--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ฤๅจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว คดีอากง SMS: ภาคนิติรัฐ !!?

โดย กานต์ ยืนยง

แด่ “ผู้เบิกบานในปัญญา”

“ผู้ใดมีศรัทธา คนผู้นั้นย่อมมีแหล่งสะสมพลังหลากหลายซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่ภายใน อันได้แก่ พลังแห่งความกล้าหาญ ความหวัง ความมั่นใจ ความสุขุม และความเชื่อมั่นอันไม่คลอนแคลน พลังเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยออกมาตราบเท่าที่จำเป็น แม้นว่าโลกภายนอกดูเสมือนหนึ่งจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม”
– บี ซี ฟอร์บส์
4 ธันวาคม 2554

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาว่า นายอำพล (สงวนนามสกุล) มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ในข้อหาส่ง SMS หมิ่นฯ 4 ข้อความ ให้ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี โดยวินิจฉัยว่า บันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ของบริษัทผู้ให้บริการ แสดงว่า นายอำพลใช้โทรศัพท์มือถือส่ง sms หมิ่นฯในบริเวณที่พัก เนื่องจากความรุนแรงในการลงโทษ และลักษณะพิเศษของคดี สาธารณชนทั้งในประเทศและนอกประเทศจึงสนใจคดีนี้มาก มีการวิพากษ์วิจารณ์และการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายอำพลอย่างกว้างขวาง โดยเรียกคดีนี้ว่า คดี ‘อากง SMS’[1]

เนื่องจากคดี อากง SMS นี้ น่าจะมีปัญหาทั้งในแง่มนุษยธรรมและหลักการสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงจะนำเสนอบทความชุดนี้เป็นสามตอนคือ “ภาคนิติรัฐ” ซึ่งจะพูดถึงกฎหมาย ข้อมูลทางเทคนิคและปัญหาเกี่ยวกับคดีความ ในขณะที่ “ภาคธรรมรัฐ” จะพูดถึงการบริหารกิจการสาธารณะซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ในบริบทที่รัฐไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาการของโลก และ “ภาคอาทรเสวนา” จะเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความสมดุลระหว่างหลักการทางการปกครองซึ่งมีฐานที่มาของอำนาจแตกต่างกัน อันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหนึ่งที่รัฐไทยกำลังเผชิญอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้

ใครเป็นผู้กระทำผิด

เนื่องจากปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ยังมีผลบังคับใช้ จึงต้องยึดเป็นหลักในการวินิจฉัย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อบกพร่องทั้งในตัวบทและการบังคับใช้จนนำไปสู่การถกเถียงเพื่อให้มีการแก้ไขในกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว จะนำเสนอใน “ภาคธรรมรัฐ” และ “ภาคอาทรเสวนา” ต่อไป

คดีนี้ มีผู้ส่งข้อความ SMS ไปที่โทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 4 ข้อความ เกิดขึ้นจริง คำถามคือ “ใคร” เป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำบันทึกการใช้โทรศัพท์หมายเลข xxx-xxx-3615 ที่ส่ง SMS เข้าไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของบริษัท DTAC พบว่าหมายเลขดังกล่าวถูกใช้คู่กับโทรศัพท์ที่มีเลขหมายประจำเครื่อง (International Mobile Equipment Identity หรือ IMEI) หมายเลข 358906000230110 [2] และเมื่อตรวจสอบต่อกับฐานข้อมูลของบริษัท TRUE ก็พบว่ามีการใช้งานคู่กับโทรศัพท์หมายเลข xxx-xxx -4627 ของบริษัททรู โดยลูกเขยของนายอำพลเป็นผู้จดทะเบียนโทรศัพท์หมายเลข นี้เอง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอหมายจับจากศาลเพื่อเข้าทำการตรวจค้นที่บ้านของนายอำพล ก็ได้พบโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรลล่าของนายอำพล ซึ่งมีหลายเลข IMEI ตรงกับหมายเลขที่เป็นผู้ส่ง SMS ข้างต้น

