เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ได้จัดงานที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปการรณรงค์ในรอบ 112 วัน เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้มากกว่า 11,200 รายชื่อ เพื่อขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ การรณรงค์เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนทั่วไปให้สนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปมาตรา 112 ภายใต้หลักการ 6 ประการดังนี้
1.มาตรา 112 มีที่มาจากระบอบเผด็จการ มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
2.ให้แก้ไขบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเหตุ
3.ไม่อนุญาตให้ใครก็ได้มีสิทธิฟ้องร้องกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ แต่ควรให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษแทน
4.ให้แยกแยะการวิจารณ์โดยสุจริตออกจากการดูหมิ่นเหยียดหยามและคุกคาม
5.ให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของข้อความที่ถูกกล่าวหา
6.เปลี่ยนมาตรา 112 จากหมวดความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเป็นหมวดเฉพาะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ปรากฏว่าการเคลื่อนไหวของ ครก.112 ได้รับความสนใจตอบรับอย่างมากจากมวลประชาชนคนเสื้อแดง แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากพวกสลิ่ม เสื้อสารพัดสี กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งกว่านั้นยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ส่วนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ไม่เข้าร่วมในการรณรงค์ แม้จะไม่คัดค้าน ทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายกฯยิ่งลักษณ์ยังแถลงว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปแก้ไขมาตรา 112 หน้าที่ของรัฐบาลในขณะนี้คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงหลายครั้งว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่แก้มาตรานี้เด็ดขาด “ใครแก้ ผมค้าน” และว่า “ที่นี่ประเทศไทยมีความสุขสบายมาได้เพราะพระมหากรุณาธิคุณ ไม่มีงานทำกันหรือ”
เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่คัดค้านข้อเสนอของ ครก.112 ไม่เคยมีเหตุผลทางวิชาการที่มีน้ำหนักเลย มีแต่การใส่ร้ายป้ายสีว่าผู้ที่เสนอขอแก้ไขมาตรา 112 เป็นพวกล้มเจ้า ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน บ้างก็ไล่ไม่ให้อยู่บ้านพ่อ ให้ไปอยู่บ้านคนอื่น บ้างก็อ้างถึงความไม่บังควร เพราะจะละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่เป็นแกนนำในการล่ารายชื่อคัดค้าน ครก.112 อธิบายว่า ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการแก้ไขมาตรานี้จะก่อให้เกิดการวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้อย่างเสรี แต่ที่ไปไกลมากคือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวเมื่อวันที่ 28 มกราคมว่า คณะนิติราษฎร์และกลุ่มนักวิชาการกว่าร้อยคนที่ลงชื่อร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “มีบางคนที่รับเงินจากองค์กรต่างชาติมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มสถาบัน” และตั้งคำถามว่า “ทำไมคนพวกนี้ต้องมาทำร้ายในหลวง แทนที่จะซาบซึ้งบุญคุณ แต่กลับมาหาเรื่อง”
จะเห็นได้ว่าการตอบโต้ของพวกฝ่ายขวาล้วนยืนอยู่บนศรัทธาความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมเจ้า ไม่มีระบบเหตุผลรองรับ หลักความคิดเช่นนี้ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจแก้ไขได้ ข้อกล่าวหาแบบที่นายสนธิอ้างก็มิได้มีหลักฐานรองรับ และจะมีองค์กรต่างชาติไหนอยากจะล้มสถาบันในประเทศไทย ข้อตอบโต้เหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งธงไว้ก่อนว่าการแก้มาตรา 112 คือการละเมิดสถาบัน ทั้งที่มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายข้อหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา และเห็นได้ว่าทั้ง 6 ข้อของนิติราษฎร์ที่ตั้งมา ไม่มีข้อใดที่จะไปแก้ไขล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เลย
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายป้ายสีศัตรูทางการเมืองของรัฐ และเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเครื่องมือของกระบวนการยุติธรรมในการนำคนบริสุทธิ์มาเข้าคุก ผู้ต้องหาและผู้ถูกตัดสินคดีมาตรา 112 ทั้งหมดคือเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐและสังคม การปฏิรูปมาตรา 112 คือการแก้ไขความผิดของสังคมไทยเช่นนี้ และจะทำให้สังคมไทยก้าวหน้าในทางประชาธิปไตยต่อไป
