยอาจจะถูกปรับขึ้นบ้างในบางพอร์ต โดยเฉพาะประเทศปลายทางมีปัญหา เพราะการประเมินความเสี่ยงก็จะดูจากปัจจัยความเสี่ยงประเทศและเรตติ้งของประเทศด้วย ถ้าประเทศถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้งก็ทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้น เบี้ยเฉพาะส่วนนี้ก็จะขยับขึ้นไปโดยอัตโนมัติเช่นกัน

"ปกติแล้วเราจะรับประกันทั้งพอร์ตที่ลูกค้าทำธุรกิจส่งออกไม่ได้เลือกรับเฉพาะประเทศ เพราะความเสี่ยงจะสูงเกินไป เมื่อเฉลี่ยทั้งพอร์ตก็จะทำให้ความเสี่ยงเฉลี่ยกันไป ไม่กระทบต่อค่าเบี้ย

มากนัก อัตราเบี้ยปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับเดิม ประมาณ 0.1-0.4% ของวงเงินคุ้มครอง" แหล่งข่าวกล่าว

ลูกค้ารายใหญ่ไม่มีปัญหา

นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมา ธสน.ได้เตรียมแผนรับมือผลกระทบจากยุโรปเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่อาจมีผลกระทบในการประกอบธุรกิจ รวมถึงได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารพาณิชย์เพื่อเฝ้าติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

เบื้องต้นจากที่สอบถามลูกค้าที่ทำธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะในยุโรปยังไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพราะบางส่วนก็มีการเตรียมแผนรับมือและบริหารความเสี่ยงของบริษัทแล้ว โดยเฉพาะบริษัทใหญ่อย่างกลุ่มปิโตรเลียมและอาหารรายใหญ่ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจประสบปัญหาวิกฤตดังกล่าว แต่ยังไม่ถือว่ารุนแรง

"ที่ผ่านมาเราประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ทำธุรกิจส่งออกในยุโรปมาทำประกันความเสี่ยงในการทำธุรกิจแต่ลูกค้าก็ไม่ได้ทำเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งการประเมินความเสี่ยงของเบี้ยประกัน ธสน.จะต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท เพราะความเสี่ยงของธุรกิจไม่เหมือนกัน หากความเสี่ยงสูงเบี้ยการทำประกันความเสี่ยงชำระหนี้ก็ต้องสูงตามความเสี่ยง" นายคนิสร์กล่าว

ด้านนายจารุพัฒน์ พานิชยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันความเสี่ยงการส่งออกของ ธสน. เปิดเผยว่า ยอดทำประกันความเสี่ยงชำระหนี้ (เทรดเครดิต) สิ้น พ.ค. 55 อยู่ที่ 63,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยอดใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ สัดส่วนการทำเทรดเครดิตในปีนี้แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นจากปริมาณการทำธุรกิจมากขึ้น หากเทียบกับปีก่อนที่มียอดเทรดเครดิตรวมทั้งปีที่ 134,000 ล้านบาท

รับมือ ธ.ยุโรปขาดสภาพคล่อง

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทรกล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจยุโรปจะหดตัว 0.5% ซึ่งภายใต้ประมาณการดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2% และ 5.7% ตามลำดับ แต่หากสถานการณ์ในยุโรปย่ำแย่ลง การหดตัวอาจจะมากถึง 2.5-4.5% ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเหลือราว 2% เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกมูลค่าสูงถึง 70% ของจีดีพี

"ผลกระทบต่อประเทศไทยคือเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งมีความเสี่ยงระยะสั้นคือการขาดสภาพคล่องของธนาคารในยุโรป ซึ่งอาจทำให้ภาคการค้าสะดุดตามไปด้วย"

นายศุภวุฒิกล่าวว่า ใน 5-10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับการชะลอตัวของภาคต่างประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจไทยจะต้องยืดหยุ่นกับภาวะดังกล่าว โดยนโยบายภาครัฐเองก็ต้องยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนด้วยเช่นกัน เช่น การสนับสนุนให้มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการเติบโตดี

หอค้าไทยยันไม่ซื้อเบี้ยยุโรปวิกฤต

นายพรศิลป์พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทผู้ผลิตและส่งออกสินค้าจากไทยในกลุ่มสมาชิกของหอการค้าไทย จะเกี่ยวข้องกับการปรับเบี้ยประกันภัยก็เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์บางประเทศเกิดสงคราม หรือต้องลำเลียงสินค้าผ่านน่านน้ำที่มีความเสี่ยงเรื่องโจรสลัด

ส่วนกรณีวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปถูกประเมินสถานการณ์จะลุกลามบานปลายจนถึงขั้นต้องขึ้นเบี้ยประกันภัยความเสี่ยงประเภทประกันภัยลูกค้านั้นคงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำ และตอนนี้ก็ยังไม่มีบริษัทรายใดมาหารือกับกลุ่มผู้ส่งออก แนวทางนี้จะทำได้เป็นรายกรณีไป เช่น ผู้ส่งออกบางบริษัทกับคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสหภาพยุโรปยังค้าขายกันโดยมีความสัมพันธ์ไม่เหนียวแน่นแล้วเกรงเหตุวิกฤตครั้งนี้เมื่อส่งสินค้าไปแล้วจะถูกเบี้ยวจ่ายเงินบริษัทเหล่านั้นก็อาจจะตัดสินใจทำประกันเครดิตลูกค้าได้ แต่ในทางปฏิบัติธนาคารนำเข้าและส่งออกหรือเอ็กซิมแบงก์ จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเรื่องนี้ เพราะหากจะทำให้ทั่วประเทศต้องจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงจากเหตุผลเรื่องวิกฤตคงเป็นไปไม่ได้

โฆสิต แนะรัฐ-เอกชนรับมือ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารกล่าวว่า ประเทศไทยไม่ควรประมาท และต้องเตรียมเครื่องมือรองรับ เพราะเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งภูมิคุ้มกันที่สามารถทำได้คือ รัฐต้องรักษาฐานะการคลังให้ขาดดุลน้อยลง ส่วนภาคเอกชนและธุรกิจต้องปรับตัว เช่น เพิ่มสัดส่วนส่งออกตลาดอาเซียนมากขึ้น ส่วนสถาบันการเงินก็ต้องเตรียมสภาพคล่องทั้งเงินบาทและเงินดอลลาร์ให้เพียงพอ เพื่อบรรเทาความตึงตัว เมื่อปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซนจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าวิกฤตซับไพรม

ปี 2550 ในส่วนของการรับมือของประเทศไทยนั้น ทางรัฐบาลไทยต้องลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ เพราะปัจจุบันนโยบายประชานิยมของรัฐบาลยังไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็ยังมีแผนงานการเบิกจ่ายไม่ชัดเจน ทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ขาดดุลงบประมาณสูง แต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ดังนั้นการลดขาดดุลจะช่วยให้รัฐบาลไทยมีกระสุนเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของวิกฤตในครั้งนี้

ประกันยื้อค่าชดเชย

นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 300 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทได้ทำประกันภัยกับบริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด ได้รับเงินชดเชยเพียง 5 ล้านบาท จากการประกันความเสียหายไว้ 45 ล้านบาท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น