สมมติฐานในคดีนี้ ของฝ่ายอัยการผู้ฟ้องคดี และฝ่ายทนายของนายอำพล มีดังนี้

สมมติฐานของฝ่ายอัยการ เชื่อว่านายอำพลเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากเป็นเจ้าของโทรศัพท์โมโตโรลล่า ซึ่งมีเลขหมาย IMEI 358906000230110 โดยใช้ SIM บริษัท DTAC ซึ่งตรงกับโทรศัพท์หมายเลข xxx-xxx-3615 ทำการส่ง SMS หมิ่นฯ เข้าเครื่องนายสมเกียรติ 4 ข้อความ จากนั้นก็ได้ถอด SIM ของบริษัท DTAC ทิ้ง แล้วเปลี่ยนกลับมาใช้ SIM ของบริษัททรูที่เคยใช้อยู่ ซึ่งตรงกับโทรศัพท์ xxx-xxx-4627 ของนายอำพล จากบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) พบว่า การใช้งานโทรศัพท์ทั้งสองเลขหมายอยู่ในบริเวณสถานีส่งสัญญาณ (cell-site) เดียวกัน ทั้งไม่เคยมีข้อมูล IMEI ของเครื่องโทรศัพท์ซ้ำกัน แต่มีหมายเลขโทรศัพท์ต่างกันขึ้นมาในเวลาเดียวกัน จึงน่าเชื่อได้ว่านายอำพลเป็นผู้กระทำความผิดจริง

สมมติฐานของทนายฝ่ายนายอำพล เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่บุคคลอื่น (ขอสมมติให้เป็นนาย ก.) ไม่ใช่นายอำพลเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากเลขหมาย IMEI สามารถปลอมแปลงขึ้นมาได้ บันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้นั้น ไม่เพียงพอต่อการระบุว่านายอำพลเป็นผู้กระทำความผิด จึงเป็นไปได้ที่ นาย ก. ได้ดัดแปลงโทรศัพท์มือถือของตนให้มีหลายเลข IMEI ตรงกับโทรศัพท์ของนายอำพล และใช้ทำการส่งข้อความ SMS หมิ่นฯ ไปยังเครื่องนายสมเกียรติ

สามประเด็นข้อขัดแย้ง

จากสมมติฐานของทั้งสองฝ่ายข้างต้น ในการพิจารณา ‘คดีอากง SMS’ นี้ มีข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อนำไปสู่การสืบพยานในสามประเด็นและต่างก็ส่งผลเนื่องถึงกัน ดังนี้

ข้อมูลหมายเลข IMEI มีปัญหา

ทนายฝ่ายนายอำพล พยายามชี้ให้เห็นว่า หมายเลข IMEI ในบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ของทั้ง DTAC และ TRUE อาจมีปัญหา เพราะไม่มีการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามที่ควรเป็น เนื่องจากข้อมูลเลขหลักที่ 15 ซึ่งเป็นเลขหลักสุดท้ายของ IMEI มีสถานะเป็นเลขสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขทั้งหมด (Check digit) ตัวเลขนี้จะถูกคำนวณตามหลักการของอัลกอริทึมแบบลุน (Luhn algorithm) [3] เมื่อพิสูจน์หมายเลข IMEI ตามเว็บไซต์ International Numbering Plans [4] ก็พบว่าตัวเลขที่บันทึกไว้ในบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ของทั้ง DTAC และ TRUE ไม่สามารถระบุเครื่องโทรศัพท์ที่แท้จริงได้


ภาพที่ 1: แสดงการป้อนข้อมูลเลข IMEI ในเว็บไซต์ เว็บไซต์ International Numbering Plans โดยใช้ IMEI หมายเลข 358906000230110 พบว่าไม่สามารถระบุข้อมูลโทรศัพท์ที่ถูกต้องได้ การใช้ IMEI ที่ลงท้ายด้วยเลข 2 ตามฐานข้อมูลของบริษัท TRUE ก็ให้ผลแบบเดียวกัน


ภาพที่ 2: แสดงการป้อนข้อมูลเลข IMEI ในเว็บไซต์ เว็บไซต์ International Numbering Plans ว่าจะต้องใช้เลข check digit ที่ถูกต้องคือเลข 6 หมายเลข IMEI จะเป็น 358906000230116 ซึ่งเป็นหมายเลข IMEI ของโทรศัพท์นายอำพลจริง จึงจะสามารถระบุข้อมูลโทรศัพท์ที่ถูกต้องได้

การจัดเก็บฐานข้อมูลหมายเลข IMEI ที่ผิดพลาดนี้ เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวิธีการใช้ หมายเลข IMEI สำหรับตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขทั้งหมด (Check digit) เป็นวิธีการที่วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรคอมพิวเตอร์จะต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ข้อมูลลักษณะนี้ยังเป็นที่รับรู้แพร่หลายในกลุ่มผู้ให้ความสนใจด้านเทคนิคและช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือกันอย่างกว้างขวางอีกด้วย [5]