ในคำแถลงของ ครก.112 อธิบายว่า นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นจำนวนมากจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยการตีความกฎหมายบนอุดมการณ์ที่ผิดหลักการประชาธิปไตย และตีความการกระทำผิดอย่างกว้างเกินกว่าเหตุ แม้แต่การแปลหนังสือก็กลายเป็นการกระทำผิด
การดำเนินคดีได้ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาและนักโทษคดีการเมืองมาตรา 112 ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่ได้รับการสืบพยานอย่างเพียงพอ ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ไต่สวนคดีโดยปิดลับ เป็นต้น การกระทำเช่นนี้ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้รักความเป็นธรรมและผู้ที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยจำนวนมาก จึงมีผู้เรียกร้องให้มีการยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2553 เช่น การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกลุ่ม 24 มิถุนายนและกลุ่มแดงสยาม กระทั่งต้นปี 2554 คณะนิติราษฎร์ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขึ้นมา และเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายโดยกลุ่มปัญญาชน นักวิชาการ และนักเขียน นำมาสู่การตั้ง ครก.112 จนถึงขณะนี้ ครก.112 สามารถรวบรวมประชาชนที่ลงชื่อได้ 39,185 คน และยื่นรายชื่อต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม
“ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนสังคมไทย เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่การเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แผ่ซ่านลงลึกไปถึงผู้คนรากหญ้า ประชาชนเข้าใจเรื่องของมาตรา 112 เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวบทกฎหมาย นั่นคือ ปัญหาการดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาการแทรกแซงการเมืองระบอบประชาธิปไตยโดยอำนาจนอกระบบ และปัญหาวงจรอุบาทว์จากการรัฐประหาร ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จึงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นจากดินถึงฟ้า
ดังนั้น ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จึงสะท้อนความเป็นจริงทางสังคมที่ว่า ประชาชนไทยไม่สามารถยอมรับสถานะไพร่ฟ้าผงธุลีได้อีกต่อไป แม้จะมีการต่อต้านจากชนชั้นนำ และปราศจากการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ประชาชนก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าร่วมกับ ครก.112 รวบรวมชื่อเสนอให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมาย แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าประชาชนเป็นตัวของตัวเอง ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จึงแสดงให้เห็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยที่อุดมการณ์สิทธิเสรีภาพได้หยั่งรากลึกลงยิ่งขึ้น นักการเมืองจึงควรเข้าใจด้วยว่าประชาชนไม่ได้เพียงต้องการนโยบายประชานิยม แต่ยังต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอีกด้วย
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้อธิบายปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ว่า หมายถึงสัญญาณว่าสามัญชนกำลังจะลุกขึ้นยืนตัวตรง โอกาสที่จะแก้ไขหรือปฏิรูปหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่แค่เรื่องนักโทษการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปด้วย ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นวันนี้จะละเลยมาตรา 112 ไม่ได้ ขณะนี้สังคมไปไกลมากแล้ว และดำเนินมาถึงทางแยกสำคัญ ซึ่งนายวรเจตน์ย้ำว่า
“เราพยายามลุกขึ้นยืนตรง และเรายืนตรงคนเดียวไม่พอ เราต้องพยายามชวนคนในสังคมให้ลุกขึ้น มีคนจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะนั่งพับเพียบต่อไป เราอาจจะต้องบอกกับเขาว่านั่งพับเพียบนานๆมันเมื่อย และอธิบายให้เขาเข้าใจถึงการยืนตัวตรง และในที่สุดปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จะได้เปลี่ยนสังคมไทย ปรับทรรศนะสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพ ให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ และปลดวงจรความสูญเสียเสียที”
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น