หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกโรงปราม ส.ส.-ส.ว. หากฝ่าฝืนคำสั่งประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย แต่ยังไม่บอกว่าคืออะไร คณะรัฐมนตรีเตรียมหารือกฤษฎีกาขอความเห็นคำสั่งศาลผูกพันกับสภาหรือไม่ รองประธานวุฒิสภา-คณะนิติราษฎร์เห็นตรงกันศาลว่าทำข้ามขั้นตอน ไม่มีกฎหมายรองรับควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป ประธานวิปรัฐบาลเผยจะขอความเห็นในสภาวันที่ 8 มิ.ย. นี้ว่าจะเดินหน้าหรือทำตามคำสั่งศาล ประธานวิปฝ่ายค้านเตือนอย่าดันทุรังให้เกิดความขัดแย้งอีก แกนนำเสื้อแดงประกาศล่า 30,000 รายชื่อ ยื่นถอดถอนตุลาการใน 2 สัปดาห์
++++++++++
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ออกแถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และสั่งให้สภาชะลอลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน ระบุว่า ตามที่มีผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คณะนิติราษฎร์มีความเห็น 3 ประเด็นดังนี้คือ
1.ข้อความตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำโดยบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
เรื่องต้องผ่านอัยการก่อน
2.มาตรา 68 วรรค 2 ระบุชัดเจนว่าการยื่นคำร้องต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดให้มีการสอบสวนก่อน หากมีมูลจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่อาจส่งเรื่องต่อศาลโดยตรงได้ การที่ศาลตีความว่าทำได้ 2 ช่องทาง ทั้งส่งเรื่องผ่านอัยการสูงสุดและส่งตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ตรงกับข้อกำหนดของมาตรา 68 วรรค 2 ถือเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนของกฎหมาย การตีความมาตรา 68 วรรค 2 ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นขัดกับหลักการตีความกฎหมาย ทั้งในแง่ถ้อยคำ ประวัติความเป็นมา เจตนารมณ์ ตลอดจนระบบกฎหมายทั้งระบบ เป็นการตีความกฎหมายที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง
ไม่มีกฎหมายรองรับ
3.ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกำหนด “วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา” แต่ศาลนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 มาใช้ โดยอาศัยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อ 6 ซึ่งวิธีการนี้กระทบต่อการใช้อำนาจขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้ศาลมีอำนาจนี้ต้องกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยต้องกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง การที่ศาลมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้
อย่าขยายขอบเขตอำนาจ
ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาเพราะเป็นการกระทำข้ามขั้นตอน ไม่มีอำนาจสั่งให้สภารอการดำเนินการ คำสั่งจึงไม่มีผลผูกพันต่อสภา หากรัฐสภายอมรับคำสั่งจะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาเรื่องใดๆอีกในช่วงนี้ เพราะจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง โดยเฉพาะการละเมิดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3
ครม. หารือกฤษฎีกา
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (5 มิ.ย.) จะหารือเพื่อเตรียมทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ ครม. เป็นผู้เสนอแก้รัฐธรรมนูญ และจะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่ามีผลผูกพันต่อสภาหรือไม่
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 9 มิ.ย. นี้เชื่อว่าประธานสภาจะให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันแสดงความเห็นกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะมีการลงมติวาระ 3 เลยหรือไม่คงตอบไม่ได้
เสื้อแดงล่า 3 หมื่นชื่อ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า จะเร่งรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ 25,000-30,000 ชื่อใน 2 สัปดาห์ เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ากระทำลุแก่อำนาจ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติควรประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับฝ่ายตุลาการ เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ควรเดินหน้าประชุมเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ตามปรกติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญกระทำข้ามขั้นตอน การจะยื่นตีความกฎหมายได้ต้องผ่านวาระ 3 ไปก่อน
โฆษกศาลเตือนอย่าฝ่าฝืน
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า การยื่นเรื่องต่อศาลทำได้ 2 ช่องทางคือ ผ่านอัยการสูงสุดกับยื่นโดยตรงต่อศาล ส่วนการสั่งให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้ก่อนตุลาการได้พิจารณาแล้วว่าไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หากรัฐสภาฝ่าฝืนคำสั่งเดินหน้าจัดประชุมเพื่อลงมติก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่จะตามมาด้วย แต่ยังบอกไม่ได้ว่าหากมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติศาลจะมีท่าทีอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
-----------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น