ข้อต่อสู้คดีของทนายฝ่ายนายอำพลจึงว่า เลข IMEI ที่บันทึกไว้ใน ในบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ของบริษัทผู้ให้บริการทั้งสองอาจมีนัยยะว่า อาจเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นที่ไม่ได้เป็นของนายอำพล แต่มีการแก้ไขเลข IMEI ขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตามทางบริษัท DTAC และ TRUE ได้ยืนยันว่าฐานข้อมูลมีการให้ความสำคัญเพียงตัวเลข 14 หลักแรกเท่านั้น โดยตัวเลขหลักสุดท้ายไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด การที่ตัวเลขชุดอื่นใช้ไม่ได้ แสดงว่าเป็นการยืนยันว่ามีเพียงเลข 14 หลักแรกเท่านั้น ที่มีความสำคัญ และบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ที่โจทก์ได้จาก DTAC และ TRUE นั้นเป็นหลักฐานที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดเก็บตามที่กฎหมายกำหนด หากผู้ให้บริการจัดเก็บไม่ถูกต้องลูกค้าย่อมไม่เชื่อถือ อาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงถือว่าหลักฐาน ในบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ที่ได้รับถือเป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือ

ข้อนี้จำเป็นต้องพิสูจน์ การจัดเก็บข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) ของบริษัทผู้ให้บริการมือถือทั้งหมดว่ามีการจัดเก็บตัวเลข IMEI อย่างถูกต้องตามหลักสากลหรือไม่ คือจัดเก็บครบทั้ง 15 หลัก และตัวเลขหลักสุดท้ายต้องเป็นตัวเลขสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขทั้งหมด (Check digit) ที่คำนวณอย่างถูกต้องตามอัลกอริทึมของลุน ในกรณีที่เป็นโทรศัพท์มือถือที่ผลิตออกมาจากโรงงานผู้ผลิตอย่างถูกต้อง และไม่มีการแก้ไขดัดแปลงก็ควรจะมีการส่งข้อมูลตัวเลข IMEI ซึ่งมีตัวเลขหลักสุดท้ายที่คำนวณอย่างถูกต้องไปเก็บไว้ที่บันทึกการใช้งานของบริษัทผู้ให้บริหารมือถือตั้งแต่แรกอยู่แล้ว บริษัทผู้ให้บริการมือถือ จึงจำเป็นต้องจัดเก็บเลข IMEI ให้ถูกต้อง ทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นหลักฐานสำคัญนำไปสู่การสืบหาร่องรอยดิจิตัล (Digital Footprint) ยิ่งจำเป็นจะต้องสอบถามสาเหตุว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรฐานสากล เป็นไปได้หรือไม่ที่ในระบบบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) มีตัวเลข IMEI ของโทรศัพท์หลายเครื่องซ้ำซ้อนกันอยู่

เลข IMEI สามารถแก้ไขได้

ทนายฝ่ายนายอำพล พยายามชี้ให้เห็นว่าเลข IMEI ประจำเครื่องโทรศัพท์สามารถแก้ไขได้ การซักถามพยานบุคคลจากบริษัท TRUE ก็ยืนยันด้วยเช่นกันว่า เลข IMEI สามารถแก้ไขได้จากช่างซ่อมมือถือทั่วไป ข้อมูลในประเด็นนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปตามสมมติฐานของทนายฝ่ายนายอำพลที่มองว่า อาจมีบุคคลอื่นสามารถใช้โทรศัพท์มือถือที่แก้ไขเลข IMEI ให้เป็นเลขเดียวกับโทรศัพท์ของนายอำพลเพื่อส่งข้อความ SMS หมิ่นฯ ได้ ประเด็นนี้ ขาดน้ำหนักเพราะทนายฝ่ายนายอำพลไม่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ทั้งนี้แม้ว่าทนายฝ่ายนายอำพลจะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมจากสถาบันเทคโนโลยี และอาจารย์ที่เปิดร้านสอนวิชาซ่อมโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญคนใดมาเบิกความเป็นพยานโดยตรงในศาล

อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะเป็นข้อบกพร่องของทนายฝ่ายนายอำพลที่ไม่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพยานในศาลได้ แต่มีการเผยแพร่เทคนิคการแก้ไขเลข IMEI ซึ่งเป็นข้อมูลที่เผยแพร่กันทั่วไปเป็นจำนวนมาก [6] สอดคล้องคำให้การของทนายฝ่ายนายอำพลที่ว่าหมายเลข IMEI นั้นสามารถแก้ไขได้โดยง่าย โดยมีอุปกรณ์ Flash box กับซอฟต์แวร์ในการแก้ไข วิธีการแก้ไขก็มีสอนกันตามโรงเรียนสอนซ่อมโทรศัพท์มือถือทั่วไป และสามารถแก้ไขได้โดยใช้เวลาไม่นาน เพียงแต่ต้องแก้ไขหมายเลข IMEI ให้ตรงกับหมายเลขที่มีอยู่จริงในระบบ ซึ่งหากทราบหมายเลขอยู่แล้วก็แก้ไขหมายเลข IMEI ได้ไม่ยาก

หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย (in dubio pro reo)

ในคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ว่า มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากมีข้อสงสัย ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ทั้งนี้ หมายถึงความสงสัยในข้อเท็จจริงตามสมควร ไม่ใช่ความสงสัยในข้อกฎหมาย

แกนกลางของคดีว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ย่อมเลี่ยงไม่ได้ในการพิสูจน์ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นโทรศัพท์มือถือของนายอำพล จริงหรือไม่ และนายอำพลเป็นผู้ส่งข้อความ sms ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ซึ่งหมายเลข IMEI ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญ การที่มีปัญหาเรื่องตัวเลข IMEI จึงยังมีข้อสงสัยอยู่
หลักฐานพยานแวดล้อม อาทิเช่น การใช้งานโทรศัพท์ทั้งสองเลขหมายอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และไม่เคยมีข้อมูล IMEI ของเครื่องโทรศัพท์ซ้ำกัน ยังเป็นเพียงหลักฐานขั้นต้นที่ชี้เพียงว่าผู้กระทำความผิด

อาจอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในเวลาเกิดเหตุ ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาขอบข่ายของรัศมีเสาสัญญาณในการให้บริการโทรศัพท์ ซึ่งในคำให้การของเจ้าหน้าที่สอบสวนได้ระบุว่ามีการส่งข้อความในบริเวณขอบข่ายรัศมีการรับสัญญาณเสาสัญญาณหมายเลข CI 23672 [7] ซึ่งเสาสัญญาณดังกล่าวดังกล่าวกินพื้นที่บริเวณซอยวัดด่านสำโรงตั้งแต่ซอย 14-36 นั้นน่าสงสัยว่าเพียงพอหรือไม่ในการใช้เป็นหลักฐานยืนยันการกระทำความผิดของนายอำพล หรือข้อมูลจากบันทึกการใช้โทรศัพท์ (log) เป็นเพียงเครื่องชี้ทางสำหรับ

แนวทางการสอบสวนเท่านั้น หากจำเป็นต้องระบุการกระทำความผิดจริง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้เครื่องมือตรวจสอบทางนิติวิทยา (digital forensic) โดยหาเครื่องมือที่สามารถดึงข้อมูลจากโทรศัพท์ขึ้นมาว่ายังมีข้อมูลที่ทำการส่งนั้นค้างอยู่ในเครื่องโทรศัพท์หรือไม่ ทั้งนี้จากเอกสาร Guidelines on Cell Phone Forensics [8] ได้ระบุว่าการลบข้อความในโทรศัพท์นั้นไม่ได้เป็นการลบข้อความออกไปจริง เพียงแต่เป็นการบันทึกว่าข้อความดังกล่าวอยู่ในสถานะถูกลบออกไปเท่านั้น หากสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวดึงข้อความในโทรศัพท์ออกมาได้ ย่อมมีน้ำหนักที่หนักแน่นยิ่งในการระบุว่าโทรศัพท์ของนายอำพลนั่นเองที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด แม้กระนั้น ก็ยังต้องหาวิธีสืบหาว่า นายอำพลเป็นผู้ส่งข้อความ sms ด้วยตนเองหรือผู้อื่นเป็นผู้ส่งกันแน่

การพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยใช้หลักฐานอย่างเพียงพอ จะช่วยสร้างการยอมรับในกระบวนการยุติธรรม และจะไม่ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านและคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนอาจกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้

ข้อมูลอ้างอิง

[1] โปรดดูรายละเอียดของคดี ‘อากง SMS’ ทั้งหมดได้ที่ http://ilaw.or.th/node/1229
[2] เราสามารถตรวจสอบหมายเลข IMEI ประจำโทรศัพท์ได้โดยการกดหมายเลขโทรออก *#06# สำหรับหมายเลข IMEI ชุดที่ระบุถึงนี้ยังมีปัญหา จะมีการอธิบายเพิ่มเติมในส่วน ‘สามประเด็นข้อขัดแย้ง’ ต่อไป
[3] โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Luhn_algorithm
[4] โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.numberingplans.com/?page=analysis&sub=imeinr
[5] ดูตัวอย่างการถกเถียงผ่านเว็บไซต์ http://wintesla2003.com/topic/122327
[6] ดูตัวอย่างได้ที่ http://www.geocities.ws/phonethai/nkimei.htm
[7] เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือมีรัศมีการให้บริการที่แตกต่างกันตั้งแต่รัศมี 1 กิโลเมตร จนถึง 30 กิโลเมตร ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Cellular_network
[8] เอกสารนี้เข้าถึงออนไลน์ได้ที่ http://csrc.nist.gov/publications/nistpubs/800-101/SP800-101.pdf

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น