คอลัมน์ : คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
ขณะนี้ข่าวเรื่องการผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ประเด็นดังกล่าวมีผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยแน่นอนก็ต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ที่แปลกก็คือ กลุ่ม นปช.และพรรครัฐบาลเองบางฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยเหตุผลคนละอย่างพรรคฝ่ายค้านและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น มุ่งไปในทางที่ว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีในความผิดที่ศาลตัดสินว่า การลงนามยินยอมให้คู่สมรสทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินที่กองทุนฟื้นฟูฯของธนาคารแห่งประเทศไทยขายให้ เป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในทางมิชอบ เป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกข้าราชการฝ่ายการเมืองและผู้ที่กระทำการก่อการร้าย
ส่วนฝ่าย นปช.คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำการให้เกิดความสูญเสียชีวิตประชาชนถึง 98 ศพ มีผู้บาดเจ็บทั้งสาหัส เช่น สูญเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ และที่ไม่สาหัสเป็นจำนวนกว่า 2,000 คน
นอกจากนั้น ก็เท่ากับเป็นการปิดเรื่องการสอบสวนหาความจริงว่า โศกนาฏกรรมในปี 2553 เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องใหญ่โตขนาดนี้ถ้าเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ มีผู้เสียชีวิตมากมายเกือบ 100 คน มีผู้คนบาดเจ็บพิการมากมาย จะปล่อยให้ผ่านไปกับสายลมไม่ได้ คงต้องสอบสวนทำรายงานไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ในที่สุดการถกเถียงกันมาถึงจุดอีกจุดหนึ่งว่า การผ่านพระราชบัญญัติโดยรัฐสภาจะทำได้หรือไม่ เพราะอาจจะขัดรัฐธรรมนูญสมัยปี 2550 ที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารปี 2549
โดยที่รัฐธรรมนูญปี 2549 มาตรา 309 ที่บัญญัติให้การรับรองการกระทำใด ๆ ของรัฐประหารนั้นเป็นอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการกระทำอันเป็นการต่อเนื่องไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารโดยสภานิติบัญญัติเขียนให้รับรองการกระทำของตัวเองไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยที่บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นการลบล้างการกระทำตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญไปด้วย
เมื่ออ่านข้อเขียนนี้แล้วก็รู้สึกมีความสับสนในความเป็นสูงสุดในการปกครองประเทศ
โดยที่การปกครองของอังกฤษนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่บทของระบอบการปกครองระบบรัฐสภา และระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการยกย่องให้เป็นแม่แบบของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ เวลามีปัญหาในเรื่องความคิดเกี่ยวกับการปกครองระบอบรัฐสภาและการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ก็มักจะกลับไปดูปรัชญาการปกครองของทั้งสองระบบมาเป็นข้อกล่าวอ้าง
การปกครองระบอบรัฐสภาของอังกฤษนั้น เป็นการปกครองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าหากจะมีการบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของรัฐหรืออำนาจของรัฐ หรือโครงสร้างขององค์กรทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศต่าง ๆ ก็จะตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่มีศักดิ์ศรีสูงกว่าพระราชบัญญัติอื่น ๆ แต่สูงกว่าประเพณีปฏิบัติ สูงกว่าคำพิพากษาของศาลฎีกา และสูงกว่าคำวินิจฉัยขององค์กรการเมืองใด ๆ รวมทั้งของรัฐบาลด้วย
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประชาชนชาวอังกฤษยึดถือความเป็นสูงสุดของรัฐสภาอังกฤษ หรือ "Supremacy of The British Parliament" รัฐสภาอังกฤษจะมีมติหรือออกกฎหมายอะไรก็ได้ ไม่มีองค์กรใดจะต้องมาวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหมาะสมหรือไม่ ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ปฏิบัติได้หรือไม่ บังคับใช้ได้หรือไม่ เช่น รัฐสภาอังกฤษอาจจะออกกฎหมายบังคับให้คนฝรั่งเศสใช้ศีรษะเดินต่างเท้าก็ได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสติไม่ดี ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนประเทศอื่น และบังคับใช้กับผู้ไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ เป็นต้น
มติต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษก็เป็นแต่เพียงเสียงข้างมากธรรมดาของสภาเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงข้างมากพิเศษ ไม่ต้องมีการพิจารณาเรื่องใดด้วยวิธีพิเศษมากไปกว่าการลงมติเสียงข้างมากธรรมดา เหมือนกับการพิจารณาพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยทั่วไป
การปกครองของอังกฤษก็อาจจะถือว่าเป็นการปกครองแบบ "เผด็จการโดยรัฐสภา" ก็ได้ แต่เหตุที่ตำรารัฐศาสตร์โดยทั่วไปก็ยังถือว่าเป็นการปกครองของระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภา เพราะเหตุที่ถือว่ารัฐสภาของอังกฤษเป็นตัวแทนของประชาชน การประชุมของรัฐสภาก็คือการย่อส่วนของการประชุมของประชาชน มติของรัฐสภาก็คือมติของประชาชน
แต่ความเป็นสูงสุดของรัฐสภาอังกฤษก็อาจจะถูกถ่วงดุลจากรัฐบาลได้ กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลยังยืนยันความเห็นของตน เช่น กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านพระราชบัญญัติสำคัญ หรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงิน เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หรือประเด็นทางการเมืองใด รัฐบาลก็อาจจะยุบสภาเพื่อให้ประชาชนเลือกตัดสินว่าเห็นด้วยกับรัฐบาล หรือเห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐบาลก็เลือกพรรครัฐบาลเข้ามาใหม่ ถ้าไม่เห็นด้วยก็เลือกพรรคฝ่ายค้านเข้ามาแทน
การที่เป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องมีองค์ประกอบบางอย่าง เช่น ประชาชนนิยมเลือกพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวินัยต้องออกเสียงตามมติพรรค หากไม่ปฏิบัติตามมติพรรคก็ต้องถูกขับออก หรือลาออกจากพรรค ในการเลือกตั้งพรรคก็ไม่ส่งลงเลือกตั้งในนามของพรรค และโอกาสถูกเลือกเข้ามาใหม่ก็แทบไม่มี
การมีระบอบการปกครองที่ไม่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ไม่มีประเทศใดลอกแบบเอาไปใช้ได้ เพราะลักษณะพิเศษของคนอังกฤษ และการวิวัฒนาการค่อยเป็นค่อยไปของอังกฤษยังใช้เวลานานกว่า 300 ปี จึงเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อประเทศต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ หรือจากการปกครองแบบอาณานิคมมาเป็นการปกครองของประเทศเอกราชแบบประชาธิปไตย จะอาศัยจารีตประเพณี คำพิพากษาของศาลสูง หรือค่อย ๆ วิวัฒนาการอย่างอังกฤษก็คงจะทำไม่ได้ รอเวลายาวนานอย่างนั้นไม่ได้
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การล้มล้างระบอบเดิมมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการยอมรับอำนาจอธิปไตยว่าเป็นของปวงชน หรือมาจากปวงชน ก็มีความจำเป็นต้องตรากฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ บัญญัติถึงรูปแบบของรัฐ องค์กร ที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนหรือประชาชน หรือมาจากปวงชน หรือประชาชนขึ้นใช้
ที่มักจะอ้างเป็นแบบอย่างก็คือ ธรรมนูญการปกครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มขึ้นด้วยคำประกาศเอกราช และการตรารัฐธรรมนูญขึ้นใช้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสูงสุดของการปกครองประเทศ ผู้ที่รักษารัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่จะวินิจฉัยว่ากฎหมายของสหรัฐก็ดี หรือกฎหมายของมลรัฐก็ดี หรือการ
กระทำของรัฐบาลก็ดี ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เลยกลายเป็นองค์กรสูงสุดไปด้วย ในกรณีของสหรัฐอเมริกาองค์กรที่วินิจฉัยว่ากฎหมายใดหรือการกระทำใดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ "unconstitutional" หรือไม่ก็คือศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ความเป็นสูงสุดในการปกครองสหรัฐก็คือศาลสูงสุดสหรัฐ หรือ "Supremacy of the U.S. Supreme Court"
คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่ารัฐบาลแทรกแซงศาล เมื่อ
แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้วก็อยู่ในตำแหน่งตลอดไปไม่มีวาระ จนกว่าจะถึงแก่กรรมหรือลาออก
มติของรัฐสภาก็ดี การกระทำของประธานาธิบดีก็ดี รัฐมนตรีก็ดี ผู้ว่าการมลรัฐก็ดี สภามลรัฐก็ดี หรือแม้แต่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล อาจจะถูกศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ คนอเมริกันนั้นให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญของเขาอย่างยิ่ง และไม่ค่อยอยากให้แก้รัฐธรรมนูญถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เมื่อศาลสูงสุดวินิจฉัยอย่างใดแล้วก็เป็นที่ยุติ แม้ว่าคำพิพากษาอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้
เมื่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปที่มีกษัตริย์เป็นประมุขก็ดี หรือประเทศเกิดใหม่ที่พ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็ดี เมื่อจะสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็นิยมเลือกการปกครองประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาแบบอังกฤษ อาจจะเป็นเพราะความเคยชิน หากเคยมีกษัตริย์ก็ยังคงให้ประมุขของประเทศเป็นกษัตริย์ หากไม่มีกษัตริย์เสียแล้วก็นิยมให้รัฐสภาเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ แต่ไม่มีอำนาจบริหารใด ๆ แบบกษัตริย์อังกฤษ อำนาจในการบริหารประเทศอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐสภา
แต่ในขณะเดียวกัน รัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีความเป็นสูงสุดอย่างอังกฤษ แต่รัฐธรรมนูญและผู้ที่จะวินิจฉัยว่ากฎหมายใด การกระทำใดของรัฐบาลก็ดี หรือองค์กรการเมืองอื่นก็ดี หรือแม้แต่ศาลว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้ที่มีความเป็นสูงสุด ก็เลยเป็นลูกผสม มีรัฐสภาแบบอังกฤษ มีรัฐธรรมนูญ
สำหรับบ้านเราไม่ค่อยแน่ใจว่าความเป็นสูงสุดในการปกครองของเราอยู่ที่ใด เพราะรัฐธรรมนูญก็ไม่ค่อยสูงสุดในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน บางทีกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งยังรู้สึกศักดิ์สิทธิ์กว่า รัฐสภาก็ไม่มีความเป็นสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญผู้คนก็ไม่ค่อยนับถือในความเป็นสูงสุด เพราะรัฐธรรมนูญนั้นจะฉีกทิ้งเมื่อไรก็ได้ พอจะมีการออก พ.ร.บ.ปรองดองผู้คนก็เลยลืมนึกไปว่าเรายังมีรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นลูกของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้เสนอ พ.ร.บ.ปรองดองนั่นเอง ก็ไม่น่าจะมีความเป็นสูงสุด
ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็เป็นอย่างนี้
ที่มา.ปะชